การเมืองและการปกครอง เรื่องเดียวกันหรือ


การเมือง ( Politic ) และการปกครอง ( Administration ) นั้น เป็นคนละเรื่องอย่างชัดเจน  ขณะเวลานี้ผู้คนในประเทศไทยตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก จนเกิดปรากฎการณ์แยกข้างและต่างสี นั่นเพราะแนวนโยบายทางการเมืองที่บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองได้หาเสียงและผลักดันให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนจนถึงขั้นพัฒนาเกิดเป็นระบบการเมืองและเศรษฐกิจแนวประชานิยมขึ้นในเมืองไทย ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่หลักแหลมตรงปัญหาของคนไทยส่วนใหญ่และทันสมัยในมุมมองที่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยที่ก่อนนี้ประเทศไทยไม่มีความชัดเจนนักในเรื่องแนวนโยบายทางเศรษฐกิจภาคเกษตร คือขาดรูปแบบ หรือการวางระบบของการพัฒนาเศรษฐกิจของเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตามเนื่องจากนโยบายทางเศรษฐกิจมีที่มาจากนโยบายทางการเมืองเช่นนั้นจึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองและท้ายสุดกลายเป็นความแตกต่างทางความเห็นในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในฝ่ายนักวิชาการ ทั้งโดยหลักวิชาการและการโอนเอียงเข้ากับฝ่ายการเมืองที่ตนใกล้ชิดหรือร่วมงาน อีกด้านคือประชาชนที่สังกัดกลุ่มฐานเสียงของพรรคการเมืองต่างออกมาแสดงออกเพื่อปกป้องสนับสนุนการเมืองฝ่ายของตนเลยเถิดไปกลายเป็นการปะทะระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง คือกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคการเมือง และกลุ่มประชาชนผู้เชื่อถือศรัทธานักการเมืองพรรคการเมือง ในแบบสมาชิกพรรคหรือการยอมร่วมมือด้วยผลประโยชน์ หรือแม้แต่การเชื่อโดยถูกชักนำด้วยข้อมูลทั้งจริงและเท็จ ขึ้นอยู่กับระดับความคิดความเชื่อของแต่ละบุคคลหรือกลุ่ม ลงท้ายด้วยการขัดแย้งรุนแรงระดับวิกฤตความเห็นทางการเมืองตั้งแต่ในระดับครอบครัวชุมชนและสังคมประเทศ

                                แต่ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมไทยในปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่ามีที่มาจากอุดมการณ์และผลประโยชน์ทางการเมืองที่ผนวกนโยบายเศรษฐกิจนั้น นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีมูลรากของปัญหาสำคัญอีกประการ ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ใส่ใจ ไม่กล่าวถึง หรือเพราะไม่ทราบก็ตาม นั่นคือปัญหาทางระบบการปกครองประเทศ ในที่นี้จะกล่าวแยกจากระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่กลายเป็นเรื่องขัดแย้งในระดับความเข้าใจแบบการเมือง ที่สื่อสารเพียงข้อมูลบางด้านให้เกิดความเข้าใจที่คาดประสงค์ให้เกิดขึ้นในแต่ละฝ่าย และผมเชื่อว่าจากการใส่ใจวิเคราะห์ปัญหาการเมืองที่ส่งผลต่อระบบการปกครองอย่างเข้าใจของผู้คนจำนวนมากพอสมควร คือส่วนหนึ่งของการแสดงการต่อต้านการบริหารของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มาจากการเลือกตั้งในขณะเวลานี้

                                สืบเนื่องจากปัญหาการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองและอำนาจในการปกครองประเทศครั้งสำคัญที่นำมาสู่การปรับปรุงเนื้อหาการปกครองบริหารประเทศไทยในเวลาต่อมา คือหลังจากเกิดกรณีพฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ฝ่ายอำนาจรัฐบาลทำการปราบปรามประชาชนที่ออกมาประท้วงขับไล่นายกรัฐมนตรีที่เคยเป็นผู้นำกองทัพและมีส่วนในการยึดอำนาจรัฐบาลชุดก่อน ภายหลังเหตุการณ์คลี่คลายได้ด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อวางรากฐานวิธีการปกครองประเทศให้มั่นคงภายใต้กรอบของระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขณะนั้นประชาชนที่มีส่วนสำคัญในการแสดงออกทางการเมืองแต่แรกได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเรื่องระบบการปกครองของประเทศในแบบที่ควรจะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย โดยมีเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ จนเรียกกันต่อมาว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดของประเทศที่เคยมีมาจำนวนมาก และยอมรับกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. ๒๕๔๐ คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน จากนั้นพรรคการเมืองของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ชื่อ “พรรคไทยรักไทย”ได้เกิดขึ้น ภายใต้สโลแกน “คิดใหม่ทำใหม่” เริ่มจากที่ให้ประชาชนทั่วประเทศเสนอและคัดเลือกชื่อพรรคการเมืองนี้ ซึ่งต่อมาได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากถล่มทลาย มีสถิติประชากรมาใช้สิทธิสูงสุดตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งมา นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่พลิกโฉมหน้าใหม่อย่างแท้จริง และต่อมานายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งครบวาระ ๔ ปี อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลทักษิณในวาระแรกนั้นเป็นผลจากการวางระบบเนื้อหาการปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วม และสมตามเจตนารมณ์ของประชาชนหรือของประเทศ

                                อย่างไรก็ตามหลายสิ่งที่สังคมไทยคิดว่านี่คือประชาธิปไตยเต็มใบ ก็เกิดความแคลงใจฉุกคิดขึ้นมาอีกรอบว่า การวางระบบเนื้อหาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในแบบที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ นั้นเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือกลับกลายเป็นปัญหาข้อใหม่ที่ท้าทายให้ประชาชนต้องตอบคำถามตัวเองที่เป็นผลจากคำตอบในอดีตที่เคยตอบไว้นั้น................

หมายเหตุ    บทความนี้ผมไม่เจตนาฉีกหลักรัฐศาสตร์ที่แยกการเมืองและการปกครองออกมาวิเคราะห์นะครับ เข้าใจว่าโดยรัฐศาสตร์นั้นการเมืองและการปกครองเป็นเนื้อเดียวอย่างแยกไม่ออก แต่ผมขอคิดในเชิงสังคมวิทยาการเมือง แยกจากการปกครองในทางบริหารครับ ดังนั้นอาจแตกต่างจากตำราอยู่บ้าง แต่ขอให้ทุกท่านช่วยชี้แนะ มุมมองเช่นนี้ผิดถูกอย่างไร วงวิชาการก็พัฒนาครับ เพราะผมไม่เสนอความคิดเชิงแตกแยกหรือ กลับหลักทฤษฎีที่ท่านครูบาอาจารย์สั่งสอนมาเป็นแน่

หมายเลขบันทึก: 555217เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 11:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 11:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท