เก็บตกวิทยากร (6) : คำว่า (ไม่) ของนักบริการที่ดี


บางทีการจะเป็นนักบริการที่ดี ก็ควรเริ่มต้นจากการสำรวจ-สังเคราะห์ต้นทุนอันเป็นสถานการณ์ของตนเอง หรือองค์กรตนเองเช่นนี้แหละ

บันทึกก่อนผมพูดถึงกระบวนการค้นหาความสุขในองค์กร
            ฟังดูก็ชื่นใจครับ  ประทับใจหลายคน หลายกลุ่ม เพราะในคำตอบที่ได้มานั้น หลายต่อหลายคนถึงแม้จะเรียบง่ายแต่ทรงพลังสำหรับผมมาก  เช่น  กลุ่มแม่บ้านบอกว่า “ความสุข คือการได้บอกสถานที่ในมหาวิทยาลัยต่อผู้ที่มาใช้บริการได้อย่างถูกต้อง”

            ครับ, ฟังแล้วชื่นใจมากครับ  ขนาดวันทั้งวันต้องก้มๆ เงยๆ อยู่กับแต่พื้น-เพดาน-ห้องน้ำให้สะอาดสะอ้านเป็นหลัก  แต่กลับทำมากกว่าหน้าที่ของตนเอง  ช่วยแนะนำ ช่วยชี้ทางบอกให้คนมาติดต่องานไปตึกโน้นตึกนี้ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

            ผมว่าเป็นความสุขที่ไม่ธรรมดาครับ  เพราะสะท้อนการมี “ข้อมูล”  ที่ครบครันในการบริการในระดับที่น่าภูมิใจมากเลยทีเดียว 
            และถือเป็น “นักบริการที่ดี” อย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะไม่ได้เพิกเฉย ดูดายแบบ “ธุระไม่ใช่”

คำตอบเช่นนี้ผมถือเป็นจิตบริการที่งดงาม  และสมควรเอาเป็นแบบอย่างเป็นที่สุด  เพราะไม่เพียงไม่เพิกเฉยดูดายเท่านั้น  หากแต่มีข้อมูลรอบด้านในการที่จะให้บริการต่อผู้คน

เช่นเดียวกับความสุขของบุคลากรในกลุ่ม “สารบรรณ”  ซึ่งบอกเล่าว่า “ความสุข คือการค้นหาเอกสารได้รวดเร็วและถูกต้อง”

          กรณีเช่นนี้ผมก็ถือว่าเป็นความสุขเล็กๆ แต่มีพลังไม่แพ้กัน   เพราะเป็นความสุขของ “คนหน้างาน” อย่างไม่ต้องกังขา  
          เนื่องจากในยามที่ผู้บริหาร หรือคนที่มาใช้บริการเข้ามาติดต่องานก็สามารถค้นหาเอกสารมาบริการได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ไม่ต้องให้รอนาน  เพราะหาอะไรๆ ก็ไม่เจอ
          หรือแม้แต่จับผิดจับถูกอยู่นั่นแหละ  ใช้เวลาไปอย่างเปล่าเปลือง  พลอยให้เสียทั้งเวลาและความรู้สึก

          ครับ, แค่หาเอกสารได้เจอและให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวและถูกต้องเช่นนี้  ผมก็ถือว่าเป็นคุณลักษณะอันสำคัญของการเป็น “นักบริการที่ดี” 

ในมุมคิดของผม - การเป็นนักบริการที่ดี  ไมจำเป็นต้องกะเกณฑ์ชี้วัดกันด้วยกรอบแนวคิดหรูหราใหญ่โตหรอกนะครับ แค่วัดจากเรื่องเล็กๆ ในองค์กร หรือเรื่องเล็กๆ ในหน้าที่ตรงนั้น ก็ถือว่าเป็นบทพิสูจน์ หรือภาพสะท้อนของการเป็นนักบริการที่ดีได้   

ครับ,  เพียงเปิดใจสำรวจ “ทุนความสุขในองค์กร”  อย่างเปิดเปลือยเหมือนที่ผมว่า  จากนั้นค่อยขยายความดูว่า “ทำอย่างไร  มีวิธีการอย่างไร”  ย่อมช่วยให้ค้นพบถึงหลักคิดและแนวปฏิบัติที่ดีในการเป็น “นักบริการที่ดี” ได้โดยปริยาย

ผ่านจากกิจกรรมค้นหาความสุขในองค์กร   ผมก็เข้าสู่กระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม  โดยแบ่งกลุ่มตามวิชาชีพนั่นแหละ  อาทิ  พนักงานขับรถ,คนสวน,แม่บ้าน,นักวิชาการ,สารบรรณ,เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฯลฯ
          ในแต่ละกลุ่มให้เลือกประเด็นการแลกเปลี่ยนร่วมกันว่าจะใช้ประเด็นอะไร  เช่น 3 เรื่องดี 4 เรื่องร้ายในองค์กร,ค้นหาคนต้นแบบ (Service Mind),กำจัดจุดอ่อนคำว่า “ไม่” ในการเป็นนักบริการที่ดี

         ครับ, ผมพยายามให้แต่ละกลุ่มได้เลือกประเด็นการแลกเปลี่ยนตามความสนใจ  ซึ่งหลายกลุ่มก็ยกมือขอถกคิดและพูดคุยในประเด็นที่สนใจ 
         ส่วนกลุ่มบุคลากรคนสวนนั้น  ผมมอบหมายให้ล้อมวงพูดคุยกันในประเด็น “กำจัดจุดอ่อนคำว่า “ไม่” ในการเป็นนักบริการที่ดี”

         ประเด็นดังกล่าวนี้  เป็นการระดมความคิดว่า  หากจะทำงานให้ดี  หรือหากจะเป็นนักบริการที่ดี (คนสวนที่ดี) ต้องไม่มี หรือไม่ทำตัวอย่างไร โดยให้ช่วยกันสะท้อนคำว่า “ไม่”  ออกมาให้ได้เยอะที่สุดเท่าที่จะนึกออก 
         และสิ่งที่สะท้อนออกมานั้น  ผมกำชับให้มองผ่านความเป็นจริง  หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในระบบการทำงานเป็นหัวใจหลัก   
         รวมถึงการคิดพยากรณ์ว่า  หากจะเป็นนักบริการที่ดีต้อง “ไม่ทำอะไรบ้าง”

และนี่คือประเด็นที่สะท้อนออกมา ...

  • ไม่กินแรงเพื่อน
  • ไม่หนีกลับก่อนเวลา
  • ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน
  • ไม่ตื่นสาย
  • ไม่รู้ (ไม่มีคำว่าไม่รู้)
  • ไม่เป็น
  • ไม่ได้
  • ไม่โมโห
  • ไม่ 2 มาตรฐาน
  • ฯลฯ

ครับ, โดยส่วนตัว  ผมเชื่อว่าเหล่านี้  คงไม่ได้จำกัดพื้นที่อยู่แค่กลุ่มคนสวนหรอกนะครับ แต่เชื่อว่าเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์จริงที่ผ่านมาในกลุ่มอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน  ในทำนองเดียวกันก็น่าจะเป็นข้อคิดที่พึงตระหนัก  เพื่อการเป็นนักบริการที่ดีโดยมองผ่านสถานการณ์จริงในองค์กรนั่นแหละ

       อย่างไรก็ดี  ผมเชื่อว่า “ไม่”  ในหลายๆ คำนั้นได้ซ่อนแฝงให้คิดตามอยู่หลายประเด็นเลยทีเดียว  มีทั้งที่สะท้อนในระดับ “กลุ่มปฏิบัติการ”  โดยตรง และอีกส่วนหนึ่งก็สะท้อนถึง “ผู้บังคับบัญชา” ไปอย่างเสร็จสรรพ

       คำในบางคำ สื่อให้เห็นว่าการเป็นนักบริการที่ดีต้องไม่หยุดนิ่งต่อการเรียนรู้ (ไม่รู้-ไม่เป็น-ไม่ได้) 

       คำในบางคำสื่ อให้เห็นหลักของการเป็นนักบริการที่ดีบนฐานคิดของการอยู่ร่วมกันในทีม (ไม่หนีงาน-ไม่กินแรงเพื่อน-ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน) 
       หรือแม้แต่การรับผิดชอบต่อวิถีแรกเริ่มประจำวันของตนเอง คือ “ไม่ตื่นสาย”

ครับ, บางทีการจะเป็นนักบริการที่ดี  ก็ควรเริ่มต้นจากการสำรวจ-สังเคราะห์ต้นทุนอันเป็นสถานการณ์ของตนเอง หรือองค์กรตนเองเช่นนี้แหละ

       สำรวจ และสังเคราะห์ผ่านกระบวนการที่ “สนุก” ไม่เครียดเคร่ง ...
        ทำกระบวนการให้ “บันเทิง เริงปัญญา” จะได้ผ่อนคลาย  ปลอดภัย โล่งใจ  กล้าที่จะพูดความจริง และกล้าที่จะเปิดใจสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกัน –

สำหรับผมแล้ว  ผมมีความสุขกับเวทีนี้มาก  ผมไม่ได้บรรยายภาคทฤษฎีอะไรมาก  แต่เน้นให้แต่ละคน แต่ละกลุ่มได้ถกคิดพูดคุยกันเองเป็นส่วนใหญ่ เป็นการกระตุ้นให้เห็นคุณค่าของตนเองในอีกช่องทางหนึ่ง

       และสุขใจที่หลังการสะท้อนข้อมูล  มีเจ้าหน้าที่ยกมือขอกล่าวขอบคุณด้วยตนเอง  เพราะเขารู้สึกมีความสุขกับกิจกรรม  ได้ความรู้ และที่สำคัญคือได้พูด ได้เสนอแนวคิดไปยังคนรอบตัว หรือแม้แต่การสะท้อนถึงผู้บริหาร
       ซึ่งที่ผ่านมาไม่ค่อยได้สื่อสารเช่นนี้เลย....

...

นักบริการที่ดี
๒๔ มีนาคม ๒๕๕๗
มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 565410เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2014 08:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2014 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ไม่ฆ่าลูกน้อง(ในเชิงบริหาร) ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อนฝูง คือ สุดยอด นักบริหาร

ชอบการสะท้อนแนวคิดร่วมกันและร่วมพัฒนาแบบบันทึกนี้มากครับ

ดีจังเลยครับ

ได้นักบริการที่ดี

ครบทุกระบบ

ดีใจที่มีบันทึกออกมาสม่ำเสมอครับ

ครับ พี่ Dr. Ple

สุดยอดนักบริการ คือการสร้างคน อันหมายถึง ไม่ฆ่าน้อง-ฟ้องนาย ขายเพื่อน...
เรียกได้ว่า สอนงาน สร้างทีม เพื่อให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง..

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ คุณทิมดาบ

เดินช้าแบบมีส่วนร่วม-ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ-ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ น่าจะเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนงานร่วมกัน...

ผมเชื่อเช่นนั้นครับ

ครับพี่ แก้ว..อุบล

ตราบใดที่เราไม่หยุดนิ่งต่อการเรียนรู้
ตราบนั้น เราไม่ร้างซึ่งความดี-คนเก่ง ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท