ทำไมครูไทยถึงสอนได้ไม่ดี ?


ทำไมครูไทยถึงสอนได้ไม่ดี ?

โดย อ.วิชัย กอสงวนมิตร คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏเชียงใหม่

บทความนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๖

                เป็นเวลานานมาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการของไทยได้นำพาการศึกษาของชาติเข้าป่ารกทึบ  เพราะผู้กำหนดนโยบายไม่ได้เข้าใจเป้าหมายการศึกษาอย่างแท้จริง  เข้าทำนอง "นั่งแต่ห้องแอร์ วางแผนทำนา"  แถมไม่ยอมรับรู้สภาพปัญหาที่แท้จริงเพื่อนำมาปรับแก้ไขให้ถูกต้อง  ถือทิฐิเชื่อมั่นถือมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองคิดถูกต้องเหมาะสม

                มีเรื่องปัญญาอ่อนมากมายในนโยบายการศึกษาไทย  จนทำให้ครูอาจารย์ทั่วประเทศทุกวันนี้ต้องทำงานมากมายที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวกับการสอน  เช่น

                ๑. ครูอาจารย์ต้องไปเรียนต่อเพิ่มวุฒิให้สูงขึ้นให้มากๆ   ความคิดที่เน้นคุณค่าของปริญญามากกว่าความสามารถในการสอนนี้  ทำให้ครูอาจารย์จำนวนมากลาไปศึกษาต่อ  จนทำให้ขาดแคลนผู้สอน  ใครที่ไม่ไปเรียนต่อก็ต้องแบกรับภาระอย่างหนัก  เพราะไม่สามารถจ้างคนมาแทนอัตราประจำเดิมได้   บางครั้งทำให้ต้องใช้อาจารย์พิเศษสอนชั่วคราวอย่างมากมาย  ส่วนคนที่ยังคงสอนอยู่ก็แทบไม่มีเวลาเตรียมการสอนเลย  ทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นมาก

                ๒. ครูอาจารย์ต้องทำวิจัย  ทั้งที่หน้าที่หลักของครูอาจารย์คือการสอน   แต่กลับกำหนดว่าการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของครูอาจารย์ต้องมีผลงานวิจัยหรือตำรา    เงินงบประมาณจำนวนมากจึงถูกเบิกใช้ทำวิจัย  มีวิจัยที่แทบไม่มีประโยชน์เต็มไปหมด และบางวิจัยก็ไม่น่าเชื่อถือ  เพราะเป็นการพยายามสร้างผลวิจัยเพื่อรองรับการขอตำแหน่งทางวิชาการ

                ๓. ครูอาจารย์ต้องเขียนตำรา  ในอดีตวิชาการใดหากมีผู้เขียนแล้วและเนื้อหาใช้ได้ดี   ก็จะใช้ตำราเล่มเดิมแล้วใช้กันมาอย่างยาวนาน   แต่เนื่องจากการเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการของครูอาจารย์ต้องมีงานวิจัยหรือตำรา  จึงต้องพยายามเขียนขึ้นเองโดยไม่จำเป็น  บางวิชาอาจมีผู้เขียนเป็นร้อยคนแล้วในปัจจุบัน  และทำให้มีการเปลี่ยนตำราบ่อยมากแม้กระทั่งในชั้นประถมศึกษา

                ๔. ครูอาจารย์ต้องทำรายงานมากมาย  มีแบบรายงานการดำเนินงานมากมายที่ครูอาจารย์จะต้องทำ  จนกลายเป็นภาระครูอาจารย์   ไม่ว่ารายงานมาตรฐานคุณวุฒิต่างๆ  รายงานการประกันความเสี่ยง  ฯลฯ  และส่วนใหญ่ของรายงานเหล่านี้   ก็ไม่สามารถนำไปแก้ไขหรือพัฒนาการศึกษาอะไรได้เลย  กลายเป็นขยะกองใหญ่ที่สุด

                ๕. ครูอาจารย์ต้องจัดกิจกรรมทั้งของผู้เรียนและช่วยสังคม  เพราะกิจกรรมต่างๆ จะเป็นการสร้างคะแนนเพิ่มให้กับการประกันคุณภาพการศึกษา  ทำให้สถาบันการศึกษาต้องพยายามสร้างกิจกรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมกันแทบตลอดเทอม  จนกลายเป็นว่าทุกวันนี้ครูอาจารย์แทบไม่ต่างอะไรกับนักเรียนนักศึกษา  คือทำทุกอย่างเพื่อคะแนนแทนประโยชน์ที่แท้จริงของการศึกษา

                ๖. ครูอาจารย์ต้องรับผิดชอบคะแนนการประกันคุณภาพการศึกษา  คะแนนและตัวชี้วัดที่ถูกหน่วยงานกำกับการศึกษาของรัฐสร้างขึ้นมา  ทำให้เพิ่มภาระและความเครียดมากมายให้กับครูอาจารย์และผู้บริหารสถาบันการศึกษา  แทนที่จะตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจากผลลัพธ์ เช่น ความรู้ของผู้เรียน  เปอร์เซ็นต์การมีงานทำ  เปอร์เซ็นต์การสอบเข้าเรียนต่อได้  ความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต  ฯลฯ  ลดการตรวจประกันคุณภาพลงเถอะครับ  อย่าพยายามสร้างความสำคัญให้กับหน่วยงานตนเอง   เพราะหากดูจากผลลัพธ์การศึกษาไทย จะพบว่ายิ่งตรวจประกันคุณภาพ ประสิทธิภาพของการศึกษากลับมีแต่ตกต่ำลง

                ๗. ครูอาจารย์ต้องสอนให้มากชั่วโมง  ทั้งโรงเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัยจำนวนมาก  ได้กำหนดปฏิทินการศึกษาจนแทบไม่มีเวลาปิดภาคเรียนให้กับผู้เรียนและผู้สอน เด็กนักเรียนปิดเทอมแล้วก็ยังให้ไปเรียนพิเศษ   จนทำให้นักเรียนนักศึกษาปัจจุบันแทบไม่มีเวลาพักหลังสอบ ไม่สามารถกลับไปเยี่ยมและอยู่กับครอบครัวได้  และต้องงดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ช่วงปิดภาคเรียนไปโดยปริยาย  จนผมเคยตั้งคำถามว่า "ระหว่างความรู้กับความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคม   สิ่งใดกันแน่ที่จำเป็นกว่าในชีวิต ?"

                ๘. ครูอาจารย์ต้องทำงานแทนเจ้าหน้าที่  เพราะจำนวนบุคคลากรที่ไม่เพียงพอ หรือเพียงพอแต่ไม่มีจิตใจให้บริการ   ทำให้ภาระการบริการนักเรียนนักศึกษาและงานจำนวนมาก  กลับไปอยู่ในความรับผิดชอบของครูอาจารย์  ท่านผู้บริหารการศึกษาคงไม่เข้าใจด้วยซ้ำไปว่า  พนักงานขายที่ดีในห้างสรรพสินค้าเขาก็จะไม่ยอมให้ไปทำหน้าที่ยกของ  หรือพ่อครัวฝีมือดี เขาก็จะไม่ยอมให้ไปทำหน้าที่ล้างจาน  เพราะเป็นการเอาม้าไปใช้ไถนา

                สุดท้ายนี้  ผมอยากจะถามผู้ที่กำหนดนโยบายการศึกษาไทยว่า  คุณเคยอ่านบทกวีของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ หรือไม่ที่ว่า  "ครูคือผู้ชี้นำทางความคิด  ให้รู้ถูกรู้ผิดคิดอ่านเขียน ให้รู้ทุกข์รู้ยากรู้พากเพียร ให้รู้เปลี่ยนแปลงสู้รู้การงาน ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณมนุษย์ ให้สูงสุดกว่าสัตว์เดรัจฉาน ครูคือผู้สั่งสมอุดมการณ์ มีดวงมาลย์เพื่อมวลชนใช่ตนเอง"

                 และโปรดอย่าเข้าใจว่า ครูคือเจ้าหน้าที่ธุรการหรือนักวิจัย  ที่จะต้องทำงานสนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ  แต่งานของครูคือให้ทั้งความรู้และความคิด  เพื่อให้ศิษย์เป็นผู้นำพาประเทศชาติในอนาคต  และงานอื่นๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการอยากให้ครูอาจารย์ทำนั้น  ล้วนแล้วแต่เป็นบริการเสริมซึ่งไม่จำเป็นต้องทำเลย  และอาจจัดหาคนที่ไม่ใช่ครูมาช่วยทำก็ได้  แต่งานหลักของครูนั้นทั้งยากและหนักอยู่แล้ว  การเอาภาระไปให้แบบหนักมากๆ  ระวังวันหนึ่งครูอาจารย์จะพากันหนีไปประกอบอาชีพอื่นกันหมด 

หมายเหตุ   บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนทำงานอยู่

หมายเลขบันทึก: 547967เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2013 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2013 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบข้อนี้มากๆๆ

โดนใจครับ

 ๘. ครูอาจารย์ต้องทำงานแทนเจ้าหน้าที่  เพราะจำนวนบุคคลากรที่ไม่เพียงพอ หรือเพียงพอแต่ไม่มีจิตใจให้บริการ   ทำให้ภาระการบริการนักเรียนนักศึกษาและงานจำนวนมาก  กลับไปอยู่ในความรับผิดชอบของครูอาจารย์  ท่านผู้บริหารการศึกษาคงไม่เข้าใจด้วยซ้ำไปว่า  พนักงานขายที่ดีในห้างสรรพสินค้าเขาก็จะไม่ยอมให้ไปทำหน้าที่ยกของ  หรือพ่อครัวฝีมือดี เขาก็จะไม่ยอมให้ไปทำหน้าที่ล้างจาน เพราะเป็นการเอาม้าไปใช้ไถนา

"แสงเรืองๆ ที่ส่งอประเทืองอยู่เมืองไทย...." บทเพลงกังวาลแว่วในยุคเก่าก่อนค่ะ

ครูไทยทำทุกเรื่อง "ยกเว้น เป็น ครูเพื่อศิษย์" ครับ

รับฟังอีกบันทึกครับ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท