ชีวิตที่พอเพียง : 2008a. เรียน “พุทธทาสภิกขุ” ด้วยสายตานักปฏิบัตินิยม


ผมตีความจากอคติความเข้าใจของผมว่า ความพิเศษของท่านพุทธทาสที่ทำให้ท่านเด่นมาก คือท่านเชื่อการปฏิบัติ มากกว่าเชื่อทฤษฎี กล่าวจากมุมของการศึกษาได้ว่า ท่านเป็น “practice-based learner” คือเป็นผู้เรียนรู้จากฐานของการปฏิบัติ เอาผลจากการปฏิบัติของตนเองมาตรวจทานข้อเขียน ที่คัดลอก สืบต่อกันมานานมาก คือพระไตรปิฎก แล้วเลือกเอามาแต่ส่วนที่ตรงกันระหว่างผลของการปฏิบัติ กับข้อเขียนเชิงทฤษฎี ทำให้เห็นว่า ข้อเขียนเชิงทฤษฎีหรือคำสอนในพุทธศาสนานั้นมีหลายส่วน ที่เป็นส่วนขยาย ไม่ใช่หัวใจของพระพุทธศาสนา และในบางกรณีเกิดผลร้ายมาก คือส่วนขยายไปบดบัง ส่วนหัวใจหรือแก่น ทำให้คนเข้าใจแก่นแบบไขว้เขว เกิดการปฏิบัติแบบเบี่ยงเบน ซึ่งพบมากในปัจจุบัน เพราะในความจริงแล้ว ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยที่แก่นแท้ของศาสนาคือ ทำหน้าที่ลดความเห็นแก่ตัว แต่อาจมีคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ตน หรือผลประโยชน์ของกลุ่ม ได้เสมอ หรือจริงๆ แล้ว ทำอยู่ตลอดเวลา

ชีวิตที่พอเพียง: 2008a. เรียน พุทธทาสภิกขุ ด้วยสายตานักปฏิบัตินิยม

วันที่ ๔ ต.ค. ๕๖ ผมได้รับแจกหนังสือแปล เรื่อง พุทธทาสภิกขุ : พระพุทธศาสนานนิกายเถรวาท และการปฏิรูปเชิงนวสมัยนิยมในประเทศไทยจากการไปประชุมคณะกรรมการบริหารหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ คนห่างวัด อย่างผมอ่านแล้ว วางไม่ลง

หนังสือเล่มนี้แปลจากหนังสือภาษาอังกฤษที่สำนักพิมพ์ Silkworm เคยพิมพ์จำหน่าย ขื่อ Buddhadasa: Theravada Buddhism and Modernist Reform in Thailand ฉบับพิมพ์แก้ไขครั้งที่ ๒พ.ศ. ๒๕๔๔ และมาจากวิทยานินธ์ปริญญาเอก เรื่อง Buddhadasa and Doctrinal Modernisation in Contemporary Thai Buddhism, 2529ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ของ Peter A. Jackson ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทยและวัฒนธรรมไทยศึกษา อยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ออสเตรเลียโดยผู้แปลคือ ศ. ดร. มงคล เดชนครินทร์ ราชบัณฑิต

ที่อ่านแล้ววางไม่ลงก็เพราะได้อ่านเรื่องของท่านพุทธทาสแบบที่ไม่มองเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ ของขลังแต่มองแบบมนุษย์ธรรมดาสามัญและที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ไม่มองแยกจากวิถีชีวิตผู้คนแต่มองภายใต้บริบททางสังคมการเมือง และอื่นๆ

แล้วผมก็พบคำ นักปฏิบัตินิยม และ แนวปฏิบัตินิยม ในหน้า ๑๒๔ และ ๑๒๕ ตามลำดับทำให้ผมเพ่งพินิจทันทีว่า ศ. แจ็สันหมายความว่าอย่างไร

ผมเดาว่า คำว่า ปฏิบัตินิยม นี้ ศ. ดร. มงคล แปลมาจากคำว่า pragmatismซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึง อนุโลมให้เข้ากับวิถีปฏิบัติ ที่ยึดถือกันโดยทั่วไปในความหมายเช่นนี้ ผมคิดว่า ไม่ตรงกับความเป็นท่านพุทธทาส

ผมตีความจากอคติความเข้าใจของผมว่าความพิเศษของท่านพุทธทาสที่ทำให้ท่านเด่นมากคือท่านเชื่อการปฏิบัติ มากกว่าเชื่อทฤษฎีกล่าวจากมุมของการศึกษาได้ว่า ท่านเป็น practice-based learnerคือเป็นผู้เรียนรู้จากฐานของการปฏิบัติเอาผลจากการปฏิบัติของตนเองมาตรวจทานข้อเขียน ที่คัดลอก สืบต่อกันมานานมาก คือพระไตรปิฎก แล้วเลือกเอามาแต่ส่วนที่ตรงกันระหว่างผลของการปฏิบัติ กับข้อเขียนเชิงทฤษฎีทำให้เห็นว่า ข้อเขียนเชิงทฤษฎีหรือคำสอนในพุทธศาสนานั้นมีหลายส่วน ที่เป็นส่วนขยายไม่ใช่หัวใจของพระพุทธศาสนาและในบางกรณีเกิดผลร้ายมาก คือส่วนขยายไปบดบัง ส่วนหัวใจหรือแก่นทำให้คนเข้าใจแก่นแบบไขว้เขวเกิดการปฏิบัติแบบเบี่ยงเบนซึ่งพบมากในปัจจุบัน เพราะในความจริงแล้ว ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยที่แก่นแท้ของศาสนาคือ ทำหน้าที่ลดความเห็นแก่ตัวแต่อาจมีคนใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ตน หรือผลประโยชน์ของกลุ่ม ได้เสมอหรือจริงๆ แล้ว ทำอยู่ตลอดเวลา

ในหนังสือหน้า ๑๕๖ ระบุว่า ท่านพุทธทาสเน้นว่าการศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงทฤษฎีล้วนๆจะไม่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณได้อย่างถูกต้องข้อความนี้ ผมคิดว่าเป็นจริงในทุกเรื่อง ไม่ใช่จริงเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณ

ในการอ่านหนังสือนั้นผมชอบอ่านให้ได้ ภาพใหญ่ ของสาระในหนังสือ ที่ผู้เขียนต้องการบอกและภาพใหญ่ นั้น มักปรากฎอยู่ในชื่อบทของหนังสือ

ผมรู้สึกทันทีที่เห็นชื่อบทที่ ๕ จิตว่างและการล้มเลิกข้อแตกต่างระหว่างฆราวาสกับบรรพชิตว่าสอดคล้องกับคำของ อ.หมอประเวศ ว่าท่านพุทธทาสเป็นผู้ทำให้ธรรมะกลายเป็น ยาสามัญประจำบ้านผมต่อให้อีกหน่อยว่า แก้โรคมืดบอด

โป๊ะเชะ! ผมพบที่หน้า ๒๘๓ ว่า ว่าง = เต็ม ในคติเซนผมต่อเองว่า ว่างจากกิเลสมีปัญญาอยู่เต็ม

หนังสือเล่มนี้เขียนเสนอแนวคิดใหม่ๆ ของท่านพุทธทาสและในขณะเดียวกัน ก็แสดงข้อโต้แย้งของผู้ไม่เห็นด้วย (อาจเรียกว่า มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม) หรือผู้แสดงความเป็นศัตรูแบบเอาเป็นเอาตายวิธีเขียนแบบนี้ ช่วยทำให้แนวคิดของท่านพุทธทาสแจ่มชัดขึ้น และช่วยให้เข้าใจด้วยว่าทำไมจึงเกิดคำอธิบายแบบนั้นๆ ของท่านพุทธทาสผมเรียกวิธีเขียนหนังสือแบบนี้ว่า เขียนแบบมีบริบท

ผู้เขียนตีความบอกประเด็นที่สำคัญมากในเรื่องการพัฒนาคน หรือการศึกษา โดยอ้างจากหนังสือ บรมธรรม ว่า ประเทศญี่ปุ่นได้ใช้วิถีการพัฒนาทางจิตเป็นหลักนำแทนที่จะใช้วัตถุเป็นหลักนำทำให้ญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาทางวัตถุที่ก้าวหน้ามากเสียจนชาวต่างชาติรู้สึกเกรงกลัวดินแดนแห่งการพัฒนาจิตแห่งนี้ญี่ปุ่นมีการพัฒนาทางจิตในระดับสูง ... ซึ่งก็อยู่ในชีวิตประจำวัน และในวัฒนธรรมประจำชาติของพวกเขา นั่นคือ นิกายของพระพุทธศาสนาที่เราเรียกกันว่า เซน

ผู้เขียนตีความต่อในหน้า ๓๒๕ ว่า ประเด็นสำคัญก็คือว่าท่านพุทธทาสเห็นว่าการพัฒนาจิตตามแบบเซนนั้น ทำให้เกิดคุณสมบัติที่ดีต่างๆ ขึ้นในคนญี่ปุ่น เช่น ความตั้งใจมั่น ความอุตสาหะพยายาม ความเข้มแข็งในการทำงาน และความอดทน รวมทั้งความสุภาพและความอ่อนน้อม - ซึ่งทั้งหมดนี้ถือได้ว่า เป็นคุณสมบัติของคนงานที่มีประสิทธิภาพและพึงประสงค์สำหรับนายจ้างทุกคน ...

นี่คือการตีความว่า ธรรมะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้บูรณาการสำหรับคนทุกคนเป็นเครื่องมือสร้างคนที่มีคุณสมบัติต่างๆ ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาประเทศ และน่าจะมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อการวางยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาในขณะนี้ ที่ควรมีส่วนของการพัฒนาจิต เพื่อสร้างคุณสมบัติที่จำเป็นแห่งยุคสมัย

ที่หน้า ๓๗๔ ผมติดใจถ้อยคำว่า บุคคลในอุดมคติที่พอจะเห็นได้ จากระบบความคิดของท่านพุทธทาสนั้นไม่ใช่อริยสงฆ์ระดับพระอรหันต์ที่ปลีกตัวออกจากโลกแต่เป็นฆราวาสที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกตามแบบพระโพธิสัตว์คือ ทำงานเพื่อให้ตนเองบรรลุความหลุดพ้น ไปพร้อมๆ กับที่ช่วยเหลือสังคม ที่ปฏิบัติตามหลักจิตว่าง

ในปัจฉิมบท หน้า ๔๕๖ ผมติดใจข้อความว่า ข้อเขียนของ หลุยส์ กาโบด . ได้ชี้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคำสอนในพระพุทธศาสนา ตามแบบประเพณีนิยมแล้วคำสอนของท่านพุทธทาสที่ตัดเรื่องปรัมปราออกไปจนหมดยังมีข้อบกพร่องที่สำคัญอยู่อีก ๒ ประการประการแรก คำสอนของท่านไม่มีสิ่งประโลมใจอย่างที่ชาวพุทธไทยจำนวนมากแสวงหาจากศาสนาประการที่ ๒ การที่ท่านตัดเรื่องราวเหนือธรรมชาติออกไปจากคำสอนในพระพุทธศาสนาอาจส่ง ผลให้การตีความคำสอนตามแนวใหม่ของท่านหลุดพ้นไปจากรากเหง้าเดิมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับกัน

ตลอดเล่มของหนังสือ ผู้เขียนได้ชี้ว่า ผู้ที่ยึดปฏิบัติตามแนวทางของท่านพุทธทาสมีน้อยจำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นกลางหัวก้าวหน้าแนวปฏิบัติของท่านเข้าไม่ถึงคนชั้นสูงและคนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ผมไปที่สวนโมกข์ พบพี่ศิริ (ครูศิริ พานิช ลูกคนโตของคุณลุงธรรมทาส และเป็นบิดาของ ดร. โพธิพันธุ์ พานิช) ซึ่งเป็นคนสนุกและพูดจาขวานผ่าทรากท่านบอกว่ามีสวนโมกข์อยู่ที่นี่แต่ชาวบ้านโดยรอบสวนโมกข์เล่นการพนัน ลักขโมย และฆ่ากันแบบฆ่าล้างโคตรกันต้องเอาศพที่ต่างฝ่ายต่างโดนฆ่ามาสวดพร้อมกันที่วัดเดียวกันพี่ศิริเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว

ทำให้ผมนึกถึงคำว่า จุดแข็งคือจุดอ่อนคำสอนของท่านพุทธทาส เป็นคำสอนที่ประเทืองปัญญายิ่งนั่นคือจุดแข็งและจุดอ่อน

สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เอ่ยถึงในหนังสือเล่มนี้ (และเล่มไหนๆ) คือปฏิปทา ของท่านพุทธทาสชีวิตทั้งชีวิตของท่านสอนอะไรเราผมตีความแบบของผม ว่าสอนเราในเรื่องเป็น นักเรียน ท่านเรียนทั้งจากการปฏิบัติและการตีความทฤษฎีแล้วเอามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคม

ผมบอกตัวเองว่า สิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวผม ของท่านพุทธทาสมี ๒ ส่วน คือส่วนคำสอน (ความรู้)กับส่วนวิธีเข้าถึงข้อสรุปในคำสอนเหล่านั้น (วิธีเข้าถึงความรู้ หรือ วิธีเรียนรู้)ผมให้น้ำหนักส่วนหลังมากกว่า น่าจะ 30 : 70คือส่วนหลังมีน้ำหนัก ๒ เท่าของส่วนแรกเราใช้ส่วนหลังเรียนรู้จากชีวิตจริง ปฏิบัติจริง ของเราเพื่อทำความเข้าใจโลก ชีวิต และวิธีทำให้ชีวิตเดินตามแนว โพธิสัตว์

คุณูปการยิ่งใหญ่ของท่านพุทธทาส ในความเห็นของผม คือท่าน empower คนทุกคน ว่าเป็นโพธิสัตว์ได้หากดำเนินชีวิตถูกต้อง

วิจารณ์ พานิช

๕ ต.ค. ๕๖

<!--[if gte mso 9]> <w:LsdException Locked="false" Priority="64" SemiHidden="false" UnhideWhenUsed="fal

หมายเลขบันทึก: 550323เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2013 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2013 14:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออาจาริยบูชา อาจารย์พุทธทาสภิกขุ พระแท้ในใจกระผมด้วยครับอาจารย์

ขอบพระคุณครับอาจารย์...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท