แสนปราชญ์
พระอาจารย์ แสนปราชญ์ ฐิตสัทโธ เสาศิริ

บังคับนักเรียนนั่งสมาธิ "บาปที่ไม่ตั้งใจ"


การฝึกสติ เพื่อสร้างคนดี

ครูผู้สอนอาจคิดว่า ?
การบังคับให้นักเรียนนั่งนิ่ง ๆ หลับตา
เป็นการ "ฝึกสมาธิ"
 

วิธีนี้ทำให้ผู้เรียนไม่ชอบและเกิดการต่อต้าน 
ทำให้สมาธิเจตสิกไปเข้ากับโทสะเจตสิก 
ส่งผลให้เกิดโทสะกล้าและมีพฤติกรรมไปในทางใช้ความรุนแรง 
หรือ  บางครั้งผู้เรียนก็คิดปรุงแต่งจิตไปในทางไม่ดีเอง  
เช่น  ปรุงแต่งไปในทางราคะ  ทำให้เกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ถ้าปรุงไปทางโมหะ ก็หลงผิด  ไม่ละอาย  ไม่เกรงกลัวบาป 

การเรียนการสอนในยุคของการสื่อสารไร้พรมแดนทำให้เกิดช่องทางในการแสวงหาความรู้ของผู้เรียนอย่างไม่มีขีดจำกัด  ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้โดยอาศัยระบบเครือข่าย (internet) ที่เชื่อมต่อแหล่งความรู้ต่าง ๆ ได้ทั่วโลก  การเรียนรู้ในลักษณะนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย  ข้อดีคือสะดวกรวดเร็วและเรียนรู้ได้อย่างไม่มีขีดจำกัดทั้งเวลาและสถานที่  ส่วนข้อเสียก็คือระบบเครือข่ายเป็นระบบเสรีไม่สามารถแยกแยะคัดกรองสิ่งที่ไม่ดีไม่เหมาะสม  หรือผิดกฏหมาย  เช่น  สื่อลามก  เกมส์ที่สร้างความรุนแรง  รวมทั้งบุคคลที่เป็นมิจฉาชีพออกจากระบบเครือข่ายได้  ทำให้ผู้เรียนหรือนักเรียนต้องเผชิญกับสิ่งที่เย้ายวนยั่วยุให้เกิด  ราคะ  โทสะ  โมหะ  ส่งผลให้คุณธรรมและจริยธรรมเสื่อมถอยลง เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา  อาทิ  การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การใช้ความรุนแรง  การก่ออาชญากรรม  การติดยาเสพติด  ฯลฯ 

ปัจจุบันได้มีการแก้ปัญหาเหล่านี้  โดยการปิดเวปเครือข่ายที่ไม่ดีไม่เหมาะสม  โดยการติดตามจับกุมลงโทษ  แม้ในสถานศึกษาเองก็ได้มีมาตรการควบคุมการสั่งห้ามผู้เรียนไม่ให้มีการใช้อินเตอร์เน็ตไปในทางที่ไม่เหมาะสม  แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าที่ควร  เพราะเป็นการแก้ที่ปัญหาภายนอก  ส่วนในทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญของการแก้ปัญหาภายในจิตใจเป็นสำคัญ  โดยเน้น “การฝึกสติ” เพราะสติเป็นธรรมะที่มีอุปการะมากทำให้เกิดการระมัดระวัง  ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำและไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่  ไม่ปล่อยปละละเลย  กระทำการด้วยความจริงจัง  และพยายามก้าวรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา[1]  ดังนั้นการฝึกสติจึงเป็นหลักและวิธีการที่ดีและเหมาะสมอย่างยิ่งที่ควรนำมาบูรณาการกับการเรียนการสอนยุคการสื่อสารไร้พรมแดนนี้

              การฝึกสติ  สามารถแบ่งออกได้สองลักษณะใหญ่ ๆ คือ (๑) การฝึกสติเพื่อความพ้นทุกข์  หมายถึง  การฝึกสติในลักษณะของการปฏิบัติธรรมขั้นสูง  มีเป้าหมายเพื่อความพ้นทุกข์  ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า minfulness[2]  ในความหมายนี้การฝึกสติอยู่ในฐานะของธรรมะที่เป็นคุณวิเศษเหนือมนุษย์ (อุตตริมุสสธรรม) [3] มีชื่อเรียกเฉพาะในพระพุทธศาสนาหลายชื่อคือ  สติปัฏฐาน[4]  สตินทรีย์  สติพละ  สติสัมโพชฌงค์ และสัมมาสติ (๒) การฝึกสติทั่วไป  หมายถึง  การฝึกสติเพื่อใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันทั่วไป  อาทิ  ใช้ในการศึกษาเล่าเรียน  ใช้ในการทำงาน  ใช้ในทางสังคม  เป็นต้น  มีลักษณะการฝึกเพื่อให้เกิด  การระลึก  นึกถึง  นึกไว้  ซึ่งจะส่งผลทำให้จิตมีคุณลักษณะของการระลึกได้  นึกได้  ไม่เผลอ ไม่ลืม ในเรื่องที่ผ่านไปแล้วหรือเรื่องที่กำลังจะผ่านไปก็ได้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า recall, recollection[5]  ตามความหมายนี้สติจึงมาคู่กับสัมปชัญญะ  คือความรู้สึกตัว  รู้เท่าทันการทำ การพูด การคิด  สติสัมปชัญญะเป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก  มีประโยชน์ในการนำมาใช้กับชีวิตประจำวัน  ในการศึกษาเล่าเรียน  ในการทำงาน  อย่างไรก็ตามการฝึกสติสองลักษณะดังกล่าวต่างก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันคือ  เมื่อฝึกสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ก็เป็นเหตุให้เกิดการสำรวมอินทรีย์สมบูรณ์  เมื่อมีการสำรวมอินทรีย์สมบูรณ์ก็เป็นเหตุให้ กาย  วาจา  ใจสุจริตสมบูรณ์  เมื่อกาย วาจา  ใจสุจริตสมบูรณ์ก็เป็นเหตุให้สติปัฏฐานสมบูรณ์  เมื่อสติปัฏฐานสมบูรณ์ก็เป็นเหตุให้สติสัมโพชฌงค์สมบูรณ์  เมื่อสติสัมโพชฌงค์สมบูรณ์ก็เป็นเหตุให้เกิดวิชชาและวิมุติ[6]  และในทางกลับกันเมื่อเกิดวิชชาวิมุติขึ้นก็เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ประกอบกิจชีวิตประจำวัน  การศึกษาเล่าเรียน  การทำงาน  ได้โดยถูกต้องดีงามและมีประสิทธิภาพ  เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น  ตลอดจนเกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม  ผู้ที่เข้าถึงซึ่งวิชชาและวิมุตินี้ทางพระพุทธศาสนาถือว่าเป็นผู้หลุดพ้นเป็น “พระอรหันต์” ซึ่งไม่มีกิเลสคือ  ความโลภ  ความโกรธ  ความหลง  ในจิตใจ  แต่ถ้าวิชชาและวิมุติยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ก็เป็นพระอริยเจ้าหรือเป็นอริยบุคคลลดหลั่นลงมาคือ  อนาคามี  สกทาคามี  โสดาบัน[7] 

นอกจากการฝึกสติแล้วยังมีคำหนึ่งที่มีความหมายคล้ายกันหรือบางครั้งใช้แทนกันได้นั่นคือ ”การฝึกสมาธิ”  เป็นการกำหนดจิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ไม่ให้ฟุ้งซ่าน[8]  ซึ่งสามารถแบ่งเป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ (๑) การฝึกสมาธิเพื่อความพ้นทุกข์  ซึ่งเป็นสมาธิในทางพระพุทธศาสนา  เป็นสมาธิในทางปัญญา  สมาธิที่มีนิพพานเป็นอารมณ์[9]  เป็นสัมมาสมาธิ  หมายถึงสมาธิชอบ (สมาธิถูก)  อยู่ในข้อที่ ๘ ของมรรคมีองค์ ๘  หรืออยู่ในหลักไตรสิกขา  ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ซึ่งสมาธิในไตรสิกขานี้ประกอบด้วย  สัมมาวายะมะ  สัมมาสติ  สัมมาสมาธิ  อยู่ในหมวดเดียวกัน[10]  ตามความหมายนี้การฝึกสมาธิจึงมีความหมายเหมือนกันกับการฝึกสติ  ไม่แยกจากกัน  ในทางกรรมฐานจะใช้คำว่า  สมถะและวิปัสสนา[11]  (๒) การฝึกสมาธิทั่วไป  เป็นการฝึกสมาธิเพื่อความสงบ  เพื่อความสุข  แต่ไม่เป็นไปในทางปัญญา  เป็นสมาธิซึ่งมีอยู่ในทุกศาสนา  (ในทางพระพุทธศาสนาจะใช้สมาธิทั่วไปเป็นฐานของการเจริญปัญญาเพื่อความพ้นทุกข์  ตามข้อ (๑))  ตามความหมายนี้  การฝึกสมาธิทั่วไปจึงแตกต่างจากการฝึกสติคือ  การฝึกสมาธิเป็นการกำหนดจิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ไม่ให้ฟุ้งซ่าน  การฝึกสมาธิจึงต้องการความสงบ  ปราศจากสิ่งรบกวน  ดังนั้นในสถานศึกษาที่มีผู้คนพลุกพล่าน  มีเสียงรบกวน  จึงเป็นอุปสรรคต่อการฝึกสมาธิ  ส่วนการฝึกสติเป็นการตามระลึก  นึกได้  กับกิจที่ทำในชีวิตประจำวัน  เช่น  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  รับประทานอาหาร  เรียนหนังสือ  ฯลฯ  สถานศึกษาที่มีผู้คนพลุกพล่าน  มีเสียงรบกวน  จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการฝึกสติ

และเพื่อขยายความแตกต่างของการฝึกสติกับการฝึกสมาธิให้ละเอียดชัดเจน  จึงต้องพิจารณาสมาธิในอีกความหมายหนึ่งคือ  สมาธิ  หมายถึงเครื่องปรุงจิตเรียกว่า “เจตสิก”[12]  มีชื่อว่า “เอกัคคตาเจตสิก”[13]  หมายถึง  เครื่องปรุงของจิตที่ทำให้ภาวะจิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว  มีลักษณะไม่ซัดส่าย  ไม่ฟุ้งซ่าน[14]      เป็นเจตสิกที่มีลักษณะเข้าได้กับเจตสิกอื่่น ๆ ทั้งฝ่ายดีฝ่ายชั่ว  และฝ่ายกลาง ๆ  ถ้าเข้ากับฝ่ายดี[15] ซึ่งมี ๒๕ อย่าง  อาทิเช่น สัทธาเจตสิก  สติเจตสิก  ปัญญาเจตสิก  เป็นต้น ก็จะส่งผลทำให้จิตมีสภาพเป็นจิตที่ดี  และในทางตรงกันข้ามถ้าสมาธิเจตสิกไปเข้ากับเจตสิกที่เป็นฝ่ายชั่ว[16] ซึ่งมี ๑๔ อย่าง อาทิเช่น  โลภะเจตสิก  โทสะเจตสิก  
โมหะเจตสิก  เป็นต้น  ก็จะส่งผลทำให้จิตมีสภาพเป็นจิตที่ชั่ว  และถ้าเข้ากับเจตสิกที่เป็นกลาง ๆ[17] ซึ่งมี ๑๒ อย่าง (ไม่รวมกับเอกัคคตาเจตสิกหรือสมาธิ)  ก็จะส่งผลทำให้จิตมีสภาพเป็นจิตกลาง ๆ ไม่เป็นจิตดีหรือชั่ว  และเมื่อเทียบกับสติในความหมายของเจตสิกแล้วพบว่า  สติเจตสิกเป็นเจตสิกฝ่ายดีที่จะเข้าได้กับเจตสิกฝ่ายดี ๒๕ อย่างและเข้าได้กับเจตสิกที่เป็นกลาง ๆ ๑๓ อย่าง (รวมเอกัคคตาเจตสิกหรือสมาธิด้วย) แต่ไม่สามารถเข้าได้กับเจตสิกที่เป็นฝ่ายชั่ว ๑๔ อย่าง  ซึ่งสอดคล้องกับพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการฝึกสติว่าเป็นข้อปฏิบัติที่อยู่ในระบบของทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) [18]  และเป็นข้อปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงชี้ชัดว่าเป็นทางเดียวเท่านั้นที่ดับทุกข์ได้ (เอกายนมรรค)[19]  ไม่มีทางอื่น  และมีอยู่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น[20]    

ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งใช้วิธีการฝึกสมาธิ  โดยบังคับให้ผู้เรียนนั่งนิ่ง ๆ หลับตา  ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ผู้เรียนไม่ชอบและเกิดการต่อต้าน  ทำให้สมาธิเจตสิกไปเข้ากับโทสะเจตสิก  ส่งผลให้เกิดโทสะกล้าและมีพฤติกรรมไปในทางใช้ความรุนแรง  หรือ  บางครั้งผู้เรียนก็คิดปรุงแต่งจิตไปในทางไม่ดีเอง  เช่น  ปรุงแต่งไปในทางราคะบ้าง  โมหะบ้าง  ส่งผลทำให้จิตเกิดราคะ  เกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  หลงผิด  ไม่ละอาย  ไม่เกรงกลัวบาป 

อย่างไรก็ตามยังมีสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่ไม่ได้ใช้วิธีการดังกล่าวแต่ได้ใช้การฝึกสติในพระพุทธศาสนานำมาบูรณาการกับการเรียนการสอนจนประสบความสำเร็จ อาทิเช่น โรงเรียนสัตยาไส อำเภอชัยบาดาล  จังหวัดลพบุรี  เป็นโรงเรียนที่ใช้การฝึกสติแบบบูรณาการกับการเรียนการสอนอย่างได้ผล  ทำให้ผู้เรียนไม่ติดอบายมุขแม้จะจบจากโรงเรียนไปแล้ว  ผู้เรียนมีอุปนิสัยของการเสียสละเป็นจิตอาสา  และเรียนเก่งจนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์  ทำให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธดีเด่นจากกระทรวงศึกษาธิการ  และมีผู้บริหารคณาจารย์ทางการศึกษาจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศไปศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก  ซึ่งความสำเร็จของโรงเรียนสัตยาไสนั้นเกิดจากลักษณะเฉพาะสามารถสรุปได้ดังนี้คือ  (๑) ผู้บริหารเป็นตัวอย่างในการฝึกสติ โดย ดร.อาจอง  ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารสูงสุดโรงเรียนสัตยาไส  เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก  คือ  เป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ควบคุมการร่อนลงจอดของยานไวกิ้งบนดาวอังคารขององค์การนาซ่า  เมื่อปี  ๒๕๑๙  ด้วยการฝึกสติแบบอานาปานสติ  และได้อุทิศตนเพื่อสังคมเป็นแบบอย่างของคนดี  เป็นคนไทยตัวอย่าง  เป็นครูดีเด่น  ได้รับรางวัลสำคัญ ๆ มากมาย  (๒) ครูผู้สอน  ผ่านการคัดเลือกโดยใช้หลักคัดเลือกคนดี  และมีการพัฒนาครูผู้สอนให้มีคุณภาพโดยส่งให้ศึกษาต่อ  ซึ่งมีครูระดับปริญญาเอก ๕ คน  ปริญญาโท ๒๐ กว่าคน  (๓) การฝึกสติและสมาธิ  มีการฝึกให้กับนักเรียนวันละ ๙ ครั้ง  เริ่มจากตื่นนอน  ขณะเรียนในแต่ละคาบเรียน  จนถึงก่อนนอน  (๔) รูปแบบวิธีการจัดการเรียนการสอน  เป็นโรงเรียนประจำที่นักเรียนกินนอนที่โรงเรียน  ซึ่งนอกจากการเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว  ยังได้จัดรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดแทรกคุณธรรมไว้ในวิถีชีวิตของนักเรียน  อาทิ  การรับประทานอาหาร  โดยทางโรงเรียนกำหนดให้นักเรียนทุกคนรับประทานอาหารมังสวิรัติ  กำหนดให้มีการเรียนรู้ความพอเพียง  อยู่ได้ด้วยตนเอง  โดยให้ลงมือปฏิบัติด้านเกษตรกรรม  ทำนา  ปลูกผักปลอดสารพิษ  รวมทั้งการเรียนรู้สภาวะแวดล้อมเกี่ยวกับธรรมชาติ  สภาวะโลกร้อน  พลังงานทดแทน เป็นต้น  (๕) ครอบครัวนักเรียน  ถูกคัดเลือกกลั่นกรองอย่างดีโดยใช้หลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกผู้ปกครอง  ไม่ได้สอบคัดเลือกนักเรียน  ทำให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้และทำหน้าที่เป็นผู้สอนควบคู่ไปกับโรงเรียน  ผู้เรียนและครอบครัวจึงมีลักษณะแบบความสมัครใจ  มีความเข้าใจตรงตามจุดประสงค์ของโรงเรียนคือ  สร้างและพัฒนานักเรียนให้เป็นคนดีเหนือสิ่งใด  (๖) สถานที่  อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ  คือ  ตั้งอยู่ติดภูเขา  แม่น้ำ  ทำให้นักเรียนมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดี   

              จากลักษณะเฉพาะของโรงเรียนสัตยาไสนี้เองที่ทำให้สถานศึกษาต่างๆ ไม่สามารถนำรูปแบบของโรงเรียนสัตยาไสมาปฏิบัติได้ทั้งหมด  เพราะมีองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน  แต่สามารถนำหลักการใหญ่ที่ถือว่าสำคัญที่สุด ๒ ประการมาประยุกต์ใช้คือ ครูผู้สอนกับการฝึกสติ  ด้วยเหตุนี้โครงการวิจัยทดลองการฝึกสติแบบบูรณาการกับการเรียนการสอนจึงเกิดขึ้น  เพื่อนำหลักการฝึกสติในพระพุทธศาสนา  การฝึกสติแบบบูรณาการของโรงเรียนสัตยาไสมาประยุกต์ใช้กับสถานศึกษาอื่น ๆ   

 



[1]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.  ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ ๒๐,(กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์  บริษัท  สหธรรมมิก  จำกัด, ๒๕๕๓), หน้า ๘๐๕.

 

[2] เรื่องเดียวกัน, เชิงอรรถ  หน้า ๒๑.

[3] วิ. ม. (บาลี)  ๑/๑๙๓-๒๑๑/๑๒๖-๑๒๙, วิ. ม. (ไทย)  ๑/๑๙๓-๒๑๑/๑๗๗-๒๑๐. 

                   [4]สติปัฏฐาน  หมายถึง  หลักและวิธีการปฏิบัติธรรม  โดยใช้ความเพียร (อาตาปี)  สัมปชัญญะ
(สัมปชาโน)  และสติ (สติมา)  ตามดูตามรู้ที่ตั้ง ๔ อย่าง  คือ (๑) กาย  (๒) เวทนา  (๓) จิต  (๔) ธรรม  เพื่อกำจัดความยินดี (อภิชฌา)  ความยินร้าย (โทมนัส), อ้างใน
  สํ.ม. (บาลี) ๑๙/๘/๘, สํ.ม. (ไทย) ๑๙/๘/๑๒-๑๓, ที.ม,(บาลี) ๑๐/๓๗๓/๒๔๘.ที.ม,(ไทย) ๑๐/๓๗๓/๓๐๑-๓๐๒.

 

[5] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.  ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ, เชิงอรรถ  หน้า ๒๑.

[6] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.  ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า ๕๗๘.

[7] พึงเข้าใจว่าพระอรหันต์  ใช้กับพระสงฆ์ เท่านั้น  เพราะในวิสัยคฤหัสถ์ไม่สามารถรองรับอริยบุคคลขั้นสูงสุดนี้ได้ ในมหาวัจฉโคตตสูตร  ว่าด้วยเรื่องพุทธบริษัทผู้ทำให้แจ้งวิมุติ  แสดงเพศคฤหัสถ์เป็นอริยบุคคลได้เฉพาะ  อนาคามี  สกทาคามี  โสดาบัน, ดูรายละเอียดใน  ม.ม. (ไทย) ๑๔/๑๙๕/๒๓๐.

  [8]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.  ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า ๘๒๔.     

[9]สํ.ม. ๑๙/๘๗๔/๒๖๔, ๘๖๘/๒๖๒, สํ.อ. ๓/๓๓๗, อ้างในพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.  ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า ๘๒๕.      

   [10] มรรคมีองค์ ๘ สงเคราะห์ลงในไตรสิกขา  ดังนี้  มรรคข้อที่ ๓) สัมมาวาจา, ๔) สัมมากัมมันตะ, ๕) สัมมาอาชีวะ สงเคราะห์ลงใน  ศีล,  มรรคข้อที่ ๖) สัมมาวายามะ, ๗) สัมมาสติ, ๘) สัมมาสมาธิ  สงเคราะห์ลงใน  สมาธิ,  มรรคข้อที่ ๑) สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ  สงเคราะห์ลงใน  ปัญญา,อ้างใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.  ปยุตฺโต), พุทธธรรม  ฉบับปรับปรุงและขยายความ, หน้า ๙๑๔-๙๑๕.     

หมายเลขบันทึก: 550409เขียนเมื่อ 7 ตุลาคม 2013 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 ตุลาคม 2013 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งใช้วิธีการฝึกสมาธิ  โดยบังคับให้ผู้เรียนนั่งนิ่ง ๆ หลับตา  ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ผู้เรียนไม่ชอบและเกิดการต่อต้าน  ทำให้สมาธิเจตสิกไปเข้ากับโทสะเจตสิก 

 ส่งผลให้เกิดโทสะกล้าและมีพฤติกรรมไปในทางใช้ความรุนแรง  หรือ  บางครั้งผู้เรียนก็คิดปรุงแต่งจิตไปในทางไม่ดีเอง  เช่น  ปรุงแต่งไปในทางราคะบ้าง  โมหะบ้าง  ส่งผลทำให้จิตเกิดราคะ  เกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร  หลงผิด  ไม่ละอาย  ไม่เกรงกลัวบาป 

บังคับฝึกสมาธิ ของแบบนี้ควรค่อย ๆจูงใจให้เห็นคุณประโยชน์ เมื่อเขาพร้อมก็จะเข้ามาเอง

ดิฉันขอติงข้อความที่ขีดเส้นใต้ ไม่น่าจะเป็นผลจากการถูกบังคับให้นั่งสมาธิเท่านั้น

พระอาจารย์แสนปราชญ์

ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งใช้วิธีการฝึกสมาธิ โดยบังคับให้ผู้เรียนนั่งนิ่ง ๆ หลับตา ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ผู้เรียนไม่ชอบและเกิดการต่อต้าน ทำให้สมาธิเจตสิกไปเข้ากับโทสะเจตสิก

ส่งผลให้เกิดโทสะกล้าและมีพฤติกรรมไปในทางใช้ความรุนแรง หรือ บางครั้งผู้เรียนก็คิดปรุงแต่งจิตไปในทางไม่ดีเอง เช่น ปรุงแต่งไปในทางราคะบ้าง โมหะบ้าง ส่งผลทำให้จิตเกิดราคะ เกิดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หลงผิด ไม่ละอาย ไม่เกรงกลัวบาป

บังคับฝึกสมาธิ ของแบบนี้ควรค่อย ๆจูงใจให้เห็นคุณประโยชน์ เมื่อเขาพร้อมก็จะเข้ามาเอง

ดิฉันขอติงข้อความที่ขีดเส้นใต้ ไม่น่าจะเป็นผลจากการถูกบังคับให้นั่งสมาธิเท่านั้น

ขออนุโมทนาในการติงข้อความ
    ถูกต้อง  ตามหลักธรรมแล้ว  เราไม่สามารถตัดสิน "ผล" ว่าเกิดจาก "เหตุ" เดียว 
เช่น  มะม่วง  ย่อมเกิดจาก  หลายเหตุ เช่น  เมล็ด  ดิน  ปู๋ย  อากาศ  ฯลฯ

ประโยค  ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ผู้เรียนไม่ชอบและเกิดการต่อต้าน ทำให้สมาธิเจตสิกไปเข้ากับโทสะเจตสิก  
พระอาจารย์  หมายถึง  อาจจะใช่ก็ได้  หรือไม่ก็ได้  แต่ถ้าข้อความการสื่อประโยคนี้  อาจทำให้ไขว้เขว 
จะลองปรับสำนวนอีกที  เช่น  ปัจจุบันพบว่าสถานศึกษาหลายแห่งใช้วิธีการฝึกสมาธิ โดยบังคับให้ผู้เรียนนั่งนิ่ง ๆ หลับตาซึ่งวิธีนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียนไม่ชอบและเกิดการต่อต้าน ทำให้สมาธิเจตสิกไปเข้ากับโทสะเจตสิก   

                                               เจริญพร 

นมัสการค่ะ...ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท