สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

ลบวลี Don’t THAI to Me สู่ Active Citizen


     ...คำฮิตติดหูวันนี้ คงไม่มีอะไรแรงกว่า วลี ที่ว่า Don’t THAI to Me (อย่ามาทำเป็นไทยกับฉัน) จากที่ผู้เขียนได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกระแสในโลกออนไลน์ขออนุญาตนำเรื่องนี้มาโยงให้เห็นว่า ในขณะที่วลีนี้กำลังทำลายภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย ยังมีเยาวชนกลุ่มหนึ่ง สวนกระแสเพื่อลบคำสบประมาทเกี่ยวกับ วลี นี้

     Don’t THAI to Me คำแสลงดังกล่าวเป็นคำที่คนไทยแต่งขึ้นมาเองเพื่อโจมตีกันเอง ซึ่งเว็บไซต์พันทิป มีการตั้งกระทู้ถามถึงคำแสลงคำนี้ว่ามีการใช้จริงหรือไม่ในต่างประเทศ ซึ่งบางความเห็นก็ระบุว่าคำๆ นี้มาจากคนไทยที่ไปเล่นเกมในเซิร์ฟเวอร์ของต่างประเทศแล้วมีการพิมพ์คุยกันเองโดยใช้ภาษาอังกฤษแบบคาราโอเกะตามบ้านเรา จึงทำให้ฝรั่งไม่เข้าใจหรือสื่อความหมายไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เมื่อไปค้นหาในเว็บไซต์ต่างประเทศแล้วก็ไม่พบคำนี้เช่นกัน หรือค้นหาจากกูเกิลก็ไม่ปรากฏคำดังกล่าว มีเพียงเว็บไซต์ของไทยเท่านั้นที่พูดถึงแสลงคำนี้ 

     ขณะนี้ในโลกออนไลน์ของต่างชาติในกลุ่มวัยรุ่น เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ ได้มีการบัญญัติศัพท์แสลงใหม่ คือคำว่า Don't Thai to me  ซึ่งหากแปลตรงๆ อาจจะหมายถึง อย่ามาทำเป็นไทยกับฉัน แต่ความหมายของคำแสลงดังกล่าวคือ อย่ามาโกงฉัน อย่าโกหกฉัน โดยคำว่า Thai  กลายเป็นศัพท์ที่หมายถึง การโกง การโกหกหรือการเอาเปรียบ จึงทำให้เกิดคำศัพท์แสลงดังกล่าวแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย

     ในเวลาเดียวกันที่เกิดวลีนี้ขึ้นมา...อาจใช้คำกล่าวนี้ไม่ได้กับเยาวชนสงขลากลุ่มนี้ที่ลุกขึ้นมาทำ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 2ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สงขลาฟอรั่ม ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ยาวชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดสงขลา จึงได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาบ้านเมือง จากโจทย์ที่ตนเองมองเห็นในชุมชนของตนเอง

     1 ปีที่ผ่านมา เมื่อโครงการสิ้นสุดลงพบว่า การทำโครงการเช่นนี้ ได้ปลูกความเป็นพลเมืองขึ้นในหัวใจเยาวชนสงขลาจำนวนหนึ่งได้ ด้วยศักยภาพของตัวเยาวชนสงขลาที่มีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งยังเห็นพัฒนาการของเยาวชนที่สามารถจะเติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพได้ จึงเกิดโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 2 ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อเพิ่มบทบาทของความเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย โดยมีกลุ่มต่อยอดจากปีที่1 เข้าร่วม 5 กลุ่ม คือ

  1. โครงการปลูกต้นน้ำคืนชีวิต กลุ่ม CD Power จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  2. โครงการแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัดบ่อทรัพย์ กลุ่มจิตใสอาสา โรงเรียนวัดบ่อทรัพย์
  3. โครงการพลังเยาวชนจัดการชุมชนเรียนรู้หาดสงขลา กลุ่ม Beach for life 2 โรงเรียนมหาวชิราวุธ
  4. โครงการภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา 2 กลุ่มชมรมต้นคิด โรงเรียนมหาวชิราวุธ 
  5. โครงการกองทุนขยะเพื่อพัฒนาบ้านเกิด กลุ่ม Rn mix โรงเรียนระโนด

     นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม บอกว่า โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาเป็นโครงการที่มี “กระบวนการ” สร้างสรรค์พลเมืองเยาวชน  จะเห็นได้ว่าเยาวชนที่ทำโครงการในปีแรกเกิดจิตสำนึกรักชุมชน  บ้านเกิด  มองเห็นปัญหาของชุมชน และปรารถนาจะร่วมกันแก้ไข  มีการสร้างแกนนำร่วมทำงาน และเติมทักษะชีวิตในตัวแกนนำ มีการพัฒนาโครงการและปฏิบัติงานตามแผนที่วางไว้  มีการทบทวนและถอดบทเรียนตัวเอง แต่ที่ยังไม่เข้มข้นมากนักคือเรื่องของประเด็นร่วมและการทำงานสร้างเครือข่าย

 

 

 

     ในการ “ประชุมพัฒนาและสร้างสรรค์กระบวนการทำงานเพื่อส่วนรวมของเยาวชน”  เพื่อ “ขับเคลื่อน” การทำงานของเยาวชนใน “โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 2” เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2556 ครั้งนี้มีการนำแนวคิด หลักเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการพัฒนาเยาวชน โดยเป็นสิ่งที่นำมาบูรณาการให้เข้ากับการทำงานได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังทำให้ตัวโครงการเองมีความชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่การเขียนโครงการถึงกรอบการทำงานในเรื่องของระยะเวลาที่กลุ่มของตนเองจะทำได้ภายใต้ศักยภาพที่มีอยู่ โดยมี นางสาวอุบลวรรณ  เสือเดช   เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มาให้ความรู้ว่า การเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ต้อง “คิด” ให้มากขึ้น  และการทำงานทุกอย่างต้องมี “หลักคิด” คอยกำกับการตัดสินใจเพื่อให้งานที่วางไว้สำเร็จตามเป้าหมาย  โดยโครงการนี้จะใช้หลักคิด 5 ข้อ คือ เหตุผล พอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน ความรู้และคุณธรรม

 

 

     

 

  เหตุผล หมายถึงเราต้องมีเหตุผลที่ดีในการทำสิ่งนั้นๆ ซึ่ง อาจมีหลายเหตุผลก็ได้ เช่น เป็นความต้องการของชุมชน เป็นบ้านของเรา หรือเราเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ หรือเราทำได้ ส่วน พอประมาณ คือการวิเคราะห์ศักยภาพของทีมหรือทุนที่มีที่จะทำให้โครงการสำเร็จ  โดยต้องรู้ว่าเพื่อนร่วมทีมมีประสบการณ์และความสามารถอย่างไร มีทุนชุมชนหรือไม่ นอกจากนี้ยังรวมถึงความเหมาะสมกับเวลา งบประมาณ และกำลังคนที่มีอยู่ด้วย  ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ใช่โจทย์ใหญ่ก็ได้ เพราะโจทย์ปัญหาใหญ่ต้องใช้ทั้งเงิน และแรงมาก ให้เลือกทำในสิ่งที่น้องๆ ทำได้ตามศักยภาพ  บางปัญหามันใหญ่เกินไปต้องใช้แรง ใช้เงิน เราเลือกทำในสิ่งที่เราทำได้ตามศักยภาพของเรา 

     สำหรับ  ภูมิคุ้มกัน  นำมาใช้เป็นหลักคิดว่าถ้าจะทำงานให้สำเร็จมีอะไรสนับสนุนเราบ้าง  และมีความเสี่ยงอะไรที่จะทำให้เราทำงานไม่สำเร็จ  เราจะมีวิธีจัดการกับความเสี่ยงนั้นอย่างไร   ส่วน ความรู้  เราต้องถามตัวเองว่าเรามี “ความรู้” ที่จะทำเรื่องนี้แค่ไหน ทั้งความรู้เกี่ยวกับโจทย์ปัญหาที่เราทำ สาเหตุ ผลกระทบ คนที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ และเนื้อหาความรู้ ความรู้ที่ใช้แก้ปัญหา วิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผล     และสุดท้ายคือหลัก คุณธรรมที่น้องๆ ทุกคนต้องมีในการทำงาน  เพราะการทำโครงการเราต้องทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งบางครั้งน้องๆ อาจจะเหนื่อย ท้อ มีร้องไห้บ้าง ดังนั้นน้องๆ จึงต้องใช้ความอดทน  ความรับผิดชอบ รวมถึงต้องเคารพผู้อื่น และชื่อสัตย์ทั้งต่อตนเอง และเพื่อนร่วมงานด้วย

 

 

   

 

    เมื่อน้องๆ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์โครงการด้วยหลักคิด 5 ข้อแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการพาน้องๆ ทำ “ไทม์ไลน์” เริ่มจากให้น้องๆ  นำหลักคิด 5  ข้อข้างต้นมาวิเคราะห์โครงการ  โดยวางกิจกรรมที่ตนเองสามารถทำได้ในแต่ละช่วงเวลา  เพื่อให้เพื่อนในกลุ่มเห็นเป้าหมายและกิจกรรมร่วมกันได้อย่าง

     นายสรประสิทธิ์ จิตดำริ หรือ “น้องอ้วน” โครงการกองทุนขยะเพื่อพัฒนาบ้านเกิด  กลุ่ม Rn mix โรงเรียนระโนด  กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจที่มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ใน เรื่อง  3 ห่วง 2 เงื่อนไขของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการนำมาเชื่อมโยงการทำงาน ทำให้เห็นข้อบกพร่องของโครงการได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าสิ่งไหนในโครงการที่เราจะทำภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดได้ทันหรือไม่

  

 

  ในขณะที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เห็นเยาวชนสงขลา ที่มีจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่มีความรักต่อบ้านเมืองตัวเอง ก็แอบคิดไม่ได้ว่า นับวันจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ดีต่อสังคม บ้านเมือง และประเทศชาติ ได้เริ่มหดหายไปจากคนไทย แถมทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม จนเกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของประเทศชาติ และการวิจารณ์ในหมู่นานาประเทศโซนเอเชียDon’t THAI to Me ฟังดูแล้วคุณค่าของความเป็นไทยที่เคยถูกขนานนามได้ว่าเป็นเมืองแห่ง “รอยยิ้ม” วันนี้กลับถูกแทนที่ด้วย Don’t THAI to Me แต่วลีดังกล่าวเห็นทีจะใช้ไม่ได้กับเยาวชนเมืองสงขลา เพราะวันนี้เยาวชนเองได้พร้อมใจกันลุกขึ้นมาเพื่อปกป้อง ดูแล รักษา บ้านเกิดให้คงความเป็นเมืองสงขลาได้เช่นเดิม

     ผู้สนใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหว ความเข้มข้น และความสนุกสนาน ของ โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่2 ได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิสยามกัมมาจ (http://www.scbfoundation.com) และในแฟนเพจ มูลนิธิสยามกัมมาจล (https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION) รับรองว่าหากใครได้เข้ามาสัมผัส ความคิด และทัศนคติจากพลังเล็กๆ ของเยาวชนกลุ่มนี้แล้วไม่ผิดหวังแน่นอน

 

หมายเลขบันทึก: 555223เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ธันวาคม 2013 12:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท