เกิดมาใช้กรรม...?


              คนส่วนใหญ่คงเคยได้ยินคำว่า เกิดมาใช้กรรม ใครมีต้นทุนทางกรรมดีสะสมไว้มากในชาติก่อนก็จะได้รับอานิสงค์ทางด้านที่ดีในชาตินี้ ส่วนใครที่มีต้นทุนสะสมทางกรรมชั่ว (ไม่ดี) ไว้มากในชาติก่อนก็จะได้รับผลกรรมทางด้านไม่ดีในชาตินี้ เป็นวัฏจักรหมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นบริบทที่สะท้อนออกมาถึงมุมมองความสวยงามในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ ได้เป็นอย่างดีดังวาทกรรมที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

 

             ทุกคนเกิดมาเกี่ยวเนื่องจากกรรม  กรรมที่ได้ทำสั่งสมเอาไว้ทั้งนั้นเป็นปัจจัยเหตุสำคัญที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) ถึงแม้ว่า เราจะเกิดมาจากกรรมที่ได้กระทำไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราเกิดมาเพื่อชดใช้กรรม (เก่า) เพียงอย่างเดียว หากแต่เรายังสามารถสร้างกรรม (ใหม่) ในปัจจุบันด้วย

 

            กรรม (เก่า) เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับในความเป็นจริง และรับผลไปตามสภาพ เกี่ยวเนื่องจากกรรมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ตนเองได้ทำสั่งสมเอาไว้ ไม่มีใครมารับแทนได้ หรือพูดให้เข้าใจโดยง่าย ๆ ก็คือ เราไม่สามารถผลักภาระ (กรรม) หรือโอนไปให้คนอื่นรับแทนได้ แต่สิ่งสำคัญในทางพุทธศาสนาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงเน้นก็คือ กรรมในปัจจุบัน เราไม่สามารถนั่งไทม์แมชชีน (Time machine) ย้อนเวลากลับไปลบกรรม (ชั่ว) ในอดีตได้ แต่เราสามารถสร้างกรรมดีในปัจจุบันเพื่อชดเชย (แก้) กรรมเก่าได้ แต่กรรมดีที่เราทำในปัจจุบันนั้นจะเป็นการไปแก้ ผลที่เกิดจากกรรมเก่า ไม่ใช่ไปแก้ที่ปัจจัยเหตุแห่งกรรม เกี่ยวเนื่องจากปัจจัยเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในกรรมเก่าไม่สามารถแก้ได้

 

กรรมดีในปัจจุบันนั้น...ท่านว่านำมาแก้ผลที่เกิดจากกรรมเก่า

 

             สมมติว่า : ตัวเราเปรียบเสมือนโอ่งน้ำใบหนึ่งที่ว่างเปล่า...

         -  หากเราทำกรรมชั่วเปรียบเสมือนหมึกสีดำที่หยดลงไปในโอ่งใบใหญ่ และ

         -  หากเราทำกรรมดีเปรียบเสมือนน้ำสะอาดบริสุทธิ์

  

             ดังนั้น...หากว่าเราทำกรรมชั่วหมึกสีดำก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ...แต่หากว่าเราทำกรรมดีน้ำสะอาดบริสุทธิ์ก็จะไปละลายเจือจางหมึกดำนั้น

             และหากว่าเราไม่สร้างกรรมชั่วอีก...ทำแต่กรรมดีหมึกดำ (กรรมชั่ว) นั้นก็จะเจือจางไปเรื่อย ๆ...จนมองเห็นแต่น้ำสะอาดบริสุทธิ์ในโอ่ง (ตัวเรา) นั้น...

 

                แต่ประเด็นสำคัญก็คือ...หมึกดำ (กรรมชั่ว)...ที่อยู่ในโอ่งใบใหญ่ในตอนแรกไม่ได้หายไปไหน...เป็นแต่เพียงว่าน้ำสะอาดบริสุทธิ์  (กรรมดี) ที่เราเติมลงไปนั้นไปเจือจางจนทำให้มองไม่เห็น...

               ในกรณีเช่นนี้...หากเราทำกรรมดี (น้ำสะอาดบริสุทธิ์) เพิ่มขึ้เรื่อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้กรรมชั่ว (หมึกดำ) นั้นเจือจางลงไปเรื่อย ๆ ...จนในที่สุดก็มองไม่เห็นหมึกดำนั้น (แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน)...เปรียบเสมือน...กรรมดีที่นั้นไปกดทับกรรมชั่วไม่ให้ส่งผล...จนในที่สุดหากกรรมชั่วมีน้อยนิดก็อาจจะกลายไปเป็นอโหสิกรรมหรือเป็นเพียงเศษกรรมที่ส่งผลเพียงน้อยนิด...

 

 

             ยกตัวอย่าง: ในกรณีขององคุลิมาลนั้น องคุลิมาลได้ฆ่าคนไปมากกว่าพันคน  ดังนั้นกรรมจากการฆ่าคนย่อมสั่งสมเป็นกรรมชั่วมากมาย ผลของกรรมรอวันสะท้อนกลับอย่างรุนแรง แต่เกี่ยวเนื่องจากภายหลังองคุลิมาลได้บวชเป็นพระองคุลิมาล และบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่กระนั้นผลวิบากที่เกิดจากการฆ่าคนไปเป็นจำนวนมากก็ยังส่งผลสะท้อนกลับมาถึงท่าน แต่เหลือเพียงแค่เศษกรรมเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อท่านไปบิณฑบาต หากมีใครขว้างปาสิ่งของอันใดแม้จะมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาที่จะขว้างปาไปยังท่าน แต่สิ่งของต่าง ๆ เหล่านั้นก็มักจะลอยตกกระทบทำให้ศีรษะท่านแตกเลือดอาบ

 

               ในกรณีของพระองคุลิมาล นี่ขนาดท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ผลกรรมก็ยังสะท้อนกลับมา แต่ก็เป็นเพียงเศษกรรมเท่านั้น ในขณะที่เราเป็นมนุษย์ปุถุชน แล้วไปก่อกรรมทำชั่วไว้มาก ลองนึกดูว่าผลกรรม (ชั่ว) จะสะท้อนกลับมามากมายมหาศาลเพียงใด ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ เราไม่สามารถรู้ด้วยสามัญสำนึกได้ว่า กรรมชั่วที่สั่งสมของเรามีมากมายเพียงใด (ไม่มีข้อมูลตัวเลขเก็บสถิติบอกเอาไว้) แต่สิ่งที่เรารู้ได้ก็คือ ในปัจจุบันนั้นเราได้กระทำกรรมชั่วหรือกรรมดีเอาไว้

              

               ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น จากวาทะกรรม "ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ได้กลายพันธุ์เปลี่ยนเป็นทัศนะคติใหม่ในทางสังคมที่เราคงเคยได้ยินอยู่บ่อย ๆ คือ ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป ซึ่งบริบทที่เปลี่ยนไปดังกล่าวนี้เป็นลักษณะออกแนวประชดประชันสังคม ทั้ง ๆ ที่บางครั้งคนที่ทำดีแต่อานิสงค์ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปในทางที่ดี แต่ คนที่ทำชั่ว (ไม่ดี) กลับได้รับผลกลับมาในทิศทางตรงกันข้าม หรือว่านี่คือบททดสอบสำหรับคนที่ทำดี แต่บางครั้งบางเวลา ระยะเวลาที่ทดสอบก็ทอดยาวจนเกินไป หากไม่มีจิตใจที่มุ่งมั่นและเข้มแข็งแล้ว ก็ยากที่จะก้าวข้ามพ้นผ่านไปได้เพราะ...

 

             ไม่มีใครที่รู้เห็นช่วงชีวิตในอดีตของแต่ละคนว่าเคยทำกรรม (ดีหรือชั่ว) ไว้อย่างไร ดังนั้น

                       กรณีที่ ๑: หากว่าปัจจุบันเราได้เห็นเขาคนนั้นทำกรรมชั่วเอาไว้มากมาย แต่ขณะปัจจุบันกลับยังเสวยสุข ได้ดิบได้ดี รวยเอา ๆ อาจเป็นเพราะ ในอดีตของเขา (ที่เราไม่เคยเห็น) อาจจะเคยก่อกรรมดีสั่งสมเอาไว้ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะนั่งไทม์แมชชีน (Time machine) ย้อนกลับไปดูในอดีตได้

 

                      กรณีที่ ๒ : หากปัจจุบันเราได้เห็นเขาคนนั้นทำกรรมดีเอาไว้มากมาย แต่ขณะปัจจุบันกลับมีแต่สิ่งที่ร้าย ๆ เข้ามาในชีวิตทั้ง สูญเสียในสิ่งที่รัก มีโรคภัยไข้เจ็บ จนลง ๆ เป็นต้น อาจเป็นเพราะ ในอดีตของเขา (ที่เราไม่เคยเห็น) อาจจะเคยก่อกรรมชั่วสั่งสมเอาไว้ ซึ่งเราไม่สามารถที่จะนั่งไทม์แมชชีน (Time machine) ย้อนกลับไปดูในอดีตได้

 

                เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปดูในอดีตได้ว่า คนเหล่านั้นได้ทำกรรม (ดีหรือชั่ว) เอาไว้อย่างไรบ้าง เราสามารถที่จะเห็นก็แต่เฉพาะในปัจจุบันที่เราได้รู้จักและคบกับเขา แต่ ในท้ายที่สุด การทำกรรมในปัจจุบันก็จะเข้าสู่กระบวนการปรับดุลยภาพโดยการสั่งสมกรรมทั้งหมดที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับสมดุลแห่งกาล (เวลา) และสะท้อนออกมาในสมดุลแห่งชีวิต (ปัจจุบันที่เป็นอยู่) เป็นวัฏจักรไปเรื่อย ๆ ...

 

 

                หลาย ๆ เหตุการณ์ในหลาย ๆ ครั้งเราจะเห็นได้ว่า คนชั่วยังคงลอยนวลกฎหมายยังไม่สามารถเอาผิดและทำอะไรได้ แต่ถ้าหากว่าเราเข้าใจและตั้งมั่นในศีลธรรมและคุณธรรมแล้ว ขอให้เชื่อเถอะว่า แม้กฎหมายจะยังคงไม่สามารถเอาผิดและทำอะไรกับพวกคนชั่ว (ไม่ดี) ได้ แต่กฎแห่งกรรม นั้นมีจริง ถึงแม้ว่าพวกคนชั่วเหล่านั้นจะหลบพ้นจากเงื้อมมือของกฎหมาย (ที่สร้างขึ้นจากมนุษย์) ได้ แต่จะไม่สามารถที่จะหลีกพ้นจากกฎแห่งกรรม (กฎธรรมชาติ)ไปได้

 

*****************************************************************

 

              อาจารย์สั่งให้องคุลิมาลไปฆ่าคนให้ครบพันคน แต่เมื่อแรกเริ่มฆ่าไปแล้วเกิดสับสน จำไม่ได้ว่าได้ฆ่าคนไปแล้วเท่าไหร่ ภายหลังองคุลิมาลจึงเริ่มนับใหม่โดยการตัดเอานิ้วมือของคนที่ถูกฆ่ามาร้อยเป็นพวงมาลัย เพื่อง่ายต่อการนับ       

 

              กรรมนิยาม (Moral Laws) เป็นกฎแห่งกรรม การกระทำกรรม อันทำให้เกิดพัฒนาการและวิวัฒนาการทุกด้าน เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรม เป็นกระบวนการก่อการกระทำและการให้ผลของการกระทำ กินลึกลงไปถึงกระบวนการแห่งเจตน์จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องประสานกัน...ซึ่งกฎแห่งกมมนี้เป็นเรื่อง  “ อจินไตย

      

             กฎแห่งกรรม คือ ผลสะท้อนของกรรมที่ได้เคยทำสั่งสมไว้ (ดี ชั่ว) ในอดีตกาล หรือที่เข้าใจกันโดยง่ายทั่วไปคือ ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่วนั่นเอง กรรมและผลของกรรม (วิบาก) นั้น แบ่งตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาได้ ๑๒ ข้อ โดยแบ่งเป็น ๓ หมวด ๆ ละ ๔ ข้อ  กล่าวคือ

            หมวดที่หนึ่ง : กรรมที่ให้ผลตามกาล (เวลา) มี ๔ ข้อ

             -     กรรมที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม)

             -      กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า (อุปัจชชเวทนียกรรม)

             -      กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป (อปราปรเวทนียกรรม)

             -       กรรมที่ให้ผลเสร็จแล้ว/ไม่มีผล (อโหสิกรรม)

           หมวดที่สอง : กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ มี ๔ ข้อ

             -        กรรมแต่งให้เกิด (ชนกกรรม)

             -        กรรมสนับสนุน (อุปัตถัมภกกรรม)

             -        กรรมบีบคั้น (อุปปีฬกกรรม)

            -        กรรมตัดรอน (อุปฆาตกรรม)

          หมวดที่สาม : กรรมที่ให้ผลตามลำดับมี ๔ ข้อ

            -       กรรมหนัก (ครุกรรม)

            -        กรรมใกล้ตาย (อาสันนกรรม)

            -        กรรมที่ทำบ่อย ๆ (อาจิณณกรรม)

 

            -        กรรมสักว่าทำ (กตัตตากรรม)

 

  อ้างอิง : 

 

บรรจบ บรรณรุจิ. (๒๕๓๘). ปาฏิหาริย์ : สื่อการสอนธรรมของพระพุทธเจ้าและพระสาวก.

                    กรุงเทพมหานคร : กองทุนศึกษาพุทธสถาน.

พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (๒๕๓๑). กรรม : ตามนัยแห่งพุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร :

                    มูลนิธิพุทธธรรม.

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). (๒๕๓๘ข.). พุทธธรรม : กฎธรรมชาติและคุณค่าสำหรับชีวิต.

                     กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.

พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล). (๒๕๕๐). รู้ทันกรรม รู้ทันโลก (พิมพ์ครั้งที่ ๑๕).

                     กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์บ้านหนังสือโกสินทร์.

พุทธทาสภิกขุ. (๒๕๔๘). เรื่องกรรม: ในมุมมองของพุทธทาส. กรุงเทพมหานคร :

                       หจก.เพชรประกาย.

 

 

เครดิตภาพ : http://www.dhammasatta.org/private_folder/lotus.jpg

 

คำสำคัญ (Tags): #กรรม#กฎแห่งกรรม
หมายเลขบันทึก: 548408เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2013 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

 กฎแห่งกรรม คือ ผลสะท้อนของกรรมที่ได้เคยทำสั่งสมไว้ (ดี ชั่ว) ในอดีตกาล หรือที่เข้าใจกันโดยง่ายทั่วไปคือ ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่ว” นั่นเอง กรรมและผลของกรรม (วิบาก) ....

 

ขอบคุณมากค่ะ  อ่านแล้วรู้สึกดีมากๆ ค่ะ ..... เตือนสติได้ดีมากค่ะ  P'Pleชอบอ่านมากค่ะ

ได้อ่านเรื่องกรรมละเอียดมากครับ

ขอบคุณมากๆครับ

-สวัสดีครับ

-ต้องทำ้กรรมดีเติมลงไปในโอ่งมากๆ แล้วล่ะึครับ..

-แล้วหมึกดำก็จะค่อยๆจางหายไป...

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณอรรถกถาธรรม นำใจให้รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องกรรม เช่นนี้ค่ะ

อ่านแล้ว รับรู้ถึงความเป็นไปในชีวิตคนดีจังเลยนะครับ

..

วันก่อน ผมเคยเรียนถามพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ถึง  ชาติก่อน ชาตินี้

พระคุณเจ้าท่านตอบผมว่า...โยม  เมื่อวานมีมั้ย!!

และท่านให้ผมไปอ่าน พระพุทธเจ้า 500ชาติ 

คงต้องหาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านเก้บไว้สอนลูกหลาน

..

ขอบคุณ อาจารย์จัตุฯ มากนะครับ

ขอบคุณมากครับ...คงต้องพยายามหาน้ำสะอาดๆ มาเติมเต็มชีวิตในทุกๆ วันเหมือนกันครับ

ขอบคุณ P'Ple อาจารย์ขจิต คุณเพชรน้ำหนึ่ง อาจารย์พี่ใหญ่ คุณแสงแห่งความดี และคุณพี่หนาน มากครับที่แวะมาทักทายและให้ข้อคิดเห็นดี ๆ ไว้...:)

ขอบคุณ : กำลังใจจากทุก ๆ ท่านที่มอบผ่านทางดอกไม้มากครับ...:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท