ทุกข์ของผู้บริหาร


แยกความแตกต่างระหว่างบุคคลของบุคลากรในโรงเรียนให้ออก อ่านให้ออกว่าเค้ามีความสามารถเฉพาะทางที่นอกเหนือจากการสอนหนังสือตรงไหน แล้วค่อยสนับสนุนให้ความสามารถของเขาเหล่านั้นโดดเด่นขึ้นมา แล้วจะพบว่า แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีความสามารถและมีศักยภาพ ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

          เมื่อคืน ดิฉันได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนคนหนึ่ง ในสมัยที่เรียนปริญญาโทด้วยกัน จากกันไปเกือบ 5 ปี เห็นจะได้  แต่ก็ไม่ได้หนีหายกันไปเลย  นานๆ ครั้งก็โทรศัพท์คุยกันที  ล่าสุดได้ข่าวว่าเพื่อนคนดังกล่าว สอบได้เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอแห่งหนึ่ง ในจังหวัดกำแพงเพชร

 

          เพื่อนโทรมาด้วยเสียงที่ฟังแล้ว ทำให้พอจะเดาอาการของคนพูดได้ว่า คงจะเหนื่อยล้าเต็มทน  หลังจากถามสารทุกข์สุกดิบกันแล้ว  ด้วยความสงสัยก็ถามไปว่า ทำไมน้ำเสียงถึงดูเนือยเหนื่อยหน่ายเหลือเกิน  เพื่อนตอบว่า คงจะเหนื่อยหน่ายจริงๆ เพราะตั้งแต่สอบได้มาเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียน  ผ่านมาเป็นปีแล้ว จนวันนี้ ก็ยังไม่เข้าที่เข้าทาง  ในฐานะที่เป็นเพื่อนที่อาวุโสกว่า (นิดนึง)  พอจะมีประสบการณ์เจอะเจอกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาในงานมาพอสมควร  ก็ได้แต่ปลอบพร้อมให้กำลังใจไปว่า เป็นธรรมดา ทำงานก็ต้องเจอปัญหาและอุปสรรค  ปัญหามีไว้ให้แก้ไข  ถ้าไม่มีปัญหา เค้าก็ไม่ต้องมีผู้บริหาร (เก่งๆ) อย่างเพื่อนหรอก  ไม่รู้ว่าจะช่วยเพื่อนให้หายจากอาการเหนื่อยหน่ายได้มากน้อยแค่ไหน หวังว่าเพื่อนคงจะปล่อยวางแล้วหาทางออกในปัญหาของตนเองได้บ้าง

 

          ดูจากสาเหตุปัญหาที่เพื่อนเล่ามาให้ฟัง  ทำให้ฉุกคิดได้ว่า ปัญหาในการทำงาน ส่วนใหญ่มักเกิดจากคนมากกว่างาน  เออนะ  ทำไมกับคนซึ่งคุยกันด้วยภาษาที่ไม่ยุ่งยากฟังแล้วเข้าใจ  ถึงได้สร้างปัญหาให้ผู้อื่นให้หนักอกหนักใจได้มากขนาดนี้  ต่างจากงาน ที่แม้จะหนักหนาสาหัสขนาดไหน ก็มีทางออกเสมอ  งานบางงานเหมือนจะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายถ้าทำไม่สำเร็จตามวัตถุประสงค์  แต่ก็ไม่เห็นจะสร้างปัญหาหนักหนาสาหัสขนาดนั้น  แต่กับคน แม้จะเป็นเรื่องน้อยนิด แค่พูดกันคนละเรื่อง ไม่เข้าใจตรงกันเท่านั้นเอง ก็เป็นเรื่องใหญ่ซะแล้ว

 

          หากจะให้ประเมินปัญหาของเพื่อน  คงสรุปได้ว่า  เพื่อนกำลังเผชิญกับปัญหา  ทะเลาะกับตัวเอง เสียมากกว่า  ลืมมองไปว่า คนเรามีความแตกต่างระหว่างบุคคล  ซึ่งจริงๆ เพื่อนไม่น่าลืมข้อนี้ เพราะจิตวิทยาการศึกษา ที่นักการศึกษาทุกคนรู้จักมักคุ้นกันดี  ในเรื่องของ ความแตกต่างระหว่างบุคคล  เป็นจิตวิทยาที่พวกเราที่เรียนทางการศึกษาต้องเรียนรู้เป็นทฤษฎีแรกๆ ของการเรียนรู้ศาสตร์ทางการศึกษา  ด้วยความที่เพื่อนเป็นคนที่เก่ง โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เรียนมาในเชิงลึกพอสมควร  ดังนั้นเมื่อได้บริหารงานโรงเรียน จึงคาดหวังว่า คนอื่น โดยเฉพาะผู้ใต้บังคับบัญชา น่าจะปฏิบัติได้เหมือนกับตนเอง   ต้องให้เพื่อนไปคิดเป็นการบ้านว่า  ลองแยกความแตกต่างระหว่างบุคคลของบุคลากรในโรงเรียนให้ออก  อ่านให้ออกว่าเค้ามีความสามารถเฉพาะทางที่นอกเหนือจากการสอนหนังสือตรงไหน  แล้วค่อยสนับสนุนให้ความสามารถของเขาเหล่านั้นโดดเด่นขึ้นมา   แล้วจะพบว่า แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีความสามารถและมีศักยภาพ ในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป  หากได้รับการสนับสนุนที่ดี  ความสามารถที่โดดเด่นของแต่ละบุคคลเหล่านั้น จะช่วยส่งเสริมให้กิจการงานของโรงเรียนดำเนินก้าวหน้าไปได้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้ 

           ไม่รู้ว่าเพื่อนจะนำแนวคิดเราไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน  แต่ที่ได้ผลแน่ๆ คือเพื่อนเริ่มมองออกแล้วว่า จะจัดการกับปัญหาในงาน โดยเฉพาะเรื่องบุคลากรของตนเองได้อย่างไร  ก็ภาวนาให้แนวคิดที่เพื่อนคิดจะทำนั้น ประสบผลสำเร็จ เพราะหากไม่ประสบความสำเร็จ  อาจส่งผลต่อกำลังใจของผู้บริหารคนหนึ่ง ที่มีความสามารถอย่างยิ่งต้องหดหายไป  ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คงจะเสียดายอย่างยิ่ง  วลีเปรียบเปรยที่ว่า   ยิ่งสูง ยิ่งหนาว  คงจะใช้ได้ดีในทุกยุคทุกสมัย  แม้จะรู้กันดี  แต่คนเราส่วนใหญ่ ก็ต้องการขึ้นไปอยู่บนที่สูง...ทั้งนั้น...         
หมายเลขบันทึก: 54134เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2006 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท