จากน้ำเสีย.....สู่น้ำดี ที่คลองท่อม


ถ้าพูดถึง น้ำเสีย คงไม่มีใครอยากที่จะเข้าไปสัมผัสหรือเข้าใกล้ เพราะมันทั้งเน่าทั้งเหม็น แต่สำหรับฉันคงต้องใช้คำว่า ชิน ฉันได้รับมอบหมายงานที่ยิ่งใหญ่งานหนึ่ง นั่นคืองานระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลคลองท่อม แค่ได้ยินชื่อบอกเลยว่า ไม่อยากรับงานนี้เลย แต่จะกลัวอะไรในเมื่อเราเรียนจบด้านนี้มา ฉันจบสาธารณสุขศาสตร์ อนามัยสิ่งแวดล้อม

สาขาวิชานี้สอนให้ฉันรู้ถึงสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนเรา แน่นอนว่า ถ้าสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพจิต สุขภาพกายเราก็ดีไปด้วย แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดีสุขภาพเราก็เสีย ยกตัวอย่างใกล้ๆตัวเรา สมมติว่าเรากำลังยืนให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยเบาหวาน อยู่ๆ ลมโชยมาพัดเอากลิ่นน้ำเน่าเสียข้างโรงพยาบาล เข้ามา ทำให้คนที่อยู่บริเวณนั้นได้รับกลิ่นเหม็นนี้ ความรู้สึกตอนนั้นคงไม่อยากสอนต่อ สุขภาพจิตเสีย ผู้ฟังก็ไม่อยากรับรู้อะไรทั้งนั้น เอามือปิดจมูกอย่างเดียว ทำให้งานของเราติดขัดไม่ราบรื่น น้ำเสียส่งกลิ่นเหม็นรบกวน สร้างความรำคาญให้กับผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา บางคนมานั่งรอรับผู้ป่วย ก็ทำให้สุขภาพจิตเสียไปด้วย ทางกลับกันถ้าสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาลน่าอยู่ ทางเดินสะอาดเป็นระเบียบ ไม่มีกลิ่นรำคาญ คนทำงาน แพทย์ พยาบาล บุคลากรในโรงพยาบาล ร่วมถึงผู้ป่วยและญาติ ก็พอได้สดชื่น สบายตาสบายใจไปด้วย

น้ำ ที่เรานำมาดื่ม มาใช้ เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา วันหนึ่งน้ำอาจจะหมดเหือดแห้งหายไปจากโลกใบนี้ก็ได้ ถ้าเราใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือย เปิดทิ้งเปิดขว้าง โรงพยาบาลของเราใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 110 ลบ.ม.ต่อวัน เดือนหนึ่งเราเสียน้ำสะอาดไป 3,300 กว่าลบ.ม. (ข้อมูลจาก งานประปา ปริมาณน้ำใช้ รพ.คลองท่อม) น้ำเหล่านี้กลายเป็นน้ำเสีย น้ำเสียนี้หากปล่อยทิ้งลงสู่ธรรมชาติไปเลยโดยไม่ทำให้เป็นน้ำดีเสียก่อนก็จะส่งผลต่อน้ำในแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำดีในแม่น้ำลำคลองเน่าเสียไปด้วย ส่งกลิ่นรำคาญไปทั่ว หรืออาจเกิดการปนเปื้อน เชื้อโรค โลหะหนัก มีผลต่อระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำการบำบัดน้ำเสียเหล่านี้เสียก่อนที่จะปล่อยลงสู่คลองสาธารณะต่อไป

หลายๆคนยังไม่ทราบว่า เราจะทำน้ำเสียเหล่านี้ให้เป็นน้ำดี1ได้อย่างไร สำหรับในส่วนของโรงพยาบาลคลองท่อมนั้น ใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบถังเกรอะกรองไร้อากาศร่วมกับการบำบัดด้วยดินและบึงประดิษฐ์ น้ำเสียทั้งหลายที่ออกมาจากอาคารต่างๆในโรงพยาบาลนั้นจะไหลสู่บ่อเกรอะของแต่ละอาคาร บ่อเกรอะนี้จะทำหน้าที่แยกตะกอนหนักและสารแขวนลอย ส่วนที่หนักก็จะตกตะกอนหมักหมมและถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์อยู่ในรูป gas ส่วนที่เป็นน้ำเสียและสารแขวนลอยก็จะไหนไปตามเส้นท่อ ไปรวมกันที่ถังเกรอะกรองไร้อากาศ ส่วนนี้จะเป็นบ่อไร้อากาศคือไม่มีอากาศเข้าไป ทำให้แบคทีเรียที่ต้องการอากาศตาย น้ำเสียไหลผ่านถังเกรอะกรองไร้อากาศไปยังบ่อเติมอากาศ พวกแบคทีเรียที่ไม่ต้องการอากาศ เมื่อเจออากาศก็จะตาย เราเติมอากาศเพื่อเพิ่มออกซิเจนในน้ำ ลด gas ที่ละลายในน้ำ ให้น้ำเสียมีสภาพดีขึ้นก่อนปล่อยสู่บ่อดินและบึงประดิษฐ์ สำหรับบ่อบึงประดิษฐ์ คำว่า บ่อบึงประดิษฐ์ นั้น หมายถึง การใช้พืชในการบำบัดน้ำเสีย พืชจะช่วยเปลี่ยนคุณสมบัติทางเคมีของดินและน้ำเสีย โดยเอาสารอาหารไปใช้ประโยชน์ การเจริญเติบโตของพืชช่วยลดการไหลของน้ำ เพิ่มออกซิเจนจากการสังเคราะห์แสงของพืช และออกซิเจนจะปล่อยลงสู่ดิน เมื่อน้ำเสียผ่านแปลงบึงประดิษฐ์ น้ำที่ได้ก็จะมีคุณภาพดีขึ้น ลักษณะใส ไม่มีกลิ่น จนดูไม่ออกเลยว่า นั่นคือน้ำเสีย แต่เราก็ยังไม่ปล่อยลงสู่คลองสาธารณะ ถึงแม้ว่ามองด้วยตาเปล่าจะเห็นว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดมานั้นมีลักษณะใส กลมกลืนกับน้ำที่เห็นตามธรรมชาติ เราต้องทำการฆ่าเชื้อโรคเสียก่อน โดยการเติมคลอรีนลงไปในบ่อสัมผัสคลอรีน ก่อนปล่อยน้ำลงสู่คลองสาธารณะต่อไป

ระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลคลองท่อม

นี่แหละคือ กระบวนการบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาลคลองท่อม จากน้ำเสียสู่น้ำดี และสิ่งที่ต้องใส่ใจมากที่สุดของระบบบำบัดน้ำเสียชนิดนี้คือ พืช ถ้าพืชเหี่ยวตายนั้น ให้รู้ไว้เลยว่าระบบน้ำเสียกำลังแย่ เพราะฉะนั้น เมื่อพืชเริ่มแก่ เริ่มเหี่ยวแห้งตาย ผู้ดูแลจะต้องตัดและเก็บเกี่ยวออกทันที มิฉะนั้น พืชจะตายและหมักหมมอยู่ในแปลงบึงประดิษฐ์นี้ ทำให้พืชไม่สามารถดูดซับสารอาหารในดินและน้ำได้ และก็จะเกิดการหมักหมมเพิ่มความเน่าเสียของน้ำขึ้นไปอีก ส่งผลต่อคุณภาพน้ำที่ออกสู่คลองสาธารณะ เดือดร้อนต้องรีบแก้ไข ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลคลองท่อมก็กำลังประสบปัญหานี้อยู่เช่นกัน ถึงขนาดต้องเก็บพืชออกจากแปลงบึงประดิษฐ์ทั้งหมด รวมถึงต้องตักเก็บเศษพืชที่ตายหล่นหมักหมมอยู่ในน้ำออกให้หมด จากนั้นทำการปลูกพืชใหม่ลงไปแทน ซึ่งโรงพยาบาลคลองท่อมจากเดิมปลูกพืชผักตบชวา ตอนนี้เปลี่ยนเป็นต้นพุทธรักษาแทน เนื่องจากผักตบชวาขยายพันธุ์เร็วมาก เมื่อแก่และเหี่ยวแห้งทำให้เก็บเกี่ยวไม่ทัน ตายอยู่ในแปลงจำนวนมาก ทับถมกันทำให้น้ำเสียไหลผ่านได้ยาก ปิดกั้นทางเดินน้ำ ทำให้ระดับน้ำในแปลงสู่กว่าที่ระบบวางไว้ จึงต้องทำการเก็บพืชออกจากแปลงทั้งหมด เพื่อปรับระดับน้ำ และการไหลของน้ำ สำหรับต้นพุทธรักษามีลำต้นสูง สามารถตัดแต่งส่วนที่เหี่ยวตายได้ง่ายกว่า จากการที่ต้องเก็บพืชออกจากแปลงทั้งหมด ทำให้เสียเวลาไปมาก

ทั้งนี้ผู้ดูแลต้องพยายามดูแลใส่ใจพืชในแปลงบึงประดิษฐ์ให้สวยงามตลอดเวลา ไม่เฉพาะพืชเท่านั้น ในแต่ละวันผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียจะต้องตัดเก็บเกี่ยวพืชที่แก่ แห้ง ตาย ทำความสะอาดถังเกรอะกรองไร้อากาศ เครื่องเติมอากาศ เดินตรวจเช็คสภาพภายนอกบ่อเกรอะไม่ให้มีรอยแตกร้าว รอยรั่ว และตรวจคุณภาพน้ำ มี 3 พารามิเตอร์ที่ผู้ดูแลต้องตรวจทุกวันคือ ค่า pH (ความเป็นกรดด่าง) ให้มีค่าระหว่าง 5-9 ค่า DO หรือค่าออกซิเจนในน้ำ ให้อยู่ในช่วง 2-4 mg/l และค่าคลอรีนอิสระ ให้อยู่ในช่วง 0.5-1 mg/l และลงรายงานบันทึกประจำวัน

การดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย เป็นงานใหญ่และเหนื่อยจริงๆ พวกเราคนทำงาน Back office ที่หลายๆคนมองข้าม อาจไม่เห็นความสำคัญ ไม่มีใครถามหา แต่พวกเราก็ยืดหยัดทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ดีใจทุกครั้งที่คุณภาพน้ำผ่านมาตรฐาน เราลงทุนลงแรง เหนื่อยแต่ก็คุ้มค่ากับความเหนื่อยที่ทำให้ระบบนิเวศของธรรมชาติอยู่ต่อไปได้ ถ้าเกิดผู้บริหารลงมาเยี่ยมเยียนบ้าง เป็นขวัญและกำลังใจคนทำงาน ก็จะมีแรงใจมากขึ้น ลงมารับฟังปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหา เชื่อว่าคนทำงานจะมีกำลังใจมากขึ้นทีเดียว

สำหรับฉัน เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานแล้วนั้น ฉันก็จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด พยายามคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รู้เลยว่าการทำงานเป็นทีม จะทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ระบบบำบัดน้ำเสียนี้ถ้าเราดูแลใส่ใจดี ระบบก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี จะไม่มีปัญหาเลย แผนต่อไปคงต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม ให้ดูไม่ออกเลยว่า เป็นแหล่งน้ำเสีย นึกว่าแปลงดอกไม้ สามารถเป็นแหล่งศึกษาดูงานได้ในอนาคต คิดว่าฝันคงไม่ไกล

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสียทุกคนที่ทำงานด้วยความตั้งใจและเต็มที่ ระบบจะเดินต่อไปไม่ได้เลย ถ้าผู้บริหารไม่สนับสนุน ขอบคุณผู้บริหารที่สนับสนุน อยากให้ท่านลงมาเป็นกำลังใจให้กับคนทำงาน เราเหนื่อย เราท้อแค่ไหน ก็ขออย่าให้พืชตาย หน้างานของเราอยู่หลังโรงพยาบาล มาเยี่ยมเยียนได้ยินดีต้อนรับ

หมายเลขบันทึก: 549993เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น้อง จาร์ ปล่อยออกมาเป็นชุดๆ  เหมือนหางเครื่องเอกชัย  บังอ่านกันตาลายแล้ว 5555

ขอบคุณๆที่แบ่งปัน

ภาพสวยๆทั้งนั้นเลยครับ ภาพเหมือนใน FB ทุกภาพเลยครับ.....

 

...ชื่นชมและเป็นกำลังใจนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท