"รู้-ดี-งาม-สุข-จริง"


                                  

               

                      การเป็นอยู่ในโลกของผู้คนในสังคมแต่ละกลุ่ม แต่ละเผ่า คละเคล้าไปด้วยพหุทัศน์ และอดุมคติของวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้นๆ คงจะยึดเอาเป็นสากลในถิ่นใด ที่หนึ่ง ต่อการเป็นอยู่ของผู้คนทั้งโลกไม่ได้ ยิ่งแต่ก่อนเรามีความหลากหลายทางคตินิยม คติชาวบ้าน ชาวเมือง มากมาย ปัจจุบันเริ่มลดลง เหมือนกำลังจะกลายเป็นเอกทัศน์หรือเอกพันธุ์อันเดียวกัน เช่น วัฒนธรรม การอยู่ การกิน การศึกษา การพัฒนา การปกครอง ฯ โดยเฉพาะประเทศที่มีอิทธิพลต่อพลโลก เช่น อเมริกา จนวัฒนธรรมโลกที่สาม อ่อนแอหรือแพ้กำลังค่านิยมสมัยใหม่

               แต่อย่างไรก็ตาม ความเชื่อ ความคิด ความศรัทธา ความรู้สึก นึกคิดของมนุษย์ในฐานะเชื้อชาติของตนก็ยังคงพอมีให้เห็นอยู่บ้าง แม้จะอยู่ในรูปแบบเชิงผสมผสานก็ตาม ถือว่า พัฒนาปรับตนเองให้รอดได้ เราเป็นชาวตะวันออกมองชาวตะวันออกเราจะรู้สึกว่า เราอบอุ่นที่เกิดในแถบเอเชีย ที่เจอวัฒนธรรมที่เกี่ยวก้อยตามรอยธรรมชาติอยู่ ยังมิได้มีกระแสเทคโนโลยีมาย่ำยีมากนัก แต่อนาคตก็ไม่แน่หรอก

 

               มานึกๆ ดูผู้คนพลโลก ต่างก็ดิ้นรนต่อสู้เพียงแค่ให้สิ้นลมหายใจเท่านั้น การแสดงออกทั้งบู๊ ทั้งบุ๋น เหมือนให้ชีวิต "มีคาร์ มีเนชั่น" เท่านั้น ในช่วง ๑๐๐ ปี ของชีวิตเรา หากจะประเมินเราคงบอกไม่ได้ว่า เราเน้นอะไรไปมากกว่ากัน เพราะมันปนๆ จนหม่นมอม ออกสีเทาๆ สุดท้ายก็กลายเป็นศพ เป็นภาพเวทีให้ผู้คนอื่นยืนมองว่า นั่นคือ "ศพคน" มุงดู แต่ไม่รู้ว่า นั่นคือ ภัยหรือความรู้ ทุกอย่างจบลงตรงที่สิ้นสุดลมปราณ หากจะคิดต่อไปว่า จะไปไหนกันต่อละว้าาา..

              ผู้เขียนประมวลจุดหมายกิจกรรมชีวิตในขณะเป็นๆ ไว้ ๕ ประการใหญ่ๆ คือ "รู้ ดี งาม สุข จริง" คือ

            ๑) ความรู้ (Knowlede) ความรู้คืออะไร คือ ความรู้จักสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมเรา การเรียนรู้ระบบประสาทของตน การรู้สังคม การทำมาหากินหาเงิน หาสารพัดที่อยากรู้ อยากเรียนสิ่งใหม่ๆ ฯ ความรู้นี้ไม่มีสิ้นสุด แล้วนำเอาไปทำอะไร คำตอบคือ เพื่อดูแลตนเอง เพื่อเข้าสังคม เพื่อเป็นอาชีพ เพื่อสื่อสาร เพื่อการพัฒนา เพื่อสร้างความมั่นคงในตนและชาติบ้านเมือง จุดจบความรู้คือ ต่อสู้กัน แข่งขันกัน เพื่อให้ตนอยู่บนเวทีสังคมอย่างมีเกียรติ นี่คืออุดมคติชาวเมือง แต่ชาวชนบทอีกเรื่อง มีความรู้ไว้สู้กับอุปสรรคกับธรรมชาติและคนในเมือง (ที่จะมาหลอก) จนเริ่มเห็นคุณค่าของความรู้บ้าง

 

               ในทางปรัชญาญาณวิทยามองว่า "รู้เพื่อรู้" หมายความว่า เรียนรู้เพื่อให้ได้รับรู้ว่า รู้อย่างไร รู้มาจากไหน ในเนื้อหาก็ไม่พ้นเรื่อง ผัสสะหรือประสบการณ์ ความเชื่อ การพิสูจน์ นั่นเอง แต่มนุษย์รู้ยิ่งไปมากกว่านั้น คือ รู้เพื่อกระทำให้เกิดคุณค่า ในการแสดงออก เพื่อจะได้เห็นคุณค่าการกระทำของคนๆหนึ่ง ใครจะบอกได้ละว่า "รู้ดี" เป็นอย่างไร มิใช่แต่โซเครตีสคนเดียวที่บอกว่า "ความรู้คือ ความดี" ส่วนไอสไตน์กลับให้ความสำคัญเรื่อง จินตนาการมากกว่า แล้วตัวดีอยู่ไหนละ? ความดีอยู่ที่การยับยั้ง อดทนต่อคนที่อยู่ในตนข้างใน เพราะคนข้างในดื้อด้าน สันดานเลวมาก หากระงับหรือเทคโอเวอร์เขาได้ เราก็จะเห็นดีในตน

                สรุปแล้วคำว่า ความรู้ คือ นามธรรม ที่เราสะสม เรียนรู้จากผัสสะชีวิตจริงทุกขณะตื่น รู้ตัว ไม่ว่า สิ่งใดๆ ต้องผ่านกระบวนการนี้ทั้งสิ้น ต่อนั้น เราจะมีเครื่องมือกรองหรือย่อยมูลความหรือพลความแห่งความรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้นำพาไปทิศทางคำว่า "รู้ดี รู้ชอบ"

             ๒) ความดี (Goodness) คือ อะไร ความดี คือ หน่วยวัดพฤติกรรมของมนุษย์ ที่เกิดมาจากกฎหมาย กฎศีลธรรม จารีต ประเพณี วัฒนธรรม คุณค่าตรานิยม และความสำนึกในตัวเอง อันเกิดมาจากรากฐานจากศาสนา สังคม โรงเรียน ครอบครัว เป็นผู้ปลูกฝัง สร้างนิสัย ให้รู้จักคิด รู้จักวัด รู้จักฝึกฝน อบรม ให้เกิดขึ้นในใจและเกิดอุปนิสัยดีงาม จึงถูกหล่อหลอมให้มีมุมมองกว้างขึ้น มองเห็นค่าของคน ของเห็นผลต่อการกระทำของตนและคนอื่นกระทบต่อกันในทางสร้างสรรค์ เหมือนที่เราได้ยินบ่อยๆว่า "ความดี ไม่มีขาย อยากได้ให้ทำเอง" เราอยากได้ดี อยากได้ความดีมาไว้กับตน กับสังคมจริงๆหรือไม่

 

                คำว่า "ดี" เป็นหน่วยวัดด้านหนึ่งของการกระทำของมนุษย์ ที่อาศัยความบริสุทธิ์ เจตนา ตั้งใจ เสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งมาจากฐานศาสนา ส่วนมาจากสังคมมาจาก ความมุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร เรียนจบ ทำงาน จนสำเร็จร่ำรวย มีฐานะถือว่า ทำดี ในสายตาผู้คน แต่ความดีนั้น มีหลายระดับ จากครอบครัว เป็นตัวอย่าง  เป็นพ่อแม่แห่งแม่แบบที่ดี ให้กับลูก ขยายไปสู่สังคม ทำดีต่อประชาชน คนอื่น ต่อสาธารณะและประเทศชาติ นั่นคือ ความดีระดับหนึ่ง

               ความดีเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ดี ที่ทุกคนอยากมี อยากเป็น แต่เงื่อนไขของชีวิตไม่เอื้อให้เป็น เนื่องจากว่า การครองชีพ ถูกบีบคั้น การเป็นอยู่คับแคบ ถูกกดดัน ให้ต้องแสดงออกในสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา กล่าวคือ การถูกเอารัด เอาเปรียบ การไม่ได้รับความยุติธรรม การไม่ได้ส่งเสริมคนดี สังคมตอแหล ไม่ไช่สังคมอุดมคุณธรรมหรือกัลยาณมิตรที่ดี จึงทำให้ท้อแท้แพ้มารได้

 

              ดังนั้น การทำดี จึงไม่เกิดพลวัตรต่อการสร้างสรรค์สังคม แต่ผู้คนกลับเรียกร้องความดีจากบุคคลให้แสดงออกต่อกันด้วยจิตไมตรี มิใช่จิตแบบมโน มายา หน้าไหว้ หลังเสียบ ถ้าอยากเห็นความดี คนดี ต้องช่วยกันสร้างคนชั่วให้มากๆ จะได้รู้ว่า  สังคมชั่วๆนั้น น่าอยู่ น่าเป็นหรือไม่ แล้วท่านจะเห็นคุณค่าคำว่า "ความดี ความงาม" ที่น่าอบอุ่น ละมุนละไม อย่างไร

               ๓) ความงาม (Beauty) พลาโต้นักปรัชญากรีกบอกว่า ความงามคือ "ต้นแบบของสรรพสิ่ง" ถ้าใครหรือสิ่งใดเลียนแบบความงามออกมาได้สมจริงที่สุด ยิ่งจะได้เห็นความดีมากเท่านั้น ในโลกความเป็นจริง มนุษย์รักสวย รักงามอยู่ทุกคน ทุกคนคือ เครื่องมือวัดความงามทั้งสิ้น เช่น การแต่งตัว ใครๆ ก็รู้ว่าแต่งแบบไหนดูดี ตามฐานะ ตามอุดมคติ ตามพื้นฐานความรู้ของเขา โดยพื้นฐาน ย่อมรู้จักว่า แต่งอย่างไรจะเรียบร้อย หรือการจัดระเบียบวัสดุสิ่งของในบ้าน ในสวน ในห้อง ฯ ล้วนแต่มีมุมมองมาจากคำว่า งามหรือสวยทั้งสิ้น

                แต่ความงาม ความสวยก็มีหลายระดับ มีหลายชั้น ตื้นลึก ละเอียด ลึกซึ้งกินใจ กินตาไปตามอุปนิสัย ใจคอหรือสาขาวิชาการด้านศิลปะ แหล่งศิลปะที่จะสร้างให้เกิดศิลปินที่ดีงามคือ ศาสนา ธรรมชาติ จิตใจ การฝึกฝน จินตนาการ ทัศนคติ วิทยาการ ศาสตร์ต่างๆ ฯ ล้วนช่วยขับให้เกิดมุมมองในชีวิตได้ ส่วนวัสดุแห่งศิลปะคือ ชีวิต ที่แสดงปฏิมากรรมด้านพฤติกรรมออกมาให้เกิดคุณค่าว่างาม โดยอาศัยหลักธรรมคือ ความออดกลั้น อดทน สงบเสงี่ยม มั่นคง แน่นหนักในสถานการณ์ต่างๆ

 

               ดังนั้น ในชีวิตของเราล้วนต้องการความงาม ไว้ปรากฏแก่ตนอยู่เสมอ เริ่มตั้งแต่หาคู่ครอง สร้างบ้านให้งาม จัดห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอนให้สวยน่ารื่นรม น่าพักผ่อน อยากได้สิ่งสวยๆ งาม ประดับตบแต่ง เสื้อผ้า หน้า ผม ฯ ล้วนเป็นความรู้สึกที่เกิดเองในใจ นี่คือ ลักษณะมันฑนากรที่ทุกคนมี แต่จะให้งามตามด้านนอกนี้ ต้องงามด้านในด้วยคือ จิตใจที่งดงาม ด้วยกิริยามารยาท ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงใจเราให้เกิดความปิติ อิ่มใจ สบายใจตามมา

                ๔) ความสุข (Happiness) คือ ความปรารถนาของสรรพสัตว์ โดยเฉพาะมนุษย์ กิจกรรมทั้งหมดของชีวิตดำเนินไปสู่เป้าหมายคือ ความสุข อันเกิดจากทวิฐาน คือ กายและใจ ผู้เขียนสังเกตอารมณ์ของสมาชิกที่นี่ ที่มีการกล่าวถึงเรื่อง ความสุข อย่างนั้น อย่างนี้มากมาย หลายหลากอยากกันไป เสนอกันมา แต่คุณภาพที่แท้จริงที่เสพได้นั้น มีอะไรวัดได้บ้าง นอกจากภาษาอุทานว่า "สุขจริง สบายจัง" สุขนั้นอาบด้วยขนมหวาน เคลือบด้วยสารพิษหรือไม่หนอ

 

                นี่คือ สิ่งที่ผิดกฏธรรมชาติของมนุษย์ หมายความว่า ความสุข คือ ความปรารถนา มิใช่เรื่องจริง แต่เป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้จิตเป็นผลอย่างที่ปรารถนา หากสมหวังก็เรียกว่า สุขตามนั้น จะมีใครมากแค่ไหนที่รับรู้รับรสความสุขแบบหยั่งลึก ถึงก้นเหวของมันบ้าง และครองเสวยสุขแบบนั้นไปนานๆ ไม่มีหรอก เพราะความสุข คือ สิ่งที่เป็นมายาชโลมใจ ให้มีชีวิตชีวา ไปชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น แค่นั้น เราก็สุขแล้ว พอใจแล้ว เนื่องจาก ชีวิตอุดมไปด้วยทุกข์หรือความบีบคั้นตลอดเวลา เราไม่ชอบ แต่ต้องหาวิธีบำบัดมันด้วยการหาเสพวัตถุ เสพละคร บันเทิง ของเล่น กิจกรรมต่างๆ เพื่อให้จิตไม่ถูกครอบงำ แต่กลับถูก"ครอก"งำมากขึ้นอีก

                กระนั้น ก็หาใครปฏิเสธมันไม่ได้ เพราะนี่คือ อุดมคติของชีวิต มองให้ลึก เพื่อเสพให้สุขถึงแก่นจริงๆ ต้องเสพด้วยปัญญา มองให้ทะลุถึงต้นธาตุ ต้นสุขของมัน หนุ่มสาวมักจะมองกันว่า มีเธอ มีฉัน สวรรค์รำไร จากนั้นนรกก็มาเยือน คนมีเงินทองมาก ก็เห็นหอคอยดอยสวรรค์ชั้นวิมาน เสพสักครู่ก็หมดมนต์ขลัง แสวงหาที่สุขใหม่ร่ำไป ยิ่งดิ้นรนค้นหา ยิ่งไกลสุข ยิ่งหยุด ยิ่งแยกแยะในตน จะยิ่งเห็นเยื่อใยสายธาร บริสุทธิ์แห่งสายสุข ในใจตน มองให้ถึงตน ก็จะพบแอ่งล้นความสุขได้ เพราะนี่คือ สัจธรรมแห่งความเป็นจริงสากลในตนเรา

 

                 ๕) ความจริง (Truth) คือ อะไร   ความจริงจะเห็นชัด เมื่อเรามองไม่เห็นความจริงใดๆ เนื่องจากว่า ความความจริงไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม มิใช่ข้อเท็จจริงที่จะวัดได้ด้วยการประเมินจากสถิติ ความจริง จึงอยู่ในสิ่งที่มองไม่เห็นจริง แล้วจะรู้จักความจริงหรือ โลกแห่งผัสสะที่อริสโตเติ้ลแย้งอาจารย์ตนว่า นี่คือ ของจริง เพราะความความจริงหรือแบบนั้นอาศัยสสารเป็นตัวก่อเกิด ส่วนด้านโยคาจารมองว่า ความจริง มีได้เพราะใจ พอๆกลับกลุ่มจิตนิยม ที่มองว่า จิต คือ ประตูแห่งการรับรู้สรรพสิ่ง จิตคือ กัมมันตะ เหมือนที่ค้านท์มองว่า "สรรพสิ่งอยู่ในตัวมันเอง" คือ ความจริง

                 เมื่อหันมามองโลกสามัญรากหญ้า ที่ใช้ภาษาธรรมดาสื่อสารกัน จะพบว่า ความจริงสิงความเท็จ เมื่อเราฟังสส.ในสภาเราจะได้ยินว่า นี่คือ ความจริง คราเราถกเถียงกันเราก็จะงัดเอาความจริงมาอิงกัน ตำรวจ ทนาย อัยการ ศาล ศาสนา ชาวนา ฯ ก็ล้วนอ้างอิงเรื่องจริงและยืนยันว่า นี่คือ โครตจริง ความจริง จึงมีมหาศาล มั่วกันไปหมด จนเหมือนความจริงจะขัดแย้งกันเอง ผัวเมียทะเลาะกันอ้างข้อเท็จจริงยังไม่ตรงกัน ผู้ร้ายก็อ้างอย่าง ตำรวจก็อ้างอย่าง ทนายก็แย้ง ก็ยันกันไปคนละทิศละทาง นายจริงแท้อยู่ไหน?

 

                 ปัจจุบันจึงไม่ค่อยมีคนยอมกันว่า ไม่รู้จริง ทุกคนรู้จริงหมด เลี้ยงจริงไว้หมดจนเหมือนตัวจริงมันจะเชื่องจนเชื่อคนพูดเช่นนั้น ด้านการเมือง ปปกกส. ก็อ้างอย่าง รัฐก็อิงอย่าง คนที่ได้พลความคือ สื่อมวลชน จนเราบ้าข้อมูล ข้อเท็จจริงแล้ว ยิ่งอินเตอร์เน็ตเข้ามาสื่อต่างๆ เข้าถึงได้ อยากรู้อะไร "ถามย่า ถามกู" ก็รู้หมด จริงเท็จจริงแท้แค่ไหนละ ผู้เขียนเคยตามอ่านข่าวดังๆ หลายคดี ตามอ่านอยู่เรื่อยๆ ที่แฉกันแต่ละฝ่าย ไม่รู้จบเป็นเดือนก็มี เช่น ข่าวโอธานสตอฯ ข่าว เมียเจ้าเอ๊กซ์กับหมอ ข่าวฉาวดารา ฯ ตกลงกว่าจะรู้ว่า ใครพูดจริง พูดเท็จ เราเสพพลความข่าวมากมาย แม้ปัจจุบันก็มีลักษณะเช่นนี้เรื่อยๆ 

                ดังนั้น เราทุกคนเกิดมาบนโลกนี้ ล้วนมีความจริงทั้งเทียม ทั้งจริงอยู่ด้วยกัน และนั่นคือ สิ่งที่จำเป็นที่เราต้องชั่งให้ได้ จากเนื้อข่าว เนื้อพหุสัจ เพราะความจริงของโลกมีมากมาย ต้องเก็บเอาไว้ย่อย ไว้วิเคราะห์จึงจะรู้ต้นตอ กอความจริง ส่วนความจริงอันแท้ๆ คือ ร่างที่ท่านถือครองอยู่นั่นแหละ หากคลังความจริงนี้เสื่อมลง ความจริงทั้งหมดจะละลายเสื่อมด้วย จงแสวงหาความจริงที่สิงอยู่ในกองสองฐานคือ กายและจิต นี้จะรู้ประตูไปสู่ความจริงสากลได้ครับ

---------------<๒๔-๓-๕๗>-----------------  

คำสำคัญ (Tags): #รู้#ดี#งาม#สุข
หมายเลขบันทึก: 564538เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2014 00:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2014 22:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ความจริง ความดี ความงาม

ตอนไปฟัง ชา ที่หาดใหญ่ ได้บทกวีนี้มาฝาก

"เพื่อตัวฉันนั้นเพียงแค่ความงาม

ดีชั่วต่อนามไม่ปรากฎ

เพื่อตัวเธอความดีทวียศ

ทรงกรดจรัสสว่างกระจ่างใจ

ความจริง"คือศาสตร์คือความรู้"

ประดับอยู่คู่ศิป์สวยสดใส

บรรเทาทุกข์ดูแลคนป่วยไข้

ฉันนั้นไซร้งามถึงซึ่งจิตรวิญาณ"(Spirituality)

ขอบคุณที่นำเรียนรู้

มีหนังสือเล่มนี้ครับ

บ้านเราข่าวบันเทิงดูเหมือนคนจะสนใจมากกว่าข่าวอย่างอื่นนะครับ

ขอบคุณที่เขียนเรื่องดีๆให้อ่านครับ

ดีมากเลยค่ะ เล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมากค่ะ

ดีมากครับขอบคุณที่เขียนให้อ่าน

คุณ ส. เขียนให้อ่านแล้ว ทำให้พี่คิดหนักว่า มีรึ ความจริงทั้งเทียม ทั้งจริง พี่รู้แต่ว่า ความจริงก็คือ จริง เท่านั้น เพิ่งรู้นะว่ามีด้วยอ่ะ...การกระทำการใด ๆ ถ้าเราทำบนฐานของความจริง ความดี ขอเพียงแค่จิตหรือใจของเราเป็นสุขเท่านั้นก็คงแล้วกระมังค่ะ...แต่ไม่รู้คนอื่นเป็นแบบพี่หรือเปล่า???

สิ่งน่าจะรู้..น่าจะมี..ที่ว่า..ในโลกนี้ประกอบด้วย..คู่.เสมอ.ความเป็นธรรม..ทุกข์คู่สุข..ดีคู่กับชั่ว..ดำก็มึีขาวเมื่อหยุดนิ่ง..สมดุลย์เกิด..ความเป็น..กลาง..ท่ามกลางธรรม....

ความจริงเทียมคือ ความจริงที่เราสร้างจากข้อความ ความคิด จินตนาการ พยานเท็จ หรืออะไรก็ตามที่เรามักอ้างกันเพื่อยืนยันว่าตนมีหรืออ้าง จะว่าไปแล้วก็เป็นความจริงเชิงทัศนะส่วนบุคคล ที่ตีกรอบตามเหตุผลของใจตัวเองหรือสถาบันเราเอง คือ ให้สังเกตเอานะครับ ผมว่ามันมีมากมากในสังคม (แม้แต่คำพูดของผม)..ซึ่งถ้าจะเอาเครื่องวัดว่า อะไรจริงแท้ ไม่แท้ ก็ขึ้นอยู่บริบทสังคม..อีกสังคมอาจไม่ถือว่าจริงหรือดีก็ได้ ..ดังนั้น ความจริง จึงมีหลายระดับ เริ่มแต่จริงหม่นๆ เทาๆ ไปหาจริงแบบขาวก็ขาว ดำก็ดำ ชัดเจนไปเลย...

ที่จริงแล้วที่จริงแท้คือ "กฏแห่งธรรมชาติ" ที่ไม่มีมารยาหลอกตา หลอกใคร ไม่มีเลศนัยต่อสรรพสิ่ง มีเอกมรรคเดียว คือ ทางตรงของธรรมชาติ เช่น ตะวันส่องแสง โลกหมุน เกิด ตาย ทุกข์ ฤดูกาล หัวใจ เส้นเลือด สมองฯ เป็นระบบกลไกที่มีเส้นทางตรง ที่ไม่เอนโอน ไหลไปตามแรงจูงใจจากเงินก้อนโตหรืองบก้อนใหญ่ แต่เป็นจริงแบบวิทยาศาสตร์เชิงนิเวศครับ

จะว่าไปก็คือ หลักพื้นๆ ที่เรารับรู้ได้ แต่ยังลึกไม่พอที่จะเห็นแก่นของมันได้ ดังนั้น ชีวิตหลอกเราหรือเราหลอกใจตนเอง ที่แน่นอนคือ เราปรารถนาห้าอย่างที่เป็นหมุดหมายของชีวิตคือ ความ "รู้ สุข ดี งาม จริง" ครับ เราอยากรวยเพื่ออะไร อยากมีเกียรติเพราะอะไร อยากมีเสรีภาพเพราะอะไร อยากได้ความยุติธรรมเพราะอะไร อยากมีงานทำ อยากมีบ้าน มีทุกสิ่ง มีชีวิตที่ดี ฯ เพื่ออะไร มันไปรวมกันที่เพดานใจจุดไหนบ้าง

พี่บุษคิดติดใจ ดีกว่า อ่านแล้ววางไม่ตื่นคิด ไม่สานคิด ก็ไม่ได้วิตามินสมองครับ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้และคำแสดงครับ

ขอบคุณค่ะ นี่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ที่พี่ได้เพิ่งเรียนรู้ เรื่องของความจริง...เพราะคิดและถูกสอนมาก็คือ จริง + เท็จ เท่านั้น ไม่มีรู้เรื่องหม่น ๆ เทา ๆ เพราะตัวเองก็ไม่เคยเป็นแบบนั้น จะจริงก็จริงไปเลย จะโกหกก็โกหกไปเลย ก็เพิ่งมาได้รับความรู้ใหม่วันนี้...อาจเป็นเพราะพี่ไม่ได้เรียนทางเรื่องนี้ด้วยกระมัง...โดยเฉพาะทำงานด้านบุคคล ว่ากันตามระเบียบ ข้อบังคับ จริงก็บอกจริง เท็จก็บอกเท็จ มันเลยเป็นที่มาให้พี่ติดใจเรื่องหม่น ๆ เทา ๆ...ก็เลยถามดูค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ...อีกอย่างเรื่องของจิต มีความคิดที่ว่า ถ้าคนเราคิดดี กระทำดี จะทำให้จิตใจของเรามีความสุข สบายมากกว่าคิดไม่ดี กระทำไม่ดี แม้เรื่องคิดไม่ดี ทำไม่ดีจะเป็นเรื่องน้อยนิด แต่ก็ทำให้จิตเราไม่มีสุข จึงขอเลือกทำในสิ่งที่จิตของเราเกิดสุขมากกว่า...เพราะตัวเราเลือกกระทำได้ว่าแต่จะเลือกสิ่งไหน? เท่านั้นเอง...

พยายามอ่านอย่างละเอียดและทำความเข้าใจไปในตัว อาจจะเข้าใจยากอยู่สักนิด แต่ก็ได้ข้อคิดผสมกับหลักธรรมทางพุทธศาสนาได้ดีมากทีเดียว...

เห็นด้วยว่าปัจจุบันนี้เป็นยุคของความรู้ ความดี ความสุข ความงาม ความจริง ท่วมหัว หากไม่มีสติรู้เท่าทันแล้ว เราก็อาจถูกสิ่งต่างๆ เหล่านี้หลอกเอาได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ไปหมดทุกอย่างแต่รู้อย่างที่ท่านสุนทรภู่ว่าคือลึกซึ้ง ต้องเข้าใจหลักธรรมด้านสามัญญลักษณะ อายตนะ ธาตุ ขันธ์ หรือรูปธรรมนามธรรมเอาไว้บ้าง จะได้ไม่หลงไปกับสิ่งปลอมๆ ใช่ไหมครับ...ชอบมากและขอบคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท