ไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนเพลินพัฒนา



          โรงเรียนเพลินพัฒนาดำเนินการมาครบ ๑๐ ปี  จัดงานฉลอง  ครูใหม่ (วิมลศรี ศุษิลวรณ์) เชิญไปร่วมงาน แต่ผมติดนัดไปร่วมไม่ได้  จึงนัดไปเยี่ยมชื่นชมในภายหลัง  ได้วันที่ ๓๐ พ.ค. ๕๖ ซึ่งโรงเรียนเปิดเทอมแล้ว  ผมจึงขอไปตั้งแต่ ๗.๓๐ น. ก่อนเวลาเข้าเรียน  เพื่อไปสังเกตบรรยากาศของโรงเรียนสมัยใหม่  ว่าเด็กๆ เขามาโรงเรียนกันอย่างไร


          ได้กำหนดการมาดังนี้


กำหนดการ
แลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๖


๐๗.๓๐ น.                    อาจารย์วิจารณ์เดินทางมาถึงโรงเรียนเพลินพัฒนา
                                   รับประทานอาหารเช้า และสังเกตการณ์เรียนรู้ตามธรรมาชาติของนักเรียนที่สนามใหญ่
๐๘.๐๐ น.                     ชมพิธีกรรมยามเช้าของนักเรียนช่วงชั้นที่ ๑-๒
๐๘.๑๕-๐๘.๕๐ น.         ชมกิจกรรม Sensory Integration ของนักเรียนช่วงชั้น ๑
๐๙.๐๐-๑๐.๐๐ น.           กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มครูคณิตศาสตร์
                                            * ชมวีดิทัศน์แนะนำโรงเรียนยุคแรก
                                            * " เพลินพัฒนาให้อะไร "  ณัฐ - ศุภณัฐ  ทองอยู่เรือน ตัวแทนนักเรียน รุ่น ๑
๑๐.๐๐-๑๐.๑๕ น.           พักรับประทานอาหารว่าง
                                            * เรื่องเล่า "ความเป็นมาของหน่วยวิชาคณิตศาสตร์"
                                              คุณครูโน๊ต-สุมนา  แทนบุญช่วย
                                            * สมาชิกร่วมกันถอดรหัสอุปนิสัย และพลังการเรียนรู้
                                              ของกลุ่มครูคณิตศาสตร์    
                                            * เรื่องเล่า "๑ เดือนกับประสบการณ์การเรียนรู้ Lesson
                                               Study ที่ปีนัง" คุณครูเล็ก - ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์
๑๒.๐๐-๑๓.๐๐ น.           พักรับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐-๑๔.๔๕ น.          ชมนิทรรศการ KM "ก้าวพอดี ๑๐ ปี ที่เพลินพัฒนา"
๑๔.๔๕-๑๕.๐๐ น.          พักรับประทานอาหารว่าง
๑๕.๐๐-๑๖.๐๐ น.           AAR




          ไปพบสภาพผู้ปกครองพาเด็กมาส่งด้วยรถยนต์ส่วนตัว  มีสภาพรถติดในซอย แบบเดียวกับซอยบ้านผมที่ปากเกร็ด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิชญศึกษา

          โรงเรียนเพลินพัฒนา เปิดสอนชั้นอนุบาล ถึง ม. ๖  มีนักเรียนทั้งหมดประมาณ ๑,๑๐๐ คน  มีครู ๒๐๐ คนเศษ  เป็นโรงเรียนที่จัดได้ว่า อยู่ในชั้นแนวหน้าของการจัดการเรียนรู้แบบ 21st Century Learning ตามแบบของตัวเอง  ที่มีการพัฒนาต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา  และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีต่อศิษย์ ในเรื่องการปลูกฝังนิสัยเรียนรู้ ความเป็นคนดี และภาวะผู้นำ

          เป็นครั้งแรก ที่ผมได้เห็นระบบประตูอัตโนมัติ ที่ครูและนักเรียนต้องมีบัตรสแกนที่ทางเข้า จึงจะเข้าโรงเรียนได้  ผมไม่เคยเห็นที่โรงเรียนอื่นมาก่อนเลย  และยังได้มาเห็นสภาพที่นักเรียนรับประทาน อาหารเที่ยงในห้องเรียน  โดยแม่ครัวทำกับข้าวมาให้แต่ละชั้น  และแต่ละชั้นมีเวรนักเรียนหุงข้าวกินเอง  กินเสร็จแต่ละคนไปล้างจานและช้อนที่ด้านข้างของห้องเรียน ซึ่งจัดทำไว้โดยเฉพาะ  เป็นการลดภาระ ของโรงเรียนที่จะต้องมีโรงอาหารขนาดใหญ่  และเด็กไปแออัดที่นั่นในตอนเที่ยง  เป็นนวัตกรรมเล็กๆ ที่น่าจะลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียนลงไปมาก

          โรงเรียนนี้ไม่ว่าทำอะไร มีการไตร่ตรอง และตรวจสอบความรู้เรื่องนั้นก่อนเสมอ ผมจึงไปเห็นนักเรียนสวมเครื่องแบบนักเรียนสีลูกกวาด  คือสวมเสื้อหลากสี  ครูใหม่บอกว่า ได้ความรู้จากผลงานวิจัยของอิสเรล  เกี่ยวกับ color therapy

          เรานัดกันว่า เวลา ๗.๓๐ - ๘.๐๐ เป็นการไปที่ริมสนามใหญ่ สังเกตกิจกรรมตามธรรมชาติ ของเด็กนักเรียนช่วงชั้นที่ ๑ - ๒และรับประทานอาหารเช้า คือซาละเปาที่อร่อยมาก

          สนามใหญ่ด้านริมทางเข้า มีเนินและมีสนามเด็กเล่น  สนามเด็กเล่นนี้ มีกระจายไปตามริมขอบสนาม  ครูใหม่บอกว่า เนินนี้ได้แนวความคิดมาจากสภาพของเด็กชาวเขา

          เวลา ๘ น. มีเสียงสัญญาณโรงเรียนเข้า  ผมไปชมพิธีกรรมยามเช้าของเด็กนักเรียนช่วงชั้นที่ ๑  ที่มีการเข้าแถวในร่ม ในสถานที่ที่จำกัด  เด็กเข้าแถวตามชั้นของตน มีครูจำนวนมากคอยกำกับ  มีครูเล่นดนตรีประกอบการร้องเพลงชาติของนักเรียน  และเพลงแสดงความเบิกบานของชีวิต ๑ เพลง  ครูใหม่บอกว่าบางวันร้องถึง ๕ เพลง 

          แล้วเด็กเดินแถวเข้าห้อง  เด็กได้รับการฝึกให้เดินน้อมตัวท่าคารวะเมื่อเดินผ่านครู หรือผู้ใหญ่  เด็กชั้น ป. ๑ มาถอดรองเท้าและถุงเท้าไว้หน้าห้องแล้วไปเรียนกิจกรรม Sensory Integration ที่สนามหญ้าโดยเดินเท้าเปล่า  นั่นหมายความว่า ทางโรงเรียนคอยดูแลพื้นสนามและทางเท้าไม่ให้มีขยะหรือของมีคมใดๆ เลย  ผมมองว่ากิจกรรมนี้เป็นการกระตุ้นสมอง  เพื่อ physical development และเพื่อพัฒนาการด้านอื่นๆ

          กิจกรรมเดินไต่เชือก (ดังรูป) ทำให้ผมนึกถึง บันทึกนี้และผมเชื่อว่า กิจกรรมที่ผมเห็นเด็กเล่นในเช้าวันนี้ มีส่วนช่วยกระตุ้นสมองส่วน EF ด้วย 

          กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับครูคณิตศาสตร์ ในช่วง ๙ - ๑๒ น. ช่วยให้ผมเข้าใจสภาพของ Lesson Study + Open Class ของ รร. เพลินพัฒนามากขึ้น  และได้รับทราบว่า กิจรรม PLC (Professional Learning Community) ที่ รร. เพลินพัฒนาเรียกว่า Lesson Study ก้าวหน้าที่สุดที่กลุ่มครูคณิตศาสตร์  และจากการเสวนากัน ผมจับความได้ว่า เป็นเพราะ (๑) ผู้บริหารจัดเวลาทำงานตามปกติ ให้มา ลปรร. กัน ทุกสัปดาห์ (ผมคิดว่า อย่างน้อยต้องทุกสัปดาห์  ไม่ใช่ทุกเดือน ซึ่งห่างเกินไป)  (๒) มีกิจกรรม Open Class ที่มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปนั่งสังเกตการณ์ ชั้นเรียนของเพื่อนครู  เก็บข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  (๓) ได้ไปเรียนรู้ และเห็นกิจกรรม OC ที่อื่น หรือไปเข้ารับการอบรมจากภายนอก  (๔) เกิดความสัมพันธ์แบบใหม่ ในหมู่สมาชิกของ PLC ที่มีความเป็นกัลยาณมิตร ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

          ผมถามวง ลปรร. ว่า ประโยชน์ที่ได้ คุ้มกับเวลาที่ใช้ในการทำ LS + OC ไหม  ได้คำตอบว่าเกินคุ้ม

          ที่แปลกมากคือ ผมถามครู ๑๒ คนที่มาตั้งวง ลปรร. ว่า มีใครเรียนจบครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์บ้าง  ได้คำตอบว่าไม่มีเลยแม้แต่คนเดียว  ๓ - ๔ คนจบ วิทย์คณิต  นอกนั้นจบสารพัดสาขา เช่น บริหารธุรกิจ ไอซีที วิศว เป็นต้น

          เราคุยเรื่องจุดหลุดพ้น จากสภาพต่างคนต่างทำงาน มาเป็นสภาพที่เกิดสภาพความเป็นชุมชน หรือทำงานเป็นทีม เรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ว่าคืออะไร  ขอให้ช่วยกันตีความ ท่านหนึ่งบอกว่า เพราะเราคืนการเรียนรู้ให้เด็ก ไม่สอน  ครูสุ บอกว่า เพราะเกิดการก้าวข้ามความเป็นตัวตน ตัวตนเล็กลง  ตัวเล็กลงแต่ใจใหญ่ขึ้น   ครูปาดพี่ใหญ่บอกว่า เมื่อทำกระบวนการเข้มข้นถึงจุดหนึ่ง จะมีสมาชิกคนหนึ่ง “บาน” เป็นคนแรก  ส่ง “คลื่น” พลัง ให้แก่สมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่ม  กลุ่มนี้สมาชิก “บาน” ทุกคน  ผมตีความคำว่า “บาน” ในที่นี้ ว่าหมายถึงเกิดอาการสว่างแจ้งในเรื่อง LS + OC เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริงว่ามันคืออะไร ใช้อย่างไร ใช้แล้วเกิดประโยชน์อย่างไร 

          ขอขอบคุณสมาชิกของวง ลปรร. ในเช้าวันที่ ๓๐ พ.ค. ๕๖ อย่างสูงสุด  ทุกคนได้เป็น “ครู” ให้ผมเข้าใจ PLC ในมิติที่ลึกขึ้น   ได้เห็นพลวัตของการเกิด PLC ของแท้ที่มีพลังสูงยิ่ง 

          ช่วงบ่าย ผมไปชมนิทรรศการ ฉลอง ๑๐ ปี ของโรงเรียน ชื่อ “นิทรรศการ KM ก้าวพอดี ๑๐ ปีที่เพลินพัฒนา”  ได้รับทราบจุดเริ่มต้นของโรงเรียน  ปณิธานของการก่อตั้งโรงเรียน  ที่จะให้มีสถานที่เรียนรู้ยกกำลังสาม คือของเด็กนักเรียน ของครู และของผู้ปกครอง  ซึ่งผมขอแถมว่า หลังทำงานมา ๑๐ ปี ได้การเรียนรู้ยกกำลังห้า  ที่เพิ่มเข้ามา คือการเรียนรู้ของวงการศึกษาไทย กับการเรียนรู้ของวงการ  KM ไทย

          เห็นแจ่มชัด ว่าโรงเรียนนี้มีการคิดกำหนดปณิธาน (สร้างคนดีมีคุณภาพให้แก่สังคม),  ยุทธศาสตร์,  และวางแผนการทำงานอย่างประณีต  มีการคิดหาวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างแยบยล เป็น “การเรียนแบบเพลิน”  จึงมีชื่อวิชาแปลกๆ เช่น หน่วยการเรียนรู้แสนภาษา  หน่วยวิชาจินตทัศน์  หน่วยวิชามานุษกับโลก  การเรียนรู้ภาคสนามแสดงความมุ่งมั่นที่จะจัดโรงเรียนที่แตกต่าง  เป็นโรงเรียนทางเลือกที่มั่นคงและมีปัญญาสูง 

          ยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ ได้แก่


      •  เห็นคุณค่าของตนเอง
      •  เห็นคุณค่าของผู้อื่น
      •  มีสำนึกของการร่วมดูแลสังคมไทย
      •  นำการเรียนรู้เข้าสู่ชีวิต
      •  เปิดการเรียนรู้ออกสู่สังคม
      •  ทำทุกช่วงเวลาของชีวิตให้เป็นการเรียนรู้


          หากถือตามแนวทาง ๖ ข้อข้างบน ผมก็เป็นนักเรียนคนหนึ่งของโรงเรียนเพลินพัฒนาด้วย  เป็นนักเรียนที่ไม่ได้ไปโรงเรียนแบบนักเรียนปกติ  แต่ได้เรียนรู้ตามแนวทางทั้ง ๖ ข้อนั้น

        ท่านที่ต้องการรู้จักโรงเรียเพลินพัฒนา อ่านได้จากเว็บไซต์ของโรงเรียน ในหัวข้อ“รู้จักโรงเรียน”

          ผมได้เห็นว่า รร. เพลินพัฒนามีการวิจัยควบคู่ไปกับการทำงาน  และผลการวิจัยที่น่าพิศวงที่สุดคือผลการสอบ SAT วัดโดยสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มศว. (ดูรูป) โดยที่ ผลสอบของนักเรียนต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อนักเรียนเรียนกลุ่มเดิมเรียนชั้นสูงขึ้น   ผมได้แนะนำต่อครูใหม่ว่า น่าจะได้ทำวิจัยต่อ เพื่อหาคำอธิบายข้อค้นพบนี้  

          ผมภูมิใจ ที่ได้มีส่วนร่วมเล็กๆ ในการสร้างความสำเร็จแก่โรงเรียนเพลินพัฒนาทางอ้อม จากการที่ครูใหม่ไปสมัครเป็น “KM Intern” ที่ สคส. ในปี ๒๕๔๙  เรียนรู้ทักษะการจัดการความรู้ และนำมาใช้ในการพัฒนาโรงเรียนเพลินพัฒนา  อย่างวง ลปรร. ในวันนี้ ก็ได้วิธีการจากที่ครูใหม่ไปเรียนรู้วิธีการจาก สคส. 

          กลับมา AAR ที่บ้าน  ผมบอกตัวเองว่า ผมไปเห็นสภาพเพลินพัฒนา ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา  และเห็นการพัฒนาสู่สภาพองค์กรเรียนรู้ (Learning Organization)  อย่างน้อยก็เห็นในวง Lesson Study ครูคณิตศาสตร์ 

          ครูใหม่ได้ลงบันทึกเรื่องการไปเยี่ยมชื่นชมโรงเรียนเพลินพัฒนาของผม ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๑๘ มิ.ย. ๕๖





ด้านหนึ่งของสนามเป็นเนินดิน ให้เด็กได้ฝึกยืนบนเนินและเดินขึ้นลงเนิน



สนามเด็กเล่นอยู่ข้างเนิน



นร. ชั้น ป. ต้นเข้าแถวตอนเช้า สวมเสื้อหลากสี



ทั้งนักเรียนและครู แสดงท่าสำรวมเมื่อเดินผ่าน



เตรียมฝึก sensory integration ชั้น ป. ๑ โปรดสังเกตทีมครู ๕ คน



หลังจากครูเดินเป็นตัวอย่าง ก็ให้ นร. ฝึกทีละคน



เดินไต่เชือก และเดินข้ามเก้าอี้



กระโดดถ่างขาสลับหุบขา



ห้องเรียนยังจัดแบบ classroom แต่มีกิจกรรมให้ทำอย่างสนุกสนาน



วง ลปรร. Lesson Study คณิตศาสตร์ 



ทิศทางและท่าทีของการเติบโตอย่างเพลินพัฒนา



ไม่น่าเชื่อว่าเป็นผลงานที่เด็ก ป. ๒ คิดเอง



RBL



คิดหาหลักการวิธีการอยู่ตลอดเวลา




ผลการทดสอบ SAT ลดลงเมื่อเด็กเรียนชั้นสูงขึ้น เพราะอะไร



หมายเลขบันทึก: 541384เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2013 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน อาจารย์วิจารณ์ที่เคารพ


หนูคิดว่าโครงการ KM Intern ที่อาจารย์คิดขึ้น เป็นคุณูปการที่สำคัญต่อโรงเรียนเพลินพัฒนา ที่ช่วยให้โรงเรียนสามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ความงอกงามดังเช่นที่อาจารย์ได้เห็นในวันนี้ค่ะ


ด้วยความเคารพ

ครูใหม่


เรียน ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์

  • ผมสกัดแนวคิดของโรงเรียนเพลินพัฒนา เอาไปเล่าให้นิสิตใหม่ปี 1 ชีววิทยา ได้ฟังกันครับ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์และเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้
  • ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท