ภัยตกค้างจากสารพิษ ที่อยู่ใกล้ตัว!!!


นับวันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มีพัฒนาการความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข    อุตสาหกรรม  ยานยนต์ เครื่องมือสื่อสาร ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันของผู้คนทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นสังคมเมืองหรือสังคมชนบทต่างก็แทบจะมีวิถีชีวิตที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าต่างทยอยออกไปเปิดสาขาเบ่งบาน คอยบริการต้อนรับอยู่เกือบทั่วทุกจังหวัด ทั้ง เซ็นทรัลพลาซา, บิ๊กซี, โลตัส, โรบินสัน ฯลฯ  การอุปโภคบริโภค ที่แต่ก่อนชนบทคนต่างจังหวัด จะปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ไว้รับประทานกันเอง ก็เปลี่ยนเป็นการซื้ออาหารถุง อาหารสำเร็จรูปทดแทนเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าในตัวเมืองหรือที่ห่างไกลออกไป เพราะผู้คนชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะหนุ่มสาวมักจะทำงานโรงงานในพื้นที่ใกล้บ้านและจังหวัดใกล้เคียง จึงต้องมีชีวิตประจำวันที่ต้องรีบเร่ง ตื่นเช้าเข้าคิวรอรถบัส รถทัวร์ มารับไปเข้ากะเข้างาน อาหารที่เหมาะกับคนกลุ่มนี้จึงหนีไม่พ้นข้าวถุง แกงถุง ส้มตำ น้ำตก ลาบ ก้อย ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่จะต้องเกี่ยวดองหนองยุ่งกับพืชผักผลไม้จากภาคเกษตรทั้งนั้น  

วัตถุดิบที่นำมาผลิตจากภาคเกษตรนั้น แน่ใจแล้วหรือว่าปลอดภัย ไร้สารตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นหมู เห็ด เป็ดไก่ คะน้า ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี  อาจจะมีการปนเปือนสิ่งเจือปนสารแปลกปลอมอย่าง สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ปกติใช้เป็นยารักษาหอบหืดในคน แต่มีผู้ลักลอบนำมาใช้ผสมในอาหารสุกรเพื่อเพิ่มเนื้อแดง และลดไขมันในเนื้อ, สารบอแรกซ์ หรือชื่อทางการค้าว่า น้ำประสานทอง ผงกรอบ ผงเนื้อนิ่ม สารข้าวตอก และผงกันบูดเป็นสารเคมีที่เป็นเกลือของสารประกอบโบรอน มีชื่อทางเคมีว่า โซเดียมบอเรต (Sodium borate), โซเดียมเตตราบอเรต (Sodium tetraborate) มีลักษณะไม่มีกลิ่น เป็นผลึกละเอียด หรือผงสีขาว ละลายน้ำได้ดี ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ 95% มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม และบอแรกซ์มีคุณสมบัติทำให้เกิดสารประกอบเชิงซ้อน กับสารประกอบอินทรีย์โพลีไฮตรอกซี (Organic polyhydroxy compound) เกิดเป็นสารหยุ่น กรอบ และเป็นวัตถุกันเสียได้ จึงมีการลักลอบนำสารบอแรกซ์ผสมลงในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อหมู ปลาบด ลูกชิ้น ผลไม้ดอง, สารฟอร์มาลิน, สารกันรา หรือกรดซาลิซิลิค เป็นสารเคมีตัวหนึ่งที่นำมาใช้เป็นวัตถุกันเสียกันรามาใส่ในน้ำดองผักผลไม้ที่วางขายในท้องตลาด, สารฟอกขาวหรือสารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการฟอกสีของอาหาร เมื่ออาหารนั้นถูกความร้อนในกระบวนการผลิต ถูกหั่น หรือตัดแล้ววางทิ้งไว้ และยับยั้งการเจริญเติบโตของยีสต์ รา บักเตรี จึงมักจะถูกนำมาใช้เพื่อให้อาหารมีสีขาว ดูคุณภาพดี,  น้ำมันทอดซ้ำ น้ำมันที่ใช้ทอดอาหารหลาย ๆ ครั้ง จนมีสีเข้มดำ เกิดฟอง และมีควันมากขณะทอดน้ำมันมีความหนืดเหนียว มีสารก่อมะเร็งปนอยู่, อะฟลาท๊อกซิน เป็นสารพิษจากเชื้อรา เป็นสารก่อมะเร็ง ทนความร้อนได้ 260 oC พบมากในถั่วลิสงบดและอาหารประเภคบขบเคี้ยวที่เด็กชอบและสุดท้ายคือ ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช คือวัตถุมีพิษที่นำมาใช้เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช สัตว์และมนุษย์ ทั้งในเกษตร อุตสาหกรรม และสาธารณสุข ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ได้บางชนิด แต่ต้องทิ้งระยะให้สารหมดความเป็นพิษก่อนการเก็บเกี่ยว เมื่อได้รับสารฆ่าแมลงเข้าสู่ร่างกาย จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับเอนไซม์ในร่างกาย มีผลให้เกิดการขัดขวางการทำหน้าที่ตามปกติของระบบประสาททั้งในคนและสัตว์ อย่างในกรณีล่าสุดที่เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้างในกรณีการใช้สารรมควันในข้าวสารเพื่อป้องกันมด หนู แมลง มอดเข้ามากัดกินทำลายสต๊อกข้าว ด้วย เมทินโบรไมด์ และมีปริมาณการตกค้างจากสารเหล่านี้ จากหลายหน่วยงาน หลายบริษัท หลายยี่ห้อ และที่เป็นกระแสฮือฮาอยู่นานสักหน่อยก็จะเป็นกรณีของพิธีกรชื่อดัง รายการ “คนค้นคน” คุณสุทธิพงษ์  ธรรมวุฒิ ที่นำมาออกมาตี่แผ่ ให้คนไทยได้รับรู้รับทราบข้อมูลในเรื่องนี้อยู่มากพอสมควร ส่วนข้อเท็จจริงในกระบวนการสุดท้ายนั้น ท่านผู้อ่านก็ต้องใช้วิจารณญาณกันเอาเองนะครับ เพราะบริษัทต่างๆเหล่านี้ก็ออกมาแก้ไข แก้ข่าว และให้พิธีกรดังกล่าวออกมาขอโทษขอโพยข้อมูลที่ยังไม่ตกผลึก หรือกลั่นกรองอย่างรอบคอบเสียก่อน จนเกิดผลกระทบต่อการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกอยู่พอสมควรทีเดียว

 

 จากตารางด้านบนคือรายการการนำเข้าสารเคมีที่เป็นพิษต่างๆ เหล่านี้มีมูลค่ามากมายมหาศาลหลายหมื่นล้านบาท  เมื่อเทียบกับตัวเลขการนำเข้าสารชีวภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการเกษตรแบบปลอดภัยไร้สารพิษนั้นถือว่าต่ำมาก คือสารเคมีที่เป็นพิษโดยเฉลี่ย 5 ปี ประมาณ  19,064.6 ล้านบาทต่อปี ในส่วนของสารชีวภัณฑ์ที่ปลอดภัยไร้สารพิษนั้นมีตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 22.4 ล้านบาทต่อปี เรียกว่าเทียบกันไม่ติด ทิ้งกันแบบไม่เห็นฝุ่นเชียวล่ะครับ  ฉะนั้นมิต้องกระวนสงสัยให้เสียเวลานะครับ ว่าสามารถปริมาณมหาศาลนั้น จะไปสะสมหมักหมมอยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่ในร่างกายของคนไทยทุกคน  สารพิษที่สะสมตกค้างมากับอาหารในรูปแบบต่างๆ นั้น ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในรูปแบบต่างๆ มากมาย ทั้งผลเสียทางตรงต่อผู้ที่นำไปฉีดพ่นในแปลง เรือก สวนไร่นา ทำให้ปากเบี้ยว มือหงิก อัมพฤต อัมพาต เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ อีกทั้งภัยต่อผู้บริโภคทำให้เกิด มะเร็ง เซลล์ผิดปรกติ โรคหัวใจ สารพิษสะสมในเลือด อื่นๆ อีกมากมาย

ท้ายนี้ก็น่าจะถึงเวลาที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ควรที่จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน รณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ผลิตที่อยู่ในกระบวนการทั้ง ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งหลายเหล่านี้ได้มีเวลาทบทวนไตรตรองและมีความรับผิดชอบให้มากขึ้นต่อวัตถุดิบที่จะนำมาผ่านกระบวนการเป็นอาหารให้พี่น้องไทยเราใช้อุปโภคบริโภคให้มีคุณภาพมาตรฐานที่ ปลอดภัย ไร้สารพิษตกค้าง อย่างน้อยก็ควรเริ่มที่ตัวเราๆ ท่านๆ เสียก่อน คือการให้ความสำคัญกับพืช พรรณธัญญาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น รับประทานอาหารที่มีแหล่งที่มาที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้ที่ปฏิบัติ ผู้ที่ผลิตพืชผักปลอดภัยไร้สารพิษอย่างจริงจัง เพื่อให้เขาเหล่านั้นสามารถทำในสิ่งที่รัก ที่ตั้งใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำอาชีพเกษตรกรรมแบบปลอดภัยไร้สารพิษ ซึ่งมีความยาก ความเหนื่อย และต้องใช้ความอุตสาหะอย่างสูง

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555660เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท