สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๔. การยอมรับ (๑) จากตัวกูของกู สู่โลกกว้าง


 

          บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

          ตอนที่ ๑๔นี้ ตีความจากบทที่ ๗How About Me?! Seeing Beyond Likes and Dislikes to the Bigger Picture    โดยที่ในบทที่ ๗มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๔จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     และในบันทึกที่ ๑๕จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔  

          บทที่ ๗ ทั้งบท ของหนังสือ เป็นเรื่อง การสอนเด็กให้เป็นคนดีโดยขยายความสนใจจากตัวเอง และเรื่องใกล้ตัว ไปสู่โลกกว้าง    ให้เข้าใจว่าในโลกนี้ยังมีคนอื่น สิ่งอื่นอีกมากมาย   ที่เด็กจะต้องทำความรู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดี   คนอื่นเหล่านี้ต่างก็มีชีวิตเลือดเนื้อและความต้องการของเขา    การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน    เป็นการปูพื้นฐานไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่ดี  หรือเป็นคนดี

          ตอนแรก อย่าบ่น จงทำให้ดีขึ้น   เป็นการฝึกเด็กให้เป็นคนมองโลกแง่บวกนั่นเอง    การบ่น เป็นการอยู่กับท่าทีเชิงลบ    แต่เมื่อเราพบสิ่งที่ยังไม่พอใจ เราเข้าไปลงมือทำให้ดีขึ้น เท่ากับเป็นการใช้ท่าทีเชิงบวก   หากพ่อแม่/ครู ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง   เด็กก็จะได้เรียนรู้ และได้นิสัยดีติดตัวไป    การมีนิสัยลงมือทำโดยไม่บ่น ทำให้สิ่งต่างๆ รอบตัวดีขึ้น   เป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นคนดี คนมีประโยชน์ต่อสังคม  

          นั่นคือ เมื่อไม่พอใจพฤติกรรมใดๆ ของเด็ก   จงอย่าบ่นว่า แต่ให้ชวนทำสิ่งที่จะแก้ไขพฤติกรรมไม่ดีนั้น   และเมื่อการลงมือทำนั้นก่อผลดี จงชม ชมโดยอธิบายว่าสิ่งนั้นดีอย่างไร    จะเป็นคุณต่อชีวิตในอนาคตของเด็กอย่างไร   หากรู้เป้าหมายในชีวิตหรือความใฝ่ฝันของเด็ก จงเชื่อมโยงว่าการทำสิ่งดีนั้นจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่เด็กใฝ่ฝันอย่างไร 

          ผมมองว่า การดุด่าว่ากล่าวเด็ก เป็นการส่งสัญญาณความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่    แต่แทนที่จะดุด่าว่ากล่าว เราใช้วิธีชวนเด็กลงมือทำ (เด็กชอบทำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ) และบรรลุความสำเร็จที่เด็กภูมิใจ   แล้วผู้ใหญ่ชวนเด็กไตร่ตรองทบทวนว่าการฝึกทำสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อเด็กในปัจจุบัน และในอนาคต อย่างไร   กิจกรรมทั้งหมดนั้นเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้ใหญ่มีความรักและให้ความสำคัญต่อตัวเด็ก   ในกระบวนการนี้ ผู้ใหญ่สามารถชี้ชวนให้เด็กลองเปรียบเทียบระหว่างพฤติกรรมเดิม (ที่ไม่ดี แต่ผู้ใหญ่ไม่บ่นว่า หรือดุด่าว่ากล่าว) กับกิจกรรมใหม่ ว่าแตกต่างกันอย่างไร   อันไหนมีคุณต่อตัวเด็กมากกว่า

          ผู้ใหญ่ยกตัวอย่างวิธีฝึกเด็กด้วยการลงมือทำ ไม่บ่นว่า    ว่าเมื่อลูกวัยรุ่นมาขอเบิกเงินค่าโทรศัพท์มือถือราคา ๑,๐๐๐ เหรียญ (ซึ่งเป็นของแพงที่เด็กที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตนเองไม่ควรซื้อใช้)   พ่อแม่บอกว่าการซื้อของราคาแพงเช่นนี้พ่อแม่รับไม่ได้ ลูกต้องจ่ายเอง  จบ   ไม่มีการดุด่าว่ากล่าว มีแต่การกระทำ คือไม่จ่าย เด็กต้องจ่ายเอง

          ข้อความในบทนี้ทำให้ผมนึกถึง Transformative Learning   ซึ่งหมายถึง (๑) การเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน  (๒) การเรียนรู้ฝึกฝนเป็นคนที่มีภาวะผู้นำ  คือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent)   ซึ่งก็คือผู้ลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง    ไม่ใช่ผู้เฝ้าแต่พร่ำบ่น    ในคติยิว เขาสอนว่า คนทุกคนต้องออกไปทำสิ่งที่ไม่ใช่งานประจำ  “เพื่อซ่อมแซมโลกให้ดีขึ้น”

          คนดีคือคนที่ลงมือทำ เพื่อช่วยให้โลกดีขึ้น

          ผู้เขียนแนะนำให้พ่อแม่คุยกับลูก และร่วมกันประเมินบรรยากาศภายในบ้าน (อย่าระบุว่าใครทำ) มีการบ่นว่า กับการลงมือทำให้ดีขึ้น มากน้อยแค่ไหน   สถานการณ์ดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร   บอกลูกให้ “เปิดเทป” เสียงบ่นของพ่อแม่    และช่วยกันหาวิธีทำให้เสียงบ่นลดลง    และติดตามผลเป็นรายสัปดาห์    แทนที่ด้วยการช่วยกันลงมือทำเพื้อแก้ไขสิ่งที่ไม่พึงประสงค์    ซึ่งผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะใช้ในโรงเรียนได้ด้วย       

          คำถามจากครูของลูกผู้เขียน   “ลูกชายอายุ ๑๒ ไปอยู่กับยายและตาสองสามวันพร้อมกับลูกพี่ลูกน้องหลายคน   ลูกชายคร่ำครวญว่ายายรักหลานคนอื่นมากกว่า    ยายบอกว่าลูกพี่ลูกน้องขออ่านหนังสือของลูกชาย   และยายบอกให้ลูกชายให้พี่ๆ น้องๆ อ่าน   ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร   ลูกชายขอให้ไปรับกลับก่อนกำหนด   แต่ตนคิดว่าควรให้โอกาสลูกได้แก้ปัญหา และเป็นโอกาสของการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่   ตนเป็นห่วงว่า ลูกชายมักคิดว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ”

          คำตอบของผู้เขียน   “ที่จริงเรื่องแบบนี้เป็นของธรรมดาสำหรับเด็ก   แต่ที่สะกิดใจคือ คุณบอกว่า ลูกชายชอบคิดว่าตนตกเป็นเหยื่อ   คำถามคือ ที่บ้านและที่โรงเรียน ลูกชายทำตัวเป็นเหยื่อหรือเปล่า”

          คำถามรอบสองจากแม่   “เห็นพฤติกรรมเป็นเหยื่อทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน   ที่บ้านเขาโทษแม่ ว่าทำให้ตนไม่มีกางเกงขาสั้นที่ซักแล้วใช้   ทั้งๆ ที่เขารับผิดชอบการซักผ้าของตนเองทั้งหมด   ที่โรงเรียนเขาโทษครู ว่าทำให้การบ้านของเขาหาย   ฉันได้พยายามอธิบายให้เขารับผิดชอบกิจกรรม/พฤติกรรมของตัวเอง”

          คำตอบของผู้เขียน  “เด็กมักเลียนแบบผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลที่บ้าน    หากเห็นว่าพฤติกรรมของผู้ใหญ่ช่วยขจัดอุปสรรคในชีวิตไปได้    ถ้าพ่อแม่โทษกันไปโทษกันมา    นั่นคือที่มาของพฤติกรรมของลูก”

          รอบสามจากแม่   “สามีที่หย่ากันไปแล้วชอบโทษความท้าทายในชีวิต ว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก แทนที่จะสำรวจและปรับปรุงตนเอง    ตอนลูกชายยังเล็ก ครั้งหนึ่งลูกหัวไปโขกประตู   พ่อของเขาปลอบลูก และกล่าวว่า ประตูเลวมาก    เร็วๆ นี้ลูกทะเลาะกับเพื่อนผู้หญิง และพ่อของเขาเข้าไปว่าเด็กผู้หญิงว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน   แต่เมื่อตนเองคุยกับลูกชาย เขาก็ยอมรับว่าเขามีส่วนผิดในการวิวาทนั้น   ไม่ทราบว่าลูกยังเชื่อพ่อแค่ไหน   ลูกเขาเทิดทูนพ่อมาก”

          คำตอบของผู้เขียน  “ส่วนหนึ่งของการบรรลุวุฒิภาวะ คือการรู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง    และรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น   ลูกชายยังอายุเพียง ๑๒   ยังต้องเรียนรู้อีกมาก   และเขาโชคดีที่ได้คำแนะนำป้อนกลับด้วยความรักความเอาใจใส่จากแม่และจากคนอื่นที่รักและห่วงใยเขา   การที่คนที่มีความสำคัญที่สุดต่อเขาสองคนเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ ย่อมเป็นความท้าทาย   แต่เมื่อลูกชายเติบโตขึ้นไปเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย เขาก็จะมีผู้ให้คำแนะนำเพิ่มขึ้น   และนิสัยโทษผู้อื่นก็จะได้รับคำแนะนำป้อนกลับ   หวังว่าเขาจะได้เรียนรู้และปรับตัว จนสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้”

          ตอนที่ ๒  การให้   เป็นเรื่องพัฒนาการของชีวิตคนเราทุกคน   ที่ต้องเปลี่ยนจาก “ชีวิตผู้รับ” ในตอนเป็นทารกและเด็กเล็ก   แล้วค่อยๆ เปลี่ยนโลกทัศน์และทักษะ สู่การเป็น “ผู้ให้” มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น    พ่อแม่/ครู ต้องช่วยเหลือหรือฝึกเด็กให้มีพัฒนาการนี้อย่างเหมาะสม    เด็กที่ยังยึดติดใน “ชีวิตผู้รับ” อย่างเหนียวแน่น แม้อายุเข้า ๕ ขวบแล้ว    เป็นเด็กโชคร้าย ที่พ่อแม่/ครู เลี้ยงผิด    กลายเป็นเด็กที่มีพัฒนาการบกพร่องทางจิตใจ    ทั้งหมดในย่อหน้านี้ผมตีความและต่อเติมเอง    ไม่ได้เขียนจากสาระในหนังสือตรงตามตัวอักษร   

          ความอยู่รอดในชีวิตของทารกและเด็กเล็กอยู่ที่การเรียกร้องเอาจากพ่อแม่/คนเลี้ยง    แต่สภาพนี้จะค่อยๆ เปลี่ยน จนกลับตรงกันข้ามเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่    คือความอยู่รอด/อยู่ดี อยู่ที่การเอื้อเฟื้อหรือการให้   ที่จะนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม ทำงานใหญ่ได้

          พัฒนาการในชีวิตคนเรา เริ่มจากเห็นแก่ตัว    ไปสู่เห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม    ใครที่กระบวนการพัฒนาการนี้บกพร่อง ชีวิตก็บกพร่อง

          ชีวิตคือการเดินทาง จากโลกแคบ (ตัวตนคนเดียว)  สู่โลกกว้างและสังคม   คนเราต้องเรียนรู้เพื่อการเดินทางนี้  

          คำถามของสาว ๑๓  “แม่ชอบดุหนู   และเอาใจแต่น้องสาว    หนูพยายามจะไม่โวยวายแต่แม่ก็ทำให้หนูพลุ่งขึ้นมาทุกที   หนูหนีเข้าไปร้องไห้ในห้อง แม่ก็ว่าหนูแกล้งทำ    หนูรู้ว่าแม่รักหนู   แต่แม่รักน้องมากกว่า    และแม่มีวิธีแสดงความรักหนูแบบแปลกๆ   หนูรู้สึกดีกับพ่อ เพราะพ่อรักลูกเท่ากัน    แต่กับแม่หนูรู้สึกคล้ายเป็นการแย่งความรักจากแม่ และน้องชนะทุกที    แม้หนูจะเข้าวัยทีนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าหนูไม่ต้องการให้แม่กอดยามรู้สึกไม่ดี   ไม่ใช่แค่บอกว่าดีแล้ว”

          คำตอบของผู้เขียน (Annie Fox)   “ฉันเข้าใจว่า เธอต้องการให้แม่เข้าใจเธอ   สนใจเอาใจใส่เธอในฐานะคนพิเศษ   เธอรู้สึกว่าน้องสาวได้รับความเอาใจใส่แบบนั้น   แต่เธอไม่ได้รับจากแม่   ไม่ว่าจะทำดีอย่างไรก็ไม่ได้รับคำชมจากแม่    กรณีนี้เป็นสถานการณ์ที่ยาก    ไม่ทราบว่าแม่ของเธอตระหนักในความรู้สึกนี้ของเธอหรือไม่    หากหาทางให้แม่ตระหนักได้ก็จะเป็นการดี

          น่าดีใจที่เธอเข้ากับพ่อได้ดี   เป็นไปได้ไหมที่จะอาศัยพ่อช่วยพูดกับแม่   ให้แม่ได้รับรู้ความรู้สึกของเธอ    ซึ่งจะช่วยให้แม่ได้ปรับตัว ในการแสดงออกกับเธอ”

          สาว ๑๓ รอบสอง  “ขอบคุณมาก    คำแนะนำช่วยได้มาก   แต่ไม่สะดวกใจที่จะพูดเรื่องนี้กับพ่อ    จะพยายามด้วยตัวเอง”

          คำตอบของผู้เขียนรอบสอง  “วิธีไหนก็ได้   ฉันเดาว่าแม่ไม่รู้ว่าเธอรู้สึกอย่างไร    ฉันสังเกตว่าเธอเขียนหนังสือเก่ง    ทำไมไม่ลองเขียนจดหมายถึงแม่และนำไปยื่นให้ด้วยตนเอง    เขียนแบบเดียวกับที่เขียนถึงฉันนี่แหละ”      

 

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 555218เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 11:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อปรัชญาจากศาสนทูต เก่าแก่ ถูกแต่งแต้ม สอดใส้ จากผู้มุ่งผลประโยชน์ ในรูปแบบนักบวช นักพรต นักพยากรณ์

ใยเราไม่ดำรงศีล(ธรรม) ทั้งกตัญญูธรรม ยุติธรรม และทุกๆธรรมมาสู่หัวใจ จากนั้นศีลมี สมาธิมา ปัญญา ก็จะเกิด

ปรัชญาใหม่ๆที่มีอายุเพียง 1400 กว่าปี น่าจะคำนวนได้ว่า ปรัชญานั้น คือ สิ่งที่เป็นปัจจุบันกว่า ปรัชญาเก่าๆ 2000 กว่าปีได้มิใช่หรือ

แล้วในเมื่อศาสนทูตเก่าๆ แนะนำให้มนุษยชาติ อยู่กับปัจจุบัน ปรัชญาปัจจุบัน ที่ไร้การแต่งเติม สอดไส้ ไร้ผลประโยชน์ ไร้สภาวะจำยอมให้ตกเป็นทาส เป็นนาย ต่อกันของพี่น้องมนุษย์ เป็นการประกาศที่เป็นทางการปรัชญาเดียว ที่มีมาในโลกด้วยซ้ำ ไม่มีพิธีกรรม ไม่มีวรรณกรรมของมนุษย์ผู้ใด ไม่มีภาวะจำยอมใดใดบังคับขู่เข็ญ ไม่มีการพนัน(แม้แต่พนันที่จะเอาบุญ) ไม่มีการข่มขู่ด้วยวลีของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นกรรม เวร ทุกข์ หรือมีกิเลสล่อลวงว่า สุข หลุดพ้น พ้นทุกข์ใดใดทั้งสิ้น ปรัชญานั้น สมควร ลองก่อนเชื่อ ตามที่ศาสนทูตเก่าแก่แนะนำไว้แล้ว. นั่นก็เพียงพอแล้วที่ทุกคนจะ ลองก่อนเชื่อ. ลองเดินทางอันเที่ยงตรง หลังจากเดินทางไกล คดเคี้ยว อ้อมค้อม มานานกันบ้างหรือไม่ล่ะ หากเดินทางผิด มันก็คล้ายท่านเอาทางตรง ซื้อทางคดเดี้ยวไปเดินมิใช่หรือ งั้นก็กลับมาที่ทางแยก แล้วเดินทางตรง โดยเอาทางคดเคี้ยวที่ท่านอธิบายวิบากมันได้นั้น ซื้อทางตรงคืนมาก็ได้นี่นา. มูลค่ายังเหลือที่จะอธิบายให้ลูกหลานรับทราบวิบากนั้นอยู่ ท่านยัง"กำไร" อยู่นะ มิใช่ขาดทุน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท