เข้าร่วมงานสัมมนามหาวิทยาลัยเพื่อความยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์ (A Creatively Sustainable University)


 

เมื่อวาน(วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556) ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาทางวิชาการ University Governance Programme, The 4th UGP Forum เรื่อง มหาวิทยาลัยเพื่อความยั่งยืนอย่างสร้างสรรค์, A Creatively Sustainable University ซึ่งจัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ วัตถุประสงค์หลักของการจัดการก็เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และวิธีปฏิบัติที่ดีของมหาวิทยาลัยเพื่อการก้าวสู่ความยั่งยืน โดยมีการผสมผสานทั้งวิทยากรภาคภาษาอังกฤษ Dr. Stefanos Fotiou จาก United Nation Environmental Programme(UNEP) ที่บรรยายเรื่องของ Sustainability beyond Governments: Social and Environmental Responsibility เนื้อหาโดยสรุปผมเพิ่มจะเข้าใจว่าการเข้าสู่ความยั่งยืนคงต้องเริ่มต้นที่ตนเอง อีกอย่างที่ผมได้จากการบรรยายในช่วงดังกล่าวนี้ก็คือ การบริโภคจากฝั่งของผู้บริโภคนะแท้จริงสร้างผลกระทบทั้งในด้านทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมที่สูงกว่าฝั่งของการผลิต นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำไมจึงมีการพยายามผลักดันแนวคิดของ Sustainable Consumption and Production (SCP) ก็เป็นไปได้ ในช่วงเช้าหลังจากการบรรยายาของวิทยากรจาก UNEP ก็เป็นเวทีเสวนาในหัวข้อ Sustainable Campus: What, Why, and How to? Lesson learned from International Sustainable Campus Network (ISCN) Conference 2013 โดยวิทยากรรับเชิญ 3 ท่าน ได้แก่ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานมิตรกุล และ อาจารย์ปราณิศา บุญค้ำ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม ISCN ที่ประเทศสิงค์โปร์เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ช่วงนี้เราได้รับประสบการณ์จากการจัดประชุม ISCN รวมถึงกรณีศึกษามหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนจากต่างประเทศที่ได้รับรางวัลในงานประชุมดังกล่าว รวมถึงแนวนโยบาย และการปฏิบัติของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน ช่วงบ่ายเริ่มต้นด้วยการบรรยายจากวิทยากรรับเชิญอีกท่านที่ถือได้ว่าเป็นปรมาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยท่านหนึ่งคือท่านอาจารย์ ดร.ไชยยศ บุญญากิจ ที่มาด้วยหัวข้อสถานการณ์ความยั่งยืนของประเทศไทย การบรรยายของอาจารย์ไชยยศพยายามชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ และการปลดปล่อยของเสียที่เพิ่มขึ้นของทุกประเทศในอาเซียนจากความพยายามในการเติบโตของฝั่งภาคการผลิต และการบริโภค นอกเหนือมากไปกว่านั้นท่านยังเสนอทางออกด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) และทิ้งท้ายด้วยข้อเสนอแนะที่พยายามจุดไฟให้กับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยพยายามก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนให้ได้ด้วยเพราะภาคสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งของการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญของสังคม ช่วงสุดท้ายเป็นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาและประสบการณ์โดยวิทยากร 3 ท่านจาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ อาจารย์นิพนธ์ ลาวัณย์โกวิท จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่ได้ให้มุมมองของการพัฒนา Green University จากการผสมผสานแนวคิดเชิงสิ่งแวดล้อมและเศรษฐศาสตร์ด้วยหลักการของต้นทุนและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Cost and Value) ผศ.สุชาดา ไชยสวัสดิ์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่นำเสนอประสบการณ์การพัฒนา Green University ด้วยแนวทางการปลูกจิตสำนึกสีเขียว Green Hearts ให้กับบุคลากร และนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย โดยเป็นนโยบายจากผู้บริหารสู่บุคลากรและนักศึกษา ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืนด้วยแนวคิด Eco-University ซึ่งทั้งนี้ตัวผมเองก็ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงเสวนาภาคบ่ายดังกล่าวด้วย

 

สิ่งที่ผมประมวลได้จากการสัมมนาดังกล่าวตลอดทั้งวัน ทั้งในภาคการบรรยาย และเวทีเสวนาทั้งสองช่วง ผมคิดว่า Key Success Factors ที่สำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืนคงต้องประกอบด้วยความร่วมมือของสองส่วนสำคัญที่ผมเรียกว่าส่วนของ Software และ Hardware อันประกอบด้วย

 

ส่วน Software ได้แก่

 

·        นโยบายที่ชัดเจนจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย (Clear Policy)

 

·        การบูรณาการจากภาคส่วนต่างๆภายในมหาวิทยาลัย และการข้ามศาสตร์ (Integration)

 

·        การปรับทัศนะคติ และการสร้างความตระหนัก ( Mindset and Awareness)

 

·        การสร้างแรงกระตุ้นให้กับบุคลากรและนักศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Student and Staff Engagement for Long Life Learning)

 

·        การลงทุน (Investment)

 

ส่วนของ Hardware ได้แก่

 

·        โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และสาธารณูปโภค (Physical and Infrastructure)

 

·        นวัตกรรม และเทคโนโลยี (Innovation and Technology)

 

·        เครื่องมือเพื่อการจัดการ (Management Tools)

 

ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานร่วมกันของทั้งสองส่วนคงต้องการการติดตามตรวจสอบ (Monitoring) และการประเมินผล (Evaluation) ด้วยตัวชี้วัดที่เหมาะสม สามารถเปรียบเทียบ (Benchmarking) เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาต่อยอดได้ อีกสิ่งที่ผมประมวลได้จากการเวทีเสวนาก็คือ แนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความยั่งยืนนั้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน อาจมีความคล้ายกันได้บ้างแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์และบริบทที่แตกต่างของแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ท้ายสุดผมเองได้พยายามกระตุ้นผู้เข้าร่วมงานในการก่อตัวเป็นกลุ่มที่มี Chemistry ตรงกันในเรื่องของความพยายามพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่ความยั่งยืน โดยในเบื้องต้นผมเองจะได้พยายามสร้างพื้นที่ทางสารสนเทศเพื่อให้เป็น Room สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งชื่อของกลุ่มน่าจะเป็น Thailand University Social Responsibility and Sustainability Network (T-USR&SN) ทั้งนี้น่าจะรวมถึงความพยายามที่จะหนุนเสริมให้มหาวิทยาลัยไทยเริ่มเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม โดยผมเองอาจมีการนำตัวชี้วัดประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจมาประยุกต์ใช้เพื่อการประเมินความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งไม่แน่นะครับอาจจะมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืนของไทยด้วยตัวชี้วัดในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้ ทั้งนี้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมขอให้อดใจรออีกนิดหนึ่ง แล้วผมจะแจ้งให้ทราบถึงพื้นที่เพื่อการแลกเปลี่ยนดังกล่าวครับ ท้ายสุดจริงๆแล้วผมต้องขอขอบคุณสถาบันคลังสมองของชาติที่เป็นตัวกลางในการจัดเวทีดังกล่าว ซึ่งผมรอเวทีอย่างนี้มานานแล้วด้วยหวังว่าสถาบันการศึกษาที่เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับสังคมจะเริ่มหันมาเปลี่ยนทฤษฎีให้เป็นภาคปฏิบัติอย่างจริงจังซะทีครับ

 

                                                                                                                                ผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต

 

                                                                                                                                17 กันยายน พ.ศ. 2556

 

หมายเลขบันทึก: 548499เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2013 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2013 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดี ค่ะ ท่านอาจารย์  กิติกร/ ที่เคารพ

- ขอบพระคุณ  อาจารย์  ที่สรุป เรื่องราว มาให้ได้ทราบ ค่ะ

- รายการนี้ ได้รับทราบ ทาง Mail จาก สถาบันคลังสมอง   แต่ติดภารกิจ  อื่น  จึงไม่สามารถ  ไปร่วมได้

- เห็นด้วยกับความคิดเห็นของอาจารย์  ด้าน Software  และ Hardware นะคะ

- Thailand University Social Responsibility and Sustainability Network (T-USR&SN)  น่าสนใจ อย่างมาก มาก  ค่ะ

 มหิดล  น่าจะขยับได้เร็ ว ก่อน เพื่อน

- ส่วนตัว สนใจเรื่อง USR และ ได้ทำ Thesis เรื่อง ตัวบ่งชี้ความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันอุดมศึกษาไทย (USR) โดยได้รับความกรุณา จากท่านอาจารย์  Comment งาน ในช่วง สุดท้ายด้วย  // ขอบพระคุณอาจารย์ ย้อนหลังนะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท