จากเสือกลับใจถึงมิตรภาพมะนาวหวาน บันทึกเยาวชนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง


จากเสือกลับใจถึงมิตรภาพมะนาวหวาน
บันทึกเยาวชนละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง

เวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน เคยได้ยินมาว่างานศิลปะดีๆ สักชิ้นหนึ่งสามารถเปลี่ยนความคิดคนได้สามารถทำให้จิตใจที่เคยหยาบกระด้างแปรเปลี่ยนเป็นอ่อนโยน เช่นเดียวกับที่ทำให้ผู้ที่เคยอ่อนแอกลับมาเข้มแข็ง ละครดีๆ คงไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะเพราะภายใต้แก่นสาระที่เป็นเนื้อในจะมีคุณค่าภายนอกยังถูกฉาบไปด้วยความงามและเสียงหัวเราะแห่งความบันเทิงบันทึกต่อจากนี้จึงขอเล่าด้วยเรื่องราวชีวิตเยาวชนที่เปลี่ยนตัวเองภายหลังจากการทำกิจกรรม “ละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง” ที่แน่ว่านอกจากผลผลิตในงานจะร่วมจุดประกายเล็กๆให้กับสังคมแล้วตัวพวกเขาเองยังค้นพบจุดมุ่งหมายไปพร้อมๆพร้อมกัน

เป้ย spotlight
: เสือกลับใจ
หากกล่าวถึงอันธพาลแล้วผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองพวกเขาในแง่ลบแต่สำหรับ‘เป้ย เอราวัณ’ การเป็นอันธพาลไม่จำเป็นต้องเป็นคนชั่วร้ายเสมอไปเพราะในขณะที่เป้ยเป็นหัวหน้าแก๊งเด็กอันธพาล สังกัดกลุ่ม NDR ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่มอันธพาลที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่เป้ยก็ควบเอาบทบาทของเด็กกิจกรรมที่ช่วยสร้างสรรค์สังคมเข้าไว้ด้วยกันฉะนั้นเขาจึงมีบทบาทพิเศษที่ต้องทำควบคู่กันไป 
เป้ยต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองจนได้เป็นหัวหน้าแก๊งอันธพาลสายเอราวัณเขามีหน้าที่ดูแลลูกน้องและพรรคพวกในกลุ่มพื้นฐานนี้เองที่ทำให้เป้ยมีวิธีการคิดและการแสดงออกแตกต่างจากผู้ที่ทำกิจกรรมเพื่อสังคมทั่วๆไป การร่วมกิจกรรมกับโครงการละคร เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่เป้ยได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่ใน NDR ให้เข้าร่วมกิจกรรมการเล่นละครปีที่ 2 กับ ‘กลุ่มมะขามป้อม’ โดยที่ตัวเขาเองไม่เต็มใจนัก เป้ยดึงเอาน้องๆ จากแก๊งของตนเองมาจัดตั้งกลุ่มภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มแมลงสาป’ จนจับพลัดจับผลูทำให้เขาได้พบแนวทางการพัฒนาตนเองในเส้นทางสายใหม่ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน เมื่อโครงการดำเนินมาถึงปีที่ 3 กลุ่มแมลงสาปเปลี่ยนชื่อทีมถึงสองครั้ง จนมาลงตัวกับชื่อ ‘ฮานะกะ’ ที่ล้อเลียนกับภาษาคำเมืองแปลว่า “กูเนี่ยะ” รวมไปถึงการเปลี่ยนหน้าค่าตาของสมาชิกใหม่กว่า 20 คน เนื่องจากมีสมาชิกบางคนติดภารกิจส่วนตัว และบางส่วนที่มาเข้ากลุ่มด้วยความเกรงใจจึงต้องทำงานที่ไม่ถนัดเป็นเหตุให้แยกย้ายจากกันไปตามทิศทางของตัวเอง ดังนั้นกว่าจะมาเป็นกลุ่มก้อนนักละครของเป้ยอย่างที่เห็นกันในปัจจุบันจึงไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ การอบรมทำละครชุมชนกับกลุ่มคณะมะขามป้อมที่เชียงดาวเป็นเวลา 10 วันมีส่วนผลักดันให้เป้ยแปรเอาวิธีคิดที่เป็นนามธรรมให้มีความเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น จากเมื่อก่อนที่เป้ยเป็นคนช่างคิดแต่ไม่ได้ลงมือทำปัจจุบันเขาทั้งคิดและทำให้ปรากฏผลลัพธ์อย่างชัดเจนหลังกลับมาจากการอบรมเขาซักซ้อมน้องๆ ในแก๊งอาทิตย์ละ 2 วัน และนัดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ภายหลังมีสมาชิกค่อยๆ หายไปเพราะรู้สึกว่า “ละครไม่ใช่กิจกรรมของเด็กแก๊ง” จนเหลือลูกทีมที่เป็นตัวยืนเล่นละครตามเงื่อนไขของโครงการอยู่ 5 – 6 คน ความแตกต่างทางวิธีคิดของอดีตอันธพาลหนุ่มทำให้งานละครของเป้ยมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวประเด็นการเล่าเรื่องที่ต่างจากละครของกลุ่นอื่น 
เนื่องจากเนื้อหาขเป็นขบถต่อแนวคิดกระแสหลัก ด้วยการตั้งคำถามปรัชญาง่ายๆ ที่ทุกคนละเลยว่าด้วยเรื่องของพ่อแม่ที่ดูแลสั่งสอนลูกและพร่ำโทษดุด่าลูกว่าทำตัวไม่ดี แต่ไม่เคยตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตนเองได้ทำกับลูกเป้ยต้องการให้ผู้ชมโดยเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองได้ตระหนักว่าเด็กประพฤติตัวไม่ดีเพราะใครกันแน่ ผู้ใหญ่ที่ได้ชมจึงต้องหันมามองตัวเองและบุตรหลานที่เขาจับมือชี้ทางชีวิตให้อยู่ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่จึงไม่น่าแปลกใจที่พ่อแม่บางคนจูงลูกหนีไปทั้งที่ละครยังไม่จบ แต่คนที่ดูจนจบแล้วได้คิดก็มีไม่น้อยเช่นกัน
นอกจากการทำละครกับโครงการของมะขามป้อมแล้ว เป้ยยังได้สังเคราะห์เอาประโยชน์จากละครไปต่อยอดในการสมัครเป็นทูตความดีแห่งประเทศไทย(DAmbassador) ซึ่งเป็นโครงการที่ผสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนและองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาพัฒนาเยาวชน เป้ยเป็นตัวแทนฑูตความดี 1 ใน 2 คนจากภาคเหนือที่นำเอาละครที่เคยแสดงกับกลุ่มมะขามป้อมมาปรับโครงเรื่องเพื่อแสดงบนเวทีอีกครั้งจากการคัดเลือกรอบ 15 คน เป้ยผ่านเข้าไปรอบที่ลึกมากขึ้นเรื่อยๆ บทบาทจากละครที่เป้ยสร้างส่งผลให้เขาได้รับประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น กิจกรรมทูตความดีทำให้เป้ยได้จัดงานมหกรรม ‘ดูดีได้ด้วยความดี’ กิจกรรมภายในระยะเวลา 3 เดือนภายใต้โครงการนี้ เป้ยได้เป็นแกนนำสร้างสรรค์ภารกิจการนำเอาเด็กแก๊งและเด็กเรียนมาทำกิจกรรมร่วมกันผลสำเร็จที่สุดก็คือการผสานกันได้อย่างดีระหว่างเด็กแก๊งและเด็กเรียน ระหว่างวิธีคิดที่ลุ่มลึกของเด็กเรียนกับความกล้าแสดงออกของเด็กแก๊งและขณะที่เป้ยเป็นทูตความดีเขาก็ไม่ได้ละทิ้งเส้นทางการทำละครชุมชนเมื่อกลุ่มมะขามป้อมจัดกิจกรรมครั้งใหม่เป้ยก็นำน้องๆ สมาชิกใหม่จากที่รู้จักกันจากงานทูตทำความดีมาร่วมกิจกรรมในนามกลุ่ม ‘spotlight ranger’ โดยยิบยกเอาประเด็นเรื่อง ‘การคอรัปชั่น’ มาเล่าอย่างเข้มข้น ปัจจุบันเป้ยเป็นทั้งหัวหน้าแก๊งที่เป็นลูกพี่ของน้องๆ และเป็นนักทำกิจกรรมเพื่อสังคม จากที่เคยเป็นคนไม่ชอบการเล่นละครชอบอยู่กับความคิดของตัวเอง เป้ยออกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น ละครชุมชนทำให้เป้ยได้รับโอกาสที่เป็นทางเลือกใหม่ในการดำเนินชีวิต เขาได้ทดลองทำสิ่งที่คิดว่าดีเพื่อพัฒนาตัวเอง กลุ่มและสังคมที่เขาอยู่ให้ดีขึ้นจากจุดเริ่มต้นของการลงไม้ลงมือที่มีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเป้ยจะเคยเป็นอันธพาล แต่ก็เลือกจะเป็นอันธพาลหัวใจใหม่ได้
นอกจากจะเป็นเสือที่ดุร้ายในอดีตแล้ว เขาก็เลือกเป็นเสือที่ใจดีและทำประโยชน์สุขให้กับสังคมได้เช่นกัน

เอียด มีน 
มะนาวหวาน : คู่ซี้ร่วมสร้างปัญญา

การมีเพื่อนนั้นมีความหมายยิ่งถ้าเพื่อนที่มีอยู่ เป็นเพื่อนที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมเต็มศักยภาพของกันและกันเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของอีกคนให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อนที่ว่าก็จะยิ่งมีคุณค่าสำหรับชีวิต “เอียด” สิทธิพงษ์ สังข์เศรษฐ์ แกนนำนักละครจากกลุ่มมะนาวหวาน และ “มีน” ขวัญฤทัย ปานนุ้ย เจ้าของบท “เจ้าแม่” จากคณะละคร TSU. เป็น 2 หนุ่มสาวที่โคจรมาร่วมงานกันโดยไม่ได้วางแผนมาก่อนแต่กลับได้รับบทเรียนที่นำไปสู่การค้นพบเส้นทางเดินของตัวเอง “ตอนที่มีนมาช่วยก็รู้สึกดีนะ คิดว่าเติมเต็มซึ่งกัน เพราะเขามาสายการแสดง เรียนละครมาโดยตรงแต่เราเรียนพัฒนาชุมชน มันได้ทักษะด้านการเก็บข้อมูล ลงชุมชน มันช่วยกันได้” เมื่อเรียนจบเอียด พบว่าการทำงานออฟฟิศ ข้าราชการ หรือพนักงานบริษัทใหญ่ ไม่ใช่แนวทางที่เขาต้องการเป็น ขณะที่มีน เมื่อเรียนจบก็ตกงาน ก็ว่างเลยไปเล่นละครให้กลุ่มมะนาวหวาน จึงเริ่มค้นพบความต้องการของตนเองว่า อยากทำตรงนี้ต่อ ทั้งสองคนจึงทำงานร่วมกันตั้งแต่นั้นมาพวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2 ปี 3 ปี 3.5 และทำงานละครมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันแม้โครงการจะสิ้นสุดไปแล้วแต่พวกเขาก็ยังคงเป็นกลุ่มละครที่ทำงานละคร และอบรมเยาวชนทั่วพื้นที่ภาคใต้แล้วแต่จะมีใครชวนไปทำกิจกรรม ด้วยความสนใจที่จะอยู่กับงานที่รัก และพัฒนาบ้านเกิดรวมทั้งแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ในบ้าน ในชุมชนของพวกเขาเองผลงานของกลุ่มมะนาวหวานในโครงการ ประกอบด้วยละคร 3 เรื่องคือ “ทะเลสาบ”
อันหมายถึงทะเลสาบสงขลาเป็นละครเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่กำลังถูกทำลาย ตอนนั้นพวกเขาเลือกที่จะเล่าแบบการ์ตูน แนวสนุกสนาน “ปลากระป๋อง” คือพัฒนาการจากเรื่องทะเลสาบมาสู่การแสดงที่เข้มข้นขึ้นตั้งคำถามกับทรัพยากรสัตว์น้ำที่กำลังจะหมดลงและ “ครูย้อย” ละครสะท้อนภาพชีวิตชาวบ้านที่ต้องเจ็บปวดจากแนวคิดการพัฒนาชายฝั่งอ่าวไทยทั้งสองคนมองว่า ความเข้มข้นและจริงจังของเนื้อหาเรื่องครูย้อยกระทบใจ และชวนให้ผู้ชมได้คิดถึงสถานการณ์ปัจจุบันของวิถีชีวิต และชุมชนที่ตนเองอยู่ทั้งชุมชนรอบทะเลสาบ และชุมชนในภาคใต้ปัจจุบันมะนาวหวานเป็นกลุ่มละครที่ทำงานจริงจังในพื้นที่ยังคงทำละครเร่อย่างต่อเนื่อง โดยมีเครือข่ายทั้งที่เป็นกลุ่มละคร (ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมงานของมะขามป้อม) เช่น กลุ่มมานีมานะ และกลุ่มพัฒนาชุมชนที่ทำงานเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาเยาวชน ฯลฯ งานที่ทำมีทั้งกิจกรรมที่จัดตามความต้องการของเครือข่ายที่มักเป็นการอบรม หรือ work shop ให้เยาวชนและการแสดงเรื่องราวของชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลให้คนในชุมชนได้รับรู้ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวตามความต้องการของเครือข่าย นอกจากนี้พวกเขายังมีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องการทำงานละครอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคตมีนและเอียดให้ความเห็นสนับสนุนกันว่า การมี NODE ทำให้ทำงานง่ายขึ้นมีพื้นที่ทำงานสมบูรณ์ขึ้น เป็นการช่วยเหลือเติมเต็มและสนับสนุนกันและกันทั้งสองฝ่าย มีนพบว่า การได้เล่นละครเร่เป็นความสุขอย่างบอกไม่ถูก“เพื่อนหลายคนเครียดเราเห็นบทเรียน เราไม่มีเงินเดือน แต่เราอยู่ได้ เราโพสรูปไปเชียงใหม่บ้างอุตรดิตถ์บ้าง มันอิจฉาเรา เราไม่มีเงินแต่มีความสุข เพื่อมีเงินแต่ไม่มีความสุขเราก็คิดว่าเราเลือกถูกทางนะ” ขณะที่เอียดสรุปบทเรียนการทำงานในโครงการละคร จนกระทั่งค้นพบทางเดินของตัวเองเอาไว้อย่างน่าสนใจ “งานออฟฟิศมันอยู่ในกรอบ 8 โมงเช้า – 4 โมงเย็น ทำหน้าที่อะไรก็มีเจ้านายกดดันเจอคนเดิม ๆ รู้สึกว่าไม่ชอบเลย ทางนี้ แต่พอมาทำงานละคร มันเดินไปได้ ไม่หรูหรา แต่มันมีค่าต่อชีวิตของเรา ทางนี้แหละที่เราอยากอยู่ อยากเป็น”
และสำหรับพวกเขาเองแล้วทั้งสองคนรู้ว่าตัวเองเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมก่อนเข้าโครงการจนมาถึงวันนี้ พวกเขารู้ว่าแม้จะมีพัฒนาการในด้านละครมากขึ้นกว่าเดิม แต่การแสวงหาความรู้และประสบการณ์ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักการละครทุกคน

หมายเหตุ

ข้อมูลจาก "รวมบทความโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง ปี 3” สังเคราะห์ข้อมูลโดย อาจารย์ปรารถนา จันทรุพันธุ์
หัวหน้าโครงการสังเคราะห์ความรู้โครงการสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.)

หมายเลขบันทึก: 546130เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 08:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 09:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท