เกริ่นไว้เมื่อตอนที่แล้วว่า คราวนี้จะเป็นบทส่งท้ายของ ย้อนรอยเส้นทาง PhDฯ นั้นไม่ใช่เพราะมีพล็อดเรื่องอะไรหรอกค่ะ แต่ทุกครั้งที่เขียนก็จะย้อนกลับไปอ่านโพยของท่านบอ กอ ที่เขียนบอกแนวทางของเรื่องที่ต้องการให้เล่าสู่ชาวพยา-ธิฯของเราในฐานะที่หายไปนานตั้ง 6 ปี แล้วก็มีอันให้เล่าได้สารพัดเรื่อง จากที่น่าจะเป็นตอนเดียวก็ยาวยืดเข้ามาหลายสิบตอนแล้ว รู้สึกว่ารอยจะยาวไปหน่อยย้อนกันไม่รู้จบสักที ก็เลยน่าจะถึงเวลารวบรวมสติสตังกันสักที เป็นการปิดท้ายทบทวนขบวนการ ด้วยการ AAR (After Action Review) การไปเรียนต่อปริญญาโท และ เอกที่ออสเตรเลียของตัวเอง
อะไรคือเป้าหมายที่คาดหวังไว้
เมื่อได้รับทุนโดยไม่ได้วางแผนมาก่อน ก็เพียงแต่คาดหมายว่าจะทำสิ่งที่เป็นภารกิจให้ดีที่สุด เลือกสาขาที่จะต้องเรียนต่อให้ใกล้เคียงกับงานที่ต้องทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งใจไว้ว่าจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของการเรียนการสอนระบบของบ้านเมืองของเขากลับมาบ้านเราให้มากๆ แต่ยังไงๆก็ไม่ยอมให้การไปเรียนต่อมาทำให้ต้องแยกจากครอบครัวโดย เฉพาะ เมื่อลูกทั้ง 3 คนยังมีอายุไม่เกิน 10 ขวบ
สิ่งที่แตกต่างจากความคาดหมาย
สิ่งที่ได้เกินคาดก็คือ ได้เรียนรู้ระบบการเรียนการสอนของเด็กๆไปด้วย เพราะพวกเราต้องไปเข้าระบบโรงเรียนทั้งของลูกและของแม่ ของลูกนั้นได้เรียนรู้ตั้งแต่ระดับเด็กก่อนวัยเรียนยาวไปถึงมัธยมปลายกันเลยทีเดียว รวมทั้งระบบระเบียบของเมืองเพิร์ธที่แตกต่างจากบ้านเรา ในแง่ของความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการรักษากฎเกณฑ์ วินัยของผู้คน ลูกๆทั้ง 3 คนได้พัฒนาระบบการเรียนรู้ในแบบที่ส่งเสริมศักยภาพของเด็กมากกว่าระบบของบ้านเรา แม้ว่าวิชาการจะไม่เข้มแข็งเหมือนเด็กบ้านเรา แต่การเรียนของเด็กบ้านเมืองเขาสนุกสนาน เป็นธรรมชาติกว่ามาก
ประสบการณ์ต่างๆที่ได้เรียนรู้ตลอดเวลา 6 ปีที่อยู่ที่เพิร์ธ เป็นสิ่งที่เกินกว่าความคาดหมายทุกอย่าง เรียกได้ว่าการไปเรียนต่อครั้งนี้ ทำให้รู้สึกรักเมืองไทยมากขึ้น แม้ว่าเมื่อเทียบเคียงกับบ้านเมืองของเขาแล้วบ้านเราด้อยกว่าในทุกๆทาง แต่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจก็คือ เรามีความเป็นเอกลักษณ์มากมายที่บ้านเขาไม่มี เรามีทรัพยากร มีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรมอันยาวนาน ในขณะที่ออสเตรเลียเป็นที่รวมของ “ฝรั่ง” จากหลายๆเชื้อชาติ ชนเผ่าพี้นเมืองที่เป็นเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมก็ยังคงแปลกแยกไม่กลมกลืนเป็นชาติเดียวกันเสียทีเดียว อาหารการกินแบบของเราก็ดีต่อสุขภาพมากกว่าเยอะทีเดียว
เรียนรู้อะไรจากเรื่องเหล่านั้น
สิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างมาก นอกเหนือจากการเรียนรู้ทางทฤษฎีวิชาการ กระบวนการเรียน การคิด การทำงานกว่าจะจบทั้งปริญญาโท ปริญญาเอกมาก็คือ การคิดถึงการให้แก่สังคม การทำอะไรให้คนไทย ประเทศไทย บอกไม่ถูกเหมือนกันนะคะว่า สิ่งเหล่านี้มาได้ยังไง แต่มีความรู้สึกว่าการที่เราได้ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองนานๆ ในฐานะที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์ของประเทศเรา เป็นตัวแทนของคนไทยสำหรับชาวต่างชาติ ทำให้เราพยายามสร้างชื่อเสียงที่ดีๆให้กับเมืองไทย เห็นได้ชัดเลยว่า การที่เราได้พบคนชาติอื่นที่นั่น เราจะมองเขาเป็นเหมือนกับมองประเทศนั้นๆไปเลย และทำให้เรามักจะเหมารวมไปว่าเขาคือตัวแทนของคนชาตินั้นๆ เช่น เมื่อเราเจอคนดีๆเราก็จะบอกว่าคนอินโดนีเซียใจดี เป็นมิตร พอเจอคนที่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบ เราก็จะบอกว่า คนชาตินั้นๆเป็นอย่างนั้น ทำให้เราเกิดความตระหนักในเรื่องนี้มากกว่าที่เคยเป็นมาก เรียกว่าการไปเรียนต่อต่างประเทศทำให้เราอยากกลับมาทำอะไรตอบแทนคนไทย เมืองไทยมากกว่าที่เคยคิดเมื่อเป็นคนไทยอยู่ในเมืองไทย
ถ้าต้องไปอีกครั้งจะปรับเปลี่ยนอะไรหรือมีใครจะไปเรียนต่อต่างประเทศที่เดียวแบบเดียวกันจะแนะนำอะไรบ้าง
สิ่งที่คิดว่าน่าเสียดายมากๆก็คือ น่าจะมีเวลาหาข้อมูลและติดต่อกับคนไทยที่นั่นก่อนที่จะไปถึงให้นานกว่านี้ เพราะเวลาและเงินทองที่เสียไปเพราะความไม่รู้ในช่วงแรกๆนั้นน่าเสียดายจริงๆ และเรียนรู้แล้วว่าหากเรารู้วิธีติดต่อสืบถาม รู้จักถามจากทางมหาวิทยาลัยที่เราจะไปให้ดี เพราะทุกมหาวิทยาลัยจะมีแผนกที่ดูแลนักเรียนต่างชาติ ซึ่งเขาจะให้ข้อมูลนักเรียนไทยหรือเป็นสื่อกลางการติดต่อให้เราได้ดี การเตรียมพร้อมในเรื่องความเป็นอยู่และชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการเตรียมตัวไปเรียนเสียอีก เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยตอบรับเราเข้าเรียนนั้น ความพร้อมทางการเรียนของเรามีมากพออยู่แล้วและมหาวิทยาลัยใหญ่ๆมักจะมีแผนกช่วยเหลือนักศึกษาต่างชาติในด้านการเรียนมากกว่าเรื่องชีวิตประจำวันทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องรองไปเลย
จะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาไปทำอะไรต่อ
ความตั้งใจของตัวเองอาจจะดูไม่สร้างสรรค์เท่าไหร่นัก สำหรับคนทั่วๆไป คือตั้งใจจะใช้ความรู้ที่มีช่วยเหลือการทำงานของคนอื่นให้มากๆ อยากมีโอกาสถ่ายทอดสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆมากกว่าที่จะทำให้คนอื่นๆรู้สึกว่า ความเป็นด็อกเตอร์เป็นเรื่องของคนเก่งเท่านั้น สำหรับตัวเองแล้วไม่ค่อยศรัทธาผู้คนเพราะความเป็นด็อกเตอร์มานานแล้ว ออกจะรู้สึกมีอคติด้วยซ้ำว่ามีคนจบปริญญาเอกที่เราพบเจอมากมายหลายคนที่เราไม่รู้สึกว่าเขารู้จริง เก่งจริง แล้วก็มีคนอีกมากมายที่ดูเหมือนจะรู้จริงเชี่ยวชาญน่านับถือศรัทธาโดยที่ไม่เห็นต้องมีดีกรีอะไรประดับชื่อ
และพอตัวเองผ่านจุดนั้นมาได้บ้าง ก็ยิ่งยืนยันได้เลยค่ะว่า ใครๆก็เป็นด็อกเตอร์ได้ ถ้าตั้งใจจริง มีวินัยในตัวเองและมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดีๆ ไม่ใช่เรื่องของคนเก่งอะไรเลย ดังนั้นก็เลยอยากจะใช้สิ่งที่ได้จากการไปเก็บเกี่ยวปริญญาที่ออสเตรเลีย มาทำประโยชน์ให้คนอื่นๆให้มากกว่าทำอะไรเพื่อตัวเองค่ะ
ต่อมาจาก series นี้ค่ะย้อนรอย PhD
ติดตามอ่านจนจบ...ด้วยความประทับใจนะคะ
...ความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการรักษากฎเกณฑ์ วินัยของผู้คน ลูกๆทั้ง 3 คน ได้พัฒนาระบบการเรียนรู้ในแบบที่ส่งเสริมศักยภาพของเด็กมากกว่าระบบของบ้าน เรา แม้ว่าวิชาการจะไม่เข้มแข็งเหมือนเด็กบ้านเรา แต่การเรียนของเด็กบ้านเมืองเขาสนุกสนาน เป็นธรรมชาติกว่ามาก....
This may come from UK -- having people from many corners of the world and recnizing the same basic rights for "all" people (rather than just provileged few). Thailand has yet to realize that development of "all people" is a better social investment than corruption.
ชอบคำนี้จังครับ...
"... ใครๆก็เป็นด็อกเตอร์ได้ ถ้าตั้งใจจริง มีวินัยในตัวเองและมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดีๆ ไม่ใช่เรื่องของคนเก่งอะไรเลย..."
กลับมาอ่านสิ่งที่ตัวเองเขียนอีกรอบก็ยังรู้สึกว่า ความคิดนี้ยังคงแจ่มชัดอยู่ในหัวไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะผ่านไปกว่าสิบปีแล้ว...อย่างไม่น่าเชื่อ