ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๙๒. ร่วมงานเลี้ยงแสดงความยินดี ต่อผู้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕


 

ที่จริงงานเลี้ยงนี้ เป็นการแสดงความยินดีต่อคน ๓ กลุ่ม คือ () ๕ คน  () อาจารย์ผู้ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณอาจารย์ดีเด่น ๒ คน และ  () นศ. ผู้ได้รับรางวัลศึกษิตแห่งปีที่วลัยลักษณ์ ๕ คน

การไปร่วมงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และงานเลี้ยงนี้  เป็นการเรียนรู้อย่างยิ่งยวด    โดยตัวผมเองก็ต้องเตรียมไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย    นี่คือการฝึกมองพิธีกรรมผ่านแว่นของการจัดการความรู้

คำว่า ศึกษิตก่อคำถามแก่ผู้ร่วมงาน ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงได้โอกาสอธิบายว่า มาจากคำว่า educated man   เป็นคำที่คิดขึ้นโดย น.ม.ส. โดย น.ม.ส. ได้เขียนกลอนอธิบายคุณสมบัติ ๖ หลักของการเป็นศึกษิตไว้    ศ. ดร. วิจิตร ท่องปากเปล่าให้ที่ชุมนุมฟัง ๒ หลัก ตามด้วยข้อความสรุปตอนท้าย สร้างความประทับใจต่อผู้ร่วมงานอย่างยิ่ง    อ่านเรื่องราวและ ๖ หลักของการเป็นศึกษิตได้ ที่นี่

ในกลุ่มผู้ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ๕ คน   เป็นศิลปินแห่งชาติเสีย ๒ คน   คืออาจารย์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับ รศ. ภิญโญ สุวรรณคีรี    อาจารย์เนาวรัตน์ เขียนกลอน ใครคือครูอันทรงพลัง อ่านได้ที่นี่    

ผมไม่เคยพบ รศ. ภิญโญ มาก่อน รู้จักจากชื่อเสียงของท่าน    คราวนี้ได้รู้จักและพูดคุยด้วย จึงได้ตระหนักในบุคลิกร่วมของสามพี่น้องตระกูลสุวรรณคีรี (ภิญโญ, อำนวย, ไตรรงค์) ว่าได้แก่ความเป็นกันเอง และความมีอารมณ์ขัน แกมทลึ่งแบบคนใต้    ท่านเตรียมวงมาเล่นดนตรีไทยให้ฟังโดย อ. เนาวรัตน์เป่าขลุ่ย  ท่านสีซอด้วง    และมีลูกวงอีก ๓ ท่าน ตีฉิ่ง กรับ และตะโพน   ในตอนท้ายเล่นเพลงค้างคาวกินกล้วย    ซึ่งท่านบอกว่าเป็นเพลงเก่ามาก และชื่อดั้งเดิมมันพิศดารและไม่สุภาพจนพูดไม่ได้ในที่สาธารณะ    ใครอยากรู้ให้ถามเป็นการส่วนตัว    ผมจึงถามท่านและได้คำตอบที่ผมไม่กล้าเขียนเหมือนกัน    ใครอยากรู้มีคำตอบ ที่นี่ โดยอ่านที่คำอธิบาย ซึ่งไม่ตรงกับที่ รศ. ภิญโญ บอกผมนัก   และ ที่นี่  

โชคดี ที่ผมใช้ Galaxy Note 2 บันทึกเสียงในงานตลอดเวลาเกือบ ๓ ชั่วโมงไว้    จึงได้กลอนของ อ. เนาวรัตน์ นำมาฝากแฟน บล็อก

ศ. ดร. ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์ กล่าวขอบคุณ

อ. เนาวรัตน์ กล่าวว่า พลังอำนาจของการศึกษาหยุดความรุนแรงได้   ท่านอ้างท่านพุทธทาสว่า คำว่าศึกษา มาจาก สิกขา ซึ่งมาจากคำว่า ส + อิกข   ส แปลว่าดู   อิกข แปลว่าตัวเอง    สิกขาจึงแปลว่า ดูตัวเองด้วยตัวเอง    และท่านอ้างคำของขงจื๊อว่า มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี  มั่นคงได้ด้วยหลักศีลธรรม เติมเต็มให้สมบูรณ์ได้ด้วยตนเอง    แล้วร่ายกลอนด้วยปากเปล่า ดังนี้   

สิกขาคือ รู้เรียน รู้เพียรเพ่ง

ดูตัวเอง ด้วยตัวเอง เร่งฝึกฝน

เรียนรู้ตน จนตระหนัก รู้จักตน

รู้ตั้งต้น ช่วยตัวได้ ใช้ตัวเป็น

 

ให้รู้ลึก รู้รอบ แล้วรู้รัก

รู้จังหวะ ทุกกระบวน ที่ควรเห็น

ประโยชน์สุข ส่วนรวม ร่วมบำเพ็ญ

การศึกษา จะต้องเน้น ความเป็นมนุษย์

 

ก่อนจะเป็น อื่นใด ในโลกนี้ 

ทั้งเลวทราม ต่ำดี ถึงที่สุด

ก่อนจะสวม หัวโขน ละครชุด

คุณต้อง เป็นมนุษย์ ก่อนสิ่งใด

 

คุณต้อง รู้จัก การเป็นมนุษย์

ไม่ใช่ชุด เครื่องแบบ ที่สวมใส่

ไม่ใช่ยศ ตำแหน่ง แปร่งจากใคร

หากจะเป็น หัวใจ ของตนเอง

 

ใจที่มี มโนธรรม สำนึก

ใจที่ รับรู้สึก เปรียบตรงเผง

ใจที่ไม่ ประมาท ไม่ขลาดเกรง

                ใจที่ไม่ วังเวง ความเป็นคน

 

เมื่อนั้น คุณเป็นอะไร ก็ได้

เป็นผู้น้อย เป็นผู้ใหญ่ ได้ทุกหน

มโนธรรม สำนึก รู้สึกตน

จงตั้งต้น ให้เป็น เป็นมนุษย์

 

วลัยลักษณ์ คือกำไล แห่งปัญญา

ศักดิ์มหา วิทยาลัย ใสพิสุทธิ์

คุณธรรม นำวิชา พาก้าวรุด

มิ่งมงกุฎ วลัยลักษณ์ ศักดิ์สิทธิ์นิรันดร์

 

รศ. ดร. ภิญโญ สุวรรณคีรี เล่าว่า ท่านได้ออกแบบพระตำหนักที่ปากพนัง   และที่ฉวาง บ้านเกิดของ ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

ผมกล่าวขอบคุณและแนะนำ เว็บไซต์ http://www.wichitlikhit.com

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวว่า ในสมัย ร. ๕ ไทยใช้กุศโลบาย diplomacy of accommodation   ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านตกเป็นเมืองขึ้น และใช้ diplomacy of defiance   แต่ขณะนี้เรามีปัญหาด้านการกำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาว ของประเทศ

หลังจากนั้นเป็นการเล่นดนตรีไทย   ตามด้วยเดี่ยวขลุ่ยญี่ปุ่น แสดงโดยอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Kogakuin University, Tokyo ชื่อ Akisato Mizuno   แล้วอาจารย์ดีเด่นทั้ง ๒ ท่านเล่าเรื่องการทำงานสร้างผลงาน    และนางสาวขนิษฐา โต๊ะอิสอ ตัวแทนของ นศ. ที่ได้รับพระราชทานรางวัลศึกษิตแห่งปีกล่าวต่อที่ประชุม   

ผศ. ดร. วัลลา ตันตโยทัย ได้เขียนบันทึกเล่าเรื่องงานเลี้ยงนี้ไว้ ที่นี่ 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ส.ค. ๕๖

 

 

 

นักศึกษาแต่งกาย ๑๐ ชาติอาเซียนมาต้อนรับ และกลัดช่อดอกไม้

นศ. อีกเหมือนกัน ฟ้อนต้อนรับอย่างสวยงามดังมืออาชีพ

รำไทย ๔ ยุค

ศ. ดร. ธีรยุทธ กลิ่นสุคนธ์ กล่าวขอบคุณ

คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ร่ายกลอน

รศ. ภิญโญ สุวรรณคีรี กล่าวขอบคุณ

ผมกล่าวขอบคุณและแนะนำเว็บไซต์ Vichitlikhit.com

ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวขอบคุณและรำพึงถึงอนาคตของบ้านเมือง

วงดนตรีเล่นเพลงค้างคาวกินกล้วย (Small)

 

คุณเนาวรัตน์เดี่ยวขลุ่ย

 

อธิการบดีAkisato Mizuno เดี่ยวขลุ่ยญี่ปุ่น

 

ดร. ทิพวัลย์ สุทิน อาจารย์ดีเด่นด้านการเป็นครู กล่าวความในใจ

 

ดร. เลิศชาย ศิริชัย อาจารย์ดีเด่นด้านการวิจัย กล่าวความในใจ

 
หมายเลขบันทึก: 548055เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2013 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2013 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

บทกลอนของ อ.เนาวรัตน์ ไพเราะมากค่ะอาจารย์ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับที่บันทึกให้อ่าน

ได้อ่านเหมือนเข้าไปร่วมในงานด้วย

บทกลอนของอาจารย์เนาวรัตน์ คนเมืองกาญจน์ แว่วมาเลยครับ

บันทึกเดียวของอาจารย์มีขุมทรัพย์มากมายทีเดียวค่ะ กราบขอบพระคุณอาจารย์มากที่เป็นต้นแบบที่ดีของการเรียนรู้และเผื่อแผ่สิ่งที่รู้ต่อไปได้อย่างกว้างขวางมากจริงๆและเป็นกุศลผลบุญของทั้งอาจารย์และท่านอื่นๆที่ได้มีโอกาสมาพบกัน ทำให้อาจารย์ได้ส่งต่อสิ่งดีๆที่ควรเผยแพร่ได้อยู่เสมอ 

เห็นทุกท่านในที่นี้แล้วรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง  และรู้สึกศรัทธาในกระบวนการคัดเลือกอาจารย์ดีเด่นของ มวล. มาก  ถึงแม้จะไม่ทราบว่าเขาทำอย่างไร  แต่ผู้ที่ได้รับเลือกทั้งสองท่านได้พิสูจน์คุณภาพของกระบวนการจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท