ครูผู้ใช้ศิลปะชุบชีวิตเด็ก


กิจกรรมศิลปะ ช่วยฝึกสมาธิ ฝึกความอดทน แล้วยังช่วยเติมเต็มในชีวิตที่ขาดหายของเด็กอีกจำนวนไม่น้อย

 

 

ครูผู้ใช้ศิลปะชุบชีวิตเด็ก

 

        การสอนได้เด็กวาดรูปได้ วาดรูปสวย ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ครูที่สอนให้เด็กวาดรูปเป็น วาดรูปให้สื่อออกมาจากจิตวิญญาณ หรือตัวตนของเด็ก หรือใช้ศิลปะชุบชีวิตคนได้ จากเด็กด้อยโอกาสเป็นเด็กที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยใช้ผลงานศิลปะกรุยทางสู่โอกาสเรียนต่อ หรือมีวิชาชีพเลี้ยงตัว  จะมีครูสักกี่คนที่ทำได้ หากไม่อุทิศตนเองเพื่อเด็ก เพื่อชีวิตใหม่ของเด็ก จริงๆ

        ครูพีระพงศ์ วงศ์ศรีจันทร์ (ครูเอ๋) คือครูที่ผมเขียนถึง โดยฝีมือทางศิลปะเขาเคยมีผลงานปรากฏในแกลลอรีใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ เคยได้รับรางวัลการประกวดวาดภาพ ของหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนก็มากมาย  แต่เขาไม่เคยประกาศตนเองว่าเป็นศิลปิน พอใจที่จะเป็นครูสอนศิลปะในโรงเรียนบ้านนอกในแวดล้อมของความยากจน  เด็กด้อยโอกาส ในหมู่บ้านเกิดใหม่ตีนเขาพังเหย ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังที่รัฐคลอดกฎหมายปฏิรูปที่ดิน แล้วคนมีเงินก็ใช้เล่ห์อุบายกว๊านที่ดินได้นับพันไร่  ขณะที่คนจนโดยทั่วไป รัฐมีที่ดินแบ่งปันให้เพียงไม่กี่ไร่ ครอบครัวคนจนจึงมีเพียงที่อยู่แต่ไม่มีที่ทำกิน หากไม่รับจ้างคนมีเงินเจ้าของที่ดินพันไร่  ก็ต้องอพยพไปหากินต่างถิ่น ปล่อยให้ลูกหลานอยู่บ้านตามลำพัง  เด็กๆ เหล่านี้เองคือลูกศิษย์ของครูเอ๋  ชีวิตเด็กเหล่านี้เคว้งคว้าง เลื่อนลอย เปลี่ยวเหงา เสี่ยงเหลือเกินที่จะออกกลางคัน หรือประชดชีวิตหันเหสู่บ่วงอบายที่อาจเสียผู้เสียคนเสียอนาคต  ครูเอ๋ ดึงเด็กเหล่านี้มาเรียนรู้ศิลปะในอาคารเล็กๆหลังโรงเรียน ที่ดัดแปลงให้เป็นห้องปฏิบัติการทางศิลปะ เด็กๆเรียนรู้ศิลปะแบบช่วยเหลือพึ่งพา ใช้เวลาไปกับพัฒนาผลงานทางศิลปะ กินอยู่หลับนอนในบ้านศิลปะหลังเล็กนี้อย่างอบอุ่นมีความสุข  โดยผู้อำนวยการโรงเรียนให้การสนับสนุนงบประมาณด้านสี อุปกรณ์วาดภาพ รุ่นแล้วรุ่นแล้ว เริ่มตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน จนเด็กเหล่านี้มีผลงานศิลปะส่งเข้าประกวดล่ารางวัลเป็นว่าเล่นตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่ ระดับภูมิภาคและระดับชาติ  ในปัจจุบันเด็กรุ่นแรกๆ ที่เป็นลูกศิษย์ครูเอ๋หลายคนประสบความสำเร็จ มีงานทำเป็นหลักแหล่งมีรายได้เลี้ยงตัว  หลายคนส่งเสียตนเองเรียนถึงระดับปริญญาโท บางคนเป็นศิลปินที่กำลังมีผลงานแสดงในระดับนานาชาติ นับว่าเป็นการใช้วิชาศิลปะชุบชีวิตคนโดยแท้

          ทุกวันนี้ครูเอ๋ยังพอใจในการเป็นครูในโรงเรียนบ้านนอกแห่งเดิม  แม้จะมีบ้านของตนเองอยู่ในเมืองก็ตาม  วิธีการสอนของครูเอ๋ก็คือใช้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมแทนค่าองค์ประกอบทางศิลปะ เปิดสมองให้เด็กสัมผัส รับรู้ เหตุผล ความเป็นจริงอย่างลึกซึ้ง (เขียนใจก่อนเขียนรูป) อย่างมีสุนทรียภาพ ก่อนสื่อความหมายออกมา   ชี้แนะให้เด็กเรียนรู้ ออกแบบสร้างสรรค์ พัฒนาตนเองอย่างอดทน เด็กหลายคนเปลี่ยนบุคลิกจากคนใจร้อน ซุกซน ก้าวร้าว ปลีกตัว กลับกลายเป็นคนใจเย็น อดทน สุขภาพจิตดี ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ อย่างน่าอัศจรรย์ แถมมีผลงานศิลปะได้รับรางวัลอีกด้วย

 

ดูผลงานและอ่านเพิ่มเติม เขียนใจก่อนเขียนรูป

 

หมายเลขบันทึก: 548204เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ศิลปชูใจ เขียนใจก่อนเขียนรูป สร้างความสุข ก่อนสร้างความรู้ 

ขอบคุณครูศิลป์

น่าชื่นชมมากครับ

อยากเห็นการชื่นชู ครูแบบนี้มากๆ

ชอบข้อความเขียนใจก่อนเขียนรูป

ขอบคุณมากครับ

การเขียนใจก่อนการเขียนรูป...

นั่นแสดงให้เห้นถึงการมีวิญญาณแห่งความเป้นครูโดยแท้จริง

เข้าใจ และเข้าถึง...มีศาสตร์แห่งความเป้นครูอย่างถ่องแท้

ม่ว่าจะทำอะไร  เมื่อได้ใจเขาแล้วเราย่อมได้ทุกสิ่ง

ตามที่ปรารถนา..แต่กว่าจะเปิดประตูเข้าไปในใจเด็กนี่ละซิโจทยย์ำคัญ

ขอขอบคุณมากสำหรับกำลังใจให้ครูหยินค่ะ

ครูเอ๋เป็นทั้งศิลปินและเป็นครู ที่สำคัญเขาเป็นผู้เอื้อมมือไปดึงเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก มาสู่โลกของศิลปะที่งดงาม ปราณีต เยือกเย็น ใฝ่ดี เข้มแข็ง สลัดเอาความลำเค็ญไว้เบื้องหลัง

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท