Rule of Law กับ Growth National Happiness


                                Rule of Law กับ Growth National Happiness

 

                                                                                                                                                                                                                                                                                                 นัทธี จิตสว่าง    

                “หลักนิติธรรม (Rule of Law) เป็นที่มาของความสุข” คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรภูฏาน ซีริง โทบเก (Tshering Tobgay) ที่กล่าวในงาน “The Bangkok Dialogue on the Rule of Law: Investing in the Rule of Law, Justice and Security for the Post-2015 Development Agenda” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice – TIJ) นับเป็นคำกล่าวที่สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นอดีตผู้นำประเทศ ผู้บริหารระดับสูง และนักวิชาการชั้นนำจากประเทศต่างๆที่เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างมาก คำกล่าวดังกล่าวที่มาจากวลีของประเทศภูฏานที่ว่า “พระราชารักประชาชนของพระองค์ ประชาชนของพระองค์ปรารถนาความสุข ความสุขของประชาชนมาจากหลักนิติธรรม” นายซีริง โทบเก กล่าวเสริมอีกว่า รัฐธรรมนูญของประเทศภูฏานมุ่งที่จะสร้างสังคมที่ยุติธรรมโดยเป็นสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม

                คำกล่าวดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีภูฏานไม่เพียงแต่จะมีมุมมองที่แตกต่างไปจากผู้บริหารและนักวิชาการจากประเทศต่างๆที่มาร่วมประชุมเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำแนวคิดในการพัฒนาประเทศของภูฏานที่มุ่งไปสู่การสร้าง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Growth National Happiness หรือ GNH) ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจของนักบริหารการพัฒนา (Development Administrator) เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้แม้ว่าในปัจจุบันจะเริ่มมีเสียงคัดค้านแนวคิดที่จะเอาความสุขเป็นเป้าหมายของการพัฒนา โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปไตยประชาชน (PDP) ที่มีนายซีริง โทบเก นายกรัฐมนตรีของประเทศภูฏานปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคและเคยหาเสียงที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเน้นเศรษฐกิจให้สมดุลกับการเน้นด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความสุข เพราะที่ผ่านมาประเทศ        ภูฏานต้องเผชิญกับการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะจนเกิดการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ อัตราการว่างงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งของคนหนุ่มสาว และการคอร์รัปชั่นที่เพิ่มสูงขึ้น จนนายซีริง โทบเก ถึงกับกล่าวว่า GNH ก็คือ “Government Needs Help” [1]นั้นเอง ที่กล่าวเช่นนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า นายซีริง โทบเก จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการพัฒนาประเทศตามแนวความสุขมวลรวมประชาชาติเสียทีเดียว เพียงแต่ต้องการให้เกิดการสมดุลระหว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจไปพร้อมๆกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคม และวัฒนธรรม เพราะถ้ามุ่งแต่จะเน้นรักษาสิ่งแวดล้อมไม่เปิดรับนักท่องเที่ยว ไม่เปิดรับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตตะวันตก ในขณะที่กระแสเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้คนหนุ่มสาวปรับตัวไม่ทัน และนำไปสู่ปัญหาของประเทศดังกล่าว ดังนั้น การพัฒนาประเทศตามแนว “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” จึงมิใช่เป็นความล้มเหลว หรือ ประสบความสำเร็จเพียงแต่จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในการพัฒนาประเทศที่ไม่เน้นด้านหนึ่งด้านใด แต่จะต้องทำในลักษณะองค์รวม

                “ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) เป็นคำที่อดีตกษัตริย์จิกมี ซิงเย วังชุก ของประเทศภูฏานเคยกล่าวเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1979 โดยมีนัยว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องมุ่งพัฒนาแบบองค์รวม โดยให้ความสำคัญกับความสุขที่ไม่ใช่ความสุขจากมิติทางเศรษฐกิจแต่ประการเดียว ทั้งนี้ GNH ประกอบไปด้วยเสาหลัก 4 เสา คือ ธรรมาภิบาล (Good Governance) การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการสงวนรักษาวัฒนธรรม นอกจากนี้เสาหลักสี่เสาดังกล่าวนี้ยังถูกนำไปขยายความ แตกตัวเป็นประเด็นการพัฒนาย่อยๆให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น   9 ประการ ได้แก่ ความสมบูรณ์ของสุขภาพจิต การศึกษา สุขภาพ การใช้เวลา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ธรรมาภิบาล ความเข้มแข็งของชุมชน ความหลากหลายทางสภาพแวดล้อม และมาตรฐานความเป็นอยู่ โดยแต่ละด้านสะท้อนให้เห็นถึง ส่วนประกอบของความสุขของคนภูฏาน โดยความสุขในที่นี้เป็นการขยายความของคำว่า “การมีชีวิตที่ดี” ตามคุณค่า และหลักการที่กำหนดไว้ใน GNH [2]

                โดยสรุปแล้วเป้าหมายของการพัฒนาของภูฏานก็คือการสร้างความสุขให้กับประชาชน ซึ่งไม่ได้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ประการเดียว แต่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เน้นแต่ปัจจัยทางสังคม การรักษาสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมจนละเลยการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปอย่างสมดุล แต่สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่เสาหลัก 4 เสา ของหลัก GNH ได้นั้นจะต้องมีหลักนิติธรรม (Rule of Law) นายซีริง โทบเก นายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าวในที่ประชุมว่า “รัฐธรรมนูญของประเทศภูฏานบัญญัติไว้อย่างสั้นๆว่า จะต้องสร้างสังคมที่มีความยุติธรรม สังคมที่อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรม” ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญของภูฏาน จะไม่ได้ระบุว่า หลักนิติธรรมนำไปสู่ความสุขได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผู้นำและนักวิชาการจากหลายประเทศกำลังพยายามทำอยู่ในขณะนี้ ก็คือ การผลักดันให้หลักนิติธรรมบรรจุอยู่ในวาระของการพัฒนาของโลก หลังปี ค.ศ. 2015 คือ ความพยายามที่จะอธิบายว่าหลักนิติธรรมส่งผลอย่างไรต่อปัจจัยต่างๆในการพัฒนาทั้งสิ้นทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม หรือ สิ่งแวดล้อม และแม้แต่ความมั่นคงของประเทศ ล้วนมาจากการมีความเป็นธรรมและเสมอภาคทางกฎหมาย ตามหลักนิติธรรมนั้นเอง

                หลักนิติธรรมนั้น นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้เสนอคำนิยามว่าหมายถึง “หลักธรรมาภิบาล ที่บุคคลทุกคน สถาบัน องค์การต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของประเทศนั้นๆที่ต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายต่างๆ ที่ได้ประกาศใช้และบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกัน โดยมีคำพิพากษาอย่างเป็นอิสระสอดคล้องกับบรรทัดฐานและมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน”[3] ในขณะที่ World Justice Project ได้จัดทำตัวชี้วัดขึ้นมา 9 ตัวชี้วัด[4] กล่าวคือ การจำกัดอำนาจของรัฐบาล การปราศจากคอร์รัปชั่น ความเป็นระเบียบและความมั่นคง สิทธิพื้นฐาน รัฐบาลที่โปร่งใส การบังคับใช้กฎเกณฑ์ยุติธรรมจากภาคประชาสังคม กระบวนการยุติธรรม และยุติธรรมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งโดยสรุปคือ ทั้งรัฐบาลและประชาชนจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความชัดเจนและมีการบังคับให้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

               

               ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า หลักนิติธรรม ครอบคลุมถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคที่ทุกฝ่ายอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน มีการเคารพถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน มีการดำเนินการอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือการละเมิดกฎหมายเพราะทุกฝ่ายจะต้องตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้นได้ยากในสังคมที่กฎหมายเป็นกฎหมายไม่ละเว้นกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด

                หลักนิติธรรมยังนำไปสู่ความเชื่อมั่นและความเชื่อถือในรัฐ เพราะรัฐก็ต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม ที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย และจะอยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ เมื่อรัฐเคารพกฎหมาย ความเชื่อถือไว้ใจของประชาชนก็จะตามมา ทำให้การบริหารงานใดๆจากรัฐจะได้รับความร่วมมือ และ การมีส่วนร่วมจากประชาชน

                หลักนิติธรรม ยังนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆในประเทศหรือของโลก การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนหรือทุกฝ่ายมีความเท่าเทียมกันในการเข้าใช้ประโยชน์ ทั้งฝ่ายนายทุน และชาวบ้านมีโอกาสได้เข้าถึงและเข้าใช้ทรัพยากรได้เสมอกันรับฟังซึ่งกันและกัน ไม่นับถึงการเข้าถึงการศึกษาหรือการเข้าถึงบริการสาธารณสุขต่างๆต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและยุติธรรมของกลุ่มคนต่างๆ สิ่งเหล่านี้   ก็คือพื้นฐานสำคัญ สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นการพัฒนาของคนในยุคนี้ที่คำนึงถึงลูกหลานและคนรุ่นต่อๆไปให้ได้มีโอกาสใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน และด้วยการมีหลักนิติธรรมเท่านั้นที่จะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืนตลอดไป

                นอกจากหลักนิติธรรมที่มีอยู่ภายในประเทศหนึ่งประเทศใดแล้ว หลักนิติธรรมในระหว่างประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศต่างๆ ต้องร่วมกันสร้างขึ้นมา เพราะปัญหาของการพัฒนาปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาความยากจน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการศึกษา ปัญหาพลังงาน ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ หรือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะภายในประเทศหนึ่งประเทศใด แต่เกี่ยวโยงถึงความสัมพันธ์กับประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานหรือทรัพยากรในประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องไม่มีการเอาเปรียบ ครอบงำ โดยมีกระบวนการคอร์รัปชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง จนนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา หรือปัญหาด้านอื่นๆก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน ซึ่งทำให้เห็นความจำเป็นที่โลกจะต้องมีกติการ่วมกัน ภายใต้หลักกฎหมายเดียวกันที่เป็นธรรมและเสมอภาคในการจัดระเบียบสังคมโลกให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบเรียบร้อย มีความมั่นคง และการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน นั้นคือ อยู่ภายใต้หลักนิติธรรม

                ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำและผู้บริหารประเทศต่างๆตลอดจนนักวิชาการบางส่วนเห็นว่า วาระของการพัฒนาหลังปี ค.ศ.2015 ขององค์การสหประชาชาติควรที่จะรวมหลักนิติธรรมเข้าไปด้วย ในขณะที่ผู้นำและนักวิชาการของบางประเทศ อาจมีความเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องไปขับเคี่ยวกันในการประชุมขององค์การสหประชาชาติในโอกาสต่อไปว่าทิศทางการพัฒนาของโลกหลังปี ค.ศ. 2015 จะเป็นไปในทิศทางใด แต่สำหรับประเทศไทยการจัดการสัมมนาในงาน “The Bangkok Dialogue on the Rule of Law: Investing in the Rule of Law, Justice and Security for the Post-2015 Development Agenda” เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยนั้น แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นแต่ได้ตอกย้ำความเป็นผู้นำของประเทศไทย ในการผลักดันวาระเรื่อง “หลักนิติธรรม” เข้าสู่วาระของการพัฒนาของโลกหลังปี ค.ศ.2015 ได้อย่างชัดเจน

*************************

เอกสารอ้างอิง

[1] โกวิทย์ วงศ์สุรวัฒน์, “ภูฏานกับอนาคตของดัชนีมวลรวมความสุข” , หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 25 กันยายน 2556  หน้า 16.

[2] Wikipedia, ‘Gross National Happiness’. Available at http://en.wikipedia.org/Wiki_Gross_National_Happiness.

[3] UN Doc S/2004/616 (2004). Para 6.

[4] Agrast, M. D. et al., ‘The World Justice Project’, Rule of Law Index 2012 – 2013.

 

หมายเลขบันทึก: 555167เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 09:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 09:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท