คุณธรรม จริยธรรม สำหรับผู้บริหารองค์กร


ศึกษาวิเคราะห์คุณธรรม จริยธรรม สำหรับผู้บริหารองค์กร

ผู้บริหารเป็นหัวใจสำคัญของหน่วยงานหรือองค์กร  ทุกหน่วยงานย่อมปรารถนาและให้การยอมรับนับถือผู้บริหารที่มีคุณภาพนั่นก็คือ เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมีทักษะคามชำนาญงานมีประสบการณ์ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ฯลฯ แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ต้องเป็นผู้มีคุณธรรมในจิตใจ และมีจริยธรรมที่น่าเลื่อมใสศรัทธา  ผู้บริหารก็คือคนที่มีความสามารถในหลายด้านที่เหนือกว่าคนทั่วไปดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเป็นคนดีของสังคมและเกือบทุกสังคมจะยึดหลักการของศาสนามาเป็นพื้นฐานของความดีความงามในการอยู่ร่วมกัน  สำหรับคนไทย คุณธรรมจริยธรรมส่วนใหญ่จะประยุกต์มาจากพระพุทธศาสนาเป็นหลัก  คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น  ถึงแม้ว่าจะมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล  นับถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า  ๒๕๕๖  ปีแล้ว  แต่ทุกหลักธรรมยังคงทันสมัยอยู่เสมอ  สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นเครื่องดำเนินชีวิตและแนวทางในการบริหารงานได้เป็นอย่างดี  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะหลักธรรมดังกล่าวเป็นความจริงที่  สามารถพิสูจน์ได้ที่เรียกว่า  สัจธรรม ปฏิบัติได้เห็นผลได้อย่างแท้จริงอยู่ที่เราจะนำหลักธรรมข้อใดมาใช้ให้เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุด สำหรับนักบริหารก็มีหลักธรรมสำหรับยึดถือและปฏิบัติอย่างมากมาย 

ความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรมจึงอาจแบ่งได้ ดั้งนี้ คือ

       1.ความสำคัญต่อสังคมสังคมเป็นแหล่งรวมกันของผู้คนที่มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกต่างทางความคิดเป็นความแตกต่างที่สำคัญ เพราะความคิดเป็นจุดเริ่มต้นของการกระทำ ถ้าคิดอย่างไรการกระทำก็มักจะเป็นอย่างนั้นเสมอ เมื่อความคิดของคนในสังคมแตกต่างกันก็จะเกิดการกระทำที่แตกต่างกันอย่างหลากหลายตามไปด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งต่างๆตามมา ดังนั้นสังคมต้องอาศัยคุณธรรมจริยธรรมเป็นเครื่องควบคุมความคิดและการปฏิบัติของผู้คนไม่ให้ไปคิดและกระทำอันเป็นการละเมิดผู้อื่น

   2.ความสำคัญต่อหน่วยงานถ้าหน่วยงานใดมีสมาชิกที่ประกอบไปด้วยคุณธรรมจริยธรรมแล้ว หน่วยงานนั้นก็จะเป็นหน่วยงานที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ เพราะคุณธรรมที่ดีในตัวแต่ละคนนั้น จะเป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นผู้มีคุณภาพพร้อมที่จะดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนจริยธรรมนั้นเป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นผู้ที่สามารถในการปฏิบัติที่ดีที่ถูกต้อง ทำให้เกิดผลงานที่มีคุณภาพกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า หน่วยงานที่มีบุคลากรที่มีคุณธรรม จริยธรรม ก็คือ มีปัจจัยตัวป้อนด้านบุคลากรที่ดี และเมื่อเข้าสู่กระบวนการก็จะได้ผู้ที่ควบคุมกระบวนที่ดี และจะได้ผลงานออกมาที่ดีในที่สุด

  3. ความสำคัญต่อการบริหาร  การบริหารประกอบด้วย วัตประสงค์ขององค์การ กิจกรรมที่จะดำเนินการและทรัพยากรในการบริหาร ทรัพยากรบริหารนั้นประกอบด้วย คน เงิน วัสดุอุปกรณ์และวิธีการ ซึ่งคนเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญที่สุด ถ้าหากคนมีคุณธรรมจริยธรรมแล้ว การบริหารงานก็จะดำเนินไปได้และบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ถ้าหากคนไม่มีคุณธรรมจริยธรรมก็ยากที่จะดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้

4. ความสำคัญต่อผู้บริหาร  คุณธรรมจริยธรรมเป็นคุณสมบัติที่ดีของทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำ หรือผู้บริหารจำเป็นต้องมีคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าตำแหน่งอื่นๆ เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้ผลักดันให้เกิดการดำเนินงานขับเคลื่อนไปข้างหน้าตามวัตถุประสงค์ ต้องมีการบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม  คุณธรรมจริยธรรมเป็นลักษณะของความดี ถ้าผู้บริหารมีความดีมีคุณธรรมจริยธรรมก็จะได้รับการยอมรับนับถือ เท่ากับเป็นการสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้น การบริหารงานนอกจากจะวางระบบการบริหารงานที่ดีแล้ว ยังต้องพยายามสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งการสร้างแรงจูงใจมีทั้งทางบวกและทางลบ เช่น การให้รางวัล หรือการลงโทษ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริงในการสร้างแรงจูงใจที่ดีที่สุดคือการทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความรู้สึกว่าได้ปฏิบัติหน้าที่กับผู้บังคับบัญชาที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม ดังนั้น ถ้าผู้บริหารมีคุณธรรมจริยธรรมก็จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้เป็นอย่างดี  การดำเนินงานโครงการหรืองานประจำใดๆที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความไม่คุ้มค่าในการใช้งบประมาณ เป็นสิ่งที่เห็นได้ว่า ขาดคุณธรรม จริยธรรม มีการทุจริตคอรัปชั่นแฝงอยู่ในกระบวนการดำเนินงาน ถ้าการบริหารไม่ว่าระดับใดหรือฝ่ายใดก็ตามยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม ไม่โลภ ไม่อยากได้ ในสิ่งที่ไม่ควรได้ เมื่อมีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริตแล้ว การใช้งบประมาณก็จะทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลงานต้องเกิดขึ้นและคุ้มค่ามากที่สุด

คุณธรรม จริยธรรมที่ผู้บริหารควรมีได้แก่

สังคหวัตถุ ๔ คือ

1 ทาน คือ การให้  รู้จักเสียสละแบ่งปันด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นการครองใจคนที่ดี เพราะผู้ที่ให้ย่อมเป็นที่รักของบุคคลทั่วไป และผู้ให้ย่อมทำให้เกิดความรัก ความศรัทธา

๒ ปิยวาจา คือ การพูดจาสุภาพ รู้จักเลือกใช้วาจาที่ไพเราะอ่อนหวาน คนอื่นฟังแล้วสบายใจ อยากอยู่ใกล้อยากคบค้าสมาคมด้วย ต้องมีความรับผิดชอบคำพูดของตนตามสุภาษิต พูดเป็นนาย ใจเป็นบ่าว หมายความว่า ให้คิดก่อนพูด พูดแล้วต้องทำปฏิบัติตามอย่างที่พูด

3 อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์และรู้จักแบ่งปันน้ำใจให้แก่กันและกัน

4 สมานัตตา คือ วางตนเสมอต้นเสมอปลาย ไม่เสแสร้ง มีสัจจะมีความยับยั้ง ข่มใจ มีความ

อดทน เป็นผู้ให้และผู้รับที่ดี

พรหมวิหาร ๔    ซึ่งประกอบด้วย

1 เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งทางกายและทางใจ ได้แก่ ความสุขจากการมีทรัพย์ ความสุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ความสุขจากการไม่เป็นหนี้และความสุขจากการทำงานที่ปราศจากโทษหรือปราศจากอันตราย

๒  กรุณา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายและความไม่สบายใจและเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกันพระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี ๒ กลุ่มใหญ่  ๆ ดังนี้

ทุกข์ประจำหรือทุกข์โดยสภาวะที่สิ่งมีชีวิตจะต้องประสบซึ่งเกิดจากเปลี่ยนแปลงตาม

ธรรมชาติ คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เรียกว่า กายิกทุกข์

ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ เป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุภายนอกเมื่อปรารถนาแล้วไม่

สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์เรียกว่าเจตสิกทุกข์

๓ มุทิตา คือ ยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี  คำว่า “ดี” หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึง หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆขึ้นโดยที่ไม่มีจิตใจอิจฉาริษยา

๔ อุเบกขา คือการรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่าใครทำ

ดีย่อมได้ดีตามกฎแห่งกรรม ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำเมื่อเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมในเรื่องที่เกิดขึ้นควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

หลักธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ  คืออิทธิบาท ๔ ได้แก่

      ๑ ฉันทะ  ความพอใจคือความพอใจจะสิ่งนั้นและทำด้วยใจรัก ด้วยใจจดจ่อ ต้องทำให้สำเร็จจะต้องเป็นผู้รักงานที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่  และทั้งจะต้อง เอาใจใส่กระตือรือร้นในการเรียนรู้งาน  และเพิ่มพูนวิชาความรู้ความสามารถในการทำกิจการงาน  และมุ่งมั่น ที่จะทำงานในหน้าที่รับผิดชอบหรือกิจการงานอาชีพของตนให้สำเร็จเรียบร้อยอยู่เสมอ

๒  วิริยะ  ความเพียร คือ มีความขยันกระทำสิ่งนั้นด้วยความพยายาม อดทน ตั้งมั่น ไม่

ท้อถอยจะต้องเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร  ประกอบด้วยความอดทน  ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากในการประกอบกิจการงานในหน้าที่หรือในอาชีพของตน  จึงจะถึงความสำเร็จและ ความเจริญก้าวหน้าได้

๓  จิตตะ  ความคิดฝักใฝ่ คือตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความสนใจ จริงใจ มั่นคง

ทำบ่อย ๆ ย้ำคิดย้ำทำผู้ที่จะทำงานได้สำเร็จด้วยดี  มีประสิทธิภาพ นั้น  จะต้องเป็นผู้เอาใจใส่ต่อกิจการงานที่ทำ  และมุ่งกระทำงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสำเร็จ  ไม่ทอดทิ้งหรือ วางธุระเสียกลางคัน  ไม่เป็นคนจับจด  หรือทำงานแบบทำๆ หยุดๆหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บริหารจะต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ติดตามผลงาน และ/หรือ ตรวจงาน หน่วยงานต่างๆ ภายในองค์การของตน  เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัย ตัดสินใจ และสั่งการ  ให้กิจการงาน ทุกหน่วยดำเนินตามนโยบายและแผนงาน  ให้ถึงความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

๔  วิมังสา  การสอบสวนตรวจตราคือหมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล

ตรวจสอบข้อบกพร่องในสิ่งที่ทำนั้น  มีการทดลอง วางแผน วัดผล คิดค้นหาวิธีแก้ไขปรับปรุงให้งานดีขึ้นอยู่เสมอความเป็นผู้รู้จักพิจารณาเหตุสังเกตผลในการปฏิบัติงานของตนเอง และของผู้น้อยหรือของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา  ว่า ดำเนินไปตามนโยบายและแผนงานที่วางไว้หรือไม่  ได้ผล สำเร็จหรือมีความคืบหน้าไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่เพียงไร  มีอุปสรรคหรือปัญหาที่ควรได้รับ การปรับปรุงแก้ไขวิธีการทำงาน  หรือวิธีการบริหารกิจการงานนั้นให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้อย่างไร  ขั้นตอนนี้เป็นการนำข้อมูลจากจากที่ได้ติดตามประเมินผลงานหรือตรวจงานนั้นแหละมาวิเคราะห์วิจัย  ให้ทราบ เหตุผลของปัญหาหรืออุปสรรคข้อขัดข้องในการทำงาน  แล้วพิจารณาแก้ไขปัญหาเหล่านั้น  และปรับปรุงพัฒนา วิธีการทำงานให้ดำเนินไปสู่ความสำเร็จ  ให้ถึงความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปได้

 สรุป คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับนักบริหารองค์กร

       คุณธรรมและจริยธรรมเป็นคุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่ทำให้มนุษย์ต่างไปจากสัตว์ทั่วไป มนุษย์มีคุณธรรมและจริยธรรมที่แตกต่างกัน มีทั้งดี เลวและไม่ดีไม่เลว ระดับคุณธรรมและจริยธรรมของมนุษย์แต่ละคนอาจมีติดตัวมาแต่เกิด หรือมาพัฒนาได้ในภายหลังจากสภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู และกรอบประเพณี สังคม ทุกคนต่างมุ่งหวังสภาวะแห่งความสมบูรณ์ที่สุดแห่งตน ซึ่งสภาวะแห่งความสมบูรณ์ที่สุดเป็นสิ่งที่อยู่ในความสามารถและสติปัญญาของมนุษย์ที่จะสามารถดำเนินไปได้ด้วยตนเอง แต่เขาจะต้องรับผิดชอบต่อการเสริมสร้างชีวิตตนเองให้พัฒนาสูงขึ้นสู่ระดับที่ดีกว่า สูงกว่า แต่มนุษย์ขาดคุณธรรมในตนเอง จึงทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองขึ้นสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตได้  มนุษย์ขาดจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปล่อยตัวเองเป็นทาสของอารมณ์ ความอยาก กิเลสตัณหา ตลอดเวลา หากมนุษย์สร้างจิตสำนึกให้มั่นคงและหนักแน่นได้แล้วก็จะเป็นบันไดก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์ต่อไป ดังนั้นผู้บริหารที่ทรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมควรต้องศึกษาข้อคิด คติธรรมและหลักคำสอนทางศาสนา เพื่อทำความเข้าใจกับหลักธรรมนั้นๆเป็นเบื้องต้น แล้วนำไปคิดวิเคราะห์พิจารณาปรับใช้ให้เหมาะกับภารกิจของผู้บริหาร เช่น  ภารกิจในฐานะผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชนหรือสังคม ภารกิจของผู้วางแผน กำหนดนโยบาย จัดองค์การ บริหารบุคคล ฯลฯ ล้วนต้องอาศัยหลักธรรมในการประกอบควบคู่ไปกับความรู้ความสามารถทั้งสิ้น จึงควรศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมหลักธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อองค์กรและสังคมอย่างแท้จริง 

บรรณานุกรม/อ้างอิง

พระธรรมปิฎก (ป.อ.  ปยุต.โต)  พระไตรปิฎกสิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้.  กรุงเทพฯ : เอส  อาร์  พริ้นติ้ง  แมสโปรดักส์,  ๒๕๔๖.

 

พระระพิน  พุทธิสาโร,  พระมหามนัส  กิตติสาโร.  พระพุทธศาสนา  ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑  กรุงเทพ  : สำนักพิมพ์  บริษัทพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.)จำกัด, ๒๕๕๔  

หมายเลขบันทึก: 548404เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2013 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กันยายน 2013 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท