ปลูกมันสำปะหลังปลอดสารพิษ พิชิตต้นทุน เกื้อหนุนธรรมชาติ


นาน ๆจะพูดเรื่องมันสำปะหลังกันสักทีหนึ่ง ทั้งที่ความจริงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังนั้นก็มีอยู่ไม่น้อย แถมที่เป็นสมาชิกชมรมเกษตรปลอดสารพิษและผู้ที่ชื่นชอบแนวทางที่ไม่ต้องการใช้สารเคมีที่เป็นพิษให้ทำร้ายตนเองและส่วนรวมต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงอยากนำเสนอแนวทางการผลิตหรือปลูกมันโดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีที่เป็นพิษ และยังคงได้ผลผลิตเทียบเท่าหรือดีกว่าการปลูกแบบดั้งเดิมที่ใช้สารเคมี อีกทั้งต้นทุนก็จะต้องต่ำกว่าอย่างแน่นอนครับ

ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้เรื่องการปลูกมันสำปะหลังแบบปลอดสารพิษ ก็อยากให้เกษตรกรหน้าใหม่ไฟแรงที่อาจจะยังไม่รู้จักมันสำปะหลังมากนักก็ได้มีโอกาสรับข้อมูลเบื้องต้นไปด้วยพร้อมกันพลางๆ มันสำปะหลัง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Manihot esculenta (L.) Crantz  อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ชื่อสามัญ Cassava Root, Tapioca  ชื่ออื่นๆ ที่ในแต่ละภูมิภาคเรียกขานกันก็มี ต้าวน้อย, ต้าวบ้าน (ภาคเหนือ) มันต้น มันไม้ (ภาคใต้) มันสำโรง สำปะหลัง (ภาคกลาง) มันหิ่ว (พังงา)  มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา มานานกว่า 3,000-7,000 ปีมาแล้วแหล่งกำเนิดมันสำปะหลังมี 4 แห่งด้วยกันคือ 1. แถบประเทศกัวเตมาลา และเม็กซิโก  2. ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้ 3. ทางทิศตะวันออกของประเทศโบลิเวียและทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอาร์เจนตินา4. ทางทิศตะวันออกของประเทศบราซิล

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่ามีการนำมันสำปะหลังเข้ามาปลูกเมื่อใด คาดว่าคงจะเข้ามาในระยะเดียวกันกับการเข้าสู่ศรีลังกา และฟิลิปปินส์ คือ ประมาณ พ.ศ. 2329-2383 มันสำปะหลัง เดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ทางภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่ามันหลา) คำว่า สำปะหลังที่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า "สัมเปอ (Sampou)" ของชวาตะวันตก

ประเทศไทยมีการปลูกมันสำปะหลังเป็นการค้าเพื่อใช้ทำแป้งและสาคูในภาคใต้ โดยปลูกระหว่างแถวของต้นยางพารากันมากว่า 70 ปีแล้ว โดยเฉพาะที่จังหวัดสงขลามีอุตสาหกรรมทำแป้งและสาคูจำหน่ายไปยังปีนังและสิงคโปร์ แต่การปลูกมันสำปะหลังทางภาคใต้ค่อยๆ ลดลงเมื่อมีการขยายการปลูกยางพารา ต่อมาได้มีการปลูกมันสำปะหลังในภาคตะวันออก คือจังหวัดชลบุรี ระยองและจังหวัดใกล้เคียง และเมื่อความต้องการของตลาดในด้านผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมมีเพิ่มมากขึ้นทำให้พื้นที่ในภาคตะวันออกผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกไปยังจังหวัดอื่นๆโดยเฉพาะทางภาคตะวันอกเฉียงเหนือจนในปัจจุบันภาคตะวันออกเฉียงเหนือพื้นที่ปลูกมากที่สุดของประเทศไทย  (ที่มา : กรมวิชาการเกษตร)

การปลูกมันสำปะหลังนั้นโดยปรกติพื้นที่หนึ่งไร่ จะใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 1,600 – 2,000 ท่อน โดยใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 200 ต้น ค่าใช้จ่ายต้นละประมาณ 2 – 3 บาท นำมาตัดเป็นท่อนประมาณ 20 เซนติเมตร จะได้ประมาณ 8 – 10 ท่อนต่อต้น  ต้นพันธุ์ที่นำมาใช้นั้นจะต้องมีอายุประมาณ 10-12 เดือนและหลังจากตัดแล้วจะต้องมีอายุไม่เกิน 15 วัน เพื่อป้องกันเชื้อราและกระตุ้นให้เกิดราก ควรแช่ท่อนมันกับจุลินทรีย์ ไตรโคเดอร์ม่า  1 กิโลกรัม และ ไคโตซาน  1 ลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ประมาณอย่างน้อย 6 ชั่วโมงหรือ 1  คืนก่อนปลูกเพื่อให้จุลินทรีย์และไคโตซานทำงานแทรกซึมได้อย่างทั่วถึง

การเตรียมดินควรตรวจวัดสภาพความเป็นกรดและด่างของดินให้ทั่วทั้งแปลง โดยกำหนดภาพในใจแบบคร่าวๆให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า และทำการเก็บตัวอย่างจากทุกมุมของพื้นที่ทั้ง 4 มุมหรือ 4 จุด และในส่วนตรงกลางอีก 2 จุดพยายามให้อยู่ในจุดที่สมดุลทั้งสองด้านหัวท้ายและด้านข้างของพื้นที่สี่เหลี่ยม สรุปแล้วจะได้ตัวอย่างดินทั้งหมด 6 จุด ขุดให้ความลึกประมาณ 2 หน้าจอบ แล้วเก็บตัวอย่างดินบริเวณที่ลึกที่สุดมาเพียงหยิบมือเดียว แล้วนำมาทดสอบกับน้ำยาตรวจวัดกรดด่างของดิน (Test Kids soil)  ถ้าดินมีสภาพเป็นกรดคือมีค่าพีเอชน้อยกว่า 7 ลงมา ก็ควรใช้กลุ่มวัสดุปูน ทั้งปูนมาร์ล, ปูนเปลือกหอยบด (Ca2co3), ปูนเผา (CaO), ปูนขาว (Cao2), ปูนโดโลไมท์ (CaMg Cao3), ฟอสเฟต (Ca3(PO4)2, แต่ถ้าดินเป็นด่างแนะนำให้ใช้ ภูไมท์ซัลเฟตถุงสีแดง (Pumice Sulphate Red), หรืออินทรีย์วัตถุ (organic matter) และถ้าดินมีสภาพที่เหมาะสมอยู่แล้วคือ มีค่าพีเอชอยู่ระหว่าง 5.8-6.3 นั้นก็ควรจะใช้แต่เพียงปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกในอัตราไร่ละ 100 – 200 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับดินที่ค่อนข้างเป็นดินทรายขาดแคลนความอุดมสมบูรณ์ควรใช้ พูมิชซัลเฟอร์ (Pumish Sulpher) ซึ่งมีองค์ประกอบแร่ธาตุสารอาหารทั้งฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก ทองแดง แมงกานีส สังกะสี โบรอน  โมลิบดินั่ม อีกทั้งซิลิก้าที่ละลายน้ำได้ เพิ่มเข้าไปเพื่อช่วยทำให้ดินโปร่งร่วนซุย ช่วยให้หัวมันใหญ่ ขยายได้รวดเร็วขึ้น

ก่อนที่จะใส่สารปรับปรุงบำรุงดินก็ควรทำการไถกลบด้วยผาล 2 หรือ 3  เสียก่อนเพื่อทำลายวัชพืชและหมักให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์วัตถุในดินทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 วัน ในส่วนนี้ทางขอแนะนำให้ใช้พูมิชซัลเฟอร์ Pumice Sulpher ใส่รองพื้นก่อนปลูกปลงไปประมาณ 20 – 40 กิโลกรัมต่อไร่ จึงค่อยทำการไถพรวนด้วยผาล 5 หรือผาล 7 แล้ว (ในช่วงที่ไถพรวนนี้ควรเติมอินทรียวัตถุหรือสารปรับปรุงบำรุงดินไปด้วยเลยในคราวเดียว) หลังจากนั้นจึงค่อยใช้ผาลยกร่องตั้งระยะผาลที่ 1.2 เมตร ทำการไถยกร่องเตรียมปลูกต่อไป   ระยะการปลูกโดยปรกติจะใช้ระยะห่างระหว่างต้นที่ 80 เซนติเมตรปักต้นมันให้ลึก 10 เซนติเมตรหรือครึ่งหนึ่งของท่อนพันธุ์ปักลงไปตรง ๆ แล้วผลักให้ล้มเสมอดิน (จะใช้แนวตั้งหรือแนวนอนก็ทดสอบแล้วเลือกให้เหมาะสมกับชนิดของพันธุ์กันเอาเองนะครับ (ส่วนที่อยากแนะนำคือแนวนอนพบว่าช่วยให้มันสำปะหลังออกรากและลงหัวดีกว่าหลายวิธีที่เคยพบเห็นมา)

ส่วนชนิดของพันธุ์มันสำปะหลังนั้นก็มีมากมายหลายชนิด แต่ที่จะนำมาให้รู้จักกันนี้ก็เป็นพันธุ์ที่ได้รับการรับรองมีความสามารถให้ผลผลิตเกิน 15 ตันต่อไร่ได้ทั้งสิ้นแต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพท้องที่และการจัดการนะครับ

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 (CMR25-105-112)

 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ 27-77-10 กับพันธุ์ระยอง 3 ผสมพันธุ์ขึ้นในปี 2525ลักษณะเด่น

- ยอดอ่อนสีม่วงอ่อน มีใบสีเขียวเข้ม ต้นสีเขียวอมน้ำตาล มีความสูงเฉลี่ย 1.70 เมตร

- หัวอ้วนสั้น เปลือกหัวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อสีขาว

- ผลผลิตหัวสดเฉลี่ยจากทั่วประเทศ 4.42 ตันต่อไร่

- ผลผลิตเฉลี่ย จากแปลง มทส. 12.44 ตันต่อไร่

- เปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยในฤดูฝน 23% ฤดูแล้ง 26%

 

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. มีความแข็งแรง

2. ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้กว้าง

3. หัวดกจำนวนหัวเฉลี่ย 10.3 หัวต่อกอ

4. ทนโรคทนแมลง

5. ปลูกระยะชิดได้ดี

6. สามารถปลูกในดินทรายจัดได้ดี

1. เปอร์เซ็นต์แป้งค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในฤดูฝน

2. มีอาการใบไหม้ เมื่อเข้าฤดูหนาวและแล้ง

 

 

 

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 7

ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์ CMR30-71-25 กับพันธุ์ OMR29-20-118 ในปี 2535 ที่ศูนย์วิจัยพืช

ไร่ระยอง ตำบลห้วยโป่ง อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ได้ผ่านการคัดเลือกพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง และ

ทำการประเมินพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ สถานีทดลองพืชไร่ และไร่เกษตรกร รวม 13 จังหวัด แปลงทดลอง

รวม 51 แปลง ระยะเวลาการทดลอง 12 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 – 2547

 

ลักษณะเด่น

- มีใบสีเขียวอ่อน ใบยอดสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อน

- ลำต้นสีน้ำตาลอ่อน ตั้งตรง ไม่โค้งงอ ไม่แตกกิ่ง สูง 180 ซม.

- หัวเปลือกสีครีม เนื้อหัวสีขาว ไม่มีก้านหัว

- ผลผลิตเฉลี่ย 6.30 ตันต่อไร่

- แป้งเฉลี่ยในฤดูฝน 27.2%

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. ลำต้นตรงใช้ทำพันธุ์ได้มาก

2. ปลูกได้ดีทั้งต้น ฝนและปลายฝน

3. งดเร็ว ประมาณ 5 วันหลังปลูก

4. ให้ผลผลิตและปริมาณแป้งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานทั่วไป

 

1. ยังไม่มีข้อมูล

 

ข้อควรระวัง

ถ้าปลูกในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและเกิดภาวะแล้งยาวนาน หลังจากได้รับน้ำฝนอีกครั้งจะเกิด

การแตกตาตามลำต้นมากกว่าในสภาพปกติ ดังนั้น การนำลำต้นดังกล่าวไปเป็นท่อนพันธุ์ ควรปลูกในขณะ

ที่ดินมีความชื้นสูง จะได้ต้นมันสำปะหลังที่มีเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดสูงเหมือนกับใช้ท่อนพันธุ์สภาพปกติ

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 9

เป็นลูกผสมปี 2535 ได้จากการผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์

CMR31-19-23 เป็นแม่และ OMR29-20-118 เป็นพ่อ ผสมพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง

และประเมินศักยภาพของพันธุ์ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งสิ้น 38 แปลง

ทดลองระหว่างปี 2535-2542 พบว่าสายพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตแป้ง และผลผลิตมันแห้งสูง ในปี 2544-

2547 ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองจึงร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในการ

ประเมินผลผลิตเอทานอลจากสายพันธุ์ระยอง9 ร่วมกับลูกผสมชุดเดียวกันนี้อีก 2 สายพันธุ์เปรียบเทียบกับ

พันธุ์มาตรฐานได้แก่ ระยอง 5 ระยอง 72 ระยอง 90 และเกษตรศาสตร์ 50 ในระดับห้องปฏิบัติการ แล้ว

คัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเอทานอลสูงจากการทดลองระดับห้องปฏิบัติการ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ระยอง 9 และ

พันธุ์ระยอง 90 ไปทดลองผลิตเอทานอลในระดับโรงงานต้นแบบขนาดกำลังผลิต 1,500 ลิตร ที่ใช้หัวสด

เป็นวัตถุดิบ พบว่า สายพันธุ์ระยอง 9 ให้ผลผลิตเอทานอลสูงกว่าพันธุ์ระยอง 90 สายพันธุ์ระยอง 9 จึง

เหมาะสำหรับอุตสาหกรรมเอทานอล และผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ได้แก่ แป้งมัน มันเส้น และมันอัดเม็ด

 

ลักษณะเด่น

- ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ใบสีเขียวอ่อน ก้านใบสีเขียวอ่อนปนชมพู

- ลำต้นสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลอมเหลือง ลำต้นสูงตรง ปกตำไม่ค่อยแตกกิ่ง สูง 235 ซม.

- หัวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อหัวสีขาว

- ผลผลิตเฉลี่ย 4.9 ตัน/ไร่

- เปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยในฤดูฝน 27.2% ในฤดูแล้ง 27.6%

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. เป็นพันธุ์ที่เหมาะสมต่อการใช้ทำเอทานอล เนื่องจากมีแป้งสูง

2. ทรงต้นดี สูงตรง ได้ต้นพันธุ์สำหรับขยายพันธุ์ได้มาก

3. งดเร็ว ประมาณ 5 วันหลังปลูก

4. ให้ผลผลิตและปริมาณแป้งสูงกว่าพันธุ์มาตรฐานทั่วไป

 

1. หากเก็บเกี่ยวก่อนอายุ 1 ปี จะให้ผลผลิต่ำกว่า พันธุ์อื่นๆ

2. ควรปลูกในพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสูงกว่า 1,000 มม.

ข้อควรระวัง

 

 

ข้อควรระวัง

ควรเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 1 ปี เนื่องจากสายพันธุ์ระยอง 9 มีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงแต่สะสม

น้ำหนักช้า ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วจะให้ผลผลิตหัวสดต่ำกว่าพันธุ์มาตรฐานอื่นๆ

 

 

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 72

เป็นพันธุ์ลูกผสมที่ได้คัดจากการผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 1 กับระยอง 5 เมื่อปี 2533 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่

ระยอง แล้วนำมาประเมินผลผลิต ตามขั้นตอนของการปรับปรุงพันธุ์ ในศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองและ สถานี

ทดลองพืชไร่ และแหล่งปลูกต่าง ๆ จนถึงปี 2542 พบว่าเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะปลูกในภาค

ตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับการพรับรองพันธุ์ ในปี 2543

 

ลักษณะเด่น

- ยอดอ่อนสีม่วง ใบแก่สีเขียวเข้ม และก้านใบมีสีแดงเข้ม

- ลำต้นสีเขียวเงิน ความสูงเฉลี่ย 2 เมตร ลำต้นตรง

- เปลือกหัวสีขาวนวล เนื้อสีขาว

- ผลผลิตเฉลี่ยจากทั่วประเทศ 5.09 ตัน/ไร่

- เปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ย 20.9%

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. แข็งแรง ทนแล้ง ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

2. ให้ผลผลิตสูง

3. ท่อนพันธุ์ทนแล้งได้ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ เพราะมีอาหารสะสมมาก

4. ตรง ทำให้สามารถตัดเป็นท่อนพันธุ์ปลูกได้

จำนวนมาก และเข้าทำงานในแปลงได้สะดวก

 

1. หากเก็บเกี่ยวในฤดูฝน หรือปลูกในดินทรายที่มีการจัดการธาตุอาหารไม่ดี จะทำให้เปอร์เซ็นต์แป้งต่ำ

  1. หัวมันไม่ชิดต้น ส่วนโคนของหัวเป็นก้านค่อนข้าง

ยาว เมื่อถอนจะขาดอยู่ในดิน ไม่เหมาะปลูกใน

พื้นที่ที่เป็นดินเหนียวจัด

 

 

 

มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 90

ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างพันธุ์ CMC76 และพันธุ์ V43 ในปี 2521 ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง หลังจากผ่าน

การคัดเลือกครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ระยองแล้ว นำไปเปรียบเทียบ

มาตรฐานพันธุ์ เปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่น เปรียบเทียบพันธุ์ในไร่กสิกร และทดสอบพันธุ์ในไร่กสิกร ใน

สถานีทดลอง และไร่กสิกรจังหวัดต่าง ๆ

 

ลักษณะเด่น

- ยอดอ่อนสีเขียวอ่อน ใบสีเขียวเข้ม และก้านใบมีสีเขียวอ่อน

- ลำต้นอ่อนสีเขียว ลำต้นแก่สีน้ำตาล กิ่งโค้ง ความสูงเฉลี่ย 1.65 เมตร

- หัวยาวเรียว มีหัวต่อกอมาก เปลือกหัวสีน้ำตาลเข้ม เนื้อสีขาว

- ผลผลิตเฉลี่ยจากทั่วประเทศ 3.96 ตัน/ไร่

- เปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยในฤดูฝน 25% ฤดูแล้ง 30%

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. ออกหัวง่าย เสี้ยนน้อยแม้อายุหัวมาก

2. มีแป้งสูง ในทุกฤดู

3. ผลผลิตสูงมาก เมื่อดินดี

 

1. ไม่ทนสภาพดินเลว

  1. ต้นทำมุมกว้าง แตกกิ่งเกะกะ

3. กิ่งพันธุ์โค้ง มีอายุเก็บรักษาสั้นประมาณ 1-2

สัปดาห์

 

ข้อควรระวัง

1. ไม่เหมาะสมกับแหล่งที่มีแมลงหวี่ขาวแพร่ระบาด

2. ต้นพันธุ์ไม่ควรเก็บไว้นานเกิด 2 สัปดาห์ก่อนนำไปปลูก เพราะจะเสื่อมคุณภาพ

 

มันสำปะหลัง พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 (MKUC 28-77-3)

เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 1 และพันธุ์ระยอง 90 ผสมขึ้นในปี 2527

 

ลักษณะเด่น

- ยอดอ่อนสีเขียว ใบสีเขียวอมม่วง

- ต้นสีเทาเงิน ลำต้นยาวโค้ง ความสูงต้นเฉลี่ย 1.8 – 2.5 เมตร

- แตกกิ่งระดับแรกที่ความสูง 80 – 150 เซนติเมตร

- หัวยาวเรียวมีขนาดสม่ำเสมอ เปลือกหัวสีน้ำตาล เนื้อสีขาว

- ผลผลิตเฉลี่ย 3.6 – 4.0 ตัน/ไร่

- เปอร์เซ็นต์แป้งเฉลี่ยในฤดูฝน 23.3% ในฤดูแล้ง 28%

- ต้นพันธุ์เก็บไว้ได้นานประมาณ 30 วันหลังจากตัดต้น

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. มีความแข็งแรงปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้กว้าง

2. ทนโรค แมลง

3. ลำต้นยาวใช้ทำพันธุ์ได้มาก ความงอกดี

4. กิ่งพันธุ์มีอายุการเก็บรักษาได้นาน 4-5 สัปดาห์

1. ลำต้นโค้ง ยาวเกะกะ เข้าทำงานยาก

2. กินปุ๋ยมาก

 

 

 

พันธุ์ห้วยบง 60

เป็นพันธุ์ที่พัฒนาโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง

แห่งประเทศไทย ได้จากการผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 5 กับพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 เมื่อปี พ.ศ.2534 ผ่านการ

ประเมินผลผลิตมากกว่า 30 การทดลอง ได้รับพระราชทานชื่อพันธุ์จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

สยามบรมราชกุมารีว่า “ห้วยบง 60” รับรองพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2546

 

ลักษณะเด่น

- ยอดอ่อนสีม่วงอ่อน ใบและก้านสีเขียวปนม่วง ใบมีขนอ่อน

- ลำต้นสีเขียวเงิน ต้นสูง 180 – 200 เซนติเมตร แตกกิ่งแรกระดับ 90-140 เซนติเมตร

- หัวยาวเรียว มีลักษณะคอดเป็นปล้องเล็กน้อย เปลือกหัวสีน้ำตาลอ่อน เนื้อสีขาว

- ผลผลิตเฉลี่ย 5.0 – 6.4 ตัน/ไร่

- แป้งเฉลี่ย 25.4%

ข้อดี

ข้อเสีย

1. กิ่งพันธุ์เก็บรักษาได้ค่อนข้างนาน (3-4 สัปดาห์)

2. ความงอกสูง

3. แป้งสูง คุณภาพแป้งดี

1. ลำต้นสั้น ใช้ทำพันธุ์ได้น้อย

  1. มีเสี้ยนในหัวมาก เมื่ออายุมาก

มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ที่น่าสนใจ

 

มันสำปะหลังพันธุ์ CMR 43-40-82

ผสมขึ้นเมื่อปี 2543

 

ลักษณะเด่น

- ใบสีเขียวเข้ม ใบอ่อนสีน้ำตาล

- ลำต้นตั้งตรง ทำมุมระหว่างต้นแคบ สีน้ำตาลเข้ม ไม่แตกกิ่ง

- หัวอ้วนสัน ดก

- ผลผลิตเฉลี่ยจากแปลงทดลองที่ มทส. 12.12 ตัน/ไร่

- เปอร์เซ็นต์แป้ง 26.50%

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. ลำต้นยาวตรง ใช้ทำพันธุ์ได้มาก เข้าทำงานง่าย

2. หัวสั้น ดก ขนาดกลาง ปลูกระยะชิดได้ดี

3. เปอร์เซ็นต์แป้ง ค่อนข้างสูง

4. ใบหนาแน่น ข่มวัชพืชได้ดี

1. กิ่งพันธุ์มีอายุเก็บรักษาไม่นาน

 

 

พันธุ์ CMR 43-08-89

ผสมขึ้นเมื่อปี 2543

 

ลักษณะเด่น

- ใบสีเขียวเข้ม ใบอ่อนสีเขียวใบดกหนา

- ลำต้นตั้งตรง ทำมุมระหว่างต้นแคบ สีเขียว แตกกิ่งที่ระดับ 2 เมตร

- หัวยาวมาก ดก

- ผลผลิตเฉลี่ยจากแปลงทดลองที่ มทส. 15.20 ตัน/ไร่

- เปอร์เซ็นต์แป้ง 22.50%

 

ข้อดี

ข้อเสีย

1. ลำต้นยาวตรง ใช้ทำพันธุ์ได้มาก เข้าทำงานง่าย

2. ผลผลิตสูงมาก

3. ใบหนาแน่น ข่มวัชพืชได้ดี

4. ใบหนาแน่น ข่มวัชพืชได้ดี

1. เปอร์เซ็นต์แป้งค่อนข้างต่ำ

 

 

พันธุ์ห้วยบง 80

เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ระยอง 5 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ณ สถานีวิจัยศรีราชา จ.ชลบุรี ในปี 2535 โดยมี

ขั้นตอนการคัดเลือกและทดสอบ ดังนี้

พ.ศ. 2535-2537 ทำการปลูกคัดเลือกเหลือ 204 สายพันธุ์

พ.ศ. 2538-2541 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์เบื้องต้น เปรียบเทียบในท้องถิ่น

พ.ศ. 2542-2549 ปลูกเปรียบเทียบในท้องถิ่นและในไร่เกษตรกร รวมทั้งหมด 70 แปลง ทดลองใน

10 จังหวัด

 

ลักษณะเด่น

- ยอดสีเขียวอ่อน

- สีเปลือกหัว น้ำตาลอ่อน

- ลำต้นสูง แตกกิ่งน้อย

- เปอร์เซ็นต์แป้ง 27.3%

- เหมาะกับการใช้แปรรูปทำมันเส้น แป้ง และเอทานอล

 

ข้อแนะนำในการปลูก

มันสำปะหลังพันธุ์ "ห้วยบง 80" เป็นมันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ เมื่อได้รับพันธุ์ห้วยบง 80 นี้แล้ว ก่อน

ขยายปลูกเป็นจำนวนมาก ควรจะทดลอง ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ดีพันธุ์ อื่นที่ใช้อยู่ เช่น ผลผลิต หรือลักษณะ

อื่น ๆ ของพันธุ์จนพอใจ ลักษณะของสายพันธุ์นี้จะแตกกิ่งน้อย และลำต้นค่อนข้างจะตรงมากกว่าพันธุ์ห้วย

บง 60 และพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 ทำให้สะดวกต่อการตัดเก็บท่อนพันธุ์และสามารถเพิ่มจำนวนต้นปลูกต่อไร่

ให้สูงขึ้นได้ (ถี่ขึ้น) เป็นพันธุ์ที่มีแป้งเฉลี่ยสูง ซึ่งสูงกว่าพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 50 และ ห้วยบง 60 ผลผลิตหัว

สดใกล้เคียงกับพันธุ์ ห้วยบง 60 แต่สูงกว่าเกษตรศาสตร์ 50 นอกจากนั้น การที่จะปลูกให้ได้ผลผลิตสูงควร

ใส่ปุ๋ยสูตร 15-7-18 หรือสูตร 16-8-16 หรือ 15-15-15 อัตรา 25-50 กิโลกรัม/ไร่ หลังปลูก 1-2 เดือน (ในขณะ

ที่ดินมีความ ชื้น) หรือใส่ปุ๋ยคอก อัตรา 500-1,000 กิดลกรัม/ไร่ หว่านก่อนพรวนดินปลูก และไม่ควรเก็บ

เกี่ยวมันสำปะหลังอายุน้อยกว่า 10 เดือน

 

ที่มา : มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (2551), http://www.tapiocathai.org

 

 

เมื่อทำการปลูกไปได้ประมาณหนึ่งเดือนก็ควรสำรวจตรวจแปลงถากถางดายหญ้าพอสมควรไม่จำเป็นต้องทำให้เหี้ยนเตียนโล่งจนเหลือแต่ดินโล้น เอาแต่พอประมาณมิให้หญ้าขึ้นปกคลุมต้นมันสำปะหลังก็เพียงพอ เพื่อให้หญ้าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวห้ำตัวเบียนควบคุมแมลงศัตรูในธรรมชาติไปด้วยในตัว หลังจากนั้นก็ใส่ปุ๋ยตามปรกติ ตามสภาพดิน  เช่น 15-15-15, 16-16-16, 46-0-0, 13-0-46 ฯลฯ และถ้าเสียดายกลัวว่ามันสำปะหลังจะไม่ได้กินปุ๋ยอย่างเต็มที่ ก็ควรจะนำมาทำให้กลายเป็นปุ๋ยละลายช้า ด้วยการนำปุ๋ยเคมี  2 กระสอบ (100 กิโลกรัม) เทกองบนพื้นซีเมนต์หรือผ้าใบ ฉีดน้ำจุลินทรีย์หน่อกล้วย หรือน้ำเปล่าให้พอเปียกชุ่มๆ แล้วใช้ ซีโอ-พูมิช Zeo Platinum Pumish (หินแร่ภูเขาไฟ) เทลงไป 1กระสอบ (20 กิโลกรัม) ก็จะได้อัตราส่วน ปุ๋ย 5 ส่วน ต่อ พูมิช 1 ส่วน ช่วยทำให้ปุ๋ยเคมีที่ละลายเร็วในประเทศไทยนั้นกลายเป็นปุ๋ยละลายช้า ค่อยปลดปล่อยปุ๋ยออกมาให้แก่ต้นมันสำปะหลังอย่างช้าๆ หิวก็กิน อิ่มก็หยุด ทำให้ไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์กับสายลม แสงแดด

 

และถ้าจะบำรุงให้ครบแบบเต็มยศทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง ธาตุเสริม เพื่อมิให้สูญเสียโอกาสของการรับรายได้ก็จะต้องฉีดพ่นธาตุอาหารจุลธาตุทางใบไปพร้อมด้วย โดยใช้ ซิลิโคเทรซ 10 กรัม, ไคโตซานMT 10 ซี.ซี.และโพแทสเซียมฮิวเมท 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร (ต้นทุนประมาณปิ๊ปละ 3 บาทกว่าๆหน่อย) จะทำให้พืชได้รับแร่ธาตุสารอาหารอย่างครบถ้วนเต็มที่ ทั้งทางใบและทางราก มันสำปะหลังสามารถนำไปใช้ในกระบวนการปรุงอาหารและสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของตนเองได้อย่างเพียงพอ  หลังจากนั้นให้สังเกตลักษณะอาการของต้นมันว่าสามารถที่จะดำรงความเขียว (หมายถึงมีอาหารเพียงพอไปได้กี่วันกี่เดือน) เมื่อเริ่มเหลืองซีดจากการขาดอาหารก็ปฏิบัติดังเช่นในรอบแรกที่ดูแลหญ้าและใส่ปุ๋ยอีกครั้งหนึ่ง โดยประมาณก็จะอยู่ที่ 2 เดือน ถึง 3 เดือน ครับ หลังจากนั้นอาจจะไปใส่อีกครั้งหลังจากมันอายุได้ประมาณ 6 เดือน ในกรณีที่สภาพต้นมันสำปะหลังยังดูไม่สมบูรณ์มากเพียงพอ หรืออาจจะเป็นการเพิ่มแป้งให้แก่หัวมันด้วยการใส่ปุ๋ย โพแทสเซียมคลอไรด์ 0-0-60 บำรุงเสริมเข้าไปก็ได้ ในกรณีหลังนี้อาจจะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปตามสภาวะราคาตลาดของมันด้วยว่า มีความคุ้มค่าสอดคล้องสมดุลกันหรือไม่  

 

เกี่ยวกับโรคมันสำปะหลังนั้น สามารถที่จะพบได้ในหลายกรณี เนื่องด้วยมีความเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน การที่มีพันธุ์ใหม่ๆทีนำเข้าจากต่างประเทศและพันธุ์ที่พัฒนาผสมขึ้นมาเอง   การดูแลรักษาจึงต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่และศึกษาระมัดระวังทำความเข้าใจโรคและแมลงศัตรูของมันสำปะหลังให้รู้จักให้มากๆยิ่งขึ้น จึงขอนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมอีกสักหน่อย

 

1. โรคใบไหม้ เกิดจากเชื้อ Xanthomonas campesdtris pv. Manihotis พบทั่วทุกภาค เมื่อใช้ท่อนพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคติดต่อกัน 3 ถึง 4 ปีโดยไม่มีการป้องกันกำจัด อาจมีความเสียหายถึง 80 เปอร์เซ็นต์  เริ่มแรกแสดงอาการใบจุดเหลี่ยม ฉ่ำน้ำ ใบไหม้ ใบเหี่ยว ยางไหล จนถึงอาการยอดเหี่ยวและแห้งตายลงมา นอกจากนี้ยังทำให้ระบบท่อน้ำท่ออาหารของลำต้นและรากเน่า

 

ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคแสดงอาการคือ ยอดที่ผลิใหม่เหี่ยว มียางไหล และมีอาการแห้งตายจากยอดอย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดไปยังต้นข้างเคียง ซึ่งมักจะแสดงอาการเป็นจุดช้ำเล็กๆ ที่ต้น แล้วแผลขยายเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มลุกลามเป็นแผลใหญ่บางครั้งจะพบวงสีเหลืองลามเป็นใบไหม้ และใบร่วง ลำต้นแห้งตาย เมื่อผ่าดูระบบท่อน้ำและอาหารทั้งของลำต้นและรากจะมีสีคล้ำเนื่องจากเนื้อเยื่อของส่วนนี้ถูกทำลาย ในบางครั้งจะพบอาการยางไหลบนส่วนลำต้นที่ยังอ่อนหรือก้านใบ และแผลจุดบนใบพบระบาดมากได้ในช่วงฤดูฝน

 

การแพร่ระบาดของโรคที่สำคัญ คือ ติดไปกับท่อนพันธุ์ที่เป็นโรค แพร่กระจายไปโดยฝนหรือกับดิน หรือกับเครื่องมือที่ใช้ในการเกษตร เช่น มีดที่ใช้ในการตัดท่อนพันธุ์ ในบางประเทศมีรายงานว่า แมลงเป็นตัวการในการแพร่ระบาด เชื้อสาเหตุของโรคสามารถอยู่รอดในดิน บนเศษซากพืชได้นานกว่า 2 ปี

 

2. โรคใบจุดสีน้ำตาล เกิดจากเชื้อรา Cercosporidium henningsii เป็นโรคที่สำคัญที่สุดของมันสำปะหลัง เกือบทุกพันธุ์เป็นโรคใบจุดสีน้ำตาล ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับพันธุ์ อายุพืชและสภาพแวดล้อม มันสำปะหลังที่มีอายุ 3-5 เดือน จะมีความต้านทานต่อโรคนี้มากกว่ามันสำปะหลังที่มีอายุ 3-5 เดือน จะมีความต้านทานต่อโรคนี้มากกว่ามันสำปะหลังที่มีอายุ 14-16 เดือน และสามารถพบโรคในแหล่งที่มีความชื้นต่ำแห้งแล้งได้ โรคใบจุดสีน้ำตาลนี้จะไม่ทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลงมากนักผลผลิตจะแตกต่างเฉพาะในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค สำหรับในพันธุ์ระยอง 1 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่เป็นโรคระดับกลาง ทำให้ผลผลิตลดลงตั้งแต่ 14-20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากทำให้ใบร่วงเร็วกว่าปกติพุ่มใบ (Canopy) เปิด เป็นโอกาสให้วัชพืชเจริญได้ดี อันเป็นผลทางอ้อมทำให้ผลผลิตของมันสำปะหลังลดลง

 

โดยทั่วไปต้นที่เป็นโรคมีการเจริญเติบโตเป็นปกติ จะพบอาการของโรคบนใบล่างๆ มากกว่าใบบนซึ่งมีอายุน้อยกว่า มันสำปะหลังอายุ 5-15 วัน จะทนทานต่อการเกิดโรค และจะอ่อนแอพบเป็นโรคได้เมื่ออายุ 25 วัน ขึ้นไป โดยเกิดอาการใบจุดค่อนข้างเหลี่ยมตามเส้นใบ มีความสม่ำเสมอ สีน้ำตาล ขนาด 3-15 มิลลิเมตร มีขอบชัดเจน จุดแผลด้านหลังใบมีสีเทาเนื่องจากมีเส้นใยและส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุ ในพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค แผลจะล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง ตรงกลางแผลอาจจะแห้งและหลุดเป็นรู

 

เชื้อสาเหตุของโรคสามารถอาศัยอยู่ได้บนใบมันสำปะหลังที่ร่วงอยู่ในไร่ และจะขยายโดยการสร้างสปอร์เมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สปอร์เหล่านี้จะแพร่กระจายไปโดยลม หรือเม็ดฝนพาไปตกบนใบปกติ ทำให้เกิดการแพร่โรคได้ต่อไป

 

สภาพแวดล้อมซึ่งได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ อายุของพืช และความอุดมสมบูรณ์ของดิน มีความสำคัญต่อการแพร่ระบาดของเชื้อมาก กล่าวคือ การสร้างสปอร์ หรือคอนิเดีย (Spore of conidia) จะเกิดที่ความชื้นสัมพัทธ์ระหว่าง 50 -90 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิที่ทำให้สปอร์งอกดีที่สุดอยู่ระหว่าง 39-43 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงสามารถพบโรคใบจุดสีน้ำตาลในแหล่งที่มีความชื้นต่ำและแห้งแล้งได้

 

3. โรคใบจุดไหม้ เกิดจากเชื้อรา Cercospora viscosae มักจะพบควบคู่ไปกับโรคใบจุดสีน้ำตาล โรคนี้สามารถทำให้ผลผลิตลดลงได้ 12-30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการสูญเสียพื้นที่ใบ ใบเหลืองและร่วงเร็วกว่าปรกติ และอาจเป็นผลกระทบเนื่องมาจากการเปิดโอกาสให้วัชพืชเจริญได้ดีเมื่อใบร่วงและพุ่มใบเปิด

 

อาการของโรคพบบนใบเป็นจุดกว้างไม่มีขอบเขตที่แน่นอนเหมือนกับโรคใบจุดสีน้ำตาล จุดแผลจะกว้างมาก แต่ละจุดอาจกว้างถึง 1 ใน 5 ของแฉกใบ หรือมากกว่า ด้านบนใบมักเห็ดจุดแผลสีน้ำตาลค่อนข้างสม่ำเสมอ ขอบแผลมีสีเหลืองอ่อน ด้านใต้ใบมักเห็นเป็นวงสีเทา เนื่องจากส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อราสาเหตุเช่นเดียวกับโรคใบจุดสีน้ำตาล ลักษณะแผลในบางครั้งจะคล้ายกับโรคใบจุดวงแหวน ซึ่งเกิดจากเชื้อ Phoma sp. (Phyllosticta sp.) แต่โรคใบจุดวงแหวนจะเห็นวงแหวนด้านบนของใบ เมื่อแผลลามติดต่อกันทำให้ใบเหลืองทั้งใบและร่วงไปในที่สุด ในพันธุ์ที่อ่อนแอใบร่วงอย่างรุนแรง ในมันสำปะหลังที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนอาการของโรคจะรุนแรง ในมันสำปะหลังที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนอาการของโรคจะรุนแรงมากกว่ามันสำปะหลังที่มีอายุน้อย

 

4. โรคใบขาว เกิดจากเชื้อรา Phaeoramularia manihagis (Cerospora caribaea) พบทั่วไปในเขตปลูกมันสำปะหลังที่ชื้นและเย็น   อาการเป็นจุดค่อนข้างเหลี่ยมถึงกลม ขนาด 1-7 มิลลิเมตร แผลมักจะมีสีขาว มีขอบแผลสีน้ำตาลอมม่วง ล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง แผลจะจมเข้าไปในผิวใบทั้งสองด้านทำให้เห็นบริเวณแผลบางกว่าปกติ เมื่อมองด้านหลังจะเห็นขอบแผลไม่ชัดเจนเท่าด้านบนใบ และบางครั้งจะเห็นสีเทาของส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อสาเหตุลักษณะอาการของโรคนี้มักจะพบควบคู่กับอาการขาดธาตุสังกะสี

 

5. โรคลำต้นเน่าที่เกิดจากเชื้อรา เนื่องจากเกษตรกรนิยมเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวมุนสำปะหลังในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ต้องเก็บต้นพันธุ์ไว้รอเวลาปลูกที่เหมาะสมเป็นเวลานาน ในช่วงนี้ทำให้เกิดต้นเน่าได้ หรือในบางปีสภาพอากาศแห้งแล้งมาก มันสำปะหลังทิ้งใบเป็นเวลานานทำให้พบอาการต้นแห้งจากปลายลงมา มีอาการยืนตาย (Die back) โรคลำต้นเน่าเกิดจากเชื้อรา Glomerella cingulata พบทั่วไปในท่อนพันธุ์ที่กองไว้ หรือตัดทิ้งไว้ในไร่

 

ระยะแรกท่อนพันธุ์จะเริ่มเน่าตรงส่วนปลาย และลุกลามเข้าไปทำให้เปลือกบวมเน่า ต่อมาจะเหี่ยวแห้ง ใต้เปลือกเป็นสีดำบนผิวเปลือกเป็นเม็ดนูน ๆ แล้วจะแตกเป็นผง

 

6. โรคที่เกิดจากเชื้อรา Botryodiplodia theobromae เป็นโรคที่เกิดกับท่อนพันธุ์ หรือลำต้นที่แก่แล้วและตกค้างในไร่ มีความสำคัญและพบน้อยกว่าโรคที่เกิดจากเชื้อรา Glomerella cingulata  เชื้อจะแพร่ไปกับท่อนพันธุ์ และเข้าทำลายเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เชื้อราจะเข้าทางแผลและลุกลามมากขึ้นเมื่อมีความชื้นสูง   ท่อน้ำท่ออาหารจะเน่าแล้วกลายเป็นสีดำ โดยจะลุกลามจากแผลรอยดัดของท่อนพันธุ์ หรือลำต้นที่เป็นแผล ทำให้เปลือกบวมและเน่าเป็นสีน้ำตาลดำ มีกลุ่มเม็ด Pycnidia ของเชื้อราขึ้นบนเปลือกแล้วจะแห้งตาย

 

7. โรคขี้เถ้าหรือราแป้ง เกิดจากเชื้อรา Oidium manithotis พบทั่วไปในต่างประเทศ สำหรับประเทศไทยพบน้อย ระยะแรกมีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวปกคลุมใบเป็นจุดต่อไปส่วนนั้นจะกลายเป็นสีเหลืองด้านบนของใบเนื่องจากการเข้าทำลายของเชื้อรา และจะเกิดจุดเหลี่ยมในบริเวณนี้ ลักษระขนาดไม่แน่นอนคลช้ายกับการทำลายของแมงมุมแดง Red Spider Mites) พบบนใบล่างของต้นมากกว่าใบอ่อน การแพร่ระบาดโดยทั่วไปเกิดได้ดีในฤดูแล้ง มีความชื้นในอากาศสูงในเวลากลางคืน

 

8. โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อรา Collerotrichum spp. โรคนี้จะพบหลังจากมีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานาน ในประเทศไทยพบเฉพาะในบางพื้นที่ทำให้ลำต้นแคระแกร็น สำหรับมันสำปะหลังที่มีอายุประมาณ 1 เดือน จะทำให้ต้นตายได้ ความเสียหายเนื่องจากโรคนี้ที่สำคัญ คือ ทำให้ขาดแคลนท่อนพันธุ์  ใบขีดเหลืองในบริเวณรอยต่อของใบและก้านใบ พบรอยแผลสีน้ำตาล บางครั้งแผลจะลามถึงก้านใบ ทำให้เป็นสาเหตุของใบร่วง เชื้อสามารถเข้าทำลายลำต้นส่วนที่ยังเขียวได้และทำให้เกิดอาการแตกสะเก็ดนูน ลำต้นแคระแกร็น และพบอาการแห้งตาย

  1. โรครากหรือหัวเน่า (Root and Tuber Rot Diseases) โรครากและหัวเน่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมาก ทำให้ผลผลิตสูญเสียโดยตรง โดยเฉพาะในแหล่งที่ดินระบายน้ำได้ยากฝนตกชุกเกินไป หรือในพื้นที่ที่เคยปลูกกาแฟ ยาง หรือเป็นป่าไม้มาแล้ว ในบางครั้งสามารถพบได้ในแหล่งที่ดินมีการชะล้างสูง โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งระยะต้นกล้าและระยะที่ลงหัวแล้ว โรครากและหัวเน่าเกิดจากเชื้อสาเหตุหลายชนิด พบว่าสาเหตุของโรครากเน่ามีเชื้อรา 36 ชนิด บักเตรี 4 และ Phytomonas 1 ชนิด ทำให้ยากแก่การวินิจฉัย สำหรับเชื้อราสาเหตุที่สำคัญ คือเชื้อราในสกุล Fusarium sp. Diplodia spp. Phytophthora spp. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง P.drechsleri และ Pythium spp. ในประเทศเท่าที่สำรวจพบมีอยู่ 3 ชนิดคือ

 

โรคหัวเน่าเละ เชื้อสาเหตุ Phytophthora drechsleri เชื้อโรคนี้จะเกิดกับมันสำปะหลังทั้งในระยะกล้าและลงหัวแล้ว มักจะพบในบริเวณดินที่ระบายน้ำยาก และอยู่ใกล้กับทางน้ำหรือคลอง โรคนี้อาจทำความเสียหายถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิดกับต้นยังเล็กอยู่จะทำให้รากเป็นรอยช้ำสีน้ำตาลและเน่า ต้นจะเหี่ยวเฉา ถ้าเกิดกับหัวจะทำให้หัวเน่าอย่างรวดเร็วและมีกลิ่นเหม็น ใบเหี่ยวแล้วร่วง ถ้าเกิดรุนแรงต้นจะตาย มีรายงานในอัฟริกาและอเมริกาใต้ว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อรา Phytophthora ชนิดอื่นๆ อีก คือ P. erythoseptica และ P. cryptogea

 

10 โรคหัวเน่าแห้ง เชื้อสาเหตุ Rigidoporus (Fomes) lignosus เป็นโรคที่พบมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอัฟริกา ลาตินอเมริกา และเอชียบางประเทศ ในประเทศไทยเคยพบที่จังหวัดจันทบุรี เข้าใจว่าเป็นโรคชนิดเดียวกัน มักจะพบโรคนี้ในแหล่งที่เปิดป่าใหม่ หรือเคยปลูกกาแฟและยางพารามาแล้ว  ลักษณะอาการจะเกิดเส้นใยสีขาวในดินรอบโคนท่อพันธุ์และราก บางครั้งอาจจะพบส่วนขยายพันธุ์มีลักษณะเป็นเม็ดกลมเล็กๆ ขนาดเท่าเมล็ดผักกาดเรียกว่า Sclerotia ที่สร้างโดยเชื้อรานี้อยู่ด้วย เม็ดกลมๆ เล็กๆ นี้สามารถจะขยายพันธุ์เจริญเติบโตเป็นเส้นใยเข้าทำลายต้นอื่นๆ ต่อไป เส้นใยของเชื้อจะเข้าทำลายก้านมันสำปะหลังทางแผลของท่อนพันธุ์หรือราก ทำให้เน่าใบเหี่ยวและจะตายไปในที่สุด

 

นอกจากนี้ในบางบริเวณที่ลุ่มและมีสภาพอากาศชื้นมากพบว่ามีมันสำปะหลังบางพันธุ์ เช่น พันธุ์ระยอง 60 มีอาการลำต้นเน่า ซึ่งอาการจะลุกลามต่อไปทำให้เกิดอาการรากเน่าได้ พบว่าเกิดจากเชื้อรา Diplodia sp.  เนื่องจากเชื้อสาเหตุของโรคมีหลายชนิดทั้งเชื้อราและบักเตรี และเชื้อเหล่านี้มีความสามารถในการอยู่รอดได้ดีในดินและมีพืชอาศัยมากชนิดทำให้การป้องกันกำจัดมีข้อจำกัด อยู่มากพอสมควร

 

11. ไรแดง พบทำความเสียหายมันสำปะหลังมี 2 ชนิด คือแรงแดงหม่อน (Teranychus truncates) และไรแดงมันสำปะหลัง (Oligonychus biharensis) ไรแดงหม่อนทำความเสียหายดูดกินน้ำเลี้ยงตามใต้ใบส่วนล่าง และขยายบริเวณขึ้นสู่ส่วนยอด ส่วนไรแดงมันสำปะหลังดุดกินน้ำเลี้ยงบนหลังใบส่วนยอดและขยายปริมาณลงสู่ส่วนล่างของต้น การทำลายของไรแดงทำให้ใบเหลืองซีดเป็นรอยขีด ใบม้วนงอและร่วง ส่วนยอดที่ถูกทำลายงองุ้ม ตาลีบ การขยายปริมาณขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ฝนทิ้งช่วงนานมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง โดยเฉพาะช่วงต้นยังเล็กจะมีผลต่อการสร้างหัว บางพื้นที่เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้

12. เพลี้ยแป้งลาย (Firrisia Virgata) ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของต้น เช่น ใบ ยอด และส่วนตา แมลงถ่ายมูลของเหลวทำให้เกิดราดำ (Sooty mold) พืชสังเคราะห์แสงได้น้อย การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ยอดแห้งตาย หรือยอดแตกพุ่มและอาจมีผลกระทบต่อการสร้างหัวหากต้นยังเล็ก

 

ตัวเต็มวัยมีลักษณะค่อนข้างแบน บนหลังและด้านข้างมีแป้งปกคลุมมาก เวลาวางไข่จะสร้างถุงไข่ไว้ใต้ท้องเป็นใยคล้ายสำลีหุ้มไว้อีกขั้นหนึ่ง เพลี้ยแป้งจะแพร่กระจายตามลำต้น โคนใต้ใบ ปริมาณจะขยายจนเต็มข้อตามลำต้นส่วนใบ ส่วนยอด เพลี้ยแป้งชนิดออกลูกจะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่าชนิดวางไข่ หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานจะขยายปริมาณอย่างรวดเร็วกว่าชนิดวางไข่ หากสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานานจะขยายปริมาณอย่างรวดเร็วตัวอ่อนวัย 1 เป็นวัยที่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ของพืช เป็นวัยสำคัญที่เคลื่อนย้ายไปตามส่วนต่างๆ ของพืช เป็นวัยสำคัญในการแพร่กระจายไปสู่บริเวณพื้นที่อื่นโดยการติดไปกับท่อนพันธุ์หรือกระแสลม

 

13. แมลงหวี่ขาว (Dialeurodes sp.) ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนใต้ใบพืช แมลงจะถ่ายมูลของเหลวทำให้เกิดราดำ พืชสังเคราะห์แสงน้อยลง และชะงักการเจริญเติบโต ใบม้วน ซีดและร่วง มีการเข้าทำลายเป็นหย่อมๆ และจะแพร่ขยายออกไปเป็นเวลานาน มีพืชอาศัยมากทั้งพืชไร่ พืชสวนและไม้ประดับ การทำลายของแมลงชนิดนี้จะพบควบคู่กับการเข้าทำลายของไรแดงและเพลี้ยแป้ง  ตัวเต็มวัยจะออกจากดักแด้รอยแยกเป็นรูปตัวที “T” ทางด้านหลัง เป็นแมลงขนาดเล็ก 2 มิลลิเมตร ปีกบางใส 2 คู่คลุมเลยส่วนท้อง ตาแดง มักเกาะนิ่งกับใบพืช เคลื่อนไหวช้า อยู่เป็นกลุ่ม 

 

จะพบไข่แมลงหวี่ขาวตามบริเวณส่วนยอด ตัวอ่อนและดักแด้บริเวณส่วนกลางของต้น ตัวเต็มวัยและดักแด้จะพบตามส่วนล่างของต้น มีการระบาดเป็นหย่อมๆ แพร่กระจายในสู่ส่วนยอดจนเต็มต้นแล้วจึงเคลื่อนย้ายไปบริเวณใกล้เคียง พบมากเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนเมษายน

 

14. ปลวก (Coptotermes gestroi)  ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกัดกินท่อนพันธุ์ทำให้ต้นมันสำปะหลังไม่สามารถงอกได้กัดกินลำต้นแล้วนำดินเข้าไปบรรจุไว้แทนในลำต้น ทำให้ต้นหัก ล้ม นอกจากนี้ยังทำลายส่วนหัวมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่จะพบในแหล่งพื้นที่เปิดใหม่ หรือเนินจอมปลวก ในกรณีพื้นที่ที่มีปลวกทำความเสียหายในระยะแรกและท่อนพันธุ์ไม่งอกมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ควรทำการปลูกซ๋อม

 

15. แมลงนูนหลวง (Lepidiota stigma) เป็นแมลงปีกแข็งค่อนข้างใหญ่ ขนาดลำตัวยาว 3-4 เซนติเมตร กว้าง 1.5 – 2 เซนติเมตร ตัวหนอนทำลายกัดกินราก ทำให้ต้นมันสำปะหลังตาย ทำความเสียหายในระยะต้นยังเล็ก ลักษณะคล้ายเกิดจากผลกระทบความแห้งแล้ง แต่ถ้าถอนต้นจะหลุดได้โดยง่าย พบมากในแหล่งปลูกที่เป็นดินทราย ph 6.0-6.5

 

16. ด้วงหนวดยาว (Dorysthenes bugueti)  ตัวสีน้ำตาลแดง ขนาดยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร เป็นแมลงศัตรูที่ทำลายต้นมันสำปะหลังระยะที่เจริญเติบโตแล้ว พบในแหล่งดินร่วนปนทราย (pH 6.8-6.9) ตัวหนอนกัดกินภายในเหง้าและหัว ทำให้คุณภาพและราคาหัวมันสำปะหลังลดลง ต้นหักล้มก่อนกำหนด เนื่องจากตัวหนอนกัดกินเป็นโพรงและอยู่ภายในลำต้นหรือโคนต้น  

    (แหล่งอ้างอิง : อ.ฐิติมา วีระศิลป์ ; 2542  พืชทองคำใต้ดิน...มันสำปะหลัง สถาบันส่งเสริมพืชไร่และพืชพลังงานไทย)

 

การดูแลรักษาโรคและแมลงศัตรูของมันสำปะหลังนั้น ปรกติแล้วในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีสนับสนุนอยู่อย่างครบครันพร้อมเพียง  ทั้งจุลินทรีย์ปราบเชื้อรา(Fungi)   ปราบแบคทีเรีย  (bacteria)  หนอน แมลง หรือตระกูลเพลี้ยต่างๆ  อย่างเช่น ไตรโคเดอร์ม่า (Tricoderma , Bacillus Thuringiensis,  Beauveria, Metharizium, Bacillus Subthilis etc.)  หรือจะเป็นการใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์หรือสรรพคุณในการไล่แมลงอย่าง ขมิ้นชัน ไพล ฟ้าทะลายโจร ตะไคร้หอม และกานพลู กลิ่นของแมลงเหล่านี้จะขับไล่และหลอกไม่ให้แม่ผีเสื้อกลางคืนและแมลงตัวเต็มวัยเข้ามาวางไข่ในไร่มันสำปะหลังของเรามากจนเกินไป ทำให้ง่ายต่อการป้องกันดูแลรักษาในแนวทางชีวภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรู ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมเสียหาย การใช้สารชีวภาพหรือสารที่ปลอดภัยไร้สารพิษเข้ามาจัดการปัญหา จะทำให้ระบบนิเวศน์ในแปลง เรือก สวน ไร่ นาเรา ไม่ถูกทำให้ดินตายนึ่ง หรือคล้ายการบอนไซดินหรือสิ่งมีชีวิตในดิน จากการที่ทำให้จุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตในดินล้มตายลงจากสารพิษหรือยาฆ่าแมลง   เกษตรกรผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกมันสำปะหลังปลอดสารพิษ ติดต่อสอบถามมาได้ถึง ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com   โทร. 0-2986-1680-2

 

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ  www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 555657เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ธันวาคม 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท