ต่างเป็นครูและผู้เรียนกันและกัน (๒) ระดมพลังปัญญาและสรรพวิชาของประเทศบนประเด็นเชิงพื้นที่


๑. มหาวิทยาลัยและภาคีทางวิชาการของสังคม
    ได้เรียนรู้ท้องถิ่นและภาพสะท้อนสังคมไทย สังคมโลก

รองอธิการบดีผู้ดูแลวิทยาเขต ผู้ช่วยศาสตราจารย์นคร เหมะได้ประมวลภาพสรุปให้ทั้งเวทีได้เห็นประวัติศาสตร์พัฒนาการนับแต่การเริ่มต้นกระทั่งปัจจุบัน และอาจารย์นายแพทย์ชัยพร ทองประเสริฐ อดีต สส ของอำนาจเจริญและผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ได้รับการอนุมัติการสนับสนุนหลายครั้งจาก ครม. ก็ได้นำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เห็นถึงความเป็นจังหวัดอำนาจเจริญและศักยภาพในการริเริ่มสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยของท้องถิ่นของจังหวัด ทำให้ทุกคนได้การรับรู้และมีข้อมูลพื้นฐานร่วมกัน พอที่จะยกระดับเข้าสู่การพูดคุยสิ่งที่ต้องการในอนาคตได้  

                                      

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะวาทิน อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวต้อนรับทุกคนเข้าสู่เวทีสัมมนาการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญที่จัดขึ้นในครั้งนี้ จากนั้น ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงนัยสำคัญของเวทีสัมมนาที่ดำเนินการขึ้นในครั้งนี้ของมหาวิทยาลัยหลายประการด้วยกัน ที่พอสรุปได้คือ ประการแรก ถือเป็นจังหวะก้าวที่มีความเป็นประวัติศาสตร์ของการมุ่งสู่การจัดการศึกษาขั้นสูงในอีกแนวทางหนึ่งของมหาวิทยาลัย ของคนอำนาจเจริญและภูมิภาค และของสังคมไทย ประการที่สอง มีองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบมากที่สุด โดยเฉพาะองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งเป็นผู้นำหลายสาขาผสมผสานกันครอบคลุมทุกระดับ เป็นที่ยอมรับแพร่หลายนับแต่ระดับโลก ระดับชาติ และระดับท้องถิ่นในภูมิภาค  

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ทั้งในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหิดลและพลเมืองอาวุโส และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พาณิชย์ นายกสภามหาวิทยาลัย ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงการมีความสำคัญต่อการนำไปสู่การสร้างความเป็นมหาวิทยาลัย ที่จะมีความเป็นการนำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายมิติโดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง อีกทั้งเครือข่ายจากภาคส่วนและระบบโครงสร้างสำคัญของจังหวัด ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด พลเมืองอาวุโสของจังหวัด และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนของจังหวัด ก็มาร่วมเสวนา นำเสนอให้เห็นถึงความเคลื่อนไหว การมีส่วนร่วม และความตื่นตัวดำเนินการทางด้านต่างๆ เพื่อร่วมเป็นเจ้าของและทำให้ทั้งจังหวัดเป็นมหาวิทยาลัย

โอกาสการมาพูดคุยพร้อมเพียงกันในลักษณะนี้ อีกทั้งกลุ่มผู้เข้าร่วมการสัมมนาแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นกลุ่มผู้นำชั้นยอดในสาขาของตนหลายสาขาของประเทศ ตลอดจนมีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาทุกระดับ และได้มาร่วมมือกันเพื่อแปรผลการดำเนินการต่างๆให้สะท้อนไปสู่การบังเกิดผลจริงพร้อมกันหลายด้านบนพื้นที่เดียวกันในชุมชนท้องถิ่นระดับจังหวัด ซึ่งจัดว่าเป็นจังหวัดนำร่องอันดับแรกๆของประเทศ เหล่านี้ 

นับว่าเป็นการจัดการด้วยวิธีการทางวิชาการให้ผู้คนเกิดประสบการณ์ต่อสังคม ในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลายกันได้ด้วยบรรยากาศแห่งสติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ยาก กระบวนการเวทีที่ดำเนินการขึ้นจึงบ่งชี้ให้ต้องตระหนักรู้ถึงความสำเร็จหลายประการ ที่ยากจะสามารถเตรียมปัจจัยและจัดวางองค์ประกอบที่ดีเพียงพออย่างนี้ ให้ดำเนินการขึ้นได้ในสถานการณ์อื่นๆ. 

(มีต่อตอน ๓) 

.........................................................................................................................................................................

Field note : ความหมายและนัยสำคัญของเวทีสัมมนาต่อสังคม
Case : เวทีสัมมนาแผนยุทธศาสตร์สร้างความเป็น'มหาวิทยาลัยวิจัยของท้องถิ่น' มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ 
Date : ๓๐ มิถุนายน - ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๖ 
Place : โรงแรมรอยัลเจมส์ จังหวัดนครปฐม 
Proponent and Implementator : มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ และจังหวัดอำนาจเจริญ
Conceptual Design and Process Facilitator : ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิรัตน์ คำศรีจันทร์ นักวิชาการอิสระ
Project Director : ผู้ช่วยศาสตราจารย์นคร เหมะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
Coordinator : ดร.จตุรงค์ จันทร์สี่ทิศ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ

หมายเลขบันทึก: 541298เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบพระคุณทุกท่านครับที่แวะเข้ามาเยือน ด.โอ๋-อโณ อาจารย์ Wasawat อาจารย์ ดร.พจนา และคุณอักขณิช ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท