การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๙. ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบที่ MSU



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้ ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนา บูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้ บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

          ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

          บันทึกตอนที่ ๑๙ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix C : Adninistrative and Campuswide Initiatives เรื่อง Integrated, Embedded, and Engaged : Promoting a Culture of Responsibility at MSU – Chautauqua / Dialogue เขียนโดย Stephen L. Esquith, Professor, Department of Philosophy, and Dean, Residential College in the Arts and Humanities at Michigan State University เล่าเรื่อง การจัดเสวนา เรื่องของสังคมในศตวรรษที่ ๒๑ ที่มีมุมมองจากทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในหมู่ นศ. และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท

          คนมหาวิทยาลัย มิชิแกนสเตท เรียกกิจกรรมนี้ว่า Chautauqua เป็นคำที่มีรากมาจากกิจกรรมในศตวรรษที่ ๑๙ ที่เชิญองค์ปาฐกด้านการศึกษา และศิลปิน ไปให้ความบันเทิงทั้งทางปัญญาและอารมณ์ แก่ครอบครัวที่ไปพักผ่อน ณ ชายหาด ของทะเลสาบ Chautauqua ตอนเหนือของรัฐ นิวยอร์ก และชื่อนี้ได้กลายเป็นวิสามานยนามของเวทีสาธารณะ ที่เป็นเวทีเปิด สำหรับถกเถียงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ที่เป็นจุดสนใจในขณะนั้น ด้วยมุมมองทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์ ดังคำอธิบายที่นี่

          มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ทดลองทำโครงการนี้เป็นโครงการ ๒ ปี ใน ๓ วิทยาลัยที่ นศ. อยู่ประจำในหอพัก โดยมี AAC&U ร่วมเป็นผู้สนับสนุน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างวัฒนธรรมรับผิดชอบต่อสาธารณะ ทั้งในระดับบุคคล ระดับสังคม และระดับสถาบัน

          ความรับผิดชอบต่อสังคม/สาธารณะ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นชุมชนวิชาการ คืออะไร มองได้หลายแง่มุม

          แง่มุมหนึ่งมองจากมุมของเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom) เสรีภาพต้องคู่กับความรับผิดชอบ รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ในประเทศประชาธิปไตยมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่พลเมืองทุกคน ต้องรู้ว่าการแสดงออกแบบไหน ในเรื่องอะไรเป็นสิ่งที่ควร/ไม่ควร ในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ทั้งอาจารย์และ นศ. ต้องเรียนรู้ว่า การแสดงออกเชิงเสรีภาพทางวิชาการของตนมีขอบเขตจำกัดอย่างไร เสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผู้มีการศึกษาทุกคนต้องเรียนรู้ข้อจำกัดของเสรีภาพ
เช่น นศ. และอาจารย์ พึงมีวิจารณญาณว่าสมควรนำเอาข้อความแบบไหนไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือใน social media ของตน โดยที่ประกาศตนว่าเป็น นศ. ของมหาวิทยาลัย ก

          เวทีเสวนา Chautauqua เป็นเวทีที่ทุกคนเท่าเทียมกันในการแสดงความเห็นที่แตกต่างหลากหลายโดยไม่มีข้อขัดแย้ง เป็นเวที่ที่ นศ. ผู้เยาว์ได้เรียนรู้จากสภาพจริง ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ความเท่าเทียมกันในการแสดงออกเป็นอย่างไร มิติของความรับผิดชอบต่อสังคมในการแสดงออกเป็นอย่างไร เป็นการเรียนรู้จากตัวอย่างของจริง ไม่ต้องสอน

          สิ่งที่ นศ. ได้เรียนรู้จากกระบวนการนี้ คือเทคนิค สุนทรียเสวนา/สานเสวนา (dialogue) ที่ผู้คนรับฟังกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน กับสาระในแต่ละประเด็นที่นำมาเสวนากัน โดยมีผู้นำเสวนาที่เป็นผู้ทำงานหรือมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้น จากหลากหลายบทบาทหรือมุมมอง แล้วหลังจากนั้น ทุกคนที่เข้าร่วมก็มีความเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ หรือเล่าประสบการณ์ของตน

          บทความนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดของการจัดเวทีเสวนา แต่มีข้อความที่แสดงว่าแต่ละหัวข้ออาจมีเวทีเสวนาหลายครั้ง สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ ๓ ชั่วโมง ตัวอย่างหัวข้อเช่น Sustainability and Human Rights; Race, Justice and Equity ในบางกรณีอาจมีการฉายภาพยนตร์ประกอบด้วย

          โครงการเสวนานี้ ค่อยๆ ฝังรากเป็นวัฒนธรรมองค์กร ในด้านสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และขยายตัวสู่การเรียนรู้ในหลักสูตรปกติ นำไปสู่ service learning, กิจกรรมภาคสนาม, หลักสูตรฝึกงาน (internship), หลักสูตรที่เชื่อมโยงกับหน้าที่พลเมือง, การไปเรียนรู้ในต่างประเทศ, หลักสูตรข้ามสถาบันที่มีการทำงานรับใช้ชุมชน, ฯลฯ

          ขบวนการ/วิธีการ Chautauqua ในศตวรรษที่ ๒๑ มีการดำเนินการหลากหลาย อ่านได้ ที่นี่

          ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว นึกถึงขบวนการนักศึกษาระหว่างปี ๒๕๑๔ - ๒๕๑๙ ที่มีกระบวนการกระตุ้นสำนึกสังคมของ นศ.

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.พ. ๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 546137เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 10:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท