ไปร่วมงาน “ชื่นใจ... ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๔”


 

          โรงเรียนเพลินพัฒนา จัดงาน “ชื่นใจ... ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)  ครั้งที่ ๔” ในวันที่ ๙ ต.ค. ๕๖ ทั้งวัน    แต่ผมไปร่วมได้เฉพาะช่วงบ่าย    ไปเยี่ยมโรงเรียนเพลินพัฒนาทีไร ผมชื่นใจทุกครั้ง    ดัง บันทึกนี้   

          กำหนดการของกิจกรรมวันนี้ มีดังนี้

 

"ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๔"

วันที่  ๙ ต.ค. ๕๖

 

ณ  อาคารประถมปลาย  โรงเรียนเพลินพัฒนา

 

กำหนดการ

 

 

๐๗.๓๐ - ๐๘.๐๐ น.                    ลงทะเบียนที่หน้าห้องอเนกประสงค์ ช่วงชั้น ๒

๐๘.๐๐ - ๐๘.๓๐ น.                    เคารพธงชาติ  เปิดตัวเพลงมาร์ชโรงเรียน ที่โถงชั้น ๑ ๐๘.๓๐ - ๑๐.๐๐ น.                                                                      ชมนิทรรศการ“การสร้างแรงบันดาลใจ และความเป็นเจ้าของการเรียนรู้

                                           ให้กับผู้เรียน” ที่ห้องเรียนชั้น ๑ – ๒

๑๐.๐๐ - ๑๐.๑๕ น.                     เขียนสะท้อนเรียนรู้                   

๑๐.๑๕ - ๑๐.๓๐ น.                     พักรับประทานอาหารว่าง ที่โถงชั้น ๒

๑๐.๓๐ - ๑๒.๐๐ น.                     เปิดชั้นเรียน ห้องภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๒ (ครูอ้อ)

                                            ที่ห้องอเนกประสงค์ ช่วงชั้น ๑ /

                                            เปิดชั้นเรียนห้องคณิตศาสตร์ ชั้น ๕ (ครูม่อน)

                                            ที่ห้องอเนกประสงค์ ช่วงชั้น ๒

๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น.                      พักรับประทานอาหารกลางวันที่โถงชั้น ๑

๑๓.๐๐ - ๑๔.๓๐ น.                     เปิดชั้นเรียน ห้องคณิตศาสตร์ ชั้น ๑  (ครูหนึ่ง)

                                            ที่ห้องอเนกประสงค์ ช่วงชั้น ๑ /

                                            เปิดชั้นเรียนห้องภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๔ (ครูปุ๊ก)

                                            ที่ห้องอเนกประสงค์ ช่วงชั้น ๒

๑๔.๓๐ - ๑๔.๔๕ น.                    พักรับประทานอาหารว่าง ที่โถงชั้น ๒

๑๔.๔๕ - ๑๖.๑๕ น.                    แบ่งกลุ่มสะท้อนการเรียนรู้จากการเปิดชั้นเรียน

                                            “การสร้างแรงบันดาลใจและ ความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ให้ผู้เรียน”

                                            ที่ห้องอเนกประสงค์ ช่วงชั้น ๒

                                                สรุปการเรียนรู้

๑๖.๑๕- ๑๖.๓๐ น.                      ตอบแบบสอบถาม

๑๖.๓๐ - ๑๗.๐๐ น.                     สะท้อนการเรียนรู้ และร้องเพลงร่วมกัน

                                            ที่ห้องอเนกประสงค์ ช่วงชั้น ๒

 

 

*****************

 

 

          เมื่อผมไปถึง ครูใหม่ก็บอกข่าวดี ว่ามีการค้นพบวิธีการจัดการเรียนการสอนแนว Open Approach ของวิชาภาษาไทย    ที่ถือว่าเป็นก้าวกระโดด    เพราะที่ผ่านมา วิชาที่ใช้ Open Approach ได้ผลดีคือวิชาคณิตศาสตร์    โดยเอาแนวทางมาจากญี่ปุ่น   ซึ่งเมื่อเอามาใช้กับวิชาอื่น ก็ไม่ลงตัวนัก    มาคราวนี้เราพบวิธีการของเราเอง ในวิชาภาษาไทย

          เข้าใจว่าเขาปรับกำหนดการ เอา เปิดชั้นเรียน ห้องภูมิปัญญาภาษาไทย ชั้น ๒ (ครูอ้อ) มาไว้เวลา ๑๓.๓๐ น.    เพื่อให้ผมได้ฟัง reflection (หรือ AAR) ในส่วนที่มีการค้นพบใหม่ ของ Open Approach เรื่อง นวัตกรรม ๗ ขั้นตอนการเรียนรู้ภูมิปัญญาภาษาไทย ก่อเกิดแรงบันดาลใจ และความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยครูอ้อ

          ทำให้ผมได้เห็นสภาพ “การเรียนรู้” ของครู (คือครูอ้อวนิดา สายทองอินทร์)    ที่มีสติเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ในห้องเรียนอยู่ตลอดเวลา    และตระหนักว่า met before ที่ตนประเมินไว้นั้น ผิด    มีนักเรียน (ป. ๒) จำนวนหนึ่งมีพื้นความรู้ภาษาไทยต่ำกว่าที่คิดไว้ 

          ครูอ้อเล่าว่า หน่วยการเรียนรู้นี้ชื่อ “พฤกษาพาคำ - กลอนสี่ชมพฤกษา”    โดยมีเป้าหมายของการเรียนรู้ว่า “นักเรียนสามารถเขียนบรรยายส่วนประกอบต่างๆ ของต้นไม้ ได้อย่างละเอียดชัดเจน ทั้งเป็นร้อยแก้ว และร้อยกรอง (กลอนสี่)”

          ครูอ้อวางแผนหน่วยการเรียนรู้โดย “กะ met before ให้ได้    ดูจากที่เด็กมีอยู่จริง    ไม่ใช่สิ่งที่ครูสอนไปแล้ว” และ “วางเป้าหมายให้มั่นคง    มองเห็นปลายทางชัดเจน และเป็นไปได้”

          ผมประทับใจมาก ที่ครูอ้อบอกว่า  เมื่อกำหนดรู้จุดเริ่มต้น (พื้นความรู้ของศิษย์)    และวางเป้าหมายให้มั่นคงชัดเจน    “ตรงกลางมาเอง    เมื่อรู้จุดเริ่มต้น สร้างหนทางให้เป็นลำดับ  จะได้พบกับเส้นชัย”    นี่คือการทำงานในสภาพ chaordic   ทำไปเรียนรู้ไป แก้ปัญหาไป    ไม่ใช่ทำตามสูตรสำเร็จ  การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของครูอ้อ มีฐานอยู่ที่วิธีคิดแบบนี้เอง

          ผมยิ่งประทับใจมากขึ้นอีก เมื่อครูอ้อเสนอรายละเอียดวิธีคิด กำหนดแผนกิจกรรมการเรียนรู้ ว่า    “กะ met before ให้ได้  เข้าใจว่าคำคล้องจองคืออะไร  สามารถเขียนคำคล้องจอง ๑ พยางค์ได้    วางเป้าหมายให้มั่นคง   นักเรียนสามารถเขียนบรรยายส่วนประกอบของต้นไม้ได้อย่างละเอียดชัดเจน ทั้งเป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง (กลอนสี่)    ตรงกลางมาเอง  แจกแจงให้เป็นลำดับว่า ถ้าจะเขียนกลอนสี่บรรยายส่วนต่างๆ ของต้นไม้ให้ได้ ต้องทำอะไรได้มาก่อนบ้าง   แล้วนำไปวางเป็นเป้าหมายรายครั้ง” 

          ชื่อหน่วยการเรียนรู้ “พฤกษาพาคำ” บอกอยู่แล้วว่า เป็นการเรียนภาษาไทยจากต้นไม้    ดังนั้นก่อนเข้าสู่บทเรียน นักเรียนต้องไปสัมผัสต้นไม้เสียก่อน    และครูอ้อเลือกต้นกล้วย    ผมคิดว่า นี่คือขั้นตอนของการเรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing)    ให้ได้สัมผัสจริงของผู้เรียน แล้วเรียนรู้จากสัมผัสนั้น    ซึ่งในกรณีนี้คือต้นกล้วย   

          ครูอ้อเขียนอธิบายขั้นตอนนี้ไว้เป็น ๓ ส่วน ดังนี้    “Input : เข้าฐานเพื่อใช้ประสาทสัมผัส ชิม ดม ดู และสัมผัสส่วนต่างๆ ของต้นกล้วย    คลี่คลาย : สร้างและแลกเปลี่ยนคลังคำ ที่บอกลักษณะส่วนต่างๆ ของต้นกล้วย    โจทย์ : ให้นักเรียนนำคลังคำมาเขียนบรรยายลักษณะของต้นกล้วยให้ละเอียดและชัดเจน”

          ในขั้นตอนนี้ ผมติดใจที่ครูอ้อช่วยให้เด็กรู้จักแยกรส ระหว่างรสขมกับรสฝาด    โดยครูอ้อเอาฟ้าทะลายโจร ให้เด็กชิมเพื่อรู้จักรสขม

          แล้วก็ถึงชั้นเรียนที่ ๑ ของ “พฤกษาพาคำ”   โดยครูอ้อเขียนระบุไว้ดังนี้   “Input : ทบทวนคลังคำที่บอกลักษณะต้นกล้วย   และสังเกตคำ ข้อความ จากงานเขียนของเพื่อน    คลี่คลาย : อ่านและพิจารณาว่า คำหรือข้อความใดของเพื่อน ที่เขียนบรรยายส่วนต่างๆ ของต้นกล้วย น่าสนใจ น่านำไปใช้ต่อ    โจทย์ : ให้นักเรียนเขียนบรรยายลักษณะส่วนประกอบต่างๆ ของต้นกล้วยให้ละเอียดและชัดเจน”

          แค่ชั้นเรียนเดียว ครูอ้อก็พบว่า met before ของนักเรียนจำนวนหนึ่ง ต่ำกว่าที่คาดไว้    ครูอ้อจึงแบ่งนักเรียนเป็น ๒ กลุ่ม   คือกลุ่มกล้วยดิบ (พื้นความรู้ต่ำ)  กับกลุ่มกล้วยสุก (พื้นความรู้ดี)    นี่คือการเริ่มต้นนวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้ของครูอ้อ   ที่ผมคิดว่า ครูอ้อค้นพบ

  • วิธีช่วยเหลือเด็กที่พื้นความรู้ต่ำ
  • เทคนิควิธีการที่ไม่ทำให้เด็ก (กลุ่มกล้วยดิบ) รู้สึกด้อย
  • เทคนิคการโค้ชศิษย์ ๒ กลุ่ม อย่างเป็นระบบระเบียบ

           ก่อนถึงชั้นเรียนที่ ๒  นักเรียนทั้งชั้นได้เข้าฐานสัมผัสต้นไม้อีก ๒ ชนิด คือพุทธรักษา กับ ปักษาสวรรค์

          ครูอ้อเขียนระบุกิจกรรมใน ชั้นเรียนที่ ๒ ดังต่อไปนี้   “Input : อ่านและชื่นชมวิธีการใช้และเรียบเรียงคำ จากตัวอย่างงานของเพื่อน   แล้วอ่านกลอนสี่ที่ครูได้ใช้คำจากการบรรยายต้นกล้วยของนักเรียนมาแต่ง     คลี่คลาย : คัดคลังคำที่ใช้บรรยายต้นกล้วยและสามารถนำมาใช้บรรยายต้นปักษาสวรรค์ได้   แล้วสร้างคลังคำเพิ่มเติมจากการสังเกตต้นปักษาสวรรค์    โจทย์ :

(กล้วยดิบ)   ให้นักเรียนเลือกเขียนบรรยายส่วนประกอบต่างๆ ของต้นปักษาสวรรค์ หรือต้นพุทธรักษา

                   ให้เห็นภาพของต้นนั้นอย่างสวยงาม”

(กล้วยสุก)   ๑. ให้นักเรียนโยงเส้นคำคล้องจอง ในกลอนสี่ให้ได้มากที่สุด

                   ๒. ให้นำคลังคำจากต้นปักษาสวรรค์หรือต้นพุทธรักษา มาทดลองแต่งเป็นกลอนสี่  ที่มีคำคล้องจองดังตัวอย่าง

          ขอสรุปว่า วิชานี้มีทั้งหมด ๕ ชั้นเรียน    ใช้เวลา ๖ สัปดาห์    ครูอ้อได้ข้อสรุปว่า “ดอกไม้ไม่ได้บานพร้อมกันทั้งสวน”   แต่ในที่สุดนักเรียนกลุ่มกล้วยดิบก็สามารถเรียนตามเพื่อนทั้งชั้นทัน   โดยบางคนสามารถแต่งกลอนที่มีพลังคำสูงมากเป็นพิเศษ

          นวัตกรรม ๗ ขั้นตอนของการเรียนรู้ภาษาไทยชั้น ป. ๒ ที่ครูอ้อค้นพบคือ  ๑. ภาวะพร้อมเรียน  ๒. Input  ๓. คลี่คลาย  ๔. ก่อเกิดโจทย์  ๕. สร้างสรรค์/แก้ปัญหา  ๖. ปฏิสัมพันธ์  ๗. สังเคราะห์ร่วมกัน

           ฟังจากที่ครูอ้อเล่าบรรยากาศการเรียนของนักเรียน   และคำที่นักเรียนสะท้อนออกมาว่า “ให้ความรู้สึกเหมือนสุดสาครไปเที่ยวป่า”  “รู้สึกเหมือนตนเองเป็นปักษาสวรรค์” 

          ผมเว้นไว้ไม่เล่าชั้นเรียนที่ ๓ - ๕ ที่ครูอ้อมีทีเด็ดสร้างบรรยากาศการเรียนที่เหมาะแก่วัยเด็ก ป. ๒ อย่างน่าทึ่ง   ตรงกับเป้าหมายของโรงเรียนเพลินพัฒนาให้ “นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียน”    ที่ผมไม่เล่า ก็เพื่อให้ผู้สนใจติดตามเอาเองจาก บล็อก ของครูใหม่    หรือติดตามผลงานวิชาการของครูอ้อ ที่จะเขียนนำเสนอในวารสารวิชาการ    เพราะเป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่จริงๆ   

 

          หลังจากนั้นเป็นการประชุมกลุ่มของครูแต่ละวิชา    ว่าได้รับแรงบันดาลใจอะไร   จะเอาความรู้อะไรไปทำอะไรบ้าง    โดยโจทย์หลักคือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้    ในช่วงนี้ ผมคุยกับครูอ้อ ครูใหม่ และครูปาด    ผมยุให้ครูอ้อเขียนรายงานผลการวิจัยและพัฒนาการเรียนการสอนชิ้นนี้ ส่งไปลงวารสารวิชาการ    โดยขอความช่วยเหลือในการอ่านวิพากษ์และแนะนำเพื่อปรับปรุงรายงานจากผู้รู้   เช่น ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ 

          แล้วผู้แทนของแต่ละกลุ่มนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม ต่อที่ประชุมใหญ่ กลุ่มละ ๗ นาที    ผมตีความว่า นี่คือการทำทั้ง AAR และ BAR ไปพร้อมๆ กัน    เพื่อสร้าง ชร. คศ. (ชุมชนเรียนรู้ ครูเพื่อศิษย์) ของโรงเรียนเพลินพัฒนา

          ที่จริงผมได้รับเชิญให้กล่าวข้อเรียนรู้และคำแนะนำ แต่ผมจะไม่เล่า    เพราะแน่ใจว่าครูใหม่จะเล่าอยู่แล้ว

          ผมกลับบ้านด้วยความสุข   ผมได้ข้อเรียนรู้ว่า การเรียนภาษาเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์    และได้เห็นแนวทางที่ครูต่างวิชาจะบูรณาการการทำงานกัน ผ่านกระบวนการ KM นี้    เช่นครูคณิตศาสตร์บอกว่า ต่อไปจะเอาโจทย์สถานการณ์ให้ครูวิชาอื่นช่วยอ่าน ว่าจะเข้าใจไหม    ครูภูมิปัญญาภาษาไทย จะไปตรวจภาษาในวิชาอื่น เป็นต้น   การที่ครูเปลี่ยนพฤติกรรมจากต่างคนต่างทำ ต่างวิชาต่างสอน   มาทำงานจัดการเรียนรู้ร่วมกันนี้ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ต.ค. ๕๖

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 554036เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2013 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ ที่เคารพ

กราบขอบพระคุณที่อาจารย์กรุณาคอยเป็นกำลังใจให้กับพวกเรา ชาวเพลินพัฒนา อยู่เสมอค่ะ

หนูกำลังเขียนบันทึกการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวันนั้นไล่มาทีละตอน ขณะนี้เขียนถึงตอนที่ ๒ แล้วค่ะ

http://www.gotoknow.org/posts/553999 "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้" (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๔ (๑) เป็นบันทึกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ของการจัดงานเมื่อวันที่ ๙ ต.ค.ที่ผ่านมาค่ะ

http://www.gotoknow.org/posts/554070"ชื่นใจ...ได้เรียนรู้" (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๔ (๒) เป็นบันทึกประเด็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องภูมิปัญญาภาษาไทย ในช่วงก่อนพักเที่ยงค่ะ

ด้วยความเคารพ

ครูใหม่

http://www.gotoknow.org/posts/554313 "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้" (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๔ (๓) เป็นบันทึกประเด็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องภูมิปัญญาภาษาไทย ที่เป็นการนำเสนอของคุณครูอ้อ ในภาคบ่ายค่ะ

http://www.gotoknow.org/posts/555224 "ชื่นใจ...ได้เรียนรู้" (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๔ (๗) เป็นบันทึกข้อเรียนรู้ และคำแนะนำที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ เมื่อวันที่ ๙ ต.ค.๕๖ หลังจากที่จบการ AAR รอบครึ่งปีแรก และ BAR รอบครึ่งปีหลัง ของครูเพลินพัฒนาค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท