“ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ครั้งที่ ๔ (๗)


 

วันนี้อาจารย์วิจารณ์ได้กรุณามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูช่วงชั้นที่ ๑ – ๒ ในงาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๔ ตลอดทั้งบ่าย

 

 

อาจารย์เข้ามาร่วมฟังการนำเสนอข้อค้นพบในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของหน่วยภูมิปัญญาภาษาไทย  จากการเปิดชั้นเรียน (Open Class) ระดับชั้น ๒ ของคุณครูอ้อ – วนิดา สายทองอินทร์  และร่วมรับฟังการนำเสนอก้าวต่อไปของการสร้างแรงบันดาลใจ และความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนที่จะเกิดขึ้นในครึ่งหลังปีการศึกษา ๕๖ ของคุณครูทุกหน่วยวิชา

 

 

หลังจากที่จบการนำเสนอของทุกกลุ่มแล้ว อาจารย์ได้กรุณาสะท้อนและได้ให้หลักคิดหลักปฏิบัติแก่คุณครูว่า.....

 

“ได้มาฟังแล้วก็ชื่นใจ ได้เห็นความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ตรงนั้นผมคิดว่าทุกกลุ่มที่นำเสนอน่าจะจับประเด็นที่สำคัญได้อันหนึ่งก็คือว่าเด็กมีพื้นไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจำแนกได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไปไวและที่ไปช้าๆ  และครูทุกกลุ่มได้พยายามหาวิธีที่ทำให้เด็กที่ช้ากวดเพื่อให้ทันเพื่อนซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ สิ่งที่เห็นคือจะมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ช้าและเมื่อเราช่วยเขาซ่อมพื้นเขาหน่อยเดียวแล้วเขาไปได้  เด็กบางคนอาจไปได้สวยกว่าเด็กที่อยู่ในกลุ่มเร็วด้วยซ้ำไป  แต่ก็แน่นอนว่ายังมีเด็กบางคนที่ช้าจริงๆ

 

ครูปาดนั่งคุยกับผม แล้วยืนยันว่ามนุษย์เราไม่ได้ต่างกันมากในแง่ตัวพื้นฐานของเด็ก แต่ส่วนแล้วการจัดการศึกษาที่อ่อนด้อยเป็นตัวทำให้เกิด  กลายเป็นโรคที่เรียกว่าโรงเรียนทำ หรือโรคครูทำ เหมือนที่ทางการแพทย์มีโรคหมอทำ คือหมอไปรักษาแล้วทำให้เกิดมีโรคแทรก การศึกษาก็คล้ายๆ กัน

 

ที่พวกเราออกมานำเสนอว่าจะทำอะไรกันต่อไปในภาคเรียนหน้านี่ผมคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีมาก เพราะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง ครูในสมัยที่ผมเด็กๆ ครูก็สอนวิชา แล้วนักเรียนก็จดตามที่ครูบอกให้จด บางที่ก็ให้นักเรียนกันเองเป็นคนอ่านให้เพื่อนจด สมัยนี้ต่างกันสิ้นเชิง ความรู้เหล่านั้นเด็กหากันเองได้ เพราะฉะนั้นครูต้องมีวิธีการที่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้อย่างที่พวกเราคุยกันซึ่งดีมาก แต่ว่าครูสมัยนี้ก็จะมีความยากลำบากตรงที่เด็กมีแหล่งเรียนเยอะ การทำให้เด็กเอาใจใส่เรื่องเรียน ซึ่งที่นี่คงไม่มีปัญหานี้ เพราะครูเน้นให้เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เป็นเจ้าของกระบวนการ และเป็นเจ้าของเรื่องต่างๆ ในชั้นเรียนตามที่เล่ามา ถ้าถามว่านักเรียนที่โรงเรียนอื่นๆ โชคดีแบบนี้ไหม ก็คงมีน้อยมาก

 

เมื่อเรามาวางแผนอย่างนี้แล้ว ซึ่งผมไม่มีความรู้พอที่จะให้ความเห็นลงไปในเนื้อของแต่ละวิชา แต่ผมอาจจะลองเทียบกับเรื่องที่ได้อ่านมาจากบทความวิชาการ แต่ตอนนี้คงยังทำให้ไม่ได้ เพราะความรู้ไม่แน่น คือการอ่านหนังสือแล้วทำความเข้าใจนี่จะสู้ครูปฏิบัติไม่ได้ ครูปฏิบัติที่ทำไปแล้วก็อ่านหนังสือบ้าง หรือว่ามีครูที่มีประสบการณ์มากกว่าอย่างครูปาดครูใหม่มาช่วยแนะนำบ้าง และพวกเราคุยกันบ้างจะเรียนรู้ได้แน่นกว่า

 

ตัวกระบวนการที่พวกเราวางแผนและนำเสนอไปหมดแล้ว ที่ผมอยากจะแนะนำคือการมาช่วยกันตั้งเป้าวางแผนว่าเทอมต่อไปจะทำอะไร ผมตีความตามแบบ KM ว่าเป็น BAR – Before Action Review  เป้านั้นเป็นเป้าหมายปลายทางของเทอมหรือของปี มันจะมีว่าระหว่างที่กำลังทำเราจะเห็นความสำเร็จเล็กๆ ที่จะนำไปสู่ปลายทางที่ว่านี้  ถ้ารู้จักสังเกต พยายามสังเกต ช่วยกันสังเกตหาจุดเหล่านั้นให้เจอ ความสำเร็จเหล่านี้มีคนเรียกว่า “เป้าหมายรายทาง” (Milestones) ที่จะเดินไปสู่ “เป้าหมายปลายทาง” (Goal)  

 

ถ้าเราเข้าใจความสำเร็จที่หลักไมล์เล็กๆ เหล่านี้ พอเจอก็หยิบขึ้นมาคุยกัน พยายามชี้ให้เห็น  ทำความเข้าใจว่าทำไมมันจึงเกิด เกิดได้อย่างไร เกิดแล้วช่วยทำให้เราไปสู่เป้าหมายที่สอง ที่สาม ที่สี่ต่อไปได้อย่างไร การมาช่วยกันตีความอย่างนี้ก็จะทำให้เราเข้าใจตัวทฤษฎี หรือหลักการได้ดีขึ้น จะช่วยทำให้การบรรลุยิ่งดีขึ้น การแลกเปลี่ยนเรื่องเป้าหมายรายทาง อาจจะคุยกันไม่กี่คน ไม่ต้องเจอกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็ได้ แล้วก็ชวนกันไปคุยกับพี่ปาดหน่อยว่าเจอแบบนี้ แล้วคิดอย่างนี้มันใช่หรือเปล่า ก็จะทำให้การเดินทางไปสู่เป้าหมายเป็นธรรมชาติ

 

งานของพวกเราที่มาเล่า โดยเฉพาะเรื่องการสอนภาษาไทยที่เล่ามานี่ชัดเจนมาก จากข้อเขียนของเด็กนักเรียนชั้น ๒  ที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ เห็นได้ชัดว่าที่ทำได้ในตอนต้นๆ กับตอนท้ายๆ ต่างกันอย่างไร ไม่ต้องวัดอย่างอื่น  ใช้เวลาหกอาทิตย์เปลี่ยนขนาดนี้ได้ มีความหมายมากเลย  งานที่พวกเราวางแผนว่าจะทำกันอยู่นี่ผมเชื่อว่าจะต้องเจออะไรดีๆ  เราต้องจับให้เร็ว ต้องหัดสังเกต แล้วส่วนใหญ่จะไม่ใช่ผลเชิงปริมาณ แต่เราจะเห็นผลเป็นเชิงคุณภาพ อย่างเช่นในวิชาภาษาไทยของชั้น ป.๒ นี้เห็นได้ชัดว่าตอนต้นกับตอนปลายเขาใช้ภาษาคนละเรื่องเลย  ในผลงานชิ้นหลังจะพบว่าภาษามีพลังมาก เด็กไม่ได้เรียนเฉพาะส่วนตัวหนังสือ และคลังคำเท่านั้น แต่ได้เรียนไปถึงความงามของภาษาด้วย

 

สุดท้ายนะครับ สิ่งที่ผมถือว่ามีคุณค่ามากที่มีแฝงอยู่ในทุกวิชา จริงๆ ก็คือการจัดการเรียนรู้ให้แก่คนทั้งคน นี่คือหัวใจ ที่ทุกคนกำลังทำอยู่เป็นกระบวนการที่ช่วยให้เด็กการพัฒนาทุกด้านไม่ใช่พัฒนาเฉพาะวิชาที่ท่านสอน ที่ทำได้เพราะอะไร เพราะพอเด็กได้ลงมือทำ ได้เป็นเจ้าของ พัฒนาการที่เกิดขึ้นก็จะเป็นพัฒนาการรอบด้าน

 

ปัจจุบันนี้การศึกษาไทยเอาใจใส่เฉพาะด้านวิชาความรู้  แต่ได้ละเลยอีกสี่ด้าน คือด้านอารมณ์ (Emotional Development) ซึ่งเป็นด้านที่สำคัญ  ความรู้สึกต่ำต้อยเป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่ระวังการเรียนการสอนในห้องเรียนจะทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองโง่เป็นการทำลายเด็ก การจัดการเรียนการสอนที่ไม่ดี จะทำให้เด็กคิดว่าจะเรียนอะไรได้ดีต้องฉลาด การวิจัยทางการศึกษาสมัยใหม่ บอกชัดเจนเลยว่าไม่ใช่ ที่สำคัญกว่าความฉลาดคือ ฉลาดเพราะพยายาม  พรแสวงสำคัญกว่าพรสวรรค์

 

ถ้าครูคนใดทำให้นักเรียนเชื่อว่าเขาทำไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่เก่งเรื่องนี้ เมื่อนั้นครูทำผิด  เราต้องปลูกฝังความเชื่อของเด็กว่าเรื่องนี้เราพยายามได้  ในชั้นเรียนครูอ้อเห็นได้ชัดเลยว่าเพราะเด็กพยายาม เขาถึงเรียนตีตื้นขึ้นมาได้  เราทำได้ถ้าเราพยายาม แล้วครูก็มีวิธีต่างๆ ที่จะไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่านี่ก็ทำไม่ได้ นั่นก็ทำไม่ได้ นี่ก็ผิด นั่นก็ผิด แต่จะช่วยให้เขาพยายามต่อไปจนกระทั่งสำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นจะกับเขาจะกลายเป็นนิสัย และความเชื่อติดตัวไปจนตาย เด็กที่มีจิตใจอย่างนี้จะสามารถสู้กับความไม่สำเร็จ สู้กับความยากลำบากในชีวิตได้ไปตลอดชีวิต เรื่องนี้สำคัญเสียยิ่งกว่าวิชาอ่านออกเขียนได้ นี่คือหัวใจที่สำคัญที่สุด

 

โรงเรียนเพลินพัฒนากำลังทำอยู่ในแนวนั้น ผมสังเกตเห็นภาพเช่นนั้น ซึ่งตรงนี้ควรภูมิใจมาก  เพราะฉะนั้นในกระบวนการที่เป็นความสำเร็จนี้ น่าจะมีการสังเกตด้วยว่าแต่ละวิชาสร้าง คุณลักษณะของเด็กอย่างไร ไม่ใช่แค่สร้างเฉพาะความรู้เชิงวิชาการในวิชาที่เรารับผิดชอบอยู่เท่านั้น

 

การมองเด็กทั้งตัวยังมีด้านสังคม (Social Development) รู้จักเคารพในความคิดที่แตกต่าง เคารพคนอื่นเป็น เคารพตัวเองได้ แตกต่างกันแต่เคารพกัน  ด้านจิตวิญญาณ (Spiritual Development)  มีจิตใจดี เห็นอกเห็นใจผู้อื่น คิดถึงคนอื่นเป็น เห็นแก่คนอื่นเป็น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็น ไม่เอาแต่ประโยชน์ตนเอง สุดท้ายด้านกายภาพ (Physical Development) ไม่ใช่แค่พลศึกษา แล้วก็ไม่ใช่แค่ทำให้ร่างกายแข็งแรงที่มองเฉพาะกล้ามเนื้อ แต่โยงไปสู่จิตใจ อารมณ์ ฮอร์โมนในร่างกาย โยงไปสู่การมีภูมิคุ้มกันร่างกาย และต้องไปถึงการสร้างนิสัยให้เป็นคนออกกำลังกาย เพื่อการมีร่างกายที่แข็งแรงตลอดชีวิต เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอจิตใจก็อ่อนแอด้วย

 

นี่คือการมองการเรียนรู้ทั้งชีวิต และการพัฒนาทั้งชีวิต ที่ทำอย่างนี้จะสามารถทำให้เราทำอะไรได้เยอะ เพราะไม่ได้มองแยกส่วนเฉพาะตัววิชา หัวใจคือการมองเด็กทั้งคน ผมขอแสดงความชื่นชมอนุโมทนาสาธุในบุญกุศลของทุกท่านที่ทำให้กับลูกศิษย์ และทำให้เห็นเป็นโมเดลของการศึกษาที่จะขยายไปถึงระบบการศึกษาใหญ่  บ้านเมืองเราล่มจมเพราะระบบการศึกษาที่สอนเพื่อสอบ ซึ่งการสอบทำได้อย่างเดียวคือสอบวิชา อย่างอื่นอีกสี่อย่างสอบไม่ได้ แต่ครูที่เห็นเด็กเอาใจใส่เด็กทั้งคนนี่ประเมินเด็กทั้งตัว ขอให้กำลังใจและสัญญาว่าจะไปทำการบ้านต่อคือเขียนบันทึกใน blog ให้”

 

หมายเลขบันทึก: 555224เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท