ประชาธิปไตยในการศึกษา: สายรุ้งที่กำลังจะเลือนหาย


ประชาธิปไตยในการศึกษา: สายรุ้งที่กำลังจะเลือนหาย

 

เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

          ตามธรรมชาติ หลังจากที่ฝนฟ้าเมฆดำทึมทึบ  ได้คะนองร้องรำ แสดงอำนาจของมันอย่างเต็มที่แล้ว  การหักเหของม่านละอองน้ำที่เหลือกับแสงอาทิตย์ จะยังได้เกิดสายรุ้งเป็นประกายงาม  จับตาและจับใจคนที่ผ่านมาเห็น  ทำให้โบราณท่านเปรียบชีวิต ที่อาจสามารถฝ่าฝันความทุกข์มาได้ว่า เป็นช่วงของ “ฟ้าหลังฝน” ซึ่งมีแต่ความชุ่มเย็น และสายรุ้งที่พาดโค้ง ก็เหมือนสะพานที่ทอดเชื่อมโยงเมืองทิพย์กับแหล่งหล้า ที่ทำให้คนหนึ่งก้าวเข้าสู่ปริมณฑลแห่งความสุขได้ฉะนั้น 

 

 

          การศึกษาในประเทศใด ใครเป็นผู้จัดก็ตาม ย่อมถือหลักเป็นธรรมดาว่า หวังให้มีผลในการสร้าง     ความงาม ความเจริญก้าวหน้า  และความจริงแท้แก่ชีวิตทั้งสิ้น  ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะแยกการศึกษาให้เป็นเพียงรูปแบบ วิธีการ หรือจัดแบ่งให้เป็นกิจกรรมช่วงระยะหนึ่งของชีวิต แต่ชีวิตนั่นเองที่จะต้องศึกษาเรียนรู้อยู่โดยตลอด  การศึกษาจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชีวิต และการศึกษาที่สร้างความงาม ความจับใจให้ชีวิตได้    ก็ต้องเป็นการศึกษาบนพื้นฐานของประชาธิปไตย   ซึ่งเป็นการศึกษาที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม เรียนรู้  และแสวง     หาสิ่งที่เป็นความหมายให้แก่ตนเองเท่านั้น  เช่นนี้ ชีวิตจึงจะงดงาม ก่อสายรุ้งให้ส่องแสงประกายจากภายใน และสื่อแสงอันจรัสนี้ไปยังผู้อื่น เพื่อให้ได้รับรู้ว่า เขาผู้มีการศึกษาเช่นว่านี้  ได้เข้าถึงแล้วซึ่งความหมายและความต้องการอันแท้จริงของชีวิต 

 

 

 

          แต่การศึกษาในปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น  เราปฏิเสธหรือไม่ว่า  การศึกษาปัจจุบัน มิได้มุ่งสร้างสายรุ้งภายใน เพราะได้ดึงแนวคิดประชาธิปไตยออกไปเสียหมด  หลักสูตรถูกกำหนดโดยบุคคลเพียงคณะเดียว  ในขณะที่ผู้เรียน ซึ่งได้แก่เยาวชนมากต่อมาก มิได้มีส่วนรับรู้ว่าตนเองจะต้องเรียนอะไร เพื่ออะไร ไปสู่เป้าหมายอะไร และมีกรรมวิธีใดมาประเมินบ้าง  เป็นหลักสูตรที่คณะบุคคลหนึ่ง คิดว่าจะดี คิดว่าจะนำไปใช้ต่อสู้กับสังคมอื่น ประเทศอื่น แบบทดสอบอื่น ๆ

 

 

          เมื่อการศึกษาถูกกำจัดด้วยการขีดเส้นมาตรฐานเดียวเช่นนี้แล้ว จะเรียกได้อย่างไรว่า การศึกษาคือความงอกงามของแต่ละคน บนพื้นฐานศักยภาพที่เขามีอยู่  ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ Gardner (2006: 56)       ผู้ได้ชื่อว่านักการศึกษาผู้หนึ่งกล่าวว่า  ดูเหมือนสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา จะสวมเครื่องแบบให้กับทุกโรงเรียน (uniform school) ไปเสียหมด   การใส่เครื่องแบบเช่นนี้ ดูเหมือนจะมีข้อดีคือ ทำให้เกิดความยุติธรรม  เพราะเด็กหรือเยาวชนทุกคนได้รับการปฏิบัติในการศึกษาเท่าเทียมกันไปทั้งหมด  แต่แท้ที่จริงแล้ว  มันกลับกลายเป็นความอยุติธรรมต่อทุกชีวิต เท่าที่ระบบการศึกษาจะกระทำให้ได้

 

 

          แต่ละคนมีหนึ่งเสียงเท่าเทียมกัน  แต่ละคนมีอำนาจในการกุมชะตาชีวิตของตนเอง โดยไม่สามารถมีอะไรมาละเมิดได้ นี่คือคำตอบที่ง่ายที่สุดของชั้นเรียนปรัชญาประชาธิปไตย  แต่หากย้อนกลับมาพิจารณาการศึกษาที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ คำตอบเหล่านี้ จะสามารถกล่าวได้ก้องกังวานเพียงใด เหตุเพราะ 

 

 

          1.  โรงเรียนกลายเป็นเครื่องมือของสังคม  สังคมมุ่งหวังว่า โรงเรียนจะต้องทำให้เกิดเยาวชนตามที่สังคมต้องการ  โดยที่สังคมคิดว่า สิ่งที่ควรเรียนหรือไม่ควรเรียนคืออะไร  แต่ไม่ได้คิดว่า  ผู้เรียนประสงค์หรือไม่ประสงค์จะเรียนอะไร  การศึกษาจึงกลายเป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องไปทำให้คนอีนกลุ่มหนึ่งพอใจ แถมน่ารังเกียจตรงที่ว่า  คนกลุ่มที่จะต้องทำตามนั้น เป็นเด็กที่ด้อยพลกำลัง  หาได้มีความกล้าหาญที่จะพิทักษ์หรือทวงสิทธิ์ของตนในเวลานั้น  แม้หากประสงค์จะทวง ก็จะทำได้เมื่อโตมาเสียแล้ว เช่นนี้ ก็นับว่าเป็นการเสียเวลา และไม่คุ้มเลย ที่จะต้องให้เด็กนำตนเองไปพันธนาการไว้กับหลัก หรือแอกบางอย่างที่สังคมนำมาเทียมไว้ตั้งแต่กำเนิด   

 

          2.  สิ่งที่เรียนคือการสืบทอดความเชื่อ ค่านิยม แบบแผนของคนกลุ่มหนึ่ง  เนื้อหาสาระความรู้ที่เรียน เป็นเรื่องที่เชื่อกันว่า จะทำให้ผู้เรียนกลายเป็นผู้มีปัญญา มีความชาญฉลาดในการใช้เหตุผล แก้ปัญหา           มีคุณธรรม จริยธรรม ความเชื่อ ค่านิยม  เหมือนกับที่คนกลุ่มหนึ่งกำหนดไว้  การที่ทำให้ไม่มีสิทธิคิด ไม่มีสิทธิเชื่อ หรือการห้ามมิให้แสดงความคิดเห็นบนหลักการของเหตุผล  การพยายามที่จะไม่ตอบคำถาม และเลี่ยงว่า เมื่อโตขึ้นจะคิดได้เอง หรือเห็นคุณค่า หรือจะได้ใช้ประโยชน์นั้น ดูจะเป็นอะไรที่ไร้น้ำหนัก และไม่น่าจะเป็นรากฐานที่ทำให้การศึกษาตั้งมั่นขึ้นได้  การนำเสนอให้ผู้เรียนเลือก การให้ผู้เรียนพิจารณาจากความเข้าใจ       ไม่ยัดเยียด  จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะประชาธิปไตย คือ การเคารพในความเป็นคน  การยัดเยียดหรือมอมเมาให้หลงเชื่อ หรือลวงไปว่าดีนั้น ไม่น่าจะใช่สิ่งที่เป็นปกติของการศึกษาในระบอบประชาธิปไตย   

 

 

          3.  การสอนแบบประเพณีนิยม  กล่าวเฉพาะสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมเชิงอนุรักษ์นิยมด้วยแล้ว  บทบาทของครูในฐานะปูชนียาจารย์อันควรเคารพนบนอบนั้นมีมาก  เด็กควรจะเป็น คิด เชื่อ ทำในสิ่งที่ครูกำหนด และควรเห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว  ครูและเด็กเป็นคนละคนกัน  เด็กอาจเห็นพฤติกรรมบางอย่าง แล้วเลียนแบบ หรือไม่เลียนแบบครูก็ได้  แต่อย่างหลังถ้าเกิดขึ้น จะกลายเป็นสิ่งผิด เพราะไม่เชื่อฟัง และไม่ปฏิบัติตาม  เหล่านี้ เป็นอุปสรรคอันเปรียบได้กับโคลนที่ติดกับกงล้อการพัฒนาโดยแท้     เพราะเมื่อเด็กไม่เชื่อครู และครูก็จะสู้เพื่อเอาชนะเด็กอยู่ร่ำไปเช่นนี้  มันก็จะไม่เกิดปัญญางอกงามอะไร     ขึ้นมาได้ ถือว่าสู้ด้วยอัตตาโดยแท้  การพูดคุยโดยคำนึงถึงความเท่าเทียมทางความคิด เป็นทางออกที่สำคัญให้กับปัญหานี้  นักเรียนมีสิทธิ์ที่จะคิดถูกหรือผิดเช่นเดียวกันกับครู  นักเรียนมีสิทธิที่จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับครู  แต่ทั้งหมดนี้  ควรทำบนพื้นฐานของการเคารพให้เกียรติกัน หลีกเลี่ยงการใช้ภาษา หรือท่าทาง      ที่อาจจะก่อให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจ ด่าทอ เหยียดหยาม ลบหลู่ แต่เป็นการพูดคุยกันแบบฉันมิตร          ไม่พยายามเอาชนะ พยายามที่จะปรับความเข้าใจในสิ่งที่ตรงข้าม และแตกต่างไปจากตน  และหาทางออกในทุกเรื่องร่วมกัน  หรือกลายอีกนัยหนึ่งก็คือ ครูและศิษย์ในการศึกษาแบบประชาธิปไตย  ต้องเป็นเพื่อนร่วมเรียนรู้และค้นพบไปด้วยกัน   

 

          4.  การวัดประเมินที่ไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล  ผู้จัดการศึกษาแบบมหภาค มักจะใช้คำว่ามาตรฐาน มากำหนดคุณภาพบางอย่างให้กับการพัฒนาคน ซึ่งลืมไปว่า การสร้างมาตรฐานนั้น จริง ๆ เป็นคำที่ใช้กับระบบอุตสาหกรรม สายพานการผลิต ที่ทำผลิตภัณฑ์จำนวนมากให้มีรูปแบบเหมือนกัน แต่การพัฒนาคนมิได้เป็นเช่นนั้นเลย เราไม่อาจละเลยเรื่องพื้นฐานความรู้  ประสบการณ์ หรือพื้นฐานอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งมีความแตกต่างกันไป ยากที่จะเทียบหรือนำมารวมกันได้  การประเมินคนด้วยมาตรวัดใดมาตรวัดหนึ่ง  ย่อมไม่เป็นการยุติธรรม และยิ่งมาตรวัดนั้น ได้นำไปใช้เชื่อมโยงกับการเข้าศึกษาต่อระดับสูงหรือการประกอบอาชีพด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น  ปัญหาของ          การประเมินตามระบอบประชาธิปไตย คืออะไร เมื่อขนาดหรือสิ่งที่ต้องประเมินมีจำนวนมาก แต่เกณฑ์มีน้อย เป็นไปได้หรือไม่ว่า  เราจะช่วยกันสร้างเกณฑ์ รูปแบบหรือวิธีการประเมินให้มีมากขึ้นด้วย  และเชื่อในผลของการประเมินในรูปแบบที่หลากหลายเหล่านั้น   ไม่เน้นไปที่มาตรใดวัดหนึ่ง  ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแต่เพียงความคิดของคนกลุ่มหนึ่ง ที่สมมติขึ้นมาเท่านั้น 

 

 

          อาจจะมีคำถามหรือเสียงค่อนขอดเล็ก ๆ ว่า  เด็กนั้นเป็นผู้ขาดซึ่งปัญญา ขาดซึ่งประสบการณ์ จะมานำตนเอง  จะมากำหนดว่าจะเรียน จะทำ จะศึกษาด้วยตนเองได้อย่างไรนั้น  คำถามนี้ฟังเพียงผิวเผินก็เห็นว่าจะจริง และคล้อยตามไปได้โดยง่าย ประเด็นที่น่าจะนำมาขบคิดต่อก็คือ  เราได้สร้างสังคมหรือระบบการศึกษาที่เอื้ออำนวยต่อความต้องการของเด็กแต่ละคนแล้วหรือไม่  เราได้สร้างระบบการเรียนการสอน หรือการวัดประเมินผลที่หลากหลาย  และวัดได้จริงว่า อะไรคือศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละคน  หรือที่จริงแล้ว เราไม่สร้างอะไร ไม่ได้ทำอะไรขึ้นมาใหม่เลย แต่กลับพาลไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้   ถ้าเช่นนั้น เหตุใดเราจึงไม่ทดลองสร้างระบบการศึกษา หรือสังคมแบบใหม่ อันเป็นระบบประชาธิปไตยแท้ ๆ แล้วพิจารณาผลเพื่อเปรียบเทียบเสียก่อนเล่า  การริเริ่มคิดเพียงแค่นี้ ก็ถือเป็นความพยายามเริ่มต้นการสร้างสายรุ้งประชาธิปไตย ให้กำเนิดและสะท้อนงามขึ้นมาในการศึกษาได้ 

 

 

 

          ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการเมือง หรือการปกครองคนอื่น ให้เชื่อว่านี่เป็นระบอบการเมืองที่ดีที่สุด แต่ประชาธิปไตย คือ การดำรงชีวิต ที่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร มีเป้าหมายอย่างไร และจะทำอะไรโดยที่ยังคงคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของตนเอง และเคารพสิทธิของผู้อื่นไว้ได้   ที่สุดแล้วจึงได้แต่หวังว่า  บางทีการศึกษาที่เป็นอยู่  และกำลังคะนองกระจาย  ปั่นป่วนไม่สิ้นสุดขณะนี้ จะยังคงมีสายรุ้งแห่งอิสรภาพ  เสรีภาพ ภราดรภาพปรากฏขึ้นในท้ายที่สุด ยังให้เกิดความฉ่ำเย็นชื่นใจ  และไม่หนีหายจากลา   ผู้ใฝ่หาอย่างเราท่านไปตั้งแต่ต้น....

 

 

_________________________________________________

 

เขียนเป็นบรรณานุสรณ์ในโอกาส  40 ปี  14 ตุลาคม 2516

หมายเลขบันทึก: 550918เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เหลือแต่ประชาธิปไตยนานทุนเท่านั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท