ประวัติศาสตร์ของวาทกรรมประชาธิปไตย ตอนที่ 7


5. แนวทางการแก้ไข : ต้องรื้อสร้าง (deconstruction )

 

ประเด็นใจกลางปัญหาเรื่องการเข้าปะทะกันระหว่าง ประชาธิปไตยกับ ความเป็นไทยหรือที่อธิบายให้ลงลึกชัดเจนกว่าคือการปะทะกันระหว่าง หลักการเลือกตั้งหนึ่งคนหนึ่งเสียง กับสังคมเหลื่อมล้ำต่ำสูงแต่มีศีลธรรมกำกับ (ประเด็นนี้ขอสรุปว่า เงิน ไม่ใช่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้การเลือกตั้งถูกชี้ขาดไปได้ โปรดดู เงินเป็นปัจจัยสำคัญชี้ขาด ผลการเลือกตั้ง” 2 ก.พ.57 ได้จริงหรือ?http://www.isranews.org/isranews-scoop/item/25828-money_25828.html)  

ยังคงเป็นปมปัญหาค้างคาอยู่และไม่ได้รับการแก้ไข ดูเผินๆ แล้วสองแนวทางที่ขัดแย้งกันอยู่นี้มีทางเดินที่สวนทางกันในระดับประสานงาจนแทบจะกล่าวได้ว่าไม่สามารถประนีประนอมกันได้ หากจะใช้สำนวนของ อาจารย์ ณัฐพล ใจจริงที่กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุดได้ทำให้เกิดประชาชนออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ 1 พลเมืองแบบประชาธิปไตย democratic citizen กับ 2 พลเมืองแบบอภิชนาธิปไตย  aristocratic citizen พลเมืองทั้ง 2 ส่วนเชื่อเรื่อง เสรีภาพ และสิทธิ แต่ประเด็นที่แตกต่างคือ ความเชื่อเรื่องความเสมอภาคที่ฝ่ายหลังไม่เชื่อเรื่องความเท่าเทียม 

 

ทางออกที่สำคัญในปัจจุบันจึงน่าจะอยู่ที่การหา หนทางประนีประนอมระหว่าง “คนดี”, “คนเก่ง”, “ผู้มีความเป็นไทย” และส่วนใหญ่เป็นผู้มีอำนาจบารมีอยู่นอกประชาธิปไตย กับ “ประชาธิปไตย” ที่ไม่เริ่มไม่เชื่องมือ แต่กลับท้าทายคุกคาม “ความเป็นไทย” อย่างเปิดเผย หากพิจารณาจากรูปธรรม ปรากฏการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ากลุ่มชนชั้นนำเลือกแนวทางปกป้อง “ความเป็นไทย” ดั้งเดิมไว้อย่างเต็มกำลัง และฝืนบังคับ เฆี่ยนตีประชาธิปไตยที่เน้นในเรื่องความเสมอภาคให้กลับไปเชื่องมือเหมือนเดิม เช่นจะปิดกรุงเทพฯเป็นต้น ซึ่งเอาเข้าจริงก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลสักเท่าไหร่ เพราะ “ประชาธิปไตย” ยังคงตอบโต้กลับอย่างกระด้างกระเดื่องรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอันเกิดจากการมีเมล็ดพันธุ์ความคิด ความรับรู้ทางการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างคนในสังคมสองภาคส่วนไม่ควรคลี่คลายไปในลักษณะเลือกทางใดทางหนึ่ง เพราะการเลือกทางหนึ่งย่อมหมายถึงการที่จะต้องกำจัดอีกทางหนึ่งทิ้ง ซึ่งแต่ละแนวทางล้วนผูกพันอยู่กับจิตใต้สำนึกของคนหลายล้านคน สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นการปะทะ แตกหัก นองเลือดกันเหมือนสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา บทความนี้ของผมมุ่งชี้ให้เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเราอาจต้องมารื้อสร้าง (deconstruction) การรับรู้หรือความรับรู้ทางการเมืองใดๆของเราอีกครั้งหนึ่ง กล่าวในอีกแง่หนึ่งก็คือ การรับรู้ความรับรู้ทางการเมืองใดๆ ที่เราแต่ละคนมีเอาเข้าจริงก็ล้วนแต่ถูกวาทกรรมประชาธิปไตยของเราล้วนถูกตัดต่อเสริมแต่งประดิษฐ์ไม่มากก็น้อย ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทางออกหนึ่งที่พอเป็นไปได้ก็คือแต่ละฝ่ายตั้งต้นจากการยอมรับว่าความรับรู้ทางสังคมการเมืองล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อบางอย่างที่ไม่แน่ว่าจะถูกต้องเสมอไป ดังนั้นเมื่อความเชื่อเก่าๆ กำลังนำเราไปสู่ปัญหาที่คลี่คลายไม่ได้ เราก็อาจสามารถร่วมกันประดิษฐ์สร้างความรับรู้ใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย ขอเพียงแต่แต่ละฝ่ายเปิดใจกว้างเป็นสำคัญ

ในความเห็นของผมเห็นว่าสังคมไทยจำเป็นต้องร่วมกันสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยในเนื้อหา โดยเน้นไปที่การรับรู้และความรับรู้ทางการเมืองแบบใหม่โดยตระหนักถึงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมที่แปรเปลี่ยนไปจากแหล่งเดิม สามารถตอบโจทย์ปัญหาสำคัญๆ ได้เช่น จะเปิดพื้นที่ให้คนที่เสียเปรียบในระบอบการเมืองเดิม (ผู้อยู่ต่ำในโครงสร้าง “ความเป็นไทย”) มีส่วนร่วมเจรจาต่อรองผลประโยชน์ได้อย่างไร รวมถึงยอมรับสภาพความเป็นจริงที่ว่าทุกคน ทุกกลุ่มฝ่ายในสังคมล้วนมีความเห็น ผลประโยชน์แตกต่างกัน

สืบเนื่องจากแนวทางข้างต้นผมเห็นว่าไม่มีทางอื่นเลยนอกจากการลงหลักปักฐานประชาธิปไตยมีกลไกสถาบันที่เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้าเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะเรื่องกลไกการเลือกตั้งที่ดูเหมือนจะยิ่งพยายามลดทอนก็ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ กระนั้นในส่วนของชนชั้นนำจะยอมละวางอำนาจในการควบคุมการเมืองแล้วปล่อยให้ “ประชาธิปไตย” เติบโต ผมก็ยังเชื่อว่าชนชั้นนำยังคงมีอำนาจอยู่ได้โดยไม่ถูกคุกคามอย่างที่พวกเขาหวาดวิตก เพราะการเปลี่ยนผ่านที่การเมือง ไม่ใช่ในแง่เศรษฐกิจ เนื่องจากยังสามารถครอบงำอำนาจนำเหนือสังคมผ่านการผูกขาดอำนาจทางวัฒนธรรมประเพณี (โดยเฉพาะเรื่องการเป็นตัวแบบของความเป็นไทย) ที่ดูดีสูงส่งกว่าให้คนทั่วไปเคารพนับถือในใจ ดังนั้นจึงไม่ควรตระหนกกับการที่ไม่สามารถจัดการ “ประชาธิปไตย” ให้เชื่องมือได้ ในทางกลับกันหากเลือกที่จะเฆี่ยนตีกดปราบ นั่นต่างหากที่จะทำให้ “ประชาธิปไตย” หันมากระด้างกระเดื่องพุ่งหัวหอกใส่จนกลายเป็นการปะทะแตกหักดังเช่นแนวโน้มในทุกวันนี้ เช่นจะยกเว้นการเลือกตั้ง ต้องปฏิรูปก่อนจึงค่อยเลือกตั้ง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คำว่าประชาธิปไตยที่เป็นสากล ยึดหลักอยู่ที่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคนั้น อาจนำไปสู่รัฐบาลที่ยึดเสียงข้างมากเป็นหลัก ทำทุกอย่างโดยยึดแต่เสียงข้างมาก จนต้องผ่าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม เป็นต้น แต่ผมคิดว่าการที่รัฐบาลทำเช่นนั้นจริง ก็นำไปสู่การประท้วงของประชาชนทั้งในฝ่ายเสื้อแดงและเสื้อเหลือง จนทำให้รัฐบาลต้องถอยอย่างไม่เป็นท่า ผมค่อนข้างมองโลกนี้ในแง่ดีก็คือ ประชาธิปไตยในประเทศต้องกระทำด้วยความอดทน เรียนรู้ข้อผิดพลาดทุกอย่างแล้วลองแก้ไข ประดิษฐ์ สร้างใหม่ โดยยึดหลักแต่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เพราะจากประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในประเทศที่มีประชาธิปไตยตั้งมั่นต่างๆ ระบอบประชาธิปไตยของเขาล้วนผ่านความวุ่นวาย เลวทราม ไม่แตกต่างไปจากประเทศไทย แต่สุดท้ายแล้วระบอบดังกล่าวก็ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นระบอบที่จำเป็นเพราะเลวน้อยที่สุด สุดท้ายก่อนจะปิดบันทึกบทนี้ เราจำเป็นต้องในระบอบประชาธิปไตย หากเราอยู่ในระบอบที่ไม่สามารถจะตรวบสอบถ่วงดุลสถาบันการเมืองทั้งหลายแล้วหละก็ได้ อย่างน้อยการคัดค้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรมย่อมเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะสิ่งดังกล่าวคือการแสดงซึ่งความเสมอภาค 1 คน 1 เสียง!!!

 

หนังสืออ้างอิง

Cr. ตะวัน มานะกุล. The Inception: ว่าด้วยการตัดต่อ “ประชาธิปไตย” ไทย. http://www.echoyouth.org/post/80/inception-democracy/

 

หมายเลขบันทึก: 558283เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2014 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2014 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท