เสริมพลังภาคประชาชน


 

          ช่วงสุดสัปดาห์ ๒ - ๓ พ.ย. ๕๖ ผมมีโอกาสอยู่กับบ้านทั้งสองวัน    มีเวลาอ่านงานของ สกว. ๒ เรื่องใหญ่ๆ    คือ (๑) ผลงานวิจัยที่ฝ่ายต่างๆ ของ สกว. เสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่น ประจำปี ๒๕๕๖   รวม ๒๕ เรื่อง    จะคัดเลือกให้รางวัล ๑๐ เรื่อง    และ (๒) รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยพัฒนาระบบการประเมินผลแบบเสริมพลัง เพื่อการพัฒนางานพื้นที่ (ระยะที่ ๒) จะประชุมนำเสนอและวิพากษ์วันที่ ๔ พ.ย. ๕๖    

          อ่านผลงานทั้งสองชิ้นแล้ว ผมเกิดความสุข    เพราะได้เห็นความเข้มแข็งของงานวิจัยไทย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานวิจัยที่สร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน

          อ่านผลงานวิจัยเด่น ๒๕ เรื่องแล้ว ผมอยากยกย่องทั้ง ๒๕ เรื่อง    เพราะเด่นจริงๆ ทั้งสิ้น   

          ที่ผมติดใจมากเป็นพิเศษได้แก่  (๑) ชุดโครงการอ่าวปัตตานี ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูอ่าวปัตตานี  (๒) โครงการการศึกษารูปแบบการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของโรงเรียนและชุมชน  (๓) โครงการผลิตแอนติบอดีสำหรับรักษาโรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี 

          โครงการที่ ๓ เป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์    ที่มีการคิดแนวทางที่ใหม่เอี่ยมไม่มีคนคิดทำมาก่อน   ผมจะไม่เล่า    จะเล่า ๒ เรื่องแรก

          เรื่องแรก เรื่องอ่าวปัตตานี เป็นชุดโครงการวิจัย ที่มีโครงการวิจัยย่อย ๔ โครงการ ได้แก่ (๑) พัฒนากระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชน  ด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหายาก   (๒) รูปแบบที่เหมาะสม ในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนของชุมชน  (๓) บทบาทของเยาวชนในการคลี่คลาย ความขัดแย้งในการจับสัตว์น้ำอย่างสันติวิธี บ้านตะโละสมิแล  (๔) การจัดการทรัพยากรของชุมชน โดยการจัดทำซังปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน 

          ความงดงามอยู่ที่มีเครือข่ายสถาบันร่วมวิจัยหลายหน่วยงาน    ที่มีบทบาทอยู่แล้วในพื้นที่    เมื่อมาร่วมมือกันโดยมีโครงการวิจัยเป็นตัวเชื่อมประสาน    ก็เกิดการเสริมพลังภาคประชาชน    หน่วยงานดังกล่าวได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการประมงทะเล จ. ปัตตานี, ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งปัตตานี, ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ ๔ จ. สงขลา     โดยภาคประชาสังคมที่ได้รับการเสริมพลัง และร่วมวิจัยคือ สมาคมประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานี

          งานวิจัยชาวบ้านแบบนี้ ต้องการ “คุณอำนวย” (facilitator) หรือพี่เลี้ยง ช่วยชวนคิดชวนตั้งโจทย์    ซึ่งในโครงการนี้คือ นส. สุวิมล พิริยธนาลัย

          ความประทับใจต่อโครงการนี้คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ในด้าน  (๑) การสร้างกลุ่มคน เพื่อการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มสตรี  (๒) การร่วมกันปกป้องแหล่ง ทรัพยากรชุมชน  (๓) การสร้างองค์ความรู้ สำหรับนำไปผลักดันนโยบายอย่างได้ผล  ใช้แก้ปัญหาอย่างได้ผล  และใช้ต่อยอดเป็นชุดความรู้อื่นๆ  (๔) เกิดภาคีเครือข่ายระหว่างนักวิจัยที่เป็นชาวบ้าน กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

          เรื่องที่สอง เรื่องการพัฒนาเยาวชนโดยความร่วมมือของโรงเรียนและชุมชน   เป็นเรื่องโรงเรียน บ้านกุดเสถียร จ. ยโสธร   ที่เคยเป็นโรงเรียนขนาดเล็กมาก (นักเรียน ๓๐ คน)    ดำเนินการวิจัย ๑๘ เดือน ระหว่างปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๒   โดยมีชาวบ้านเป็นหัวหน้าโครงการ   ครูและผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้ร่วมวิจัย    เป้าหมายคือเปลี่ยนวิธีจัดการเรียนรู้ของครู   โดยจัดการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริง ในกิจกรรมจริง    มีชาวบ้านเป็นผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้   เกิดการเรียนรู้อย่างสนุกสนานมีชีวิตชีวา  และเกิดทักษะในการคิดวิเคราะห์   และผลการสอบดีขึ้นอย่างมากมาย    จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น ๑๑๕ คน  

          อ่านเรื่องราวของโรงเรียนกุดเสถียรได้ ที่นี่  และ ที่นี่   เป็นตัวอย่างของการวิจัยสร้างพลังประชาชนฟื้นการศึกษา     

          ทั้ง ๒ เรื่องข้างบน เป็นตัวอย่างเอามาต่อยอด ปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนได้ทั้งสิ้น    และเป็นตัวอย่างเรื่อง co-educator หรือ co-teacher

          ส่วนโครงการวิจัยพัฒนาระบบการประเมินผลแบบเสริมพลัง เพื่อการพัฒนางานพื้นที่ (ระยะที่ ๒)  มีข้อค้นพบตรงกับที่ผมสรุปกับตนเองมาเกือบ ๑๐ ปีแล้ว ว่า ในหน่วยราชการไทย มีสิ่งดีๆ ความรู้หรือเทคนิคดีๆ อยู่    แต่ไปไม่ถึงชาวบ้าน หรือชาวบ้านเข้าไม่ถึง    ชาวบ้านต้องการกระบวนการ เสริมพลัง (empower) ให้เข้าถึง    โดยที่ต้องเป็นการเข้าถึงแบบอิสระและมีเกียรติ    ไม่ใช่เข้าถึงแบบต้องลดเกียรติ เป็นคล้ายๆ ขอทาน   อ่านข้อประทับใจของผม ที่นี่

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ธ.ค. ๕๖

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 557339เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท