เมื่อความตายอยู่แค่ปลายจมูก


เรื่องโดย ธรรมดารี

ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เมื่อเราได้ยินคำนี้ก็มักจะทำให้รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวอย่างบอกไม่ถูก แล้วก็เป็นธรรมดาว่าเรามักรู้สึกว่ามันช่างห่างไกลกับตัวเองเหลือเกิน แต่หารู้ไม่ว่าความตายนั้นอยู่ใกล้กับเราแค่ปลายจมูกเท่านั้นเอง ไม่มีใครรู้ได้ว่ามันจะมาแวะทักทายเราเมื่อไหร่ แต่ในทางกลับกันยังมีบุคคลบางกลุ่มที่กำลังรอคอยความตายเพราะการที่มีชีวิตอยู่มันทรมานจนทำให้ความหวาดกลัวต่อความตายหายไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดเรื้อรัง มีความหวังไม่มากกับการมีชีวิตอยู่ เช่นผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย เป็นต้น แล้วถ้าวันหนึ่งเราต้องกลายมาเป็นคนป่วยเสียเองล่ะ เคยคิดไว้ล่วงหน้าบ้างหรือไม่ว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร

ดิฉันเป็นพยาบาลคนหนึ่งที่มีโอกาสได้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายราย ซึ่งได้เห็นการเผชิญกับความตายในหลากหลายรูปแบบ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีพันธะสัญญา สิ่งคาใจ หรือที่ใครๆต่างเรียกมันว่า ห่วง ทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างไม่สงบ บางรายจากไปท่ามกลางเสียงร้องไห้โฮของบรรดาคณาญาติ แต่บางรายก็สามารถเผชิญกับความตายได้อย่างสงบ ซึ่งกรณีหลังเจอได้น้อยรายนัก โศกนาฏกรรมชีวิตที่เป็น วัฏจักรที่ดิฉันพบเจอผ่านอาชีพของดิฉันเอง ทำให้ฉุกคิดในใจตัวเองขึ้นมาว่าถ้าเป็นตัวดิฉันเองดิฉันขอจากโลกนี้ไปอย่างสงบดีกว่า แล้วการจากไปอย่างสงบมันต้องทำยังไงบ้างล่ะ คำถามนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ ฉันคิดหาคำตอบอยู่ในใจ

จนกระทั่งวันหนึ่งดิฉันได้มีโอกาสได้เข้าร่วมเรียนรู้ จากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เกี่ยวกับ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งท่านจะให้ความสำคัญในการปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจเพื่อให้จากไปอย่างสงบ สิ่งที่ได้เรียนรู้ในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ตรงกับความคิดของดิฉันเช่นกัน ดิฉันมีความเชื่อว่าการให้คำมั่นสัญญาแล้วไม่ได้กระทำหรือหากทำไปแล้วไม่ได้ตามที่คาดหวัง ปรารถนาที่จะเดินทางไปที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่อยากไปมาทั้งชีวิตแล้วก็ไม่ได้ไป พันธะสัญญาที่ค้างคา คงเป็นเรื่องที่ยากในการที่จะลบเลือนสิ่งเหล่านั้นไปจากความทรงจำ

และอีกครั้งหนึ่งดิฉันได้ดูวิดีทัศน์เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งอายุประมาณ 11 ขวบ ชื่อน้องเต้ เขามีรูปร่างผอมบาง ผมแห้งเปราะ ผิวหนังดูแห้งซีด แทนที่เขาควรจะได้ไปวิ่งเล่นเตะฟุตบอลกับเพื่อนวัยเดียวกันอย่างที่ควรจะเป็น แต่เขากลับต้องมานอนบนเตียงเหล็กสี่เหลี่ยมในห้องแคบๆในสถานที่ที่ไม่จำเป็นก็คงไม่มีใครอยากมาสักเท่าไหร่

ใช่แล้วค่ะ!!! ที่นี่คือโรงพยาบาลนั่นเอง เขาโชคร้ายที่ต้องต่อสู้กับเซลล์มะเร็งที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในร่างกายอันทรุดโทรม เด็กชายตัวน้อยก็ร้องให้งอแงเฉกเช่นเด็กทั่วไปเมื่อต้องเผชิญกับความเจ็บปวด แต่ในความโชคร้ายก็ยังพอมีความโชคดีอยู่บ้าง เมื่อได้มีกลุ่มนางฟ้าชุดขาวผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้เข้ามาเยียวยาเขา เด็กน้อยมองพวกเขาเป็นคนแปลกหน้าในแวบแรกที่สบสายตา เพราะร่างกายและจิตใจในตอนนี้บอกว่าไม่พร้อมที่จะทำความรู้จักกับใครได้ เพราะขนาดแค่พลิกตัวก็เจ็บปวดราวเข็มสักร้อยเล่มเสียดแทงพร้อมๆกัน หรือแม้แต่การเอื้อนเอ่ยถ้อยคำให้ลอดริมฝีปากที่แห้งแตกแต่ละทียังรู้สึกเพลียเสียเหลือเกิน

จากแรกๆเขาหันหน้าหนี ต่อมาเพิกเฉยแต่ไม่ได้ต่อต้าน และต่อๆมา เขาเริ่มมีปฏิสัมพันธ์ และยอมรับการดูแล เป็นเรื่องยากที่จะดูแลผู้ป่วยสักคนเพื่อเขายอมรับในสิ่งที่เป็น พร้อมที่จะต้อสู้กับโรคร้าย และมีกำลังใจอย่างเต็มเปี่ยม

ทุกคนคงสงสัยว่าพยาบาลกลุ่มนี้มีเทคนิคพิเศษอะไรที่สามารถจูงใจเด็กน้อยให้ยอมรับพวกเขาและกระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนอ่านทฤษฏีแล้วนำมาปฏิบัติ หากแต่การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในทุกมิติ ผู้ดูแลผสานศาสตร์และหัวใจในการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ...

สำหรับเด็กชายวัยสดใสคนนี้...กระบวนการดูแลเขา จึงเหมือนประสบการณ์แปลกใหม่ของดิฉันไปด้วย

ในความคิด ดิฉันยอมรับว่ายังไม่มั่นใจมากนักสำหรับหน้าที่นี้ของดิฉันในการนำพาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายข้ามผ่านความตายไปอย่างงดงามและสมศักดิ์ศรีเช่นกรณีของน้องเต้ได้หรือไม่ แต่ดิฉันเชื่อแน่ว่าความตั้งใจดีนี้คงมีอานุภาพทำให้สิ่งที่ตั้งใจไว้ประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน

เริ่มแรกเป็นการแนะนำตัวเพื่อทำความรู้จักทั้งตัวน้องเอง รวมถึงคุณแม่ และพี่สาวซึ่งเป็นผู้ดูแล จับมือคุณแม่พร้อมกล่าวให้กำลังใจคุณแม่และพี่สาวว่า ได้ทำดีที่สุดแล้ว และขอให้มีพลังใจในการดูแลน้องเต้ไปพร้อมๆกัน คุณแม่ยิ้มแววตาเป็นประกายด้วยความเศร้า ต่อมาได้ชวนน้องเต้พูดคุยถึงเรื่องราวต่างๆ เล่านิทานเรื่องแล้วเรื่องเล่าที่น้องอยากฟังอย่างไม่มีเบื่อด้วยกันทั้งสองฝ่าย เรียกรอยยิ้มที่ไม่เห็นมานานจากเด็กชาย พวกเธอยังคงยิ้มและนุ่มนวลแม้น้องจะยังไม่ให้ความร่วมมือทั้งหมด ในครั้งหนึ่งพยาบาลได้สอนเทคนิคการเผชิญความเจ็บปวด โดยไม่เพ่งความสนใจไปให้ความปวด แต่เบี่ยงเบนไปยังจุดใดจุดหนึ่งในร่างกายแทน เช้าวันต่อมาพยาบาลกลุ่มเดิมได้ขึ้นไปเยี่ยมเด็กน้อยคนเดิมที่ยังคงมีออกซิเจนครอบปากและจมูก และมีสายน้ำเกลือห้อยระโยงระยางอยู่ข้างกาย คุณแม่รีบตรงเข้ามาหาพยาบาลจับมือแล้วบอกด้วยแววตาเปี่ยมสุขว่าเมื่อคืนน้องเต้นอนกระดิกเท้าทั้งคืนจนหลับไป คุณแม่สังเกตว่าได้ยินเสียงครวญครางด้วยความเจ็บปวดน้อยลงกว่าทุกครั้ง คนที่ได้ฟังคุณแม่เล่าก็ยิ้มทั้งที่ปาก ตา และที่ใจ นั่นแสดงให้เห็นว่าเมื่อทีมผู้ดูแลมีพฤติกรรมการดูแลโดยเน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง ตอบสนองความต้องการตรงตามที่เด็กต้องการเด็กจึงให้ความไว้วางใจ และยอมเปิดเผยความรู้สึก

คุณแม่เล่าว่า น้องเต้ได้ให้คำมั่นสัญญากับพระอาจารย์ท่านหนึ่งที่เขาให้ความเคารพว่าถ้าหายแล้วจะมาบวชกับท่าน ระหว่างเล่าด้วยเสียงที่แหบพร่า และคำบางคำขาดไปเป็นช่วงๆ เขาหยุดพักหายใจเสี้ยวนาทีหนึ่ง แล้วจึงเล่าต่อไปด้วยลมหายใจแผ่วๆแต่นัยตายิ้มว่า เขาอยากขี่จักรยานไปซื้อน้อยหน่าที่ตลาด และอยากไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนที่โรงเรียน

เมื่อถึงเวลาที่เขาใกล้จะจากโลกนี้ไป พยาบาลคนหนึ่งได้วางมือไว้ที่หน้าผาก เด็กน้อย เพื่อดึงจุดสัมผัสมาไว้จุดเดียว พลางพูดให้จินตนาการตามว่าตอนนี้น้องกำลังขี่จักรยานไปซื้อน้อยหน่าที่ตลาด จากนั้นไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนที่โรงเรียน เล่นอย่างสนุกสนาน แล้วน้องก็ได้ไปกราบพระอาจารย์และขอบวช ตอนนี้พระอาจารย์ได้โกนผม ห่มจีวรให้ เด็กน้อยอยู่ในสภาวะที่สงบ แต่ดิฉันเชื่อว่าหัวใจของน้องในตอนนี้คงยิ้มปริ่มด้วยความอิ่มเอมใจ ดวงตากลมโตของเด็กน้อยค่อยๆหรี่ลงเรื่อยๆเหมือนเช่นดวงไฟที่ใกล้มอดดับ กับลมหายใจที่รวยรินแม้จะมีออกซิเจนครอบอยู่ก็ไม่สามารถยืดเวลาให้เด็กน้อยได้อีกต่อไป มือน้อยๆที่คุณแม่เกาะกุมด้วยความรักหมดเรี่ยวแรงที่จะสร้างแรงเสียดทานกับแรงโน้มถ่วงของโลกใบนี้อีกต่อไปจึงค่อยร่วงหล่นอยู่ข้างสรรพางกาย บ่งบอกให้รับรู้ได้ว่าเด็กน้อยได้ล่ำลาจากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับอีก ชั่วนิรันดร์

พ่อแม่ของน้องต่างก็ยิ้มด้วยความภาคภูมิใจแม้หัวใจจะร้องให้ก็ตาม เป็นครั้งแรกที่การตายไม่สามารถเรียกเสียงร่ำไห้ภายในตึกเด็ก และเป็นการตายที่นับเป็นความเจ็บปวดที่งดงามจริงๆ ดิฉันนับถือน้ำใจของเด็กน้อยผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ ดิฉันยกให้เขาเป็นครูคนสำคัญคนหนึ่งของตัวดิฉันเอง

เรื่องราวของน้องเต้ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า...ประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของดิฉันที่ผ่านมาเป็นการเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเช่นเดียวกันแต่เป็นการตอบสนองความต้องการด้านร่างกายเป็นสำคัญ ผู้ป่วยจึงได้รับการตอบสนองแค่ทางเดียว ไม่ครบองค์รวมอย่างแท้จริง ดิฉันเชื่อว่าถ้าได้นำวิถีการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเช่นที่น้องเต้ได้รับไปปรับใช้คงเป็นการดีและความตายคงไม่ใช่สิ่งน่าหวาดกลัวอีกต่อไป

ชีวิตคนเรานั้นสั้นยาวต่างกัน แต่ไม่มีใครเลยที่หนีมันพ้น เพียงแต่ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อไร และเมื่อเวลานั้นมาถึงเข้าจริงๆ จะมีสักกี่คนที่สามารถเผชิญหน้ากับมันได้ดีเช่นน้องเต้อยากให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ให้ใช้ชีวิตตั้งอยู่บนความไม่ประมาท จงระลึกไว้เสมอว่าร่างกายนี้เป็นของไม่เที่ยง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดาฉะนั้นจงใช้ลมหายใจที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ปรารถนาจะทำสิ่งใดที่อยู่ในครรลองครองธรรม แล้วสิ่งนั้นไม่ได้ทำให้เพื่อนมนุษย์ต้องเดือดร้อน ก็จงรีบทำเสียก่อนที่จะไม่มีโอกาสได้ทำมันอีกต่อไปและในฐานะวิชาชีพดิฉันอยากให้เพื่อนร่วมวิชาชีพได้นำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้จากไปอย่างสงบและสมศักดิ์ศรี ดิฉันว่ามันเป็นการให้ที่ได้กำไรโดยไม่ต้องลงทุนเลย

หมายเลขบันทึก: 549990เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 21:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรื่องเล่าดีๆของคนคลองท่อมค่ะ พยายามทยอยนำมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

สวัสดี น้องจาร์ ขอบคุณมากที่นำเรื่องเล่าจากภาพมาแบ่งปัน

วันก่อนได้อ่านลางเรื่อง

วันนี้จะได้ตามรอยอ่านอีกครั้ง 

รพ.ปากพะยูนจัด มหกรรมรวมมิตรคุณภาพ มี Lean R2R CQI นวัตกรรมและเรื่องเล่าผ่านไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

เมื่อวานก็ซ้อมแผนอัคคี ผ่านไป

ผมเองก็ต้องรวบรวมเรื่องเล่าเพื่อทำหนังสือเรื่องเล่าของ รพ.

หากเสร็จวันไหน จะได้ส่งมาให้ ผลัดกันชม

สบายดี คิดถึงทุกๆ 

 

ลงเรื่องเล่ามาเยอะน่ะครับ

ท่านวอญ่า ยินดีค่ะ จะทยอยนำมาให้แลกเปลี่ยนกันกับรพ.ปากพะยูนค่ะ 

เล่าเรื่องผ่านการทำจริง ดีมากค่ะ

...เป็นเรื่องราวที่งดงามมากนะคะ...

..คนในรูป..หน้าตา..คุ้นๆ..ขอบพระคุณกับ..บทความดีๆ..มีน้ำใจ..เจ้าค่ะ..ยายธี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท