ชีวิตที่พอเพียง : 137. ไปเยี่ยมลูกที่โคโลราโด : 9. วันสุดท้ายและการเดินทางกลับ


       วันที่ 6 ตค. เช้า คุยกับกช เรื่องโครงการ KDI ที่กชกับเพื่อนอีก 4 คน รับทุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ไปดำเนินการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและภูมิสถาปัตย์ของสลัมที่ประเทศเคนยา เป็นเวลา ๑ เดือน 

       กชพบว่าชาวสลัมที่นั่นถูกหลายหน่วยงาน ทำให้มีจริตมุ่งแต่จะแบมือขอ    การมาประชุมต้องให้เบี้ยเลี้ยงวันละ 200 ชิลลิง    แต่กชรู้สึกว่าเขามาเพราะอยากได้เงิน ไม่ใช่เพราะต้องการพัฒนาชุมชนของตน    หลังสัปดาห์แรกจึงลดเบี้ยเลี้ยงเหลือวันละ 50 ชิลลิง    ก็มีคนจำนวนหนึ่งหายตัวไป    แต่ก็ยังมีคนมา และไปชวนเพื่อนมาเพิ่มอีก     คือมีทั้งชาวบ้านที่ต้องการพัฒนาความเป็นอยู่ของชุมชนจริงๆ     และชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมเพราะต้องการได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง

       คุยกันเรื่องความยั่งยืนของโครงการพัฒนาที่เข้าไปจากภายนอก     ทำอย่างไรให้ทรัพยากรจากภายนอกเข้าไป empower กิจกรรมพัฒนาที่ชุมชนเขาทำกันเองอยู่แล้ว     ทำอย่างไรไม่ให้ทรัพยากรจากภายนอกเข้าไปปรนเปรอคนในชุมชนจนเสียคน เสียความดิ้นรนที่จะช่วยตนเอง      เรื่องเหล่านี้เรากับลูกสาวคนที่สองคุยกันบ่อยๆ     และเข้าใจว่ากชคงจะเคยคุยกับลูกสาวคนที่สองด้วย    เขาสนใจคนยากคนจนเหมือนๆ กัน จึงสนิทกัน

       เราถามว่าทาง ฮาร์วาร์ด มีความร่วมมือเรื่องนี้กับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นหรือไม่    ทราบว่ามี  คือร่วมกับ มหาวิทยาลัย โจโม เคนยัตต้า  
 
       ลูกชายคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับศิษย์ในทางพุทธ 3 แบบ คือ
          1. แบบ ครู - ศิษย์  เป็นแนว หินยานหรือเถรวาท
          2. แนว ร่วมเรียนรู้  หรือ ลปรร.  เป็นแนว มหายาน   เน้นการเรียนรู้เป็นกลุ่ม
          3. แนว flow  คือมีชีวิตร่วมกัน เน้นความสัมพันธ์แบบ individual ต่อ indiviadual    เป็นแนว วัชรยาน  ทำเป็นกลุ่มไม่ได้

      ลูกไปเช่ารถ     ภรรยากับผมไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะข้างบ้าน     แล้วไปซื้อผลไม้และอาหาร เครื่องดื่ม เตรียมทำแซนวิชไปกินที่ แอลเอ ที่ร้าน Safeway ซึ่งใหญ่มาก  ขายอาหารและเครื่องดื่มครบวงจร     ต้องการอาหารสด แห้ง สำเร็จรูป ผลไม้ เครื่องดื่ม มีหมด    คงจะเป็นกระแสทั่วโลกที่ร้านแบบนี้กลืนร้านชำเล็กๆ หมด    เพราะมาจุดเดียวซื้อได้ทุกอย่าง
  
      กลับมาทำอาหารเที่ยงกินที่บ้าน    ตั้มทำข้าวผัดขี้เมาให้กิน อร่อยดี 

     ก่อนออกจากบ้าน ชักรูปกันในห้องรับแขก   แล้วไป Shopping Mall ซึ่งอยู่ทางไปสนามบิน   ไปดู 3 ที่    สาวๆ เขาไปซื้อเครื่องสำอางตามสั่ง  

    ไปถึงสนามบินเวลา 17 น. หาที่จอดยาก    ไป check in ที่เคาน์เตอร์ American Airlines    มีปัญหาเขาหาชื่อเรา 2 คนไม่พบ    ต้องโทรไปหา Cathay Pacific   จนได้โค้ดมาเข้าคอมพิวเตอร์ของ Cathay Pacific    แต่ยังไม่สามารถ check through กระเป๋าตรงไปกรุงเทพได้    เจ้าหน้าที่หญิงอายุราวๆ 50 สองคนช่วยกันก็ไม่สามารถ print baggage tag ไปกรุงเทพได้    เจ้าหน้าที่ผู้ชายอายุราวๆ 30 ชื่อ Jessie มาจัดการได้    เสียเวลารอทั้งหมด 40 นาที     ตั้มพาไปทางที่จะผ่าน security check แล้วรีบลากัน เพราะจะได้จ่ายค่าจอดรถชั่วโมงเดียว 
 
     Security check คนไม่มาก    เรา 2 คนต้องตรวจละเอียด    คงเป็นเพราะเราจะเดินทางออกนอกประเทศ    นอกจากเอากระเป๋าผ่านการตรวจต้วยเครื่องเอ็กซเรย์ตามปกติแล้ว    เขาเปิด handbag เอาเครื่องตรวจตรวจสิ่งของทีละชิ้น เช่นหยิบ PDA เอามาใช้เครื่องตรวจไล่ไปรอบเครื่อง  

    ตอนให้คนผ่านเครื่องตรวจ ครั้งนี้เป็นครังแรกที่ต้องผ่าน "ห้อง" ที่เมื่อเดินเข้าไปประตูจะปิดตาม   เราต้องยืนตรงที่มีเครื่องหมายรูปเท้าและประตูด้านหน้ามีไฟแดงขี้น   มีลมเป่าใส่ตัวหนึ่งฟืด    มีเสียงบอกให้ยืนรอจนไปเขียวขึ้น ก็ออกไปได้    ตอนนั้นเราถอดรองเท้า เข็มขัด และเสื้อโค้ต   เทคโนโลยีตรวจจับระเบิดก้าวหน้าขึ้นป้องกันการก่อการร้ายที่ก้าวหน้าขึ้น    แบบเดียวกับเชื้อโรคกับการป้องกันเชื้อโรค

      จากนั้นลงบันไดเลื่อนไปยังทุก Concourse ทุก Gate   ไปขึ้นรถไฟฟ้าพาไป concourse A B C

      เข้ามารอที่ Gate C 39  เวลาประมาณ 18.20 น.  ภรรยาชวนกินแซนวิชสุดอร่อยที่ตั้มกับกชช่วยกันทำให้     ลูกเขามีสูตรว่าใส่อะไรบ้างจึงจะอร่อย     เขารู้ว่าเราชอบอะโวคาโด้    จึงซื้อมาผ่า ตักใส่แซนวิชด้วย     ทำให้มีรสมันๆ อร่อยมาก     อะโวคาโด้ลูกละ 2 ดอลล่าร์      เราพกขวดน้ำที่ไม่มีน้ำมาด้วย สำหรับเอามารองน้ำจาก "น้ำกด" คือที่ดื่มน้ำสาธารณะ ซึ่งน้ำเย็นและจืดอร่อยดีพอๆ กับน้ำขวดที่ซื้อขวดละสองดอลล่าร์     เราต้องพกมาเฉพาะขวดเปล่า เพราะเขาห้ามเอาน้ำผ่าน security check     เราต้องการประหยัด จึงเอาขวดเปล่ามารองน้ำกินฟรี     นี่คือวิธีง่ายๆ สำหรับฝึกมีชีวิตแบบพอเพียง
  
      เครื่องบินใช้เวลาบินจาก เดนเวอร์ ถึง แอลเอ เพียง 2 ชม. 5 นาที 

      ที่สนามบิน แอลเอ เดินจาก Terminal 4 ไปยัง Tom Bradley International Terminal ไปขึ้น boarding pass ที่เคาน์เตอร์ของสายการยิน Cathay Pacific  ขอที่นั่ง aisle seat หรือ window seat เขาว่าไม่มี  ให้ที่นั่งที่จัดว่าไม่มีใครอยากได้เพราะอยู่ตรงกลางคือ 49 E & F ทั้งๆที่เรา check in ก่อนเวลากว่า 2 ชั่วโมง   เจ้าหน้าที่เป็นคนจีนพูดไม่เพราะ ท่าทางไม่มีมิตรภาพ 
 
      security check ที่ แอลเอ เหมือนขาออกจาก แอลเอ ไป เดนเว่อร์    คือตรวจเข้มน้อยกว่าที่เดนเว่อร์เมื่อเย็นนี้

     ตอนเข้าที่นั่งมีคนต้องการนั่งด้วยกันที่ 49 F & G เขาจึงให้เราไปนั่งที่ 49 H ซี่งเป็น isle seat   และบังเอิญที่นั่ง 49 J ซึ่งติดกับ 49 H ว่าง หมออมราจึงย้ายมานั่งด้วยกัน   กลายเป็นโชคดีไป

    เวลาบิน แอลเอ - ฮ่องกง  13 ชม. 52 นาที    บริการบนเครื่องบินดีมาก    หัวหน้าฝ่ายบริการเป็นผู้หญิงอายุกลางคน    คอยดูแลเอาใจใส่ผู้โดยสาร  และหน้าตาท่าทางยิ้มแย้ม 

    คนนั่งแถว 50 สามคนหลังที่นั่งเราเป็นชายฮ่องกงอายุกลางคน    ที่ตอนเริ่มเดินทางก็คุยกันเสียงดัง    พอถึงตอนนอนหลับ แกผลัดกันลุกเข้าลุกออกและเหนี่ยวพนักพิงของเรา    น่ารำคาญมาก    สายการบินน่าจะพิมพ์คำแนะนำมรรยาทในการเป็นผู้โดยสารเครื่องบิน ที่ไม่ก่อความรำคาญให้แก่ผู้อื่น 
 
     ทำเลที่นั่งระหว่างแถว 45 - 50 นี้ดี    เพราะใกล้ห้องน้ำ  และใกล้จุดบริการน้ำและอาหารว่าง    เราเดินไปหยิบกินดื่มเองได้สบาย  

     ผู้หญิงเวียดนามที่นั่งติดหมออมราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้    แอร์โฮสเตสมาเสิร์ฟอาหารเช้า ถามแกว่า What would you like to have? แกไม่เข้าใจ    หมออมราช่วยบอกว่าให้เอามาทั้งสองอย่าง   หมออมราใจดีเกิน ต้องการเอาให้หญิงเวียดนามเลือก   และบอกแอร์โฮสเตสว่า She cannot understand English.   แอร์โฮสเตสงงและบอกว่า I want to speak to her.   เป็นทำนองว่าเขาไม่ต้องการให้เราเข้าไปยุ่ง    นี่คือความแตกต่างทางวัฒนธรรม    คนไทยอยากช่วยเหลือ  คนฮ่องกงมองว่าเสือกไม่เข้าเรื่อง
 
      อาหาร 2 มื้อบนเครื่องบินอร่อยทั้งสองมื้อ    เครื่องลงฮ่องกงก่อนเวลาเล็กน้อย    เราใช้ Boarding Pass ถามทางไปตลอดทาง และได้บทเรียนว่าต้อง double check คำแนะนำที่ได้ โดยดูที่บอร์ด และถามพนักงานคนอื่นด้วย    อย่าเชื่อพนักงานคนเดียว  บางครั้งวิธีสื่อของเขาไม่แม่นยำ ทำให้เราเข้าใจผิด
  
     เวลาบนเครื่องบินขากลับนี้สบายกว่าขาไปมาก เพราะได้ที่นั่งริมทางเดิน    นอนหลับได้ 5-6 ชั่วโมง  ถ้าไม่โดนคนจีนที่นั่งข้างหลังคอยเหนี่ยวพนักพิง เราคงจะนอนหลับได้มากกว่านี้

     เดินไปที่ Terminal E 2 ไกลมากผ่านสายพานคนเดินประมาณ 6 ช่วง

     security check คราวนี้ใช้เครื่องเอ็กซเรย์กระเป๋า และให้คนเดินผ่านเครื่อง    เข้มงวดน้อยกว่าขาไปอเมริกามาก

    ไปนั่งรอที่ Gate 1 ตั้งแต่ 6 น.   เครื่องกำหนดออกเวลา 8.55 น.   มีคนนอนรออยู่ที่เก้าอี้ 2 คน

    เราเดินหาปลั๊กไฟ เพื่ออัดแบตคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค   แต่อนิจจา ปลั๊กของฮ่องกงเป็น 3 รูขวางแบบอังกฤษ    เป็นบทเรียนว่ามาฮ่องกงค้องเตรียม adaptor มา

      CX 713 ฮ่องกง - กรุงเทพ - สิงคโปร์ ใช้เครื่องบิน Boeing 747-400 ผู้โดยสารเพียงครึ่งลำกว่าๆ    เราจึงย้ายที่นั่งมานั่งริมหน้าต่าง 2 คน 3 ที่นั่งสบายๆ     กินอาหารเช้าอีกหนหนึ่ง    อาหารอร่อยเช่นเคย     บินเพียง 2 ชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ   

       สนามบินสุวรรณภูมิมีข้อดีกว่าดอนเมืองคือเครื่องบินไม่ต้องบินวนรอให้ถึงคิวลง     พอบินมาถึงก็ได้ลงเลย รวดเร็วดี    การตรวจคนเข้าเมือง  รับกระเป๋า  และผ่านศุลกากรสะดวกดี     แต่มีจุดอ่อนที่การจัดระบบการให้รถเข้ามารับผู้โดยสารแบบไม่จอดรอหรือจอดแช่     ระบบป้ายบอกเกี่ยวกับ Shuttle Bus ไปยังสถานีรถประจำทางก็ไม่ดี  
 
       ลูกสาวคนโตขับรถมารับ     ใช้เวลาเพียง 40 นาทีก็ถึงบ้านที่ปากเกร็ด

                     

            ออกไปเดินเล่นที่ North Boulder Park ใกล้บ้าน

                      

ลูกทำข้าวผัดให้กินตอนเที่ยง และทำแซนวิชให้เป็นเสบียงไปกินมื้อเย็น

                     

                               ชักรูปในห้องรับแขก สั่งลา

                     

        สนามบินเดนเวอร์ หลังคาเป็นรูปกระโจมอินเดียนแดง

                     

                        ชักรูปสั่งลาที่สนามบินเดนเว่อร์

                            

              ยามเช้าที่บริเวณรอขึ้นเครื่อง สนามบินฮ่องกง

วิจารณ์ พานิช
10 ตค. 49

หมายเลขบันทึก: 55096เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่แน่ใจว่า ข้อมูลที่ได้มาจะถูกรึเปล่านะคะ ที่ทราบมาว่าหลังคาของสนามบินเดนเวอร์ ทำเลียนแบบเทือกเขาร็อกกี้  ใครทราบข้อมูลที่ถูกต้องช่วยบอกที่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท