สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๓. ฝึกจัดการอารมณ์ (๒)


 

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

 

ตอนที่ ๓นี้ ตีความจากบทที่ ๑How Do You Feel? No, Really. Learning to Manage Emotions   โดยที่ในบทที่ ๑ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๒ ได้ตีความตอนที่ ๑ และ ๒ไปแล้ว     ในบันทึกที่ ๓เป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔  

 

ตอนที่ ๓ ของบทที่ ๑ เป็นเรื่องของคนเจ้าทุกข์   ผู้เขียนเล่าเรื่องเพื่อนบ้านที่ที่มีที่ดินติดกัน เป็นคนก้าวร้าวอารมณ์ร้าย    มีผลให้ผู้เขียนก็พลอยมีความทุกข์ไปด้วย   แต่เมื่อผู้เขียนให้คนมาสร้างรั้วกั้นให้เป็นสัดส่วนเสีย   ทำให้ไม่ต้องมีการเผชิญหน้า    ปัญหาความรำคาญใจของผู้เขียนก็หมดไป   โดยต้องทำใจ ว่าคนที่มีนิสัยไม่ดีเช่นนั้นมีอยู่จริงในโลก   เราต้องรู้วิธีอยู่ร่วมกับเขาโดยไม่โดนพ่นความทุกข์ใส่ 

 

 

ในชีวิตจริง คนเราต้องอยู่กับคนทุกประเภท   วิธีฝึกเด็กให้รู้จักจัดการสถานการณ์ที่ถูกรุกรานทางอารมณ์ คือคุยกัน    คุยเรื่องที่ถูกข่มขู่ เพื่อค่อยๆ ฝึกความมั่นใจตนเองที่จะไม่รับการข่มขู่นั้น   โดยผู้เขียนแนะนำให้พ่อหรือแม่กับลูกนัดคุยกันและเติมคำในช่องว่างของข้อความ  วันนี้ฉันรู้สึกถูกข่มขู่ เมื่อ ..............................................  วันนี้ ฉันรู้สึกเคารพตนเอง เมื่อ .................................................................”    เป็นวิธีฝึกง่ายๆ ที่จะอยู่ในโลกที่มีคนเจ้าทุกข์   โดยเราไม่โดนพิษร้าย

 

 

คำถามของสาว ๑๓   ตนพึงใจเพื่อนนักเรียนชายคนหนึ่ง   และคิดว่าเขาก็ชอบตน   ตนกับเพื่อนๆ วางแผนกันว่า ในวันสุดท้ายของปีการศึกษา ก่อนระฆังเข้าเรียน    ตนจะวิ่งเข้าไปกอดหนุ่มคนนั้นและจูบปากเหมือนในหนัง    คิดเรื่องนี้ทีไรรู้สึกเป็นสุขทุกครั้ง   ขอปรึกษาว่า ควรทำหรือไม่

 

คำตอบ  ไม่ควรทำ แม้ว่าการจินตนาการเหตุการณ์กอดจูบหนุ่มที่ตนพึงใจเหมือนในหนังโรม้านซ์ จะให้ความตื่นเต้น    แต่ในความเป็นจริงไม่ควรทำ   เพราะเป็นการวางแผนกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ ที่เขาก็มีความรู้สึกของเขา    ที่เธอและเพื่อนวางแผนนั้น คิดแต่ความรู้สึกของตนเอง   ไม่ได้คิดถึงความรู้สึกของเขา เมื่อโดนกอดและจูบต่อหน้าเพื่อนๆ จำนวนมาก   คิดว่าเขาจะชอบหรือ    ลองคิดว่าหากตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ    มีเพื่อนผู้ชายเข้ามากอด และจูบปากต่อหน้าคนจำนวนมาก   ตนเองจะชอบไหม 

 

 

ตัวอย่างสาว ๑๓ นี้ บอกเราว่า วัยรุ่นที่ยังเป็นผู้เยาว์ ต้องการผู้ใหญ่ที่เขาไว้วางใจ ที่จะถามคำถามหัวใจแบบนี้ได้ 

 

ตอนที่ ๔ เมื่อต้องการความรัก ก็จงร้องขอ 

 

 

ผู้เขียนสอบถามนักเรียนชั้น ป. - ม. ๒ ด้วยคำถาม ๒ ข้อ  คือ  (๑) เป็นการยากไหมที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ   (๒)​ ให้ตอบคำถามว่า ใช่หรือไม่ ที่ฉันทำเป็นว่าสิ่งต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มันไม่ได้ราบรื่น 

 

 

จากคำถามข้อแรก ร้อยละ ๒๕ ของเด็กบอกว่าการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องไม่เคยง่ายเลย    อีกร้อยละ ๒๕ บอกว่าบางครั้งก็ยาก   แต่คำตอบข้อ ๒ น่าตกใจ ร้อยละ ๘๓ บอกว่า ตนแกล้งทำเป็นว่าสิ่งต่างๆ ราบรื่น ทั้งๆ ที่ไม่ใช่    ข้อมูลนี้บอกเราว่า เด็กขาดทักษะในการสื่อสารเชิงอารมณ์    เพราะไม่ได้รับการฝึก

 

ผู้เขียนบอกว่า อาจเป็นเพราะเด็กได้รับการฝึกให้ร้องขอเฉพาะสิ่งที่เป็นวัตถุจับต้องได้   พ่อแม่และครูจึงหลงคิดว่าเพียงพอแล้ว   แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่เพียงพอ   เด็กต้องได้รับการฝึกทักษะการสื่อสารเชิงอารมณ์สื่อสารจากใจถึงใจ     ให้รู้ว่าเมื่อไรตนต้องการความช่วยเหลือเชิงอารมณ์   และจะร้องขอความช่วยเหลืออย่างไร จากใคร

 

ผู้เขียนแนะนำให้พ่อแม่หรือครู คุยกับเด็ก โดยขอให้เด็ก ตอบคำถามว่า  เป็นการง่ายสำหรับฉัน ที่จะขอความช่วยเหลือ”   โดยตอบเป็นการให้คะแนน ๑ ถึง ๕  ในความหมายว่า ๑ = ง่ายเสมอ   = ง่ายเกือบทุกครั้ง  ๓ = ง่ายเป็นบางครั้ง   ๔ = เกือบไม่มีครั้งใดง่าย  ๕ ไม่เคยง่ายเลย    แล้วจึงคุยกันเรื่องการเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ   คุยกันว่าอะไรเป็นตัวปิดกั้นการเปิดเผยความรู้สึกต่อกัน

 

ผู้เขียนแนะนำ เมื่อพบว่าเด็กกำลังเสียใจ   ให้เข้าไปถามว่าตนจะช่วยเหลือได้อย่างไร   โดยต้องมีวิธีพูดให้เกิดความสัมพันธ์    เช่น ครูสังเกตว่า หมู่นี้เธอไม่ร่าเริงเหมือนแต่ก่อน   มีอะไรให้ครูช่วยเหลือบ้างไหม

  

คำถามของสาว ๑๗   ทุกครั้งที่เพื่อนชายกับหนู อยู่ต่อหน้าคนมากๆ   เขาจะแสดงอารมณ์เสียกับหนู   และพูดว่า ดีแล้ว   ต่อไปนี้ผมจะอยู่คนเดียว”    ทำให้หนูเสียใจ   และไม่รู้ว่าจะพูดกับเขาอย่างไร

 

คำตอบ  คำแนะนำคือ เมื่อไรที่ใครก็ตาม (พ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อน เพื่อนชาย เพื่อนสาว ฯลฯ) พูดขัดหูตน   ต้องหาทางพูดทำความเข้าใจ   ซึ่งบางครั้งก็ยาก โดยเฉพาะต่อคนที่อารมณ์ร้อน   หลักการคือ ต้องหาทางให้ผู้อื่นเข้าใจความรู้สึกหรืออารมณ์ของเรา    แนะนำให้หาโอกาสอยู่กับเพื่อนชายสองต่อสอง   และบอกว่า ฉันอยากให้เราคุยกันได้อย่างตรงไปตรงมา    เมื่อเธอพูดคำก้าวร้าวต่อฉัน ฉันรู้สึกเสียใจ    ยิ่งต่อหน้าคนอื่น ฉันยิ่งเสียใจ”    ดูว่าเขาจะตอบอย่างไร   หากเธอทั้งสองไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเคารพต่อกันและกัน   ความสัมพันธ์ระหว่างเธอจะมีปัญหา 

 

 

จุดสำคัญคือ ทักษะในการทำความเข้าใจอารมณ์ของตนเอง   และรู้จักจัดการให้เกิดผลทางบวก   และทักษะทำความเข้าใจ และเคารพ อารมณ์ของคนอื่น   และให้ความเห็นใจ ความช่วยเหลือ    ถึงตอนนี้ผมนึกถึงคำว่า มิตรแท้”     

 

  

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๕๖

บนเครื่องบินไปวอชิงตัน ดีซี

 

 

หมายเลขบันทึก: 548503เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2013 09:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2013 09:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

หลังจากที่ได้อ่านบันทึกนี้ รู้สึกดีและประทับใจมากค่ะ มีหลายตัวอย่างตรงกับที่ตัวเองก็เคยอึดอัดและลังเลว่าควรจะทำอย่างไรดี แต่เมื่อได้อ่านก็เกิดความเข้าใจมากขึ้น รู้สึกว่ามีพลังและทางออกเพิ่มขึ้น..ขอบคุณเรื่องราวดีๆค่ะอาจารย์

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์

อ่านแล้วเทียบกับตัวเองก่อน รู้สึกว่าเรานี่ดีจังเลยมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี  เอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ คิดถึงเหตุผลของคนอื่นก่อนว่าเขาต้องมีเหตุผล การขอความช่วยเหลือนี่แหละยากเพราะทำเป็นเกือบทุกอย่าง 555 แต่ก็ไม่เคยอึดอัดในการขอความช่วยเหลือสักที และที่สำคัญเป็นเรื่องแลปกที่แม้แต่เป็นเรื่องเดียวกัน คนึงไปขอไม่ได้ แต่เราขอได้ทุกครั้งและดีด้วยซี เพราะเราไปพร้อมรอยยิ้มและคำพูดอ่อนหวาน อ้อนน้อม แม้แต่การขอให้นักการทำงานก็ขอแบบผู้น้อยเสมอ

 

ได้ความรู้ และ สามารถ นำไปใช้ประโยชน์ได้ มหาศาล ในชีวิตจริง

ขอบพระคุณอาจารย์  อย่างมากค่ะ

วัฒนธรรมของคนไทยต่างไปจากนี้แน่ครับ เช่น สาวอายุ ๑๓ คำแนะนำเป็นการสอนให้คิดด้วยหลักเหตุผล แต่คนไทยจะให้หลักคุณธรรมจริยธรรม วิธีที่ดีน่าจะเป็นสองอย่างรวมกัน คือสอนให้คิดเอาใจเขามาใส่ใจเราเหมือนฝรั่งและฝึกให้พิจารณาประเมินค่าว่าผิดถูกตามหลักคุณธรรมหรือไม่อย่างไร...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท