ประสานพลังเพื่อการพัฒนาพื้นที่


 

         บ่ายวันที่ ๔ พ.ย. ๕๖   ผมไปร่วมประชุมให้ความเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง โครงการระบบประเมินผลแบบเสริมพลัง เพื่อการพัฒนาพื้นที่   ที่สกว.    ท่ามกลางบรรยากาศร้อนระอุทางการเมือง    ที่กระแสต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ขึ้นสูงมาก    แต่การประชุมนี้ให้ความสุข ชุ่มชื่นหัวใจแก่ผมเป็นอันมาก   เพราะได้เห็นวิธีการประสานพลังเพื่อการพัฒนาพื้นที่ที่ประสบผลสำเร็จน่าชื่นชม    โครงการนี้มีคุณจิริกา นุตาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ

          ผมได้เรียนรู้ว่าการประเมินผลแบบเสริมพลัง ทีมผู้ทำงานต้องเป็นผู้ประเมินเอง    สำหรับใช้ผลการประเมินในการปรับการทำงานของตน   ให้ได้ผลตามเป้าหมาย    และสำหรับเป็นข้อเรียนรู้ของตนเอง    ทีมประเมินทำหน้าที่ตั้งคำถาม เพื่อให้ทีมทำงานฉุกคิด หาทางทำงานให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

          ผมยิ่งชื่นใจ ที่ทีมประเมินและทีม สกว. บอกว่า มีหลายจังหวัดที่บอกว่า “โครงการ สกว. จบ    แต่พวกเราจะทำต่อ”   ผมคิดว่า สปิริต นี้ คือผลงานที่แท้จริง 

          สปิริตของแกนนำในพื้นที่ ที่จะรวมตัวกัน ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ของตน    อย่างมีระบบ มีการสร้างข้อมูลและใช้ข้อมูลเพื่อการดำเนินการพัฒนา

         เราได้เห็นว่า มี “สินทรัพย์เพื่อการพัฒนาพื้นที่” (development assets) อยู่ในพื้นที่มากมาย    แต่โดยทั่วไปจะไม่ได้นำมาใช้ หรือใช้แบบแยกส่วน   ไม่ได้ใช้ให้เกิดการเสริมพลัง (synergy) กัน    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สินทรัพย์” ที่อยู่ในหน่วยราชการ    แต่เมื่อเชื่อมโยงเอามาใช้ร่วมกันได้    จะเกิดประโยชน์มหาศาล    เขายกตัวอย่างศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชนครราชสีมา     เป็นสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งต่อโครงการกลุ่มเกษตรและอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงกับโครงการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  

          ในระหว่างการเสวนาแลกเปลี่ยนกันนั้น    ผมปิ๊งแว้บคำว่า Empowerment Report   ที่เป็นรายงานถอดบทเรียนความสำเร็จของกลุ่มแกนนำและทีมงานของแต่ละพื้นที่    ที่ได้จากการทำ reflection หรือ AAR ของผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้น    นำมาเรียบเรียงสังเคราะห์เป็นรายงาน    โดยผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า รายงานสมัยใหม่น่าจะจัดทำเป็น multimedia   คืออาจมีวีดิทัศน์สั้นๆ เสริมด้วย

          “สินทรัพย์” ที่มีค่าที่สุดในพื้นที่ ในความเห็นของผม คือ จินตนาการร่วมกันของกลุ่มแกนนำ    ในการพัฒนาพื้นที่   แล้วมีการศึกษาหาความรู้หาข้อมูล    เพื่อนำมาปรับความฝันให้เป็นเป้าหมายที่สมจริง    แล้วรวมพลังทุกภาคส่วนในพื้นที่ และนอกพื้นที่    เพื่อดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายนั้น

           ผมได้เสนอต่อที่ประชุมว่า ผลลัพท์ที่มีค่าสูงสุดต่อพื้นที่ไม่ใช่ตัวผลสำเร็จของโครงการ    ผลลัพท์ที่มีค่ามากกว่า คือการเรียนรู้ที่เกิดจากการทำโครงการนั้น   ดังนั้น Empowerment Report จึงมีค่ายิ่ง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 556186เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท