นโยบายพัฒนาครูอาจารย์ - เกาไม่ถูกที่คัน


นโยบายพัฒนาครูอาจารย์ - เกาไม่ถูกที่คัน

อ.วิชัย กอสงวนมิตร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

(บทความนี้เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้กรุงเทพธุรกิจฉบับวันที่ ๒๗ มี.ค.๕๖ หน้า ๑๑)

            เป็นที่รู้ดีกันทั่วไปว่า การศึกษาสร้างคน และคนสร้างชาติ  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์ เพื่อให้เป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ที่มีคุณภาพไปพัฒนานักเรียนนักศึกษาต่อไป

                เรื่องสำคัญในการพัฒนาครูอาจารย์มีหลายด้านหลายมิติ  แต่เป็นที่สังเกตได้ชัดว่า  ผู้ที่กำหนดนโยบายการศึกษาของไทยได้เดินหลงทางเข้าป่ารกทึบมานาน  ซึ่งก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจแต่ประการใด  เพราะสังเกตมาตลอดว่า  ประเทศไทยเรานั้น "คนทำงานมักไม่มีโอกาสคิด  แต่คนที่คิดมักเป็นคนที่ไม่เคยทำ"

                สำหรับครูอาจารย์ที่กำลังตรากตรำพร่ำสอนลูกศิษย์อยู่ทุกวันนี้  ทุกคนรู้ดีว่าแม้ตัวเองจะสอนได้ดีและเก่งเพียงใด  แต่หากไม่มีผลงานวิจัยหรือผลงานเขียนวิชาการแล้ว  ก็จะไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการได้  จึงไม่เป็นการแปลกเลย   ที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยและครูในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ  ต้องแบ่งเวลาและให้ความสำคัญกับการทำวิจัย ไม่ว่าในชุมชน ในห้องเรียน ฯลฯ  ตลอดจนการเขียนตำราหรือบทความทางวิชาการ การไปเป็นวิทยากรภายนอก ฯลฯ  เพียงเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ในการขอตำแหน่งวิชาการ  อันจะนำไปสู่การปรับเงินเดือนและความก้าวหน้าในวิชาชีพ  หรือไม่ก็ต้องหาทางไปเรียนเพื่อให้ได้รับปริญญาที่สูงขึ้น  จนมีผู้ที่ลาไปศึกษาต่อมากมาย

                นี่คงเป็นกรรมของนักเรียนนักศึกษาไทย  ที่นอกจากต้องเรียนหนัก การบ้านเยอะแล้ว  ยังต้องมาเจอกับครูอาจารย์ที่ไม่สามารถทุ่มเทเวลาและจิตใจให้กับการสอนได้ เพราะต้องเสียเวลาไปมากมายกับงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานสอน จนกลายเป็นว่าครูดีในความคิดของกระทรวงศึกษาไทย  กับในความคิดของผู้เรียนตลอดจนประชาชนทั่วไป  น่าจะเป็นคนละคนกันอย่างสิ้นเชิง  ทุกวันนี้จึงกลายเป็นว่า ครูอาจารย์ที่สอนดี ทุ่มเทงานสอนเต็มที่  อาจจะไม่สามารถเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพครูได้อีกต่อไป

                ที่ผ่านมามีครูอาจารย์และนักการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่มองเห็นความผิดปกตินี้  เพียงแต่เสียงเรียกร้องให้แก้ไขนี้  ยังแผ่วเบาเกินกว่าที่จะไปหยุดทิฐิในความคิดของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการได้  ตราบจนถึงทุกวันนี้ครูอาจารย์ทุกคนที่อยากมีตำแหน่งวิชาการ  จึงไม่สามารถปฏิเสธการทำงานมากมายนอกจากงานสอน  (ที่ดูเหมือนจะเป็นหน้าที่ของครู  แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เพราะควรเป็นเพียงงานเสริม)   ท่านผู้บริหารการศึกษาไทยคงไม่เข้าใจว่า  หากจะจ้างพ่อครัวก็ควรต้องเลือกคนที่ทำอาหารอร่อย  แต่คงไม่จำเป็นต้องล้างจานหรือให้บริการลูกค้าเก่งด้วย  (เพราะงานเสริมสามารถจ้างคนมาทำเพิ่มต่างหากได้)  และที่น่าห่วงกว่านั้นคือ  ท่านอาจไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่า  ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่จะขายดี  สำคัญที่สุดคือการต้องหาพ่อครัวฝีมือดีมาให้ได้ก่อน

                ที่จริงแล้ว  การจะพัฒนาคุณภาพของครูอาจารย์ในการสอนนั้น  การทำวิจัยหรือการเขียนบทความและตำรา  เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยในการสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้ผู้สอนเท่านั้น  และมีบางคนอาจจะไม่ชอบทำด้วยซ้ำไป บ้างก็ปฏิเสธที่จะทำเพราะเห็นว่าจะทำให้ทุ่มเทงานสอนได้ไม่เต็มที่  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ครูอาจารย์เหล่านั้นกลายเป็นครูไม่ดีไปได้  เพราะหากคิดให้ลึกแล้ว  ครูอาจารย์ที่จะทำหน้าที่ได้ดี  จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาในมิติที่สำคัญกว่าอีกหลายด้าน  ที่ไม่ใช่การทำวิจัยและเขียนตำราด้วยซ้ำไป   เช่น

                ๑) ด้านความรู้  ครูควรมีความรู้ที่จำเป็นในการสอนและมีความรู้รอบตัวที่ดีด้วย  เพราะหากครูมีแต่ความรู้ที่สอนโดยไม่สนใจความรู้รอบตัว  แล้วจะไปบอกให้ลูกศิษย์สนใจโลกและสังคมได้หรือ ?

                ๒) ด้านเทคนิคการสอน  เพราะครูควรสามารถถ่ายทอดทั้งความรู้และแง่คิดแก่ผู้เรียน  ทำให้เรื่องที่ยากกลายเป็นเรื่องง่าย  และทำให้ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข หรืออยากเรียนรู้มากกว่าถูกบังคับให้เรียน

                ๓) ด้านประสบการณ์ในวิชาชีพ  หลายวิชาครูควรมีประสบการณ์จริงด้วย  เช่น วิชาด้านธุรกิจ การบริหาร  ช่าง แพทย์ ศิลปะ เกษตรกรรม  ฯลฯ  แม้กระทั่งวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  ครูก็ควรได้ทดลองหรือเห็นสถานที่จริงมาแล้วบ้าง  เพราะครูจะได้สอนให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้เป็น เข้าใจง่ายขึ้น  ตลอดจนทำให้สามารถสอนได้มีอรรถรส

                ๔) ด้านคุณธรรม เช่น  ความรักและห่วงใยศิษย์, ความสัมพันธ์กับชุมชน   เพื่อครูจะได้รับความร่วมมือจากผู้เรียนและชุมชนมากขึ้น  อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนเพื่อนำไปใช้จริง  แทนการเรียนเพื่อสอบ

                มิติทั้งสี่ด้านนี้  สำคัญกว่าสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการนำมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพและความสามารถครูอาจารย์อย่างมาก  แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจน้อย   งบพัฒนาอาจารย์ก้อนโตทุกวันนี้  จึงถูกกำหนดให้ใช้เพื่อทำงานวิจัยและเขียนตำรา  จนเต็มไปด้วยงานวิจัยที่ไม่ค่อยได้ประโยชน์และตำราที่เขียนซ้ำซ้อนกันมากมาย 

                เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและหลักคิดที่ผิดทางการศึกษาของไทย  จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมผลการวัดคุณภาพการศึกษาของไทยจึงมีแต่ย่ำแย่ลง  และแม้จะมีนักเรียนนักศึกษาเก่งๆ จำนวนหนึ่ง  แต่กลับหาผู้ที่สนใจและเสียสละเพื่อสังคมได้น้อยมาก  ก็เพราะกระทรวงศึกษากำลังเน้นสร้างแม่แบบที่ทำเพื่อตัวครู-อาจารย์เอง - ไม่ใช่ทำเพื่อลูกศิษย์  จากนโยบายพัฒนาคุณภาพครูอาจารย์แบบ "เกาไม่ถูกที่คัน"

 

หมายเหตุ   บทความนี้เป็นความคิดส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาที่ผู้เขียนทำงานอยู่

หมายเลขบันทึก: 547966เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2013 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2013 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บางท่านรู้ทุกเรื่อง ยกเว้น เรื่องที่ต้องรู้ว่า "ครูเพื่อศิษย์ ต้องทำอย่างไร ครับ"

เป็นความคิดส่วนตัวที่น่าสนใจ ผู้บริหารควรเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาให้ถูกกับจริตของบุคลากรที่มีความหลากหลาย (ความเชื่อ ทัศนคติ

ความรู้ความสามารถ ฯลฯ) 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท