เลี้ยงหลานไม่สมวัย...ควรคิดทำใหม่


เมื่อวานดร.ป๊อปได้นัดหมายคุณพ่อน้อง ช. ที่อ่านพบกิจกรรมบำบัดกับการพัฒนาเด็กผ่าน GotoKnow.Org แล้วเกิดความมุ่งมั่นในการขับรถจากนครสวรรค์มาถึงคลินิกกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล ศาลายา

จากการประเมินและแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ PPP หรือ Parent/Peer Partnership Programming ราว 2 ชม.ทำให้ทั้งคุณพ่อ คุณปู่ คุณย่า และน้อง ช. ได้เรียนรู้การพัฒนาตนเองดังต่อไปนี้

  • การสังเกตทางคลินิกและการสัมภาษณ์ (Subjective): น้อง ช. อายุ 2 ขวบครึ่ง เข้าหาคนแปลกหน้าได้ดี แต่พูดชัดเพียงไม่กี่คำ เช่น หม่ำ นม พ่อ เป็นต้น นอกนั้นจะเลียนได้เป็นคำๆ แต่ไม่ชัด ติดอุ้มและติดทานนมจากขวด มีร้องไห้ถ้าขัดใจเวลาให้นั่งเก้าอี้ตัวเล็กทำกิจกรรม ฟันผุเกือบหมด มีน้ำลายไหลบ้าง และมีภาวะกลัวในการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น การกระโดด การขึ้นยืนบนเก้าอี้ตัวเล็ก การยืนทรงตัวขาเดียว เป็นต้น จากการสัมภาษณ์ข้อมูลการคลอดปกติ ไม่ดูดนมแม่ ทานนมจากขวดบนตักย่ามาโดยตลอด เพิ่งพูดได้ตอน 2 ขวบ มีการเกร็งขาเหยียดเป็นบางครั้ง ชอบพลิกตัวไปมาก่อนนอน อยู่บ้านนั่งเล่นบนพื้น และร้องไห้เอาแต่ใจมาโดยตลอด (ข้อดีที่ร้องไห้แล้วหายเร็ว) พ่อทำงานไม่มีเวลาเล่นกับน้อง ปู่ย่าเลี้ยงหลานแบบไม่สมวัย (เช่น อุ้มและโอ้น้องมากเกินไป) พ่อได้พาน้องไปพบแพทย์ทั่วไปสันนิษฐานว่า มีภาวะสมองเสื่อม โดยไม่มีการตรวจสมองที่แน่ชัด แต่ได้กำหนดพาไปโรงเรียนและมีการนัดหมายฝึกพัฒนาการแต่ไม่ทราบว่า ฝึกกับนักบำบัดอะไร 
  • การสังเกตทางคลินิกและการตรวจประเมินเด็ก (Objective): น้อง ช. ไม่จดจ่อในการทำกิจกรรมสหสัมพันธ์ของตาและมือ (ช่วงความสนใจสั้นในหนึ่งขั้นตอนการเล่นไม่เกิน 20 วินาที มีสมาธิกับหนึ่งกิจกรรมที่ชอบเพียง 1 นาที) มีภาวะการทรงท่าไม่ดี (จับยืนกระต่ายขาเดียวแบบต้องช่วย 80%) และการทรงตัวไม่ดี (จับยืนบนเก้าอี้ตัวเล็กและจับยืนกระโดดให้พ่ออุ้มแบบต้องช่วย 80%) พยายามให้ทานนมจากแก้วขนาดเล็ก ช่วง 5 นาทีแรกไม่ยอมและร้องไห้จะทานนมจากขวด ต้องให้นั่งตักคุณย่าและช่วยประคองแก้วแบบต้องช่วย 50% พบว่า น้องใช้เวลา 5 นาทีในการใช้สองมือยกขึ้นดื่มจากแก้วได้เอง แต่ปฏิเสธทานในแก้วที่ 2-3 โดยเทนมหกบนพื้น เมื่อทดสอบให้วิ่งสลับเดินก็ทำได้ช้า จับกระโดดบนอุปกรณ์แทมโบลีน ก็กล้าๆกลัวๆ ต้องอุ้มและสาธิต ก็โยกตัวเล็กน้อย (ชอบเต้นที่บ้าน) แต่ยังกระโดดเองไม่ได้ เมื่อให้ถอด-ใส่ร้องเท้า และคลาย-ผูกเชือก ก็ต้องช่วย 80%
  • การประเมินด้วยเหตุผลทางคลินิก (Assessment): เมื่อประเมินน้อง ช. พบว่า มีการพัฒนาเด็กที่ช้าและไม่สมวัย ซึ่งมีความต้องการพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาทักษะการรับประทานอาหาร การพัฒนาทักษะการสื่อสาร การพัฒนาทักษะการเล่น และการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ผ่านองค์ประกอบของการเพิ่มสมาธิ การเพิ่มความสนใจ การเพิ่มพฤติกรรมการควบคุมอารมณ์ การเพิ่มพฤติกรรมการใช้กล้ามเนื้อเล็ก (ตา มือ ลิ้น ปาก และฟัน) ในการทำกิจวัตรประจำวัน และการเพิ่มความมั่นใจในการทรงท่าและการทรงตัว (ซึ่งส่งผลต่อการสื่อสารด้วย) ในการเล่น ทั้งนี้ต้องส่งปรึกษากุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็ก นักกิจกรรมบำบัด นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย นักกายภาพบำบัดเด็ก ครูการศึกษาพิเศษ ในจังหวัดนครสวรรค์ (ถ้ามี) เพื่อเพิ่มความถี่และความหนักของการพัฒนาเด็กรายนี้ โดยเฉพาะปัญหาฟันผุที่เยอะมากกับทันตแพทย์เด็ก
  • การออกแบบโปรแกรม/การวางแผนเพื่อติดตามความก้าวหน้า (Program/Plan): ให้โปรแกรมสุขภาพจิตศึกษาแก่คุณพ่อ คุณปู่ และคุณย่า ให้มีทัศนคติที่ถูกต้องในการพัฒนาน้อง ช. เพราะการเลี้ยงดูแบบไม่สมวัยที่ผ่านมา เช่น ไม่ปล่อยให้น้องเล่นกับพื้นจนน้องไม่มีโอกาสได้ใช้กล้ามเนื้อต่างๆ ทรงท่านั่งบนเก้าอี้ อุ้มน้องมากเกินไปจนน้องไม่มีโอกาสยืน กระโดด ทรงตัว และเดินได้อย่างคล่องแคล่ว และไม่ให้น้องทานนมจากขวดจนน้องไม่มีโอกาสได้ฝึกกล้ามเนื้อต่างๆ ในการดูด เคี้ยว กลืนอาหารได้สมวัย นอกจากนี้ได้เพิ่มการบ้านพัฒนาเด็กด้านองค์ประกอบของการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตเบื้องต้น (เน้นขอบเขตของกิจกรรมการเล่นและการดูแลตนเอง) เพื่อติดตามผลใน 2 สัปดาห์ ได้แก่ การฝึกทานนมจากแก้วขนาดเล็ก การฝึกของเล่นที่ใช้ตากับมือ (ช่วยจับทำบ้างในระยะแรก) บนโต๊ะและนั่งเก้าอี้ การฝึกทรงท่ายืนบนเก้าอี้เล็กและปีนถึงกระโดดจากเก้าอี้ใหญ่ (มีคนจับช่วย 2 คน) การฝึกกระโดดและกระตุ้นการเดินสลับวิ่งผ่านการกระตุ้นที่สะโพกบ่อยครั้ง การกระตุ้นสบตาให้นาน 20 วินาทีโดยจับลูกบอลขนาดเล็ก/ใหญ่โยนพร้อมมองตาผู้รับบ่อยครั้ง และการฝึกใส่-ถอดเสื้อผ้าและรองเท้า (ลดการช่วยเหลือบ้าง) 

และแล้วเพียงแค่ 2 ชม.ที่ได้เน้นคุณพ่อได้ตระหนักรู้ถึงการพัฒนาน้อง ช. ทำให้คุณพ่อได้เริ่มซื้อโต๊ะและเก้าอี้ให้น้อง ช. ได้นั่งทานอาหารแทนการนั่งกับพื้นเป็นครั้งแรก และคุณพ่อได้ส่งมาทาง LINE ทำให้ดร.ป๊อปได้ชื่นใจในก้าวแรกของความสำเร็จในกรณีศึกษารายนี้ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 565349เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2014 08:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2014 18:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

"กำลังเป็นโรคสงสารตัวเองและสงสารสังคม"...เจ้าค่ะ...ควรคิดทำใหม่..จริงๆเจ้าค่ะ..บุญรักษาค่ะ.(ยายธี)

ขอบคุณนะคะอาจารย์ ที่แบ่งปันความรู้

...น่าสนใจมากค่ะ...รอติดตามอ่าน

ขอบคุณมากครับคุณยายธี พี่นงนาท คุณอร พี่ดร.พจนา คุณบุษยมาศ คุณส.รตนภักดิ์ และคุณธีระวุฒิ

สวัสดีค่ะอาจารย์ ดร.ป๊อบ

  • เป็นกำลังใจให้น้อง ช. และครอบครัวของน้อง ช.ด้วยนะคะ
  • พี่เหมียวกำลังมีปัญหาการเลี้ยงดูแลตัวเองไม่สมวัยเหมือนกันคะ ขอโปรแกรมหน่อยค่ะ อิอิ
  • อ้อ! สำคัญค่ะสำคัญว่า GotoKnow ยังเป็นสื่อสร้างสรรค์และเป็นสื่อกลางที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ต้องการข้อมูลดีๆ อยู่นะคะเนี่ยะ
  • อันนี้สำคัญยิ่ง คือ ขอเป็นกำลังใจให้ให้อาจารย์น้องป๊อบอย่างม๊ากกกก มายเช่นเดิมค่ะ ^^

Dr.Pop ..... ช่วยผู้ป่วย และฃ่วยสังคมมากเลยค่ะ ... เป็นความดีที่งดงามมากๆ ค่ะ

ขอบคุณมากๆครับพี่ณัฐพัชร์และพี่ดร.เปิ้น

ขอบคุณอาจารย์ที่เขียนประเด็นนี้

พี่สังเกตว่าเด็กสมัยใหม่พ่อแม่มักเลี้ยงแบบให้ช่วยตัวเองน้อย เด็กทำอะไรได้น้อยลง ติดนมขวดนานขึ้น ใส่ผ้าอ้อมนานจนวิ่งก็ยังไม่ฝึกควบคุมขับถ่าย ไม่ค่อยได้วิ่งเล่น ฯลฯ

ถ้ามีปู่ย่าตายายดูแล ข้อดีก็มี และข้อเสียคือตามใจมากจนขาดวินัย

ทีพี่ไม่เห็นด้วยมากกก คือเอาแทบเล็ตใส่มือลูกตั้งแต่อายุนิดเดียว

วันก่อนพี่ไปดูเทนนิส ครอบครัวหนุ่มสาวพาลูกวัยไม่ถึงสามขวบมาพร้อมพี่เลี้่ยง เด็กไม่อยู่นิ่งและส่งเสียง พ่อก็เลยส่งแทบเล็ตให้แล้วบอกพี่เลี้ยงพาไปนั่งตรงที่ว่าง เด็กเล่นเดี๋ยวเดียวก็วิ่งซุกซนอีกพี่เลี้ยงก็ลากมาเล่นแทบเล็ตอีก วุ่นๆ กันอย่างนั้น รบกวนคนอื่นมาก

พี่คิดว่า เลี้ยงเด็กให้ดีรักอย่างเดียวไม่พอต้องรู้ด้วย

เพราะเด็กๆ วันนี้จะรับมรดกประเทศไทยในอนาคต

เห็นด้วยกับพี่ nui อย่างยิ่งและเห็นได้ชัดเจนว่า เทคโนโลยีเริ่มเข้ามาทำลายโอกาสของการเรียนรู้โดยธรรมชาติของเด็กๆ ผมก็พยายามจะจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงเด็กครับ ไว้ถ้าจัดตารางได้จะส่งให้พี่ nui ด้วยครับ ขอบคุณมากๆครับผม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท