aungor
นางสาว บุญศิริ ศิริสวัสดิ์

การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ในพื้นที่รับผิดชอบของสสภ.14


การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ในพื้นที่รับผิดชอบของสสภ.14

            เนื่องจากในปีงบประมาณปี 2557 นี้ ส่วนเฝ้าระวังและเตือนภัย ได้รับมอบหมายภารกิจจากกรมควบคุมมลพิษให้ดำเนินการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 14   โดยมีการติดตามฯ ปีละจำนวน 2 ครั้ง คือ ในเดือนมีนาคม (ฤดูแล้ง) และเดือนมิถุนายน (ฤดูฝน)   โดยแบ่งพื้นที่ได้ดังนี้

1. ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย  ได้แก่   จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช

2. ชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่   จังหวัดระนอง

         การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำชายฝั่งว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ที่กำหนดหรือไม่ (มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง ตามประกาศกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 พ.ศ.2537)   ในการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งแบ่งตามการตรวจวัดได้เป็น 2   ประเภท คือ

        1.การตรวจวัดในภาคสนาม   เป็นการตรวจวัดหรือตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างในภาคสนามหรือจุดที่เก็บตัวอย่างในทันที โดยใช้เครื่องมือตรวจวัดในภาคสนาม เพื่อให้ไผลการตรวจคุณภาพน้ำที่ถูกต้อง และแม่นยำที่สุด เนื่องจากพารามิเตอร์บางพารามิเตอร์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

        2.การตรวจวัดในห้องปฏิบัติการ เป็นการเก็บและส่งตัวอย่างน้ำกลับมาวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการ เนื่องจากพารามิเตอร์คุณภาพน้ำบางพารามิเตอร์ไม่สามารถตรวจวัดได้ในภาคสนาม ซึ่งในการเก็บและส่งตัวอย่างน้ำกลับมาวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการต้องมีการรักษาสภาพตัวอย่างให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด

ขั้นตอนการติดตามตรวจสอบ     สามารถแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ตามลำดับการดำเนินงานโดยเริ่มจาก

        ขั้นที่ 1 การเตรียมอุปกรณ์ ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามตรวจสอบ

        ขั้นที่ 2 การล้างทำความสะอาดอุปกรณ์ เพื่อทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ให้มีการปนเปื้อนจากสิ่ง

สกปรกใดๆ ที่จะทำให้มีผลต่อการวิเคราะห์ได้

        ขั้นที่ 3 การปิดฉลาก เพื่อบันทึกรายละเอียดของตัวอย่างที่จะเก็บ ควรทำก่อนลงเรือไปยังจุดเก็บ

ตัวอย่าง เนื่องจากขวดเปียกแล้วอาจทำให้ปิดฉลากได้ยาก ปากกากันน้ำเขียนไม่ติดด้วย และเรืออาจโคลงมากจนเขียนไม่สะดวก

 

        ขั้นที่ 4 การตรวจวัดในภาคสนาม การเก็บตัวอย่างน้ำทะเล การประกันและควบคุมคุณภาพ  

        การลงปฏิบัติงานเก็บตัวอย่างน้ำทะเลชายฝั่งนั้น อย่างน้อยต้องมีเจ้าหน้าที่ 3 คน ในการปฏิบัติงาน เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานที่ต้องปฏิบัติในการลงภาคสนาม   ซึ่งรายละเอียดการปฏิบัติงานมีดังนี้

         -   ควรเก็บตัวอย่างในช่วงน้ำเริ่มลง จนถึงน้ำลงต่ำสุด โดยดูช่วงเวลาน้ำขึ้น-น้ำลงได้จากหนังสือมาตราน้ำ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ

         -  เมื่อลงเรือไปยังจุดเก็บตัวอย่างน้ำซึ่งวัดจากชายฝั่งออกไปประมาณ 100 เมตร (หากมีพิกัดเดิมที่ตรวจวัดอยู่ก่อนแล้วให้ไปยังจุดพิกัดเดิม)  

         -  ให้เรือดับเครื่องยนต์   เพื่อป้องกันคราบน้ำมันปนเปื้อนตัวอย่างน้ำ   และทอดสมอเรือ เพื่อไม่ให้เรือเคลื่อนที่ออกจากพิกัดที่เก็บตัวอย่าง

          -  ลงเวลาที่ขวดเก็บตัวอย่างทุกขวด

         -  เริ่มเก็บแบคทีเรียเป็นอย่างแรก   โดยใส่ถุงมือปลอดเชื้อและปราศจากแป้ง เพื่อลดการปนเปื้อน ใช้มือจับขวดที่ปิดฝาสนิทจุ่มลงใต้น้ำลึกประมาณ 30 ซม. หันปากขวดไปทางต้นน้ำหรือเข้าชายฝั่ง เปิดฝาใต้น้ำ เก็บน้ำไม่ให้เต็มขวด ให้เหลือพื้นที่ว่างในขวดประมาณ 2-3 ซม. ปิดฝาใต้น้ำ (หากเก็บเต็มเกินไป ให้เปิดฝาแล้วรินออกเบาๆ ให้ได้รับที่ต้องการ) แล้วปิดฝา จากนั้นปิดทับด้วยกระดาษ Foli ใส่ถุงซิบ แล้วแช่น้ำแข็งเมื่อขึ้นฝั่ง เพื่อรักษาสภาพตัวอย่าง

        -  วัดความลึกของน้ำ messenger โดยใช้ตุ่มเหล็กถ่วงเชือกวัด เพื่อหาระดับการเก็บตัวอย่างน้ำทะเล   น้อยกว่า 5 เมตร ให้เก็บน้ำที่ 2 ระดับ หากมากกว่า 5 เมตร ให้เก็บที่ 3 ระดับน้ำ

         -   วัดความโปร่งใสของน้ำทะเล ด้วย Secchi disk ว่าเห็นแผ่นโปร่งใสระดับความลึกที่เท่าไหร่  

         -   เทียบสีของน้ำทะเล   ด้วยเครื่องมือเทียบสีน้ำทะเล Forel scale

         -   ทำการตรวจวัดค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือ pH Meter (ค่าความเป็นกรด-ด่าง) , DO Meter (ค่าออกซิเจนละลาย) , SCT Meter (ค่าความเค็ม ,อุณหภูมิ และการนำไฟฟ้า) ถ้าคลื่นแรงงสายวัดแกว่งให้ใช้ลูกตุ้มเหล็กถ่วงไว้ เมื่อใช้เครื่องมือเสร็จแล้ว เช็ดสายให้สะอาด ใช้น้ำกลั่นล้างหัววัด แล้วซับด้วยกระดาษทิชชู แล้วเก็บใส่กล่องให้เรียบร้อย เตรียมใช้จุดต่อไป

 

       

     -  บันทึกข้อมูลภาคสนามในแบฟอร์มบันทึกข้อมูลภาคสนามการเก็บตัวอย่าง โดยบันทึกข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆ ทุกครั้งอย่างละเอียด เมื่อมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่เก็บตัวอย่าง เพราะข้อมูลเหล่านี้จะใช้ประกอบการประมวลผลการสำรวจ

     

       - ใช้กระบอกเก็บน้ำตามระดับความลึกที่ต้องการใส่ในถังน้ำพลาสติก (ผสมน้ำทั้ง 2 หรือ 3 ระดับที่เก็บให้เข้ากัน) น้ำที่เก็บขึ้นมา 1 ครั้ง ต้องเพียงพอสำหรับบรรจุขวดตามปริมาณที่ต้องการทุกขวด

 

       

         - ใส่ถุงมือพลาสติกหรือถุงมือยางที่ปราศจากแป้ง ถ่ายตัวอย่างน้ำลงขวด Hg (ใส่กรดด้วย) , HM (ใส่กรดด้วย) , Cr+ 6 , Nut (ต้องกรั้วขวดก่อน) และ SS (ต้องกรั้วขวดก่อน) ตามลำดับ (หากมีขวดตัวอย่างของปรมาณูก็เก็บเป็นชุดสุดท้าย ไม่ต้องแช่เย็น) ใส่ถุงซิบ แล้วแช่น้ำแข็งเมื่อขึ้นฝั่ง เพื่อรักษาสภาพตัวอย่าง

 

   

       - ตรวจสอบว่าเก็บตัวอย่างครบถ้วนทุกพารามิเตอร์แล้ว  กรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มครบถ้วน จัดเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อย ก่อนย้ายไปยังจุดต่อไป

 

        ขั้นตอนที่ 5 การรักษาสภาพตัวอย่างน้ำทะเล

        - เมื่อเก็บตัวอย่างน้ำครบทุกจุดใน 1 วัน ให้ทำการแยกขวดตัวอย่างน้ำแต่ละพารามิเตอร์ตามบริษัท(ห้องปฏิบัติการ) ที่รับตัวอย่างตรวจวิเคราะห์แต่ละพารามิเตอร์ (ในที่นี้มี 3 บริษัทด้วยกัน จึงแยก เป็น 3 กล่องโฟม) ตรวจฉลากและความเรียบร้อยของตัวอย่างน้ำแล้วบรรจุลงในถุงดำใส่ในลังโฟม (ห้ามวางขวดนอนเด็ดขาด) แล้วใส่น้ำแข็งที่สะอาดให้เต็มพอประมาณ อาจใส่เกลือเล็กน้อย เพื่อรักษาสภาพตัวอย่างให้มีความเย็นอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส มัดยางรัดให้เรียบร้อยปิดฝาลังโฟมด้วยเทปกาวใสให้แน่นหนา (บางครั้งอาจใช้ถุงดำสวมทับอีกครั้งแล้วพันด้วยเทปกาวใส)

 

    

       ขั้นที่ 6 การส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการ

        - กรอกข้อมูลใบส่งตัวอย่างน้ำของแต่ละบริษัทให้เรียบร้อย แล้วพับใส่ลงถุงพลาสติกพร้อมที่อยู่บริษัทต่าง ๆ นำมาแปะบนฝาลังโฟมหรือถุงดำที่ห่อลังโฟม   ปิดด้วยเทปกาวใสให้เรียบร้อย

 

 

         -   ส่งตัวอย่างที่บริษัทรถทัวร์ขนส่งที่ใกล้ๆ จดที่อยู่สถานที่ที่ต้องรับของ เบอร์รถ เบอร์โทรศัพท์ให้เรียบร้อย เพื่อใช้ในการประสานแจ้งให้บริษัทที่รับตรวจวิเคราะห์สามารถมารับตัวอย่างได้ถูกต้องทันเวลาโดยให้ส่งถึงห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชม. นับจากเวลาเริ่มเก็บตัวอย่างจุดแรกของชุดตัวอย่างนั้น เป็นอย่างช้า (แต่แบคทีเรียต้องก่อน 24 ชม. ซึ่งบางกรณีจะต้องจัดส่งทางเครื่องบินเพื่อให้ทันเวลา) ส่วนพารามิเตอร์ SS (สารแขวนลอย) นั้น สามารถส่งตัวอย่าง 2 วัน/ครั้งได้ โดยแช่เย็นเอาไว้ก่อนคอยรวมส่งในวันถัดไปได้

หมายเหตุ

        -  หากฝนตกหรือคลื่นสูงมาก ไม่ควรเก็บตัวอย่างน้ำ

        -  ควรทานยาแก้เมาคลื่นก่อนลงเรือ   หากไม่แน่ใจว่าตัวเองเมาคลื่นหรือไม่ เพราะอาจเกิดอาการเมาคลื่นได้จนไม่สามารถปฏิบัติงานได้

        -  กรณีที่ไม่สามารถจุ่มเครื่องมือตรวจวัด (Do Meter ,pH Meter , SCt Meter) ในทะเลที่จุดเก็บได้ ให้วัดจากปริมาณน้ำที่เหลือจากการถ่ายตัวอย่างน้ำเสร็จแล้วในถังพลาสติกก็ได้ หรือ วัดจากขวด SS ก็ได้ แล้วกรอกลงในแบบฟอร์มบันทึกด้วยว่าวัดที่ระดับผิวน้ำ



หมายเลขบันทึก: 564340เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2014 11:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2014 11:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

* มาร่วมสนับสนุนและเป็นกำลังใจค่ะ...

* เก็บภาพเยี่ยมชีวิตชาวเลที่อ่าวทะเลนอก จังหวัดระนองมาฝาก...น้ำใสและป่าโกงกางเขียวชอุ่มบริเวณชายฝั่งทั้งสองข้าง


..อยาก..ทราบ..ผล..หลังการ..ตรวจวัด..เจ้าค่ะ...

เรียน ผู้อ่านทุกท่านค่ะ

ขอบคุณที่เข้ามาเป็นกำลังใจนะค่ะ บางคนอาจสงสัยว่าต้นเรื่องเลยเป็นสารสนเทศ แต่ทำไมเนื้อหาเป็นการเก็บน้ำนะค่ะ ขอชี้แจงก่อนว่า เนื่องจากภารกิจที่ได้รับมอบหมายเปลี่ยนแปลงจากเดิมอยู่สารสนเทศ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นส่วนเฝ้าระวังและเตือนภัย ภารกิจงานจึงมีการเปลี่ยนแปลงค่ะ ฉะนั้นสมุดบันทึกจึงเปลี่ยเนื้อหาไปด้วย แต่ยังคงน่าสนใจอยู่นะค่ะ ถ้ายังไงก็เป็นกำลังใจให้ด้วยนะค่ะ

คุณภาพน้ำหลังการตรวจวัดเราจะแจ้งให้ทราบภายหลังในเว็บไซต์ของเรานะค่ะ www.reo14.go.th (ฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อม) เนื่องจากเราส่งตัวอย่างน้ำให้labที่กรุงเทพฯ ตรวจค่ะ แล้วผลต้องส่งให้กรมควบคุมมลพิษที่เป็นเจ้าของเรื่องก่อนค่ะ อาจต้องใช้เวลาสักนิด แต่ถ้ามีความจำเป็นใช้ ส่งคำร้องขอมายังสำนักงานได้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท