ปลูกป่าในนาข้าว


ผมและพี่ไพฑูรย์วาดภาพในอนาคตแบบเดียวกันคือ พื้นที่ตรงนี้จะเป็นแหล่งกำเนิดของเห็ดธรรมชาติหลายชนิด เช่น เห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก เห็ดระโงก ฯลฯ

การออกปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นงานประจำที่ผมต้องทำทุกวันอังคาร  ครั้งนี้ผมออกพื้นที่เยี่ยมเยียนพี่ไพฑูรย์  จันทร์เสน  เกษตรกรบ้านกางกี่  (ตำบลเมืองเตา  อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม)  พบรูปแบบการจัดการพื้นที่นาที่น่าสนใจมาบอกเล่า 

พี่ไพฑูรย์  แบ่งพื้นที่นา  9  ไร่  แปลงนี้  ออกเป็น  4  แปลงย่อยเท่าๆ  กัน  เสริมคันนาที่อยู่กลางแปลงนาย่อยทั้ง  4  แปลง  ปลูกไม้ยืนต้น  ความกว้างของคันนาสามารถใช้รถปิกอัพหรือรถไถนาเดินตามวิ่งผ่านได้สบาย 

 

ไม้หลักที่พี่ไพฑูรย์ปลูก  ได้แก่  ยางนา  300  ต้น  พยุง  100  ต้น  วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้การปลูกยางนาและพยุงให้เจริญเติบโตได้รวดเร็ว  และมีเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง  คือ  ปลูกใกล้ๆ  กับหลุมกล้วย  ซึ่งมีอยู่ตามคันนาทั้งหมด  200  หลุม

 

ไม้พยุงและยางนาที่เห็นปลูกได้  3  ปี  พบว่า  ไม้พยุงโตกว่ายางนามาก  แต่เวลานับจากนี้ไปไม่แน่ว่า  ยางนา  กับ  พยุง  อะไรจะโตเร็วกว่ากัน  ทั้งผมและพี่ไพฑูรย์วาดภาพในอนาคตแบบเดียวกันคือ  พื้นที่ตรงนี้จะเป็นแหล่งกำเนิดของเห็ดธรรมชาติหลายชนิด  เช่น  เห็ดเผาะ  เห็ดน้ำหมาก  เห็ดระโงก  ฯลฯ  รวมถึงมูลค่าของเนื้อไม้ที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแต่ละปีมีมูลค่ามากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในธนาคารหลายเท่าตัว      

 

คันนาโดยรอบพื้นที่ยังมีการปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้เศรษฐกิจอื่นๆ  ได้แก่  มะขามป้อม  (ที่เห็นในภาพอายุ  ปี)  น้อยหน่า  ซึ่งไม้ทั้งสองชนิดนี้ทนแล้งได้ดี  ส่วนกระเจี๊ยบแดงที่เห็นเป็นกระเจี๊ยบพื้นเมือง  ไม่ได้ปลูกแต่เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ 

 

ยางพารา  พี่ไพฑูรย์บอกว่า  ปลูกทดสอบ  ขวดน้ำที่อยู่ข้างๆ  เป็นการให้น้ำหยดอีกวิธีการหนึ่ง

 

ขี้เหล็ก  ไม้โตเร็ว  ทนแล้งและทนดินเค็มได้ดี  เนื้อไม้ใช้ทำบ้าน  ทำเฟอร์นิเจอร์  ดอกและยอดอ่อนต้มใช้เป็นอาหาร

 

สะเดา  ไม้โตเร็ว  ใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้  ดอกใช้เป็นอาหาร  ใบและลูกใช้ทำสารไล่แมลง

 

ตอนนี้เป็นช่วงเวลาหลังทำนาปี  เกี่ยวข้าวเสร็จพี่ไพฑูรย์หว่านปอเทืองเพื่อไถกลบปรับปรุงดินนา

 

ปลูกมันเทศ  เพราะว่าเป็นพืชใช้น้ำน้อย

 

มันสำปะหลัง  ระยอง  81  เป็นพืชหลังนาที่พี่ไพฑูรย์ปลูกมากที่สุด

 

จากการสนทนาระหว่างเดินดูสภาพพื้นที่  จึงรู้ว่าพี่ไพฑูรย์สนใจการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวมาก  ยินดีที่จะเป็นเครือข่ายกับกลุ่มหรือองค์กรภายนอก  ผมทันทีรับปากว่าจะช่วยประสานงานให้  เพราะเห็นว่าพี่ไพฑูรย์มีความพร้อมในเรื่องจิตใจ  สภาพพื้นที่เหมาะกับการผลิตข้าวอินทรีย์  พื้นที่ของคันนาทั้งหมดประมาณ  4  ไร่  สามารถปลูกพืชสมุนไพรที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่  ส่งเป็นวัตถุดิบให้กับตลาดกลางสมุนไพรที่หลายๆ  หน่วยงานในจังหวัดมหาสารคามได้ร่วมกันขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้

 

หมายเลขบันทึก: 559786เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2014 22:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2014 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ดีจัง ใช้พื้นที่คุ้มมาก ต้นไม้เต็มไปหมด อยากปลูกแบบนี้บ้าง แต่คงต้องมีสระน้ำไว้รดน้ำยามหน้าแล้ง

สวัสดีครับคุณNopparat Pongsuk

1 - 2 ปีแรก อาจต้องพิถีพิถันในการดูแล ปีที่ 3 ต้นไม้เติบโตระบบรากแข็งแรง เปอร์เซ็นต์การอยู่รอดสูง การดูแลรักษาก็น้อยลง

สวัสดีค่ะ...ยายธี..ต้องการ..คำแนะ..นำ..เกี่ยวกับ.."ต้นไม้ "...เพราะไม่มี..พื้นฐานทางนี้เลย...เรากำลัง..ให้ความสนใจ.

ที่จะ..วิเคราะห์หาเหตุผล..ให้..กับคำว่า"ต้นไม้และคุณค่า"..โดยใช้..คำจำกัด..ความว่า.."วนวาร..วารวน"โดยจะเป็นทฤษฏีการเรียนรู้อีก..หนึ่งรูปแบบ...ในสังคมปัจจุบัน...

"ป่า บน..คันนา"..เป็นการปฏิรูป..ผลประโยชน์ ต่อเนื่อง..ที่..อยู่ใน..ทิศทางเดียวกัน..ระหว่างผืนดินและ..ต้นไม้...ซึ่งมีความสำคัญล้อรับกันอยู่...สภาพคันนา..ในปัจจุบัน...ที่หมดคุณภาพ..หรือด้อย..คุณภาพ..ในการ..จัด..การ..กำลัง..มีมากขึ้นทุกทีๆ..จากอดีต..เป็นต้นว่า..คันนา..เป็น..คันดินที่ถูกลักษณะนั้นสามารถปกป้องภัยธรรมชาติที่จะมีขึ้นตามเวลา...เช่นกันลม..เมื่อ..จัดแจงได้ก็จะเป็นแหล่งอาหารที่ดี..และมีประโยชน์ใช้สอย..ในอนาคตที่จะตามมา..เป็นต้น..

การขับเคลื่อนที่..ท่านกล่าวถึงนั้น..มีอยู่ทุก..จังหวัด..หรือเปล่า..คะ....

ขอชื่นชมครับ

ผมเคยไปที่นี่

เมืองเตา อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

และที่บ้านโนนจานด้วยครับ

เป็นรูปแบบการจัดการพื้นที่นาที่น่าสนใจจริงๆ ค่ะ ชอบมากที่คาดว่า พื้นที่นาที่ปลูกป่า จะเป็นแหล่งกำเนิดของเห็ดธรรมชาติหลายชนิด

25-27 ม.ค. ผ่านมหาสารคามไปเที่ยวงานเกษตรที่ มข. ยังคิดอยู่ว่า ถ้ามีเวลาจะติดต่อขอศึกษางานเกษตรกับคุณเกษตรกรเรียนรู้ พอดีเวลาไม่พอเลยไม่ได้ติดต่อค่ะ ...นำภาพจากการอบรมมาฝากด้วยนะคะ

สวัสดีครับ ยายธี

- เท่าที่ผมมีความรู้และประสบการณ์ ถิ่นที่อยู่หรือแหล่งเกิดเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเหมาะสมของพรรณไม้กับสภาพพื้นที่ การที่เราจะปลูกอะไรให้พิจารณาพรรณไม้ดั้งเดิมในถิ่นนั้นๆ ว่า ชนิดใดเจริญเติบโตและทนทานต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ได้ดี อาทิ พื้นที่ดินทรายแห้งแล้งในแถบภาคอีสาน จะพบว่าไม้ขี้เหล็กจะทนทานกว่าไม้ชนิดอื่นๆ เป็นต้น

- ยางนา เป็นไม้ยืนต้นที่เจริญเติบโตได้ในพื้นที่นาที่มีสภาพน้ำขังในช่วงหน้าฝนและสภาพแห้งแล้งหลังทำนา

สถานที่ บ้านแกงเลี้ยว ต.หนองใหญ่ อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ

- ยางกราด หรือสะแบงในภาษาถิ่นเจริญเติบโตได้ในแปลงนา ส่วนบนคันนาไม่ได้ปลูกแต่เกิดจากการอนุรักษ์ของชาวบ้านเจ้าของพิ้นที่

สถานที่ บ้านป่าชาด ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม


- พะยอม เป็นไม้อีกชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตได้ทั้งในแปลงนาและบนคันนา เช่นเดียวกับยางกราด

สถานที่ บ้านป่าชาด ต.หนองบัวแก้ว อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม


- เห็ดธรรมชาติหลายชนิดเกิดในพื้นดิน บริเวณที่มีไม้ ทั้ง 3 ชนิด ดังกล่าว

- เกษตรกรรมสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกๆ ด้าน ทำให้คันนาที่เคยใหญ่โต คันนาที่มีอยู่มากมาย คันนาที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เริ่มหมดไป เพราะการไถปรับพื้นที่ทำนาหว่าน เพื่อความสะดวกในการใช้เครื่องจักรกลทำนา มีเพียงเกษตรกรจำนวนเล็กน้อยที่มีการอนุรักษ์และปลูกป่าไว้ในคันนา

- ส่วนตัวผมเองคิดว่าการปลูกป่าตามคันนามีอยู่ทุกจังหวัด แต่จำนวนไม่มากจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มเกษตรกรหัวก้าวหน้า หรือในกลุ่มที่เรียกว่าปราชญ์ชาวบ้าน

http://www.youtube.com/watch?v=9Bgb7rCRUF4

สวัสดีครับอาจารย์ขจิต บ้านกางกี่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านโนนจาน ประมาณ 6 กิโลเมตร ครับ

สวัสดีค่ะน้องกอบเดช...ตามมาอ่าน ปลูกป่าในนาข้าว...มาดูต้นพะยอม...และตามมาขอบคุณต้นพะยอมขาว และพะยอมแดง ต้นใหญ่สวยงามมากที่นำมาฝากในบันทึก....ฝูงเป็ดCommon Godeneye กับแผ่นน้ำแข็งที่กำลังละลาย แต่ไม่สามารถกดตอบขอบคุณ และตอบความคิดเห็นได้โดยไม่ทราบสาเหตุนะคะ...

  • ขอชื่นชมและสนับสนุนแนวคิดนี้อย่างยิ่งครับ

ใช้รถไถ หรือแม็คโคร ทำคันดินครับ...เขาคิดค่าจ้างเท่าไหร่ครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท