Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและประเพณีปกครองของรัฐไทย : การจดทะเบียนการเกิดภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙


เราพบว่า บทบัญญัติเรื่องการรับรองการเกิดของผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาล ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ หายไป ผู้เขียนไม่ทราบว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้บทบัญญัตินี้หายไป ?

         หลังจากการนำแนวคิดเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎรมาปรับใช้ในประเทศไทยทีละเล็กทีละน้อยโดยผ่านกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรรุ่นแรกทั้งหมด[1]  จะเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นกับการผูกมัด คน และ พื้นที่ เข้าไว้ด้วยกันใน ทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นทะเบียนประเภทหนึ่งในทะเบียนราษฎร  เราสังเกตเห็นแนวคิด ระลอกสอง ว่าด้วยทะเบียนการเกิดใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งเข้ามาแทนที่กฎหมายเก่าทั้งหมด

           โดยพิจารณาบทบัญญัติทั้งหมดของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ แล้ว เราอาจมีข้อสังเกตหลายประการสำหรับการจดทะเบียนการเกิดในยุคนี้

        ในประการแรก  ในเชิงนิติอักษรศาสตร์ เรายังพบคำว่า ทะเบียนราษฎร เป็นชื่อกฎหมายต่อไป  นอกจากนั้น กฎหมายฉบับนี้ยังมีคำนิยามของคำว่า คนเกิด โดยให้หมายความถึง ทารกขณะคลอดแล้วมีชีวิตอยู่[2] และนิยามคำว่า ทะเบียนคนเกิด ให้หมายความว่า ทะเบียนซึ่งแสดงรายการคนเกิด[3] ในที่สุด เราพบคำว่า สัญชาติไทย[4] ในกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่ พ.ร.บ.นี้ก็ไม่ได้ใช้แนวคิดเรื่องสัญชาติมากำหนดตัว ผู้ทรงสิทธิ ที่จะมีชื่อในทะเบียนราษฎรแต่อย่างใด

           ในประการที่สอง เราสังเกตเห็นว่า หลักกฎหมายว่าด้วยการแจ้งการเกิดยังมีสาระสำคัญเหมือนเดิม  กฎหมายนี้ยังกำหนดให้เจ้าบ้าน[5] มีหน้าที่แจ้งการเกิดของคนเกิด ในบ้าน[6] ต่อนายทะเบียนท้องถิ่นภายในกำหนดเวลา ๑๕ วันนับตั้งแต่วันเกิด[7] ส่วนการเกิด นอกบ้าน ให้เป็นหน้าที่ของมารดา ภายใน ๑๕ วัน นับตั้งแต่วันเกิด แต่ถ้าจำเป็นไม่อาจแจ้งได้ตามกำหนด ให้แจ้งภายหลังได้ แต่ต้องไม่เกิน ๑๕ วัน นับแต่วันที่อาจแจ้งได้ แต่ พ.ร.บ.ฉบับ พ.ศ.๒๔๙๙ ไม่ได้กำหนดให้บิดาหรือเจ้าบ้านต้องมาทำหน้าที่แจ้งแทนมารดา ในกรณีที่มารดาไม่อยู่ในสถานะที่จะแจ้งความได้[8] ดังที่เป็นไปใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙[9] 

                  ในประการที่สาม เราสังเกตเห็นการปรากฏตัวครั้งแรกของหลักกฎหมายเรื่องการออกสูติบัตรเพื่อเป็นหลักฐานการแจ้งการเกิด  ดังปรากฏมาตรา ๑๓ แห่งกฎหมายนี้ กล่าวคือ เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งการมีคนเกิดแล้ว ให้ออกสูติบัตรเป็นหลักฐาน ขอให้สังเกตว่า การออกสูติบัตรเป็น หน้าที่ ของนายทะเบียนผู้รับแจ้ง และไม่อาจเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมในการออกเอกสารดังกล่าว

                ในประการที่สี่ เราก็ยังคงเห็นหลักกฎหมายเรื่องการแจ้งการพบ เด็กไร้รากเหง้า ดังปรากฏในมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดพบคนเกิดใหม่ซึ่งถูกทิ้งไว้ ให้แจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจ หรือนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่ที่ตนพบนั้น โดยมิชักช้า แม้กฎหมายนี้ก็ไม่ได้บอกตรงๆ ว่า จะต้องทำอย่างไรเพื่อจดทะเบียนการเกิดให้เด็กในสถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งถ้าจะตีความให้เป็นคุณแก่เด็ก กรณีก็น่าจะเป็นไปภายใต้มาตรา ๑๓ แห่งกฎหมายนี้ กล่าวคือ เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งการมีคนเกิดแล้ว ให้ออกสูติบัตรเป็นหลักฐาน

              ในประการที่ห้า เรายังสังเกตเห็นการกำหนด หน้าที่ ของบิดาให้ต้องแจ้งชื่อตัวของบุตรต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายใน ๖ เดือนนับแต่วันเกิด หน้าที่แจ้งดั่งกล่าวนี้ ถ้าไม่ปรากฏบิดา หรือบิดาไม่อาจแจ้งได้ ให้เป็นหน้าที่ของมารดา ถ้าทั้งบิดาและมารดาไม่อาจแจ้งได้ ก็ให้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองเด็กนั้น[10] 

                ในประการที่หก เราสังเกตเห็นการปรากฏตัวครั้งแรกของบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งเกิดของคนสัญชาติไทยซึ่งเกิดในต่างประเทศ โดย ให้กงสุลไทยหรือข่าราชการสถานทูตไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งเป็นนายทะเบียน มีหน้าที่รับจดทะเบียนสำหรับผู้มีสัญชาติไทย ในกรณีคนเกิด คนตาย และลูกตายในท้อง นอกราชอาณาจักร[11]  บทบัญญัติเช่นนี้ทำให้เราตระหนักว่า ไม่เพียงแต่รัฐเจ้าของดินแดนเท่านั้นที่ควรรับจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็ก รัฐเจ้าของสัญชาติของเด็กก็อาจรับจดทะเบียนการเกิดให้แก่เด็กด้วย ก็ดี

              ในประการที่เจ็ด ใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ นี้ เราก็ยังสังเกตเห็นการใช้โทษปรับในการลงโทษผู้ที่ไม่ทำหน้าที่แจ้งความการเกิด ซึ่งกฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะทำปรับไม่เกิน  ๒๐๐ บาท[12] 

                 ในประการที่แปด  เราสังเกตเห็นการปรากฏตัวของบทบัญญัติว่าด้วยกระบวนการจัดทะเบียนการเกิดอย่างชัดเจนมากขึ้นกว่ากฎหมายในยุคที่ผ่านมา กล่าวคือ (๑) ให้นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดทำทะเบียนคนเกิด...จากสูติบัตร[13]  (๒) ทะเบียนคนเกิด...หรือสูติบัตร...เป็นหนังสือราชการ ผู้ใดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการมิได้ เว้นแต่นายทะเบียนจะเป็นผู้แก้โดยได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัด[14] และ (๓) ในเขตเทศบาล ให้นายทะเบียนท้องถิ่นมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้เจ้าบ้านเก็บรักษาไว้ เมื่อมีการแจ้งคนเกิด.....ให้เจ้าบ้านหรือผู้แทนนำไปให้นายทะเบียนท้องถิ่นลงรายการในสำเนาทะเบียนบ้านให้ถูกต้อง ตรงกับต้นฉบับทุกครั้ง[15] 

                 ในประการที่เก้า เราพบว่า บทบัญญัติเรื่องการรับรองการเกิดของผู้ทำคลอดหรือผู้รักษาพยาบาล ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกใน พ...การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ..๒๔๗๙[16] หายไป  ผู้เขียนไม่ทราบว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้บทบัญญัตินี้หายไป ?

              ในประการที่สิบ เราสังเกตอีกว่า พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ก็เปิดทางให้ฝ่ายปกครองสร้างกฎหมายปกครองลูกบทเพื่อการจดทะเบียนการเกิด[17] เหมือนกฎหมายฉบับที่ผ่านมา  ประเพณีปกครองเกี่ยวกับการจดทะเบียนการเกิดจึงยังเติบโตไปเรื่อยๆ และหลายครั้งที่ประเพณีการปกครองนี้มีลักษณะที่น่าจะขัดแย้งกับพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท

              ในประการที่สิบเอ็ดและเป็นประการสุดท้าย เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาปัญหาการจดทะเบียนการเกิดภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่าง ใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการจดทะเบียนการเกิด เราก็อาจยืนยันได้ต่อไปว่า  ทะเบียนคนเกิดในยุคนี้ก็ยังมีลักษณะทั่วไป (universal) เพราะเราไม่พบว่า กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิเสธสิทธิของเด็กซึ่งไม่มีสัญชาติไทย  เราไม่พบการเลือกปฏิบัติในบทบัญญัติส่วนใดส่วนหนึ่งของกฎหมายฉบับนี้ กรณีเป็นไปเหมือนกฎหมายฉบับก่อนๆ

              พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๙ และถูกแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๓๔ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๕[18] ถูกยกเลิกโดยมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ในวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งรวมเวลากว่า ๓๕ ปี ที่มีการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้


[1] มาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ บัญญัติว่า  เมื่อได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๒ แล้ว ให้ยกเลิก (๑) พ.ร.บ.สำหรับทำบาญชีคนในพระราชอาณาจักร ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒)  (๒) พ.ร.บ.การตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัว และการจดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนย้ายตำบล พ.ศ.๒๔๖๑ (๓) พ.ร.บ.การตรวจสอบบัญชีสำมะโนครัว และการจดทะเบียนคนเกิด คนตาย คนย้ายตำบล (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๗๙ และ (๔) พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[2] ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๔ (๘) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ในขณะที่มาตรา ๓ (๕) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙ นิยามว่า คนที่คลอด แล้วอยู่รอดเป็นทารก
[3] มาตรา ๔ (๔) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙
[4] ปรากฏในมาตรา ๒๓ แห่งพ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งรับรองสิทธิของคนสัญชาติไทยซึ่งเกิดนอกประเทศไทยที่จะได้รับการจดทะเบียนการเกิดโดยรัฐไทย  ซึ่งกฎหมายนี้กำหนดให้กงสุลไทยหรือข้าราชการสถานทูตไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งเป็นผู้รับจดทะเบียนการเกิดให้
[5] มาตรา ๔ (๖) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ บัญญัติให้หมายถึง ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครองบ้านในฐานะเป็นเจ้าของ ผู้เช่า หรือในฐานะอย่างอื่นใดก็ตาม
[6] มาตรา ๔ (๑) แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ บัญญัติว่า บ้าน หมายถึง โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างสำหรับใช้เป็นที่อยู่ประจำซึ่งมีเจ้าบ้านครอบครอง และให้หมายความรวมถึงแพ หรือเรือ ซึ่งจอดประจำและใช้เป็นที่อยู่ประจำด้วย
[7] มาตรา ๑๗ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[8] มาตรา ๑๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙
[9] มาตรา ๑๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[10] มาตรา ๑๘ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรในเขตต์เทศบาล พ.ศ.๒๔๗๙
[11] มาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙
[12] มาตรา ๔๐ (๓)  แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙
[13] มาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙
[14] มาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ และมาตรา ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งถูกแก้ไขโดย ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๓๔ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๕
[15] มาตรา ๒๙ วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙
[16] กล่าวคือ มาตรา ๒๐ แห่ง พ.ร.บ.ฉบับ พ.ศ.๒๔๗๙ นี้บัญญัติว่า เมื่อเทศบาลเห็นเป็นการสมควรอาจออกเทศบัญญัติกำหนดให้แพทย์ นางผดุงครรภ์ หรือผู้มีวิทยฐานะอื่นใด มีหน้าที่แจ้งความต่อนายทะเบียนท้องถิ่นในเรื่องคนเกิดคนต่าย หรือทารกตายขณะคลอด ซึ่งตนได้รู้เห็นเนื่องในหน้าที่อันเป็นอาชีพของตน หรือเนื่องจากพฤติการณ์อื่นดังที่ระบุไว้ในเทศบัญญัติ ก็ได้
[17] มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙ บัญญัติว่า ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงจัดตั้งสำนักทะเบียน และกำหนดกิจการอื่น เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

[18] ราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๘๙ ตอนที่ ๑๖๕ ฉบับพิเศษ หน้า ๑๙ วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๕

-------------------------------------------
สถานการณ์ด้านข้อกฎหมายและประเพณีปกครองของรัฐไทย
: การจดทะเบียนการเกิดภายใต้ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙
โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร
วันจันทร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ 
หมายเลขบันทึก: 56490เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2006 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เมื่ออ่านแล้วคิดตามก็จะได้ประโยชน์อย่างมาก อาจเป็นไปได้ว่าช่วงหลังนี้เด็กจะเกิดกันที่โรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาล

555 ขอความรู้เรื่องการทะเบียนราษฏรจากอาจารย์นะคะ >_< ขอบคุณค่ะ / ตั๊ก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท