เวลาทองของการเลี้ยงลูก คือสิบปีแรกของชีวิต


ได้ย้อนเวลาไปทบทวนชีวิตอีกครั้ง เมื่อเอาเรื่องราวสมัยที่ไปเรียนต่อโท-เอกที่ออสเตรเลียมาลงไว้ใน GotoKnow เป็นที่น่าสนใจสำหรับใครต่อใครว่า ทำได้ยังไงกับการเลี้ยงลูกสามคนที่ยังอายุน้อยๆคือ 9, 8 และ 3 ขวบไปด้วยเรียนหนังสือไปด้วย เขียนตอบน้องหมอป.ไปในบันทึกแล้ว ก็อยากมาเขียนย้ำเอาไว้เพื่อยืนยันอีกครั้งตามชื่อบันทึกเลยค่ะ เพราะตัวเองเป็นคนอยากมีลูก (เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังจากที่ทำงานมาแล้วหลายปี ก่อนหน้านั้นเคยอยากเป็นโสด แต่เจอพี่ที่ทำงานที่ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเกิดเป็นผู้หญิง สิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต คือการได้เป็นแม่) และตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่า ถ้ามีลูกจะเลี้ยงเอง จำได้เลยว่าตอนที่มีน้องฟุง หนุ่มน้อยคนสุดท้อง คุณย่าจะขอไปเลี้ยงเพราะที่บ้านหลานชายมีน้อยและเรามีแล้วถึงสองหนุ่ม บอกได้เลยว่าไม่ให้ใครแน่นอน และยื่นคำขาดกับคุณพ่อทั้งสามหนุ่มว่า ถ้าต้องไปเรียนต่อเมืองนอกจะต้องเป็นแบบที่เอาลูกไปด้วยได้หมด ให้ไปคนเดียวไม่เอาแน่นอน เป็นความตั้งใจที่ไม่ได้บอกใครแต่คิดเสมอว่า สิบปีแรกของชีวิตลูกเราจะไม่พลาดการอยู่กับเขาไปเป็นอันขาด อาจจะเป็นปมในชีวิตที่เคยโดนคุณพ่อคุณแม่ส่งไปอยู่กับคุณปู่คุณย่าตอนช่วงก่อนสิบขวบสักปีสองปี ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นช่วงที่เราโดดเดี่ยวเดียวดายที่สุด

ต้องขอบคุณคุณพ่อของสามหนุ่มค่ะ เพราะเป็นหัวเรือหลักในการดูแลลูกๆ ทำให้เราได้ทุ่มเวลาส่วนใหญ่ให้กับการเรียนการทำงานแล็บ แต่เวลาพักผ่อนที่สมาชิกในแล็บหรือเพื่อนนักเรียนมักจะไปสังสันท์ เที่ยวจับกลุ่มเฮฮา เราก็เอามาให้กับครอบครัวแทน เสาร์อาทิตย์ถ้าไม่มีแล็บติดพันจริงๆก็เป็นเวลาของครอบครัว มีกิจกรรมกับลูกๆตลอด เป็นช่วงเวลาสนุกสนานของทั้งเราและลูก เราถักนิตติ้งเป็นงานอดิเรก ทั้งสามหนุ่มก็ถักเป็นชิ้นเป็นอันกันได้ทุกคน เล่นได้ทั้งแบบโลดโผนและการฝีมือ เพราะมีหนังสือดีๆให้เรายืมมาอ่านเอาเป็นแบบได้ไปหมด ไม่ว่าจะอยากทำอะไร เรามีจักรยาน สกูตเตอร์ ก็พากันขี่พากันเข็นรอบๆที่พัก เข้าไปใน campus เอาข้าวปลาอาหารใส่ตะกร้าไปนั่งกินตามสวนสาธารณะที่มีสนามเด็กเล่น เหนื่อยแต่สนุก เพราะมีคุณพ่อเป็นผู้ช่วยที่ดีมาก และเราพยายามแบ่งเวลาได้ให้ และที่ทำงานก็เข้าใจ supervisor ก็เข้าใจ เพราะเวลาทำงานเขาก็เห็นว่าเราเอาจริงเอาจังมาก เวลามีเหตุฉุกเฉินอะไรก็เลยขออนุญาตง่าย ในวันธรรมดาปกติก็จะมีบ้างที่แล็บต่อเนื่องต้องกลับบ้านช้ามาก เคยมีเพื่อนฝรั่งโทรมาหาที่บ้าน เขามาบอกว่าลูกชายยูเป็นคนมีอารมณ์ขันมากเลยนะ เพราะน้องเหน่นบอกเพื่อนแม่ว่า it's a mysterious. ตอนที่เขาถามว่า When will she be back?

มีเรื่องสนุกๆน่าประทับใจที่โน่นมากมายจริงๆ เพราะเป็นช่วงที่ได้ใกล้ชิดลูกตลอดด้วยไม่ว่าจะเรียนหรือทำงานหนักขนาดไหน ถ้าลูกๆมีงาน มีกิจกรรมอะไรที่โรงเรียนก็จะพยายามหาเวลาสับหลีกไปดูจนได้ทุกครั้ง ถ่ายวิดีโอ ถ่ายรูปเก็บไว้ให้เขามาตลอด ได้เห็นแล้วว่าช่วงสิบปีแรกในชีวิตของคนคนหนึ่งนั้น คือเวลาแห่งการสะสมอัตลักษณ์ของตัวตน แต่ละคนก็จะมีลักษณะนิสัยที่ติดตัวมาไม่เหมือนกัน การที่เราได้ใกล้ชิดลูกตลอด ทำให้เรารู้นิสัยใจคอ เข้าใจในตัวตนของเขา รู้เลยว่าสิ่งต่างๆที่เราอยากให้เขาเป็นไปนั้น ต้องค่อยๆสะสมใส่เข้าไป แต่ก็มีหลายอย่างที่มากับตัวเขาเองที่เราไม่สามารถเปลี่ยนได้ ทุกคนมีเอกลักษณ์ฉพาะตัว เราเลี้ยงลูกได้แต่ตัวและสร้างวินัยพื้นฐานของชีวิตให้เขาได้แค่นั้นเอง แต่การที่เราใกล้ชิดเขาจะทำให้เรารู้ว่า จะช่วยทำให้เขาเดินไปในทางที่ถูกต้องดีงามได้อย่างไร จากความเข้าใจเขาที่เรามี

มาถึงวันนี้ที่สองหนุ่มแรก ห่างไกลบ้านมาสามสี่ปีแล้ว และเป็นคนอิสระที่ไม่ได้ติดพ่อแม่เลย เราไม่ต้องติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมใดๆของลูก เขาใช้ชีวิตดูแลตัวเอง จัดการตัวเอง เราทำหน้าที่สนับสนุนในส่วนที่เราต้องทำตามหน้าที่พ่อแม่เท่านั้น จากการพูดคุยและการได้พบเห็นคนรอบๆตัวลูก ก็บอกตัวเองได้ว่า ลูกทั้งสองคนเป็นคนดี มีน้ำใจ รู้หน้าที่ อยู่ได้ทั้งในหมู่เพื่อนแบบที่อันตรายและไม่อันตราย เขารู้จักแยกแยะปรับตัว พี่วั้นเรียนวิศวะอยู่ท่ามกลางคนสูบบุหรี่ กินเหล้า เที่ยวเตร่ ตลอดเวลาสี่ปี ลูกเอาตัวรอดได้มาเป็นอย่างดีเขาเข้าสังคมได้ โดยมีจุดพอดีของตัวเอง รู้ว่าอะไรทำได้แค่ไหน พี่วั้เอามาเล่าให้ฟังด้วยซ้ำว่า เคยทำให้รุ่นน้องหยุดสูบบุหรี่ได้เมื่อมาให้เขาติวหนังสือให้ ลูกเป็นเพื่อนที่คุณพ่อคุณแม่เพื่อนก็รัก เพราะช่วยเพื่อนเสมอ ลูกเล่าแบบเป็นเรื่องทั่วๆไปไม่ได้โอ้อวด แต่ก็ทำให้เราภูมิใจในมุมมองของลูก รู้สึกว่าเขาเป็นผลงานที่น่าภูมิใจของแม่อย่างเราจริงๆ น้องๆอีกสองหนุ่มก็เป็นคนละแบบที่ต่างออกไป แต่ก็เห็นได้ว่า ทั้งสองคนเป็นตัวอย่างของเด็กดีในสังคมแน่นอน

สรุปว่าทฤษฎีส่วนตัวที่ตั้งใจไว้ว่า สิบปีแรกของชีวิตลูกเป็นวัยที่เราต้องใกล้ชิดให้มากที่สุด เป็นสิ่งที่ถูกต้องนะคะ เวลาช่วงนั้นแม้เราจะเอาไปสร้างอะไรให้กับตัวเอง เพื่อจะเอามาเป็นสมบัติหรือความมั่นคงอะไรให้ลูกก็ไม่มีความหมายเท่ากับเวลาแห่งการได้อยู่ใกล้กัน การเรียนรู้กันและกันในช่วงนี้เป็นเวลาทองที่ไม่มีอะไรจะมาทดแทนได้เลย และเป็นช่วงเวลาที่เราไม่สามารถจะรีรอผัดผ่อนอะไรได้เลย เพราะมันจะค่อยๆผ่านไปอย่างรวดเร็วและเป็นเวลาที่เรามีความหมายมากที่สุดสำหรับลูก เมื่อพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้ว ลูกจะมีสิ่งอื่นๆที่น่าสนใจมากกว่าเราแล้วค่ะ เราจะไม่ใช่ศูนย์กลางแห่งชีวิตเขาอีกต่อไป เพราะฉะนั้นใครที่ยังมีเวลาช่วงสิบปีแรกของลูกให้เก็บเกี่ยว ขอบอกว่าอย่าเอาไปแลกกับโอกาสอื่นใดเลยนะคะ เวลาทองนี้มีไม่มากและไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีก จงใช้ให้มีคุณค่าเสียตั้งแต่นาทีนี้เลยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 550317เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2013 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2013 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เป็นข้อคิดที่ดีมาก ๆ สำหรับคุณพ่อ คุณแม่ทั้งหลายนะคะ ขอบคุณมากค่ะอาจารย์

...ช่วงวัยรุ่นก็สำคัญมากๆนะคะ...ขอบคุณค่ะ

เรียนอาจารย์ โอ๋ ในเรื่องของครอบครัวอาจารย์ แม้ผมไม่สัมผัสพบเห็นโดยตรง  แต่ก็ได้สัมผัสผ่านบันทึกของอาจารย์ เสมอมา

ถึงเรื่องลูกๆ อาจารย์ สอนลูกโดยไม่สอน คือสร้างความรัก ความสุข ความเป็นเพื่อน " ทำให้ดู  อยู่ให้เห็น เป็นให้จริง"เป็นเกราะให้ในสิบปีแรก ยิ่งได้มาอ่านตอน พี่วั้น สาราถทำให้เห็น  ให้รุ่นน้องเลิกบุหรี่ได้ ยิ่งชื่นชม  ไม่ง่ายนักที่จะอยู่รอดในท่ามกลางคนหมู่มากที่ลากไป

ผมเคยมีประสบการณ์ ตอนเข้าทำงานใหม่ ในปี 2551 วันแรกโดนเสียแล้ว พ่อบ้าน บังคับให้ดื่มเหล้า  ผมยืนกราน หากให้ผมดื่มเหล้า ผมยอมออกจากงาน คืนนั้น ถกเถียงกับคนเมาที่เป็นหัวหน้า...กว่าจะเกิดการยอมรับ

หลังจากวันนั้นมีงานเลี้ยง ใครส่งเหล้าให้ผม พ่อบ้านจะเป็นเกราะป้องกันให้ 

ที่แชร์ความเห็นมาด้วย ศรัทธา และขอบคุณ

 

 

อาจารย์โอ๋ฯ เขียนถ่ายทอด ทรงพลังต่อการลอกเลียนแบบมากเลย ครับ

..

ขอบพระคุณมากครับ

ชื่นชมค่ะ  

นั่นสิคะ  แล้วแม่ ๆ ตามชนบทที่ฝากลูกไว้กับยาย  พ่อแม่ไปทำงานหาเงินที่เมืองใหญ่  ไต้หวัน  เกาหลีฯ  

แล้วลูกก็แทบไม่ได้รับการอบรม  กล่อมเกลาเท่าที่ควร  ทิ้งปัญหาให้คนรุ่นต่อไป  เฮ้อ !!!!

เข้ามาเยี่ยมและชื่นชมอาจารย์ค่ะ

บันทึกนี้เขียนมานานแล้ว แต่ก็ยังเป็นเรื่องจริงทีอยากบอกทุกท่านเสมอค่ะ โดยเฉพาะท่านที่ทุ่มเททำงานหนัก หวังจะให้ลูกสบาย แต่จริงๆแล้ว ลูกต้องการให้พ่อแม่รักและเข้าใจ มีเวลาให้เขามากกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ที่อ. บอกว่าวัยรุ่นก็สำคัญนั้น ตัวโอ๋เองเห็นแล้วค่ะว่า ถ้าเรารู้จักลูกดี เป็นเพื่อนและเข้าใจลูกมาตั้งแต่ต้น ถึงวัยรุ่นจะวุ่นยังไง ลูกเราก็มีพื้นฐานที่มั่นคงแล้ว ไม่มีปัญหาเลยค่ะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท