Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

น้องนูกาซิมมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธินี้ น้องจะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยอย่างไร ?


กรณีศึกษาเด็กชายนูกาซิม มูฮัมหมัด หรือ เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม: การกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของคนเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ จากบิดาและมารดาซึ่งอพยพจากพม่าเข้ามาในประเทศไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?savednote_id=10151946473108834

--------------

ข้อเท็จจริง[1]

-------------

เด็กชายนูกาซิม มูฮัมหมัด หรือ เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม[2] เกิด (นอกโรงพยาบาล) เมื่อประมาณปี ๒๕๔๔ ที่ซอย ๗ หมู่ ๔ ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประเทศไทย ทำคลอดเองโดยชาวบ้าน โดยไม่ปรากฏว่าบิดา (นายอับดุลมาเล็ก เสียชีวิตแล้ว เมื่อประมาณปี ๒๕๔๘) หรือมารดา (นางมูดีน่า หรือ Domar เสียชีวิตแล้ว แต่ไม่ทราบสาเหตุและเมื่อใดอย่างแน่ชัด) ได้แจ้งการเกิดแต่อย่างใด ทำให้ไม่มีเอกสารรับรองการเกิด แต่มีผู้นำศาสนาที่เป็นคนพม่ามาทำอาซาน (วันแรกรับเด็กเกิดใหม่)

บิดาของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม และพี่น้องเดิมอยู่ที่หมู่บ้านนาไมล์ (แปลว่า กิโลเมตรที่ ๒) ซือมู่ อำเภอเกาะสอง เขตตะนาวศรี ประเทศพม่า ปี ๒๕๓๖ บิดาและมารดาของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ได้เข้ามาและอยู่ในประเทศไทยบริเวณหมู่บ้านมุสลิม ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประเทศไทย เพื่อทำงานรับจ้างทั่วไป

ภายหลังจากที่บิดาและมารดาของเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม เสียชีวิต นายซุลกิฟลี มูฮัมหมัด ซึ่งเป็นอาแท้ ๆ ทราบข่าวจึงได้รับเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิมมาอุปการะเลี้ยงดูและอาศัยอยู่ด้วยที่บ้านเลขที่ ๓๖ ถนนวังหน้า ตำบลจะบังติด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ประกอบอาชีพค้าขายแหวน นาฬิกา ทับทิม และ มรกต ในลักษณะเร่ขายของตามบ้าน นายซุลกิฟลี มูฮัมหมัด เคยพาเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ไปสมัครเรียนในโรงเรียน แต่ได้รับการปฏิเสธ เพราะไม่มีเอกสารประจำตัวบุคคลใด ๆ

เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม พร้อมคนต่างด้าวอีก ๒ คน ถูกพนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดปัตตานีจับกุม ในความผิดฐานเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็น บุคคลต่างด้าว (สัญชาติพม่า) เข้ามาในราชอาณาจักร โดยไม่ผ่านช่องทางเข้าออกด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และส่งไปกักตัวที่อาคารกักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา เพื่อรอการผลักดันออกนอกราชอาณาจักร[3] พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาได้ส่งตัวเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา

เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ได้หนีออกจากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา กลับไปอยู่กับนายซุลกิฟลี มูฮัมหมัด ที่จังหวัดปัตตานี[4] เนื่องจากมีปัญหาเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลาได้แจ้งเรื่องการหลบหนีกับตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา และ แจ้งเหตุต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ถูกจับกุมอีกครั้ง ในความผิดฐานหลบหนีจากการควบคุมตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา ๗๖ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ยื่นคำร้องตรวจสอบการจับต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา[5] เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ถูกส่งตัวไปอยู่ในความดูแลของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา พนักงานอัยการคดีเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ยื่นฟ้องเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ต่อศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลา ในคดีอาญาฐาน เป็นคนต่างด้าวหลบหนีไปในระหว่างที่ถูกกักตัวหรือควบคุมตามอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่[6] ศาลเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลาพิจารณาคดีและมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลาปล่อยตัวเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิมทันที พร้อมได้พิพากษาว่ากล่าวตักเตือนเด็กชายมูฮัมหมัด ตามมาตรา ๗๔ (๑) ประมวลกฎหมายอาญา[7] ผู้อำนายการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสงขลาได้ส่งตัวเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา จากนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาได้ส่งให้อยู่ภายใต้การควบคุมของตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาได้ส่งตัวเด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิมไปอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสงขลา

ดังนี้ ให้ท่านวิเคราะห์ถึงสิทธิของคนต่างด้าวในประเทศไทยในข้อเท็จจริงดังกล่าวในบริบทของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

--------

คำถาม[8]

--------

หากนายซุลกิฟลี มูฮัมหมัดสามารถรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ได้ว่า เด็กชายมูฮัมหมัด นูกาซิม หรือเด็กชายนูกาซิมมูฮัมหมัด เกิดที่ซอย ๗ หมู่ ๔ ตำบลบางริ้น อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ประเทศไทย

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า เขาจะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ เพราะเหตุใด

---------------

แนวคำตอบ

----------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้น เรื่องของสิทธิในสัญชาติเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น กฎหมายที่มีผลกำหนดสิทธิดังกล่าวจึงได้แก่ กฎหมายมหาชนว่าด้วยสัญชาติของรัฐเจ้าของสัญชาติ ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่นระหว่างรัฐที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

หากเรารับฟังข้อเท็จจริงว่า น้องนูกาซิมเกิดใน พ.ศ.๒๕๔๔ กฎหมายไทยที่มีผลกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยของน้องนูกาซิม ก็คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ทั้งนี้ เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลในช่วงเวลาดังกล่าว

โดยมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อเท็จจริงที่ทำให้บุคคลมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดมีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ

ในประการแรก คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยจะต้องมีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่คนนั้นเกิด ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ สิทธิในสัญชาติประเภทนี้เรียกกันว่า สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา เป็นสิทธิที่เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องมีการกำหนดเกณฑ์โดยคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องมีการร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ในประการที่สอง คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยจะต้องมีมารดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่คนนั้นเกิด ทั้งนี้ เป็นไปตาม มาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ สิทธิในสัญชาติประเภทนี้เรียกกันว่า สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา เป็นสิทธิที่เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องมีการกำหนดเกณฑ์โดยคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องมีการร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เช่นกัน

ในประการที่สาม คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยจะต้องเกิดในประเทศไทย โดยไม่มีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและมารดาเป็นคนต่างด้าวซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สิทธิในสัญชาติประเภทนี้เรียกกันว่า สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดน ซึ่งมีได้ใน ๒ ลักษณะย่อย กล่าวคือ

สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในลักษณะแรก ก่อตั้งโดยเป็นไปมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ สำหรับคนที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนประเภทนี้เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องมีการกำหนดเกณฑ์โดยคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องมีการร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนในลักษณะที่สอง ก่อตั้งโดยเป็นไปมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ สำหรับคนที่เกิดในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ ไม่มี สิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนประเภทนี้ ไม่เกิดขึ้น โดยผลของกฎหมาย จะต้องมีการกำหนดเกณฑ์โดยคณะรัฐมนตรี และจะต้องมีการร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวโดยสรุป ก็คือ ความสำเร็จของสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนประเภทนี้ขึ้นอยู่กับคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่า น้องนูกาซิมเกิดในประเทศไทยเมื่อราว พ.ศ.๒๕๔๔ จากนางมูดีน่าและนายอับดุลมาเล็ก ซึ่งเป็นมุสลิมจากเกาะสอง ประเทศพม่า และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุพการีทั้งสองของน้องนูกาซิมมีสถานะเป็น คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

เมื่อฟังข้อเท็จจริงได้ว่า น้องนูกาซิมเกิดในประเทศไทยเมื่อราว พ.ศ.๒๕๔๔ จากนางมูดีน่าและนายอับดุลมาเล็ก ซึ่งเป็นมุสลิมจากเกาะสอง ประเทศพม่า และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บุพการีทั้งสองของน้องนูกาซิมมีสถานะเป็น คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง

ดังนั้น เราจึงสรุปสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาติไทยของน้องนูกาซิมได้ดังนี้

ในประการแรก น้องนูกาซิมไม่อาจได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากทั้งบิดาและมารดา ทั้งนี้ เพราะทั้งบิดาและมารดาของน้องนูกาซิมไม่มีสถานะเป็นคสัญชาติไทยในขณะที่น้องนูกาซิมเกิด

ในประการที่สอง น้องนูกาซิมไม่อาจได้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยผลของกฎหมาย ทั้งนี้

หมายเลขบันทึก: 550320เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2013 03:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2013 03:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท