ทำไมคนไทยจึงไม่สนใจเพลงไทยเดิม (๑)


สาเหตุที่คนไทยไม่สนใจเพลงไทยเดิมก็เพราะเข้าไม่ถึงเพลงไทยเดิมนะซีครับ ถ้าเข้าถึงก็คงชอบอย่างแน่นอน การเข้าไม่ถึงเพลงไทยเดิมมาจากเหตุผลหลายประการ

ประการที่ ๑ โลกแห่งเพลงไทยเดิมเป็นคนละโลกกับโลกของคนไทยส่วนใหญ่ 

สมัยที่สยามยังไม่มีเพลงไทยสากล คงมีแต่เพลงพื้นบ้านกับเพลงไทยเดิม เพลงไทยเดิมแต่โบราณก็มาจากเพลงพื้นบ้าน ต่อมาเมื่อมีการแต่งเพลงไทยเดิมขึ้นอีกมากมาย แต่ก็ยังคงเป็นเพลงสั้น ๆ ร้องแบบเนื้อเต็ม หรือมีเอื้อนน้อย จึงฟังง่ายเข้าใจง่าย ชาวบ้านเข้าถึงได้ เมื่อเพลงไทยเดิมเริ่มมีเพลงอัตราจังหวะ ๓ ชั้นขึ้น (คงประมาณสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา) ทำนองเพลงไทยเดิม ๓ ชั้นค่อนข้างยาว การขับร้องก็เริ่มมีเอื้อนยืดยาว ชาวบ้านที่หูไม่ถึงฟังเพลงไทยเดิมยาว ๆ ไม่รู้เรื่อง เพลงไทยเดิมก็เริ่มตีจากชาวบ้าน นักดนตรีไทยเองก็หาได้สนใจชาวบ้านสักเท่าใดไม่ ยังคงสร้างโลกของเพลงไทยเดิมที่วิจิตรพิสดารแต่ได้แสดงความสามารถทางดนตรีอย่างสูง ดนตรีไทยเดิมที่เน้นเพลง ๓ ชั้น เพลงใหญ่ เพลงเถายาว ๆ ค่อย ๆ ซาลงตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เพราะเริ่มมีเพลงไทยสากลเข้ามาแทนที่มากขึ้น ชาวบ้านหันไปชื่นชมเพลงไทยสากลกันมากขึ้น โดยเฉพาะชนชั้นกลาง

กล่าวโดยสรุป เพลงไทยเดิมที่ชาวบ้านเข้าไม่ค่อยถึง ได้แก่ 

•   
เพลงเถา เพลงเถาเป็นเพลงซึ่งบรรเลงและขับร้องตั้งแต่อัตรา ๓ ชั้น ๒ ชั้น ลงชั้นเดียวติดต่อกัน ใช้เวลานาน ๑๐ นาที ๒๐ นาทีกว่าจะจบ 

ลองฟังเพลงแขกลพบุรีเถา (๒๒ นาทีเศษ) http://www.youtube.com/watch?v=kided8eU8FY

   เพลงใหญ่ ได้แก่เพลงอัตราจังหวะ ๓ ชั้น หรือเพลงหน้าพาทย์บางเพลงซึ่งแต่งขยายเป็นอัตราจังหวะ ๓ ชั้น ใช้เวลาบรรเลงและขับร้องหลายนาทีกว่าจะจบ สำหรับการร้องก็มีเอื้อนยืดยาว มากกว่าเนื้อ ตามแบบฉบับของเพลงคลาสสิก (ซึ่งเพลงคลาสสิกฝรั่งเองก็เป็นอย่างนี้)

ลองฟังเพลงใหญ่ "เขมรราชบุรี ๓ ชั้น" ยาวเกือบ ๒๐ นาที http://www.youtube.com/watch?v=Rr_3FGHIs4g
ลองฟังเพลงใหญ่ "ทยอยนอก ๓ ชั้น" ยาวเกือบ ๓๐ นาที  http://www.youtube.com/watch?v=qn7zE9fo9yw

•   เพลงเก็บ เพลงเก็บเป็นเพลงที่บรรเลงทางเก็บโดยบรรจุตัวโน้ตคือเสียงดนตรีไทย (เทียบได้กับโน้ตสากลตัวเขบ็ต ๑ ชั้น) ลงไปเต็มห้อง ห้องละ ๔ ตัว ทุกห้องเพลง นักดนตรีที่เล่นเครื่องนำเช่นระนาดเอก ซอด้วง จะสนุกสนานกับการบรรเลงทางเก็บมาก บางขณะก็เพิ่มความเร็วในการบรรเลงโดยการเล่นแบบเก็บขยี้ (เทียบได้กับโน้ตสากลตัวเขบ็ต ๒ ชั้น) คนที่หูไม่ถึงฟังไม่ออกว่าเขาเล่นเพลงอะไร แต่คนที่หูถึงต้องตบมือกันเกรียวว่าระนาดไหวถูกใจเหลือเกิน

ลองฟังเพลงทางเก็บ จระเข้หางยาว ๓ ชั้น http://www.youtube.com/watch?v=C4dG7QYlfnE

•   เพลงโหมโรง เพลงโหมโรงเป็นเพลงที่นักดนตรีต้องการอุ่นเครื่องหรือวอร์มอัพก่อนการเล่นเพลงอื่น ๆ ต่อไป เพลงจึงมักยาวเป็นพิเศษ

ลองฟังเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง ๓ ชั้น http://www.youtube.com/watch?v=HTwSHJczDKs

•   เพลงเดี่ยว ได้แก่เพลงยาว ๆ ที่นิยมนำเอามาบรรเลงอวดฝีมือโดยบรรเลงเดี่ยว เช่น เดี่ยวระนาดเอก เดี่ยวซอด้วง เดี่ยวซออู้ เดี่ยวปี่ เดี่ยวขลุ่ย เดี่ยวจะเข้ เดี่ยวขิม มีการประดิษฐ์ลีลาเทคนิคการบรรเลงที่วิจิตรพิสดาร คนทั่วไปจับทำนองไม่ค่อยได้ 

ลองฟังเพลงเดี่ยวซอด้วง เพลงพญาโศกเถา https://www.facebook.com/video/video.php?v=567247406636626
ลองฟังเดี่ยวระนาดเอก เพลงกราวใน http://www.youtube.com/watch?v=V3BVJwoWto8

เพลงที่ชาวบ้านยังพอเข้าถึงได้

•   
เพลงพื้นเมือง เช่นเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงราชนิเกลิง เพลงแหล่ เพราะเป็นเพลงแบบชาวบ้าน ๆ ฟังง่ายเข้าใจง่ายไม่ต้องแปล เพลงเหล่านี้จึงยังดำรงคงอยู่คู่คนไทยไปตลอด

ลองฟังเพลงฉ่อย http://www.youtube.com/watch?v=oFYZGWCN358
ลองฟังเพลงอีแซว http://www.youtube.com/watch?v=kAZPX6pQLHs

•   เพลงไทยเดิมสองชั้นและชั้นเดียว เพราะได้ยินได้ฟังบ่อยจากโขน ละคร ลิเก จังหวะปานกลางและเร็วเร้าใจได้ดีกว่าจังหวะช้าแบบสามชั้น และเมื่อเกิดเพลงไทยสากลขึ้นในยุคแรก ๆ นิยมนำเอาทำนองเพลงสองชั้นและชั้นเดียวมาใส่เนื้อร้องแบบเต็ม กลายเป็นเพลงไทยสากลทำนองไทยเดิม 

ลองฟังเพลงลาวสมเด็จ ๒ ชั้น http://www.youtube.com/watch?v=MT-WxnVURek
ลองฟังเพลงเทพทองชั้นเดียว http://www.youtube.com/watch?v=Jpr778fCt_Y

•   เพลงกรอ กรอเป็นวิธีการบรรเลงดนตรีประเภทเครื่องตีดำเนินทำนอง ที่ทำให้เกิดเสียงต่อเนื่องกัน เป็นเสียงยาวสม่ำเสมอ โดยใช้ ๒ มือตีสลับกันถี่ๆ เหมือนรัวเสียงเดียว แต่ทั้งสองมือมิได้ตีอยู่ที่เดียวกัน มักจะตีเป็นคู่ ๒  คู่ ๓  คู่ ๔  คู่ ๕  คู่ ๖ และคู่ ๘ เพลงที่บรรเลงแบบกรอ เป็นเพลงที่ในห้องเพลงมิได้บรรจุตัวโน้ตลงไปเต็มห้องคงเป็นช่องว่างให้ดนตรีสามารถทอดเสียง ยืดเสียง ครั่นเสียงได้ ทำให้เกิดความไพเราะ คนฟังพอจะจับทำนองเพลงได้บ้าง ไม่เหมือนกับเพลงเก็บที่ฟังทำนองไม่ออกเพราะเล่นเป็นพืดไปจนจบ

ลองฟังเพลงทางกรอ เพลงเขมรไทรโยค ๓ ชั้น http://www.youtube.com/watch?v=WZd39JBVZ8M

•   เพลงสั้น ๆ เพลงไทยสากลจะนำเสนอในช่วงเวลาไม่ยาวนัก เพียงประมาณ ๓ นาที กำลังพอดี ๆ อยู่ในช่วงความสนใจ ในขณะที่เพลงไทยเดิมนิยมบรรเลงยาว ๆ คนจึงขี้เกียจฟัง 

ท่านผู้อ่านยังจำเพลงในภาพยนตร์เรื่องโหมโรงได้ไหม ธรรมดาเพลงโหมโรงค่อนข้างยาว แต่ในภาพยนตร์โหมโรงเลือกเพลงโหมโรงสั้น ๆ หรือตัดทำนองเพลงโหมโรงที่ยาวลงให้สั้นมานำเสนอ คนจึงให้ความสนใจ ฟังได้เข้าถึงได้ ภาพยนตร์จึงดัง เพลงประกอบจึงดังไปด้วย และสามารถปลุกกระแสความนิยมเพลงไทยเดิมขึ้นได้มาก 

ลองฟังเพลงโหมโรงไอยเรศ ซึ่งเป็นเพลงโหมโรงระดับคลาสสิก ยาว ๖ นาทีเศษ http://www.youtube.com/watch?v=cs97q7ego04

ลองฟังเพลงโหมโรงจีนตอกไม้ ยาว ๑ นาทีเศษ http://www.youtube.com/watch?v=fouPzsDtpMU

ลองฟังเพลงโหมโรงช่อผกาฉบับเต็ม ยาว ๑๒ นาทีเศษ http://www.youtube.com/watch?v=-Kg4JfHWB6Y 

ลองฟังเพลงโหมโรงช่อผกา (ตัด) ในภาพยนตร์โหมโรง ยาว ๑ นาทีเศษ http://www.youtube.com/watch?v=uckg51ovZFw

การจะสร้างความสนใจให้คนไทยรักเพลงไทยเดิม วงการดนตรีไทยควรพิเคราะห์ผู้ฟัง ถ้าผู้ฟังไม่มีพื้นความรู้มีแต่ความอยากรู้ ต้องนำเสนอเพลงที่เข้าถึงได้ง่ายก่อน โดยอย่ารังเกียจว่าต้องเล่นเพลงพื้น ๆ ไม่สมศักดิ์ศรี หากจะนำประสบการณ์ของภาพยนตร์โหมโรงมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมการเข้าถึงดนตรีไทยก็น่าจะเป็นการดี โดยให้ผู้สนใจ (ซึ่งมีมาก) ได้ฟังได้ดูเพลงพื้น ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ พัฒนาไปสู่การฟังและเข้าใจเพลงที่ยากและยาวขึ้น

การนำเสนอเพลงไทยสากลทำนองไทยเดิม (ฮะแอ้ม...แบบที่ผมกำลังดำเนินการอยู่) ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่น่าจะได้ผล เมื่อคนรู้จักเพลงไทยสากลทำนองไทยเดิมแล้ว จะค่อย ๆ รู้จักเพลงไทยเดิมมากขึ้นอย่างแน่นอน 

หมายเลขบันทึก: 558921เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2014 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มกราคม 2014 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สมัยนี้ ... นอกจากคนไทย เด็กไทย จะไม่สนใจเพลงไทยเดิมแล้ว...พอได้ยินเพลงไทยเดิมกลับบอกว่า...เหมือนเพลงในงานศพ...ซะงั้น...ครูสอนดนตรีประถม อย่างคุณมะเดื่อ...ให้เศร้านัก...เฮ้อ...!

..... ขอบคุณ บันทึกดีดีนี้ค่ะ ....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท