สาระสำคัญของ การเมืองมหาชน


การเลือกในระดับตัวแทนของจังหวัด หลังการประชุม DEBATE จำนวนไม่น้อยกว่า ๓ ครั้งผ่านสื่อทุกรูปแบบแล้ว ค่อยนำเข้าสู่วิธีการโหวตแบบ ONE MAN ONE VOTE ตามสัดส่วนประชากรในแต่ละจังหวัดดังเช่นปัจจุบัน เพื่อให้ได้ผู้แทนของจังหวัดไปคัดเลือกเป็นคณะผู้บริหารระดับประเทศต่อไป

            ในบันทึกนึ้ ครูวุฒิขออนุญาตเอารายละเอียดเบื้องต้นของ "การเมืองมหาชน" มาให้ท่านที่กะลังมองหาทางออกของประเทศไทยลองพิจารณากันดู โดยไม่ต้องดาวน์โหลดจากลิงค์แบบบันทึกที่ผ่านๆมา โอไม่โอก็ขอให้ถือว่าเป็นข้อเสนอหนึ่งที่เกิดจากความปรารถนาที่อยากเห็นบ้านเมืองสงบสุขและเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางแห่งสันติภาพ รบกวนลองอ่านดูนะครับ....

การเมืองมหาชน

(การเมืองสร้างสรรค์เพื่อสังคมพอเพียง ก้าวหน้า และสันติสุข)

เสนอแนวคิดโดย นายปิยะวุฒิ พรมประดิษฐ

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกเพชร สพป.ศรีสะเกษ เขต ๓

.....................

๑. ทำไมต้องการเมืองมหาชน?

๑.๑ เพราะการเมืองแบบปัจจุบัน (แบบใช้สิทธิเชิงเดี่ยว) มีข้อด้อยและจุดอ่อนอย่างมาก

การเมืองแบบใช้สิทธิเชิงเดี่ยวแบบปัจจุบัน มีข้อด้อยและจุดอ่อนสำคัญตรงที่ “ผู้รับอาสาเป็นตัวแทน” กับ “เจ้าของสิทธิ” ขาดความใกล้ชิดและรู้จักกันอย่างดีพอ ทำให้เกิดการเลือกตัวแทนด้วยเหตุผลและเหตุปัจจัยอื่น แทนที่จะเลือกด้วยเหตุผลเพราะ “ความเป็นคนดี”และ”มีคุณสมบัติที่เหมาะสม” ที่เคยได้รับรู้และยอมรับโดยประจักษ์มาบ้างแล้วพอสมควร

ข้อด้อยและจุดอ่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการเมืองแบบใช้สิทธิเชิงเดี่ยวเช่นปัจจุบันนั้นคือ “เป็นการเมืองที่เอื้อโอกาสเพียงเฉพาะคนและกลุ่มคนที่มีเงิน” เท่านั้น เพราะเป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยค่าใช้จ่ายสารพัดทั้งในส่วนตัว ส่วนของพรรค และสิ้นเปลืองงบประมาณของชาติเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังเอื้อให้เกิดการเอาเปรียบผู้สมัครอื่นได้ทั้งในส่วนที่ใช้ในกฎหมายและนอกกฎหมายอีกด้วย

๑.๒ เพราะการเมืองแบบปัจจุบันยังไม่เหมาะสมกับสภาพบริบทของสังคมไทย

การเมืองแบบใช้สิทธิเชิงเดี่ยว เหมาะที่จะใช้กับสังคมที่พัฒนาแล้ว ซึ่งประชาชนเจ้าของสิทธิมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักในสิทธิของตนสูง (อันเป็นสาระสำคัญที่ปิดกั้นโอกาสสำหรับการซื้อสิทธิ์ขายเสียง, การตัดสินใจเลือกตัวแทนด้วยเหตุผลที่ไม่เหมาะสม และ/หรือมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกไม่เพียงพอ) ซึ่งแน่นอน ปัจจุบันประเทศไทยของเรายังห่างไกลจากจุดนั้นเป็นอย่างมาก

๒. อย่างไรคือการเมืองมหาชน?

“การเมืองมหาชน” มีคุณลักษณะเฉพาะสำคัญตรงที่เป็นการเมืองแบบ “ใช้สิทธิเชิงกลุ่มในการคัดเลือกตัวแทนกลุ่มหรือองค์กรใดๆที่กฎหมายรับรอง” เพื่อเข้าไปร่วมคัดเลือกหรืออาสาเป็น “ผู้แทน” ในระดับที่กว้างออกไปเรื่อยๆ โดยวิธีการนำเสนอตัวเองด้วยวาจาหรือเครื่องมือสื่อสารใดๆ ต่อที่ประชุมแบบโต้วาที (Debate) เพื่อพิจารณาคัดเลือกกันและกันโดยตรง (ยกเว้นในระดับจังหวัดที่นอกจากจะต้อง Debate ต่อหน้าสาธารณะผ่านสื่ออย่างหลากหลายจำนวนอย่างน้อย ๓ ครั้งแล้วสุดท้ายต้องเลือกแบบOne Man One Vote แบบทั้งจังหวัดโดยไม่แบ่งเป็นเขต)

สำหรับรูปแบบและวิธีการสำคัญที่ให้ได้มาซึ่ง “ตัวแทนองค์กร” เพื่อส่งเข้าชิงชัยทำหน้าที่ “สมาชิกสภาหมู่บ้าน/สภาชุมชน”เพื่อก้าวต่อไปทำหน้าที่ “สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล/เทศบาล” “สมาชิกสภาอำเภอ”, “สมาชิกสภาจังหวัด” กระทั่งถึง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ระดับชาตินั้น อาจจะเริ่มจากการที่ต้องออกกฎหมายกำหนดให้ประชาชนคนไทยทุกคนที่บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายแล้ว ต้อง “เข้าเป็นสมาชิกขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง” ที่กฎหมายรับรอง และข้อสำคัญองค์กรนั้นต้อง “มีการทำกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ขององค์กรร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และมีประสิทธิภาพ” และบุคคลที่จะอาสาเป็นตัวแทนองค์กรนั้นๆ จะต้องเรียบเรียง “นโยบาย แนวคิด และวิสัยทัศน์”ของตนเอง สำหรับการทำหน้าที่ “ตัวแทน” ในระดับที่ตนเองมุ่งหวังที่จะก้าวไปให้ถึง ปิดผนึกเป็นความลับและนำไปมอบเพื่อเก็บรักษาไว้กับสำนักงาน“กกต.ส่วนกลาง” โดยมีสำเนาคู่ฉบับเก็บไว้ที่สำนักงาน กกต.จังหวัด (ทั้งนี้เพื่อป้องกันการลอกเลียน “นโยบาย แนวคิด และวิสัยทัศน์”ของกันและกันในเบื้องต้น) หลังจากนั้น “ผู้อาสา” ก็สามารถใช้ “นโยบาย แนวคิด และวิสัยทัศน์”ของตนนั้นหาเสียงเพื่อเป็น “ตัวแทนหรือผู้แทน” ได้โดยชอบธรรมในทุกระดับที่มุ่งหวังจะเข้าไปทำหน้าที่ ซึ่งหมายรวมถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีด้วย

ในการคัดเลือก “ผู้แทนระดับองค์กร” ให้ใช้รูปแบบตามแต่ที่องค์กรนั้นๆจะตกลงหรือกำหนดเป็นระเบียบร่วมกัน แต่ต้องให้ได้ “ผู้แทนองค์กร” ลำดับที่ ๑ - ๓ เพื่อเข้าไปคัดเลือก “ผู้แทน” ในระดับต่อๆไป โดย “ผู้แทนองค์กร” ทั้ง ๓ คนมีสิทธิในการออกเสียงคัดเลือก และมีสิทธิที่จะได้เป็น “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับตำบล-อำเภอ-จังหวัด และระดับชาติ” เท่าเทียมกัน(ดูแผนภูมิโครงสร้างฯที่แนบท้ายประกอบ)

ทั้งนี้ ในการดำเนินการคัดเลือกผู้แทนทุกระดับ ต้องใช้วิธีการให้ผู้แทนองค์กรและผู้แทนระดับต่างๆนำเสนอนโยบาย แนวคิด วิสัยทัศน์ พร้อมเหตุผลที่เกี่ยวข้องในที่ประชุม เพื่อโน้มน้าวให้ผู้แทนขององค์กรอื่นยอมรับและหันมาเลือกตนเองเป็นผู้แทนในระดับนั้นๆ กระทั่งถึงระดับการเลือกในระดับตัวแทนของจังหวัด หลังการประชุม DEBATE จำนวนไม่น้อยกว่า ๓ ครั้งผ่านสื่อทุกรูปแบบแล้ว ค่อยนำเข้าสู่วิธีการโหวตแบบ ONE MAN ONE VOTE ตามสัดส่วนประชากรในแต่ละจังหวัดดังเช่นปัจจุบัน เพื่อให้ได้ผู้แทนของจังหวัดไปคัดเลือกเป็นคณะผู้บริหารระดับประเทศต่อไป

๓. การเมืองมหาชนดีกว่าการเมืองแบบปัจจุบันอย่างไร?

๓.๑ การเมืองมหาชน ไม่ต้องมีพรรคการเมือง จึงตัดปัญหาและความจำเป็นอย่างน้อยทางด้าน ๑) การระดมทุนเข้าพรรค ๒) การหานายทุนอุดหนุนพรรคและตอบแทนคืนนายทุนพรรค ๓) การสร้างพรรคแบบมีเจ้าของผูกขาดเบ็ดเสร็จ ๔) การทุ่มเงินซื้อ ส.ส.เข้าพรรค ๕) การโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์พรรค (พรรคมีเงินได้เปรียบ) ๖) การต้องสนองนโยบายพรรค (แบบหวานอมขมกลืน) ๗) การผสมพันธุ์ข้ามพรรคเพื่อตั้งรัฐบาลด้วยการต่อรองผลประโยชน์ (ทำให้พรรคกลางๆหรือพรรคเล็กๆสบโอกาสตามแต่สภาพการณ์ของจำนวน ส.ส.ที่รวมกันแล้วต้องได้เสียงข้างมาก) ๘) ฯลฯ (อีกเพียบจนสาธยายไม่หมด)

๓.๒การเมืองมหาชน สร้างความเท่าเทียมในทุกด้านอย่างแท้จริง เพราะคนทุกคนเพียงเป็นสมาชิกขององค์กรใดองค์กรหนึ่งที่กฎหมายยอมรับ ซึ่งหากบุคคลผู้นั้นมีความดี พร้อมความสามารถและคุณสมบัติเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสมาชิกส่วนใหญ่ในองค์กร บุคคลผู้นั้นก็สามารถอาสาเป็นผู้แทนได้ ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีอิทธิพล หรือบารมีอื่นใดที่ไม่จำเป็นต้องมีในความเป็นผู้อาสาทำงานเพื่อสังคมและประเทศชาติ

๓.๓ การเมืองมหาชน ช่วยประเทศชาติประหยัดเงินงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง จะมีค่าใช้จ่ายเพียงงบการจัดการประชุมเสนอนโยบายฯ และลงมติคัดเลือกกันเองในระดับต่างๆเท่านั้น

๓.๔ การเมืองมหาชน น่าจะตัดปัญหาการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง และการตัดสินใจเลือกอย่างขาดข้อมูลและเหตุผลเพียงได้อย่างเด็ดขาด เพราะผู้แทนจากแต่ละระดับได้จากการประชุมถกเถียงกันอย่างมีเหตุมีผล (DEBATE) จึงน่าจะรักและภาคภูมิใจในเกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของความเป็นผู้แทนของตนเองเกินกว่าจะขายหรือแลกกับผลประโยชน์อื่นๆ นอกจากนี้ ความแตกต่างของ “แนวคิด วิสัยทัศน์ และนโยบาย” ของผู้แทนจากแต่ละองค์กรและแต่ละระดับ จะเป็นเครื่องชี้และแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าการประชุมคัดเลือกนั้น เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นเหตุเป็นผลพอหรือไม่?

๔. การเมืองมหาชนจะนำพาสังคมและประเทศชาติสู่ความพอเพียงและสันติสุขได้อย่างไร?

เชื่อว่าสภาทุกระดับนับตั้งแต่หมู่บ้านกระทั่งถึงระดับชาติ คงเต็มไปด้วย “ผู้แทนน้ำดี” ที่ไม่ได้มาด้วยการซื้อสิทธิ์-ขายเสียง แต่มาด้วยอุดมการณ์ พร้อมความดี ความสามารถ แนวคิด วิสัยทัศน์ และนโยบายดีๆ ที่เป็นที่ยอมรับของบุคคลคุณภาพในแต่ละระดับมาแล้วหลายชั้น ซึ่งก็จะเป็นที่มาของ “ครม.”, “ผู้นำรัฐบาล” และ “ฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล” (ไม่เรียกว่า “ฝ่ายค้าน”) ที่กล้าสามารถพอที่จะนำพาประเทศชาติก้าวเดินไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ มั่นคง ร่มเย็น และมีสันติสุขอย่างยั่งยืน

๕. จุดที่ต้องป้องกันของการเมืองมหาชน (แต่ไม่น่าห่วง เพราะถึงจะมีก็อยู่ได้ไม่นาน)

จุดที่ต้องป้องกันและระวังของการเมืองมหาชน อยู่ที่ “สำนึกทางด้านการเมืองของประชากร” เพราะแม้การเมืองมหาชนจะให้ความเท่าเทียมและเป็นโอกาสของคนดีมีความสามารถที่แม้จะไม่ร่ำรวยก็จริง แต่หากประชากรไม่ตระหนักและขาดจิตสำนึกต่อโอกาสและความเท่าเทียมดังกล่าวแล้ว โอกาสนั้นก็จะสูญเปล่า และก็จะเป็นโอกาสของ “นักธุรกิจการเมือง” และ “พรรค(พวก)” ในการซื้อ “ผู้แทนโสเภณี” อย่างง่ายๆ และลงทุนน้อยกว่าเดิม ดังนั้น ภารกิจ “การปลูกสร้างสำนึกดีทางด้านการเมือง” โดย “ภาคการศึกษาทุกระดับและทุกรูปแบบการศึกษา” จึงมีความจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่ง

...............................................

ศึกษาแผนภูมิโครงสร้างประกอบที่ลิงค์นึ้ครับ

หมายเหตุ ขอเรียนยืนยันว่าครูวุฒิมิได้เป็นสมาชิก กปปส. หรือ นปช. แต่ครูวุฒิคิดและเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว ยืนยันได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/539080 ครับ

หมายเลขบันทึก: 558918เขียนเมื่อ 12 มกราคม 2014 15:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2014 00:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
เพชรน้ำหนึ่ง
ดร. พจนา แย้มนัยนา

ขอบพระคุณสำหรับดอกไม้ทั้ง ๒ ช่อ จาก ๒ ท่านที่ให้กำลังใจครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท