“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๔ (๑)


 

งาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” จัดขึ้นเป็นประจำทุกครึ่งปี เพื่อสร้างเวลา เวที และไมตรี ให้คุณครูที่สอนต่างหน่วยวิชา ต่างช่วงชั้น ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ และได้มาเติมเต็มความรู้ที่กลั่นออกมาจากการปฏิบัติหน้างานครูกันให้อิ่มเอม

 

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ที่จัดขึ้นในแต่ละครั้งจะมีจุดเน้นที่แตกต่างกันออกไป  ในครั้งที่ ๔ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๙ ต.ค. ๕๖ ที่ผ่านมานี้เน้นในเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจ และความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ซึ่งการมีประเด็นแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่คมชัดขึ้นเรื่อยๆ นี้ ได้ส่งผลให้คุณภาพของเรื่องเล่าที่ปรากฏออกมาในรูปของนิทรรศการในภาคเช้ามีประเด็นร่วม และก่อให้เกิดความรู้ร่วมที่ชัดเจนขึ้นกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา

 

ในประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ครูหลายคนพบว่าหากครูสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ การเรียนรู้จะกลายเป็นเรื่องสนุก  และแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในทุกขั้นทุกตอนนี้เองที่จะช่วยสรรค์สร้างให้การเรียนรู้กลายเป็นของผู้เรียนได้ในที่สุด

 

แรงบันดาลใจในแต่ละขั้นตอน สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองอย่างไร

 

ขั้นภาวะพร้อมเรียน

  • สร้างการโยงกลับไปสู่ met before  / สมองทำงานได้ดีเพราะสามารถเชื่อมโยงกลับไปสู่ความรู้เดิมที่สะสมอยู่ก่อนหน้านี้
  • สร้างการเรียนรู้ด้วยความงาม  / ความงามนำไปสู่ความสุข และการประทับการเรียนรู้ลงไปในสมองโดยอาศัยเซลล์ประสาทกระจกเงา
  • สร้างโจทย์ย่อยที่มีความสัมพันธ์กับบทเรียนหลักในวันนั้น / สมองชอบความท้าทายที่เหมาะสม

 

ขั้นแจกโจทย์ + ขั้นเผชิญสถานการณ์โจทย์

  • สร้างโจทย์ที่ท้าทายเต็มกำลัง / สมองพร้อมที่จะถูกท้าทายด้วยสิ่งยาก

 

ขั้นแลกเปลี่ยน + สรุป

  • สร้างการเรียนรู้จากความคิดที่แตกต่างหลากหลาย / สมองชอบเปรียบเทียบและเชื่อมโยงความหลากหลายเข้าสู่ความหมายใหม่ๆ

 

การเขียนเรื่องเล่าในส่วนของนิทรรศการ

หัวข้อ  :  การสร้างแรงบันดาลใจ และความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

  • เล่าภาพชั้นเรียน
  • ยกตัวอย่างโจทย์สถานการณ์ที่ครูนำมาสร้างแรงบันดาลใจ
  • เล่าแผนการเรียนรู้ที่ใช้  และกระบวนการจัดการชั้นเรียน  (what, when, how)
  • เล่าเหตุผลว่าเหตุใดจึงคิดทำแผนการเรียนรู้นี้ขึ้นมา  (why)
  • เล่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียน และภาวะการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

ปัจจัยที่ทำให้นิทรรศการส่งผลเกินกว่าเป้าหมาย

  • โจทย์การเขียน KM ครั้งนี้น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับหน้างานของครูทุกคน
  • ครูรับรู้ว่างาน KM ที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกครึ่งปีอยู่ในวัฒนธรรมการทำงานและอยู่ในวิถีชีวิตของครูเพลินพัฒนา  ทั้งนี้เนื่องจากทางช่วงชั้นมีการนำขั้นเตรียมงานประมวลเรื่องเล่าเข้าสู่หน้างานปกติ  และมีทำ KM ในวงประชุมย่อยของแต่ละหน่วยวิชามาเป็นลำดับ
  • มีผลงานที่ส่งเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเป็นเรื่องเล่าที่มีคุณภาพดี
  • มีระบบจัดเก็บ KA ที่ดี ครูรับทราบทั่วถึง
  • คุณครูช่วงชั้นที่ ๑ มีความพยายามกลั่นกรองสิ่งที่ตนนำมาแลกเปลี่ยน รวมถึงการจัดนิทรรศการ ครูช่วยกันวางรูปแบบ ตกแต่งให้น่าสนใจ มีการนำเอาผลงานเด็กมาประกอบ ทำให้นิทรรศการมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น 
  • คุณครูช่วงชั้นที่ ๒ มีความกระตือรือร้น ใส่ใจต่อการเขียนเรื่องเล่าเข้ามาร่วมแสดงในนิทรรศการมาก

 

หลังจากที่จบช่วงของการชมนิทรรศการแล้ว กลุ่มครูจะแยกเข้าไปฟังการนำเสนอประสบการณ์ที่ได้ประมวลมาจากการเปิดชั้นเรียนของหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทย และหน่วยวิชาคณิตศาสตร์ ของทั้งช่วงชั้นที่ ๑ และช่วงชั้นที่ ๒

 

หัวข้อการนำเสนอ

๑.    เป้าหมายของการเรียนรู้ในบทเรียนนี้

๒.    ความรู้สะสมของผู้เรียน (Met Before)

๓.    เป้าหมาย

๔.    กระบวนการในแต่ละขั้น

  • แทรกด้วยภาพกระบวนการเรียนรู้
  • ภาพชิ้นงาน
  • การวิเคราะห์ชิ้นงานของผู้เรียน
  • สรุปการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

พิธีกรประจำห้อง มีหน้าที่

๑.     คุม concept

๒.    เก็บประเด็นตกหล่น เติมเต็ม ชี้ชวนให้ผู้นำเสนอได้พูดในประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้กล่าวถึง

๓.    ชี้จุดเน้นสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละขั้นตอนให้ผู้ชมเห็น

 

 ปัจจัยที่ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยการนำเสนอประสบการณ์ที่ได้จากการเปิดชั้นเรียนส่งผลเกินกว่าเป้าหมาย

  • คุณครูที่มานำเสนอ นำประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ และตรงกับความต้องการของครูมาแบ่งปัน  ทั้งในส่วนของรายละเอียดรูปธรรมชัดเจน น่าสนใจ แม้เรื่องที่นำเสนอมีหัวข้อที่หลากหลายแต่เชื่อมโยงกันสังเกตได้จากลักษณะของคำถามของผู้ฟังที่แสดงถึงความมุ่งมั่นเพื่อนำแรงบันดาลใจและประสบการณ์ไปใช้กับห้องเรียนของตนเอง  โดยจะมุ่งสู่เงื่อนไข ข้อติดขัดของตน
  • ส่วนคำถามของครูประจำชั้น เป็นการให้ความสนใจต่อการมองนักเรียนเป็นรายบุคคล  นำงานเด็กมาวิเคราะห์  เพื่อปรับในภาคเรียนหน้า  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการมองเด็กในวิธีหลากหลาย  จนกระทั่งหมดช่วงเวลาของการแลกเปลี่ยนก็ยังไม่ยอมเลิก เห็นได้ชัดว่าครูเกาะติดและได้รับประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้อย่างเต็มที่

 

หมายเลขบันทึก: 553999เขียนเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2013 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่แบ่งปันสิ่งดีๆ ค่ะ

ดีใจที่บันทึกนี้มีประโยชน์ค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท