เก็บตกการเป็นวิทยากร (1) : สถานศึกษา 3 D กับมุมคิดการสร้างพื้นที่คุณภาพแก่นิสิตใหม่บนฐานวัฒนธรรมขององค์กร


การบอกเล่า หรือตอบคำถามของนิสิตแต่ละคนนำพามาซึ่งเสียงหัวเราะเฮฮาอย่างเป็นกันเอง ถึงแม้สาระที่สะท้อนออกมานั้น จะไม่ “คม ชัด ลึก” หรือ “ตรงประเด็น” เสียทั้งหมด แต่เห็นได้ว่านิสิตเรียนรู้ที่จะฟัง-คิด-จับประเด็น-สื่อสาร

         วันที่ 13 กันยายน 2556 เป็นอีกวันที่ชีวิตมีความสุขกับคำว่า “ทำงาน”
         เช้าประชุม –บ่ายประชุม ตกเย็นเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “สถานศึกษา 3 D” ให้กับฝ่ายพัฒนานิสิตของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์



         การไปเป็นวิทยากรครั้งนี้  ผมจัดเตรียมเนื้อหาเพียงไม่กี่ประเด็น  ออกแบบกระบวนการเน้นสไตล์ที่ผมถนัด นั่นก็คือการ “เล่าเรื่อง”  เพื่อนำไปสู่การสร้างทักษะการฟัง-จับประเด็น-สังเคราะห์-สื่อสาร (แลกเปลี่ยน) เป็นหัวใจหลัก  โดยนำสื่อ “วีดีทัศน์” ไปเป็นกลไกของการเชื่อมร้อยการเรียนรู้เข้าหากัน

        ผมไม่ค่อยมีข้อมูลล่วงหน้าเท่าใดนักว่า “กลุ่มเป้าหมาย” ที่เข้าฟังในวันนี้เป็นนิสิตกลุ่มใด อันหมายถึงเป็นกลุ่มผู้นำนิสิต หรือนิสิตทั่วไป  รวมถึงจำนวนผู้เข้าฟัง –แต่ทั้งปวงก็มิได้เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการที่ผมออกแบบขึ้น

        ผมไปถึงห้องบรรยายก่อนใครอื่นซักประมาณเกือบๆ 20 นาที  เพื่อจะจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ  แต่พอได้เห็นสภาพของห้องที่ถูกออกแบบรองรับการเรียนการสอน  จึงจำต้องปรับกระบวนการใหม่  ซึ่งเดิมผมตั้งใจจะใช้กระบวนการเชิงปฏิบัติการ (Workshopให้นิสิตได้ฟังบรรยาย ดูวีดีทัศน์ และผูกโยงถึงการแบ่งกลุ่ม “โสเหล่” เพื่อสังเคราะห์ว่ากิจกรรม หรือโครงการต่างๆ ที่คณะ หรือสโมสรนิสิตได้จัดขึ้น  ตอบโจทย์ “สถานศึกษา 3 D” อย่างไรบ้าง  หรือเอาง่ายๆ ก็คือ “นิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านั้นแล้วเกิดการเรียนรู้ในเรื่องใด และมีอะไรที่เกี่ยวโยงกับเรื่องสถานศึกษา 3 D” นั่นเอง

 
 

 

ที่มาที่ไปของกิจกรรม : เครียด !

       ถึงแม้จะไม่มีเวลาได้ถามซักกันถึงรายละเอียดโครงการเท่าที่ควร  แต่ทางคณะก็เกริ่นกล่าวกับผมอย่างชัดแจ้งว่ากิจกรรมในครั้งนี้  เกิดขึ้นเพราะมีการประเมินสภาวะของนิสิตภายในคณะ  ทำให้รู้ว่านิสิตมีอาการเหนื่อย “เครียด และ พักผ่อนน้อย”  อันเกิดจากการเรียน  กิจกรรม  หรือแม้แต่การทำงานส่งอาจารย์แบบหามรุ่งหามค่ำ 
       ครั้นพอตรวจปัสสาวะ  จึงเห็นได้ชัดว่า   ปัสสาวะของนิสิตมีความข้นเหนียว  ซึ่งแพทย์ยืนยันว่าเกิดจากภาวะของการเครียด พักผ่อนน้อย  ไม่มีสารเสพติดใดๆ มาเคลือบแฝง


 

 

     ด้วยเหตุดังกล่าวนี้  ฝ่ายพัฒนานิสิตคณะสถาปัตย์ฯ  จึงพยายามจัดกิจกรรม “บันเทิง เริงปัญญา” มาสอดแทรกในวิถีชีวิตของนิสิต  ซึ่งโดยปกตินิสิตมักจะมารวมกลุ่มทำกิจกรรมและทำงานส่งอาจารย์ที่ตึกคณะกันอยู่แล้ว  จึงสอดแทรกให้เกิดเวทีในทำนองนี้ขึ้นเป็นระยะๆ

    และเมื่อเป็นเช่นนี้  ผมจึงสรุปแบบหักดิบว่า กระบวนการของผม ต้องไม่ “เครียด” ...ต้อง “บันเทิง เริงปัญญา”  เน้นเพลิดเพลิน  สนุก ได้แง่คิด ...
   และที่สำคัญคือ “ได้คิดต่อ”  หรือสร้างกระบวนการให้นิสิต “ได้ต่อยอด” แนวคิดด้วยตนเองเป็นหัวใจหลัก

 

ปรับสถานการณ์ตามสถานการณ์

        ก่อนเริ่มงานเพียงเล็กน้อย  เมื่อได้รับทราบข้อมูลว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1  (พวกเขายังไม่ใช่แกนนำนิสิต)  ประกอบกับสภาพของห้องบรรยายไม่เอื้อต่อการทำกระบวนการ  จึงยกเลิกการเคลื่อนย้ายเก้าอี้  และหันหลับมาปรับแผนใหม่ เน้นการเล่าเรื่อง ดูวีดีทัศน์ ชวนคิดชวนคุย หรือเปิดพื้นที่ให้นิสิตได้แสดงความคิดเห็นเสียมากกว่า

         เบื้องต้นผมกล่าวชื่นชมกับคณะสถาปัตย์กรรมฯ อย่าง “จริงใจ”  ว่าเป็นคณะที่ยังให้ความสำคัญกับประเด็น 3 D นี้อย่างต่อเนื่อง  ไม่ใช่ทำงานตามตัวชี้วัด วูบวาบ จากจางไปตามกระแสและวาระ ตรงกันข้ามกลับยังเคลื่อนขับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง  และมีมุมมองอันชาญฉลาดในการวางกลยุทธให้นิสิตชั้นปีที่ 1 เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการเข้าฟัง 
        เพราะนี่คือกระบวนการแห่งการบ่มเพาะและขัดเกลากระบวนทัศน์ของนิสิตนิสิตใหม่ในเชิง “วิชาการสู่วิชาคน”  และเวทีเช่นนี้ก็เป็นเวลาผ่อนคลายความเครียดหลังจากนิสิต “โหมเรียน-โหมงาน”  กันมาเป็นระยะใหญ่ๆ



         โดยส่วนตัวแล้ว  ผมมองว่าการสร้างพื้นที่ให้นิสิตปี 1 มาพบปะกันเช่นนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี 
         เสมือนการสร้างพื้นที่ภายใต้ร่มเงาของบ้านตัวเอง (สร้างพื้นที่คุณภาพร่วมกัน)  ช่วยให้น้องๆ มาพบมาเจอกัน ได้ใช้ชีวิตด้วยกัน  พูดคุยกัน ทำความรู้จักกันให้มากกว่าที่ผ่านมา 
         ประหนึ่งการรับน้องใหม่ในอีกมิติหนึ่งก็ว่าได้  แถมยังมีวิทยากรมาร่วมแลกเปลี่ยน จุดประกายความคิดความฝัน...ส่วนรุ่นพี่ก็ยังสามารถมาดูแลน้องๆ ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ไม่ผิดต่อข้อบังคับวินัยนิสิต)  มิหนำซ้ำยังได้มุมมองใหม่ๆ จากวิทยากรไปในตัว-

         ครับ, ถึงแม้ผมจะไม่ใช่วิทยากรขั้นเทพ  มีกระบวนยุทธอันทรงพลัง  แต่ผมก็รู้ดีว่า ผมควรต้องรับมือสถานการณ์นี้อย่างไร  ผมรู้-เพราะผมเป็น “คนที่นี่”  (คนบ้านนี้)  รู้ว่าสไตล์ หรือวัฒนธรรมของคนที่นี่เป็นอย่างไร และสถานการณ์รายรอบของที่นี่เป็นเช่นใด 
       ซึ่งทั้งปวงนี้ จะทำให้ผมสามารถหยิบจับมาสื่อสารได้อย่างมีชีวิต ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกง่ายต่อการ “รับรู้” ง่ายต่อการ “เข้าใจและเข้าถึง” และมีแรงบันดาลใจต่อการที่จะ “ทบทวนตัวเอง”

       

 

ชวนคิด ชวยคุย ผ่านการบอกเล่าและสื่อสร้างสรรค์

          เวทีครั้งนี้เปิดตัวอย่างเป็นทางการอย่างเรียบง่ายโดย อาจารย์อิสระ  ดวงเกตุ รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิตคณะสถาปัตยกรรมฯ ได้กล่าวเปิดงาน พบปะในแบบกันเองๆ  มีการเกริ่นวัตถุประสงค์พอสังเขปและยึดโยงถึงการแนะนำประวัติ หรือตัวตนของผมเล็กๆ น้อยๆ ตามครรลองอย่างที่ควรจะเป็น จากนั้นก็ส่งมอบเวทีให้กับผมบริหารจัดการ –

          ผมทักทายอย่างง่ายๆ เอาความผ่อนคลายเข้าหนุนนำ บอกเล่าถึงเรื่องราววีดีทัศน์ที่เปิดให้นิสิตได้ดูคั่นเวลาสองเรื่อง พร้อมๆ กับการชวนคิดว่าทั้งสองเรื่องนั้นมีความสอดคล้องและสัมพันธ์กับเรื่องที่ต้องมารับรู้และรับฟังวันนี้ หรือไม่



          การชวนคิดชวนคุยผ่านวีดีทัศน์ดังกล่าว  ถือเป็นกระบวนการเปิดเวทีในสไตล์ของผม เอาเนื้อหามาสื่อสารผ่านบรรยากาศของความเพลิดเพลิน  เป็นการกระตุ้น-ปลุกเร้าให้ผู้เข้าร่วมตื่นตัวที่จะรับรู้ รับฟังและร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

          ถัดจากนั้น ผมได้บอกเล่าเรื่องราวว่าวันนี้จะพูดคุยกันในเรื่องใดบ้าง เช่น กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา TQF  คุณธรรม 8 ประการ สถานศึกษา 3 D  โดยเฉพาะประเด็นหลักของ 3 D ที่ประกอบด้วย DEMOCRACY  (ประชาธิปไตย) DECENCY  (คุณธรรม จริยธรรม ความเป็นไทย) DRUG-FREE  (ยาเสพติด,สิ่งเสพติด)  
         ซึ่งทั้งสามประเด็น ผมไม่เน้นบรรยาย แต่เน้นบอกเล่าในมุมกว้างๆ เน้นแรงบันดาลใจ  เน้นการให้คิดตาม ไม่ใช่บรรยายว่า “แต่ละประเด็นคืออะไร ...มีอะไรเป็นองค์ประกอบ” 
          ถัดจากนั้นจึงเปิดวีดีทัศน์ให้นิสิตได้ดูได้ชมกันอย่างออกรสออกชาติ แต่ละเรื่องแฝงนัยยะอันสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นทั้งหมด และแต่ละเรื่องก็ได้รสชาติชีวิตในแบบ “บันเทิง เริงปัญญา”

 

 

 

          ครับ-เมื่อนิสิตดูเสร็จ ผมก็โยนไมค์ให้นิสิตได้ช่วยกันสะท้อนว่าวีดีทัศน์ (หนังสั้น,คลิป) เหล่านั้น เกี่ยวโยงกับเรื่องที่ผมบอกเล่าอย่างไร หรือนิสิต “ดูแล้ว..ได้เรียนรู้อะไรผ่านสื่อเหล่านั้น” 

          วิธีง่ายๆ และพื้นๆ เช่นนี้  ยืนยันว่าก่อเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ที่แสนสนุก
          การบอกเล่า หรือตอบคำถามของนิสิตแต่ละคนนำพามาซึ่งเสียงหัวเราะเฮฮาอย่างเป็นกันเอง  ถึงแม้สาระที่สะท้อนออกมานั้น จะไม่ “คม ชัด ลึก”  หรือ “ตรงประเด็น” เสียทั้งหมด แต่เห็นได้ว่านิสิตเรียนรู้ที่จะฟัง-คิด-จับประเด็น-สื่อสาร
          ยิ่งได้ลุกขึ้นพูด ยิ่งถือว่าเป็นกระบวนการสนับสนุนให้นิสิตมีความกล้าแสดงออกด้วยวิธีการอันสร้างสรรค์  เพราะผมไม่บังคับว่า “ใครต้องพูด” แต่จะกระตุกกระตุ้น หยิกๆ หยอกๆ เพื่อให้นิสิต “กล้าที่จะพูด”...

 

          ผมว่ากระบวนการเช่นนี้แหละ  เหมาะกับการนำมาใช้ในเวทีแบบนี้  ไม่ใช่ผมมานั่งบรรยายฝ่ายเดียว หรือบรรยายเน้นทฤษฎีชวนน่าเบื่อ ทำให้นิสิตที่หวังใจว่าจะมาผ่อนคลาย กลับดูตรึงเครียดไปมากกว่าเดิม

          แน่นอนครับ-สื่ออันเป็นหนังสั้นหรือคลิปที่ผมนำมาให้นิสิตได้ดูได้ชมกันนั้น ผมได้กลั่นกรองชัดแจ้งแล้วว่าเรื่องแต่ละเรื่องมีประเด็นต่อการกระตุกต่อมคิดของนิสิตเป็นแน่ 
          สื่อเหล่านี้ทำหน้าที่แทนเราได้อย่างดียิ่ง แทนที่เราจะพร่ำพูดยืดยาว ก็ใช้สื่อเหล่านี้เข้ามาหนุนเสริมเพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศการเรียนรู้แทน  ซึ่งผมถือว่ามัน “เวิร์ค” มาก
          ยิ่งเป็นสื่อที่ใกล้ตัว หรือสื่อที่สร้างจากมุมคิดที่เข้าใจ “วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว” เช่นนี้  ยิ่งช่วยให้เกิดกระแส หรือปรากฏการณ์เล็กๆ ในการบ่มเพาะ หรือสร้างความตระหนักให้กับนิสิตได้คิดคำถึงถึง “บทบาทและสถานะ” ของพวกเขาเองอย่างไม่เคอะเขิน

 

ปิดเวที : เสียดาย

 

          ครับ-ในทุกครั้งที่นิสิตแสดงความคิดเห็น  ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ผมจะไม่ฟันธงว่า “ผิด” หรือ “ถูก”
ถึงกระนั้นก็โชคดีเป็นที่สุด  เพราะในเวทีครั้งนี้  นิสิตสะท้อนมุมคิดตรงตามโจทย์แทบทั้งหมด  ผมจึงไม่อึดอัดที่จะบอกว่า “ใช่-ไม่ใช่-ทำนองนั้น” 
          และที่สำคัญ-เมื่อนิสิตลุกขึ้นมาพูด  ผมจะกำนัลเขาด้วย “หนังสือ” ของผมเอง หรือไม่ก็เป็นหนังสืออ่านเล่นอื่นๆ เพื่อส่งเสริม “การอ่าน..การคิด” ให้เกิดเป็น “วัฒนธรรม” ในตัวของนิสิต

          ในตอนท้ายของเวที ผมเกริ่นจากใจในทำนองว่า “... เสียดายที่ไม่ได้ทำเวทีในแบบปฏิบัติการ (Workshop)  โดยให้นิสิตจับกลุ่มวิเคราะห์กิจกรรมที่คณะหรือสโมสรนิสิตได้จัดขึ้นว่าเกี่ยวโยงกับเรื่อง 3 D อย่างไร  เนื่องเพราะผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่านิสิตที่มานั่งฟังในครั้งนี้เคยเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน  อีกทั้งพี่ๆ ผู้นำองค์กร (ผู้นำนิสิต) ก็ไม่ได้เข้าร่วม จึงยากต่อการจัดกระบวนการให้ทะลุมิติของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ประกอบด้วย “ผู้นำ” และ “ผู้ตาม” ...
         นอกจากนั้น ผมยังทิ้งท้ายด้วยการเชื่อมโยงให้เห็นถึงความเป็นปรัชญามหาวิทยาลัยฯ,เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย และอัตลักษณ์ของความเป็นนิสิต  รวมถึงการมุ่งเน้นถึงวาทกรรม "จิตอาสา" หรือ "จิตสาธารณะ"  พราะคำๆ นี้เป็นกลไกหลักที่จะช่วยให้เกิดสถานศึกษา 3 D 

 

 

 

          ครับ-ไม่มีอะไรว่างเปล่า และไร้ค่าเมื่อเราลงมือทำมันด้วยหัวใจ
            เวทีครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน  ผมเชื่อว่าผู้จัดคงมิได้จัดขึ้นเพียงเพื่อตอบตัวชี้วัดใดๆ ให้มากความ หากแต่จัดขึ้นเพื่อต้องการ “สร้างพื้นที่” (คุณภาพ) ให้เกิดขึ้นในองค์กร/คณะ  เพื่อให้แต่ละคนได้มาพบปะพูดคุยกัน หรือแต่การแลกเปลี่ยนกับบุคคลภายนอก ซึ่งอาจจะมีทั้งคนมีชื่อเสียง และไม่มีชื่อเสียง (หากแต่มีตัวตน ชวนฟัง...ชวนเอาแบบแบบอย่าง)

          ลองคิดตามนะครับ จะดีแค่ไหนหากทุกคณะมี “พื้นที่” หรือ “เวที” เล็กๆ เช่นนี้อย่างน้อยเดือนละครั้งสองครั้ง  จัดและขับเคลื่อนภายใต้ “วัฒนธรรมของตนเอง”   
          วิทยากรที่เชิญมาอาจไม่จำเป็นต้องโด่งดังคับฟ้า (ค่าตัวแพงๆ)  ตรงกันข้ามอาจสลับสับเปลี่ยนกับการเชิญ “ศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน” หรือ “บุคลกรในมหาวิทยาลัย”  ที่สันทัดและมีประสบการณ์ที่น่าสนใจหมุนเวียนมา “ขายฝัน” ร่วมกัน- ผมว่าก็คงไม่น่าเสียหายอะไร (กระมัง)  
          และสำคัญที่สุดคือ  ไม่ว่าใครจะมาเป็นวิทยากรก็เถอะ  แต่มีเงื่อนไขเดียวกันคือการต้องตระหนักถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้มี “พื้นที่”  ในการ “ขบคิด วิเคราะห์และตัดสินใจ”  ด้วยตนเอง  มิใช่ “บรรยาย” ให้จบๆ ไปตามกำหนดการ  ราวกับต้อนคนเข้ามานั่งจดบันทึกจนขาดชีวิตชีวา –

 

          ครับ-ผมว่านี่แหละคืออีกหนึ่งกระบวนการอันง่ายงามของการพัฒนานิสิต
          และคือกระบวนการอันสำคัญในการสร้างพื้นที่คุณภาพเล็กๆ ไว้ในแต่ละคณะ ...

หมายเลขบันทึก: 548495เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2013 05:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2013 05:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เวที ง่ายๆ. ในการ. ขายฝัน ร่วมกัน. เหมือน g2k แห่งนี้. เวทีื ที่ไอ้ เรียนรู้ร่วมกัน ไว้คอยติดตามอ่านต่ออีกนะคะ ^___^

สวัสดีครับ คุณชาดา ~natadee

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
G2K คือเวทีแห่งการเรียนรู้และแบ่งปัน
ผมเองก็ได้รับอานิสงส์จากเวทีนี้มากมายก่ายกอง..
การงานและชีวิต ครึ่งต่อครึ่งก็ได้เวทีนี้ ขัดแต่ง กล่อมเกลา .....

ขอบพระคุณครับ

เป็นเวทีที่เรียนรู้อย่างมีความสุข

ต้อง ททท ทำทันที เลยนะครับ

หนังสือเล่มใหม่ชื่ออะไรครับ

ไม่ได้รับเมล์ครับ

เมล์ผมคือ khajitfoythong347at gmail.com

แก้ at  เป็น @ ก่อนนะครับ ผมกันRobot

อ.ขจิต ฝอยทอง ครับ

หนังสือเล่มใหม่ที่วางแผงตอนนี้คือ "ความรักความคิดถึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต"

เดี๋ยวบ่ายวันนี้ จะส่งไปให้ครับ
ดูชื่อหนังสือแล้ว แย้งย้อนกับใบหน้าผมเลยใช่ไหมครับ ...55




ขอบคุณมากๆๆส่งเมล์ตอบไปแว้ววววว

ใบหน้ากับหนังสือ 5555

กระบวนการง่ายงาม  เพราะประสบการณ์วิทยากรผ่านยากมาแล้วมังคะ  อาจารย์เล่าได้เร้าพลังตามเคยนะคะ

ทราบว่าหนังสืออาจารย์มีขายที่ Se-Ed  วันหยุดนี้จะลองแวะหามาอ่านนะคะ

เป็นงาน  คืองาน  คือชีวิต  คือความสุขนะจ๊ะ

สวัสดีครับ พี่หมอ ทพญ.ธิรัมภา

ตกลง - ได้หนังสือหรือยังครับ

ถ้าหาซื้อไม่ได้ เดี๋ยวผมส่งให้ ครับ

 

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ครับ, การงาน คือความสุข
การได้ทำงาน ช่วยให้เรารู้สึกว่า เรามีคุณค่าและยังพร้อมเสมอสำหรับการเรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองและสังคม ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท