นานๆ.... จะมีสักครั้ง




เมื่อมีผู้ให้  ย่อมมีผู้รับ


ภรรยาเพิ่งมาพูดให้ฟัง เรื่องเข้าพรรษา ว่าเดือนหน้าก็จะเข้าพรรษาแล้วนะ

จะต้องเตรียมตัวไว้เพื่อที่จะถือศิลแปดตลอดเข้าพรรษาสามเดือน

ผมก็เลยถามว่า อยากจะทำเองหรือเปล่า ไม่ต้องถือก็ได้  เพราะเธอก็ถือมาด้วยกันสองปีแล้ว

เธอตอบว่า ของดีอย่างนี้ ไม่ถือได้อย่างไร 

เธอเล่าเรื่องถือศิลแปดให้เพื่อนเธอฟังทางโทรศัพท์ว่า สามีถือศิลแปด เขาจะไปสวรรค์คนเดียว  เราก็ต้องตามขึ้นไป

จะทิ้งเธอไว้ในคนเดียวไม่ได้

ปีแรกเนื่องศิลไม่เสมอกัน ศรัทธาไม่เสมอ  ลำบากน่าดู

พอปีที่สอง เธอเห็นดีเห็นงาม ขอร่วมด้วย  เพราะอย่างไรๆ  เธอทำกับข้าวตอนเย็นก็ไม่มีใครจะกินร่วมด้วย

สามีก็ไม่ชวนออกไปกินอาหารเย็นข้างนอก  ไปงานแต่งงาน สามียอมไป แต่ไม่ทั้งกินทั้งดื่ม

ทั้งๆที่  เครื่องดื่มมีให้ดื่ม มีเหล้าให้กินฟรี ตลอดงาน ทั้งเหล้าทั้งเบียร์ 

มีเพื่อนสามีมาบอกว่า ถ้าผมเป็นคุณ ผมจะยอมยกเว้น สักวัน

แต่สามีไม่ยอม  


พอปีที่สามเธอเป็นคนขอให้ถือศิลแปดด้วยกันอีก  เป็นคนเริ่มต้นเอง  เพราะเริ่มเห็นอานิสงค์ของศิล

ข้าวเย็น ก็ไม่ต้องหุง ชามก็ไม่ต้องล้าง ไม่ต้องเหนื่อย เพราะต้องเสียเวลาทำกับข้าว

หนังละคร ทีวีแทบจะไม่ได้เปิดดู  เวลาว่างขึ้นมาฟรีๆ วันละสองสามชั่วโมง

เอาเวลาว่างไปออกกำลังกาย  ทำสมาธิภาวนาดีกว่า

เวลาเข้าพรรษาไปไหน  มีแต่คนบอกว่าดูดีขึ้น น้ำหนักลดลง

หน้าตาผ่องใส  ไปที่ไหนศิลก็คุ้มครอง  ไปพูดกับใครก็ไม่เกรงกลัว

เพราะศิลเรามากกว่า  คนไม่ถือศิล พอมาใกล้กับเรา  เขากลัวเราเอง พอเขารู้ว่าเราถือศิลแปดมีแต่อนุโมทนาสาธุ

พอมีศิล มีทาน  สมาธิภาวนาก็ตามมา

ไม่เสียที่ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ชาตินี้ครับ




ปล

ศิลห้าข้อก็รู้ๆกันแล้ว  แต่เปลียนข้อสามจาก กาเมสุมิจฉา  มาเป็น อะพรัหมะจะริยา

รายละเอียดของศีล ๘
๑ ปาณาติปาตา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฆ่าสัตว์)
๒ อะทินนาทานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้)
๓ อะพรัหมะจะริยา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการกระทำอันมิใช่พรหมจรรย์)
๔ มุสาวาทา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการพูดไม่จริง)
๕ สุราเมระยะ มัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการดื่มสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)
๖ วิกาละโภชนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล)
๗ นัจจะคีตะวาทิตะ วิสูกะทัสสะนะ มาลาคันธะวิเลปะนะ ธาระณะมัณฑะนะ -
    วิภูสะนัฏฐานา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการฟ้อนรำ การขับร้อง การดนตรี การดูการเล่น-
    -ที่เป็นข้าศึกต่อกุศล การทัดทรงสวมใส่ การประดับ การตกแต่งด้วยพวงมาลา
    -ด้วยกลิ่นหอม ด้วยเครื่องทา)
๘ อุจจาสะยะนะ มะหาสะยะนา เวระมณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
   (เจตนาเป็นเครื่องเว้นการนั่งนอนบนที่สูงและที่นอนใหญ่)

ไม่กินข้าวหลังเที่ยง
ไม่ร้องเพลงดูหนังทาแป้งน้ำหอมแต่งตัวจัดจ้าน
ไม่นอนที่นอนสูงใหญ่

แต่จริงๆแล้ว หลวงพ่อพระอาจารย์ปราโมทย์  ท่านบอกว่าไม่มันพอให้ถือ อินทรีย์สังวรศีล ดีกว่า ได้ปฏิบัติภาวนาไปด้วย  เมื่อเห็นก็ให้รู้ว่าเห็น  เมื่อได้ยินก็ให้รู้ว่าได้ยิน มีสติระลึกรู้ตลอด



ฝึกอินทรียสังวรตามรอยพระ


โดย ท่าน ก.เขาสวนหลวง




วันนี้ เป็นวันที่ครบกำหนดหนึ่งเดือนของการเข้าพรรษามา การประพฤติปฏิบัติที่ได้ทำมาตลอดเดือนหนึ่งนี้ ก็นับว่าเป็นประโยชน์ คือว่าทุกข์คนก็มีสติเป็นเครื่องควบคุมจิตใจเป็นส่วนมากแต่ว่าก็ต้องทำให้ ยิ่งขึ้นต่อไปอีก แล้วกรปฏิบัตินี้จะได้เป็นการปฏิบัติที่ดับทุกข์ดับกิเลสให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ต้องตั้งอกตั้งใจในการที่จะประพฤติปฏิบัติให้มีศีลทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจให้บริสุทธิ์ให้ครบถ้วนให้ได้ แล้วก็ต้องเจริญกรรมฐาน หรือวิปัสสนาภาวนาประกอบให้ครบว่าการเข้าอยู่อุโบสถนี้จะต้องทำให้บริสุทธิ์ ให้ดี เพราะว่าเรื่องศีลนอกเรากำหนดละตามในองค์ศีล 8 นั่นแล้ว ทีนี้เรื่องอินทรียสังวรศีลนี้เป็นศีลในหรือว่าเป็นศีลใจก็ได้ ต้องสำรวมใจให้มากเป็นพิเศษ สำรวมตา สำรวมหู สำรวมจมูก สำรวมลิ้น สำรวมกาย



ในองค์ศีล 8 ตั้งแต่ วิกาลโภชนา นัจจะคีตะนี่ก็เป็นเรื่องของอินทรียสังวรศีลตามธรรมดา เป็นการสำรวมในขั้นนอกแม้การสำรวมข้างนอกจะครบถ้วนตามในศีล 8 แล้วก็ตาม แต่ว่ายังไม่เพียงพอเพราะว่าต้องมีการสำรวมใจให้มีสติอยู่ทุกอิริยาบถแล้วก็ ตาเห็นรูป หูฟังเสียงนี่ต้องสำรวมเป็นพิเศษก็คือว่าตาเห็นรูป ไม่ได้ไปดูระบำเต้นรำอะไรหรอกแต่เมื่อตาเห็นรูป ไม่ได้ไปดูระบำเต้นรำอะไรหรอกแต่เมื่อตาเห็นรูปธรรมดานี้ต้องสำรวม เห็นรูปที่ดีก็อย่าไปยินดี เห็นรูปที่ชั่วก็อย่าไปยินร้าย คือว่า ต้องละความชอบไม่ชอบ ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น รส สัมผัสกาย และธรรมารมณ์ จิต้องสงบเป็นกลางวางเฉยในขณะที่กระทบผัสสะ



แล้วการสังวรนี้ก็ต้องมีสติวรที่จิต พอว่ามีสติเข้ามาสังวรที่จิตเท่านั้น ทางทวาร ทางตา ทางหูนี่ต้องสังวรหมด คือว่าสังวรตัวประธานตัวเดียว แล้วพวกทวารทั้งหมดก็ถูกสังวรไปด้วยกัน มีสติในการมอง การฟัง การได้กลิ่น การรู้รส การสัมผัสผิวกาย และการรับธรรมารมณ์ คืออารมณ์ที่ไปคิดไปปรุงขึ้นมาทางจิตใจนั่นเองต้องสังวรระวังด้วย ต้องพิจารณาปล่อยวางด้วย



อินทรียสังวรศีลนี้เป็นศีลใน แล้วศีนแปด สามองค์ข้างท้ายเป็นศีลนอก ศีลนอกนี้ก็บริสุทธิ์ตามส่วน แต่ว่าศีลในใจ ถือว่าไม่ปยินดียินร้ายต่อทวารทั้งห้า แล้วก็มารวมเป็นศีลกลาง ตาเห็นรูปใจก็เป็นกลาง หูฟังเสียงใจก็เป็นกลาง จมูกได้กลิ่นใจก็เป็นกลาง ลิ้นรู้รสใจก็เป็นกลาง สัมผัสผิวกายใจก็เป็นกลาง แล้วก็รับอารมณ์ใจก็เป็นกลางวางเฉยให้ครบถ้วนได้



อินทรียสังวรศีลนี่เป็นศีลละเอียด ต้องมีสติควบคุมจิตอยู่ทุกขณะไป ทีนี้จะทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ก็ต้องควบคุมอยู่ทุกอิริยาบถ การเปลี่ยนอิริยาบถก็ต้องทำให้เชื่องช้า อย่างว่าจะลุกขึ้นเดินไปจะเอาเร็วๆ จ้ำไปอย่างนี้ไม่ได้ ต้องค่อยๆ เดินหัดทำให้ดีเพราะว่าเป็นอิริยาบถของพระอริยเจ้าที่ท่านสมบูรณ์ด้วยสติ สัมปชัญญะ ในการเปลี่ยนอิริยาบถนี้ต้องหัด ฉะนั้นในวันอุโบสถนี้ขอให้ทดลองฝึกหัดตัวเองกันเป็นพิเศษ อยู่ในที่ที่ไม่คลุกคลี อยู่คนเดียวซึ่งจะหัดได้หลายๆ อย่าง หัดนั่งหัดนอนด้วยการมีสติ หัดเดิน ยืน ในอิริยาบถที่เชื่องช้าค่อยๆ ลุก ค่อยๆ ยืน ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ เอนกาย ต้องหัดให้เป็นอิริยาบถของพระจริงๆ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็ทำไปตามความเคยชินซึ่งมีอยู่ด้วยกันทุกคน



และอีกประการหนึ่งคือการหัดอย่างนี้ เราต้องเอาสติคุมจิต รู้จิต จิตรู้จิตแล้วยืนขึ้นขณะที่นั่งก็ควบคุมจิตพิจารณาจิตหลักนี้ใช้ได้รอบข้าง ทั้งเดิน ทั้งนั่ง และยืนขึ้น ทีนี้อิริยาบถยืนนี้ ถ้ามันง่วงนอนมากๆ เราก็ยืนทำความสงบก็ได้ ทดลองดูประมาณสักครึ่งชั่วโมงก่อนก็ได้ นั่งสักชั่วโมงหนึ่งแล้วตอนนี้เปลี่ยนอิริยาบถมาเป็นยืน ยืนครึ่งชั่วโมงนี้จะต้องทำสมาธิได้แนบแน่น เพราะว่าการนั่งบางทีจะเผลอจะวิบวับอะไรไป แต่การยืนนี้ต้องคุณสติเต็มที่อยู่ตลอดครึ่งชั่วโมงนะ เสร็จแล้วก็ค่อยๆ ก้าวไป ก้าวหนึ่ง จิตก็กำหนดรู้จิตเป็นปกติเป็นกลางก็ได้ หรือว่ารู้จิตพิจารณาจิต ก้าวหนึ่ง ก้าวที่สองก็ต้องทำให้ละเอียด



การก้าวไปโดยที่จิตยังไม่กำหนดรู้จิตนี้ยังใช้ไม่ได้ ต้องกำหนดรู้จิต ก้าวไปทีละก้าวแต่ว่าถ้าหลับตาได้ก็จะดี เพราะว่าการฝึกสมาธิหรืออินทรียสังวรในขณะที่ยืน นั่ง เดิน จะทำในสามอิริยาบถนี้ให้ได้ก่อน คือว่ามีสติควบคุมจิต รู้จิตอยู่เป็นประจำ แล้วก็ฝึกการยืนตลอดครึ่งชั่วโมงหรือว่าจะเดินครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่ง ก็สุดแท้แต่จะสะดวก ต้องเดินให้ได้อย่างนี้ ทำจังหวะว่าก้าวไปก้าวหนึ่งต้องหยุดอย่าเพิ่งไปก้าวเร็ว ก้าวที่หนึ่งแล้วอย่าเพิ่งก้าวที่สองไป ก้าวที่หนึ่งแล้วก็หยุดกำหนดจิตในจิต พิจารณาจิต ค่อยๆ ก้าวไปอีกก้าวหนึ่งแล้วก็กำหนดรู้จิตในจิตแล้วก็ก้าวไปอีก ควบกับลมหายใจบ้างก็ได้



ต้องหัดให้อิริยาบถที่ช้า กำหนดจิตทุกลมหายใจเข้าออกให้ได้ ถ้าว่าหัดไปนานๆ เข้าแล้วอิริยาบถทั้งสี่นี้จะมีสติสัมปชัญญะได้ แต่ว่าต้องหัดอยู่คนเดียว แล้วก็ตาหูนี้ต้องฝึกสำรวมหมดเพราะว่าอินทรียสังวรต้องทำอย่างนี้ไปก่อน



การทำขั้นละเอียดจะไปหยิบไปฉวยอะไรต้องกำหนดรู้จิตแล้วจึงไปหยิบ นี่จะไปพิจารณาจิตอยู่ตลอดเวลา



ทีนี้ถ้าว่าเป็นการฝึกได้ในสามอิริยาบถทดลองดู แล้วทีนี้เวลานอน การที่จะเอนกายลงไป ก็ต้องกำหนดรู้จิต พิจารณาจิตกำหนดรอบรู้จิต ค่อยๆ เอนกายลงไป แล้วป้องกันไม่ให้เอาความสาบในการอนอนเกิดขึ้น เพราะการนอนเป็นการพักเฉยๆ คือว่าตามธรรมดาปกติแล้วมันชอบนอนลงไปแล้วมันสงบอะไรเหล่านี้ นอนแบบนี้ไม่ได้ต้องกำหนดรู้จิตประกอบกับการที่จะเอนกายลงไปนอนโดยที่ไม่ให้ เผลอในขณะที่เอนกายลงไป ถ้าเผลอก็ลุกขึ้นมาแล้วกำหนดใหม่ว่าจะเอนกายอย่างไรจึงจะ นอนด้วยการมีสติ พร้อมกับการเอนกายลง



ข้อนี้ต้องทดลองหัดกันดูให้ดีๆ ถ้าว่าเอนกายแล้ววางมือวางเท้าให้พอดีว่ามือเท้าวางเอาไว้ให้ได้ระเบียบ ไม่กางมือกางเท้า การนอนอย่างนั้นไม่ใช่เป็นการนอนด้วยการมีสติ เพราะการนอนมีสติ มือ เท้า จะถูกสำรวมหมด อยู่ใรระดับที่วางเอาไว้พอดีๆ ท่านถึงได้เปรียบเหมือนกับการนอนของพระยาราชสีห์ เรียกว่าสัหไนยาสน์ตามแบบพระ การนอนอย่างพระยาราชสีห์ คือถ้านอนวางมือวางเท้าและวางหางเอาไว้อย่างไร พอตื่นขึ้นก็ต้องตรวจอวัยวะของตัวก่อนว่ามือ เท้าหาง หัวที่วางเอาไว้เมื่อก่อนนอนอย่างไร ตื่นขึ้นมาก็ตรวจอวัยวะของตัว ถ้ามือวางพลาดไปจากที่เดิม หางไม่อยู่ที่เดิม แล้วพระยาราชสีห์จะต้องนอนใหม่ยังไม่ลุกไปหาอาหาร นอนใหม่ ทำท่าให้ดีใหม่ แล้วจึงจะลุกไปทำกิจการงานได้



นี่ถ้าถืออินทรียสังวรให้ประณีต เป็นการอบรมตามแบบของพระอริยเจ้าแล้วจะมีอานิสงส์ใหญ่ ควรฝึกเสียในวันอุโบสถนี้ สำหรับผู้ที่มาจากบ้านเรือนก็ควรฝึกทีเดียว แล้วสำหรับคนอยู่วัดก็ฝึกได้เพราะอยู่ประจำ นอกจากจะขี้เกียจเท่านั้นเองถ้าว่าขยันฝึกอบรมจิตภาวนามีสติสัมปชัญญะให้ ทั่วถึง ฝึกเป็นพิเศษแล้วจึงจะรู้ว่าอิริยาบถของพระนั้นเรียบร้อยไปเสียทั้งนั้นเลย ตาก็เรียบร้อย หูก็ไม่เอาเรื่องอะไรมาฟัง แล้วทุกอย่างหมดทั้งเนื้อทั้งตัวนี้ตามที่ในทำวัตรเย็นบอกว่า มีกายและจิตเป็นที่อาศัยอยู่แห่งธรรมศีลเป็นตันอันบวร ต้องรู้เสียว่าการทำอิริยาบถทั้งหลายของพระ ยืน เดิน นั่ง นอน ที่ประกอบไปด้วยการมีสตินี้จิตใจไม่วอกแวกไม่วุ่นวายอะไรเลย



ทีนี้การฝึกของเราคงจะยากสักหน่อยเพราะว่ามันเป็นความเคยชิน นึกจะลุกก็ลุกไป นึกจะเดินก็เดินไป ไม่ได้ระเบียบถึงจะมีสติอยู่บ้างก็ไม่ละเอียดเหมือนพระ เราต้องฝึกในขั้นละเอียด ไปหยิบไปฉวยอะไรต้องมีการกำหนดรู้จิตอยู่ ใช้ได้หมดในการหยิบอะไร วางอะไร หรือว่าอาบน้ำ บริโภคอาหาร หุ่งห่มอะไรเหล่านี้ ในอิริยาบถของพระท่านต้องรู้ทุกอิริยาบถ แม้กระทั่งว่าจะนุ่งห่มจีวรก็ต้องพิจารณาก่อน ในปฏิสังขรโยก็บอกไว้แล้ว ทีนี้เราจะต้องเดินตามรอยของพระ เราก็ต้องหัดการหัดเป็นกุศลอย่างสูงทีเดียว



ไม่หัดทำแล้วไม่รู้เรื่องหรอก แล้วก็การหัดนี้ต้องปลูกฉันทะ คือความพอใจในการที่จะทดลองปฏิบัติตามรอยของพระอริยเจ้า แล้วก็ต้องเพียรรู้จิตประคับประคองจิตด้วย สติปัญญาก็คอยระมัดระวังเอาไว้ไม่ให้มีการเผลอเพลินไป ควบคุมกาย วาจา จิตใจ ควบคุมสัมผัสทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ หมดทุกประตู ปิดช่องรั่งที่กิเลสจะเข้ามา มันจะได้เข้ามายาก เพราะมีนายประตูปิดไว้คือสติกับปัญญาที่เป็นนายประตูเป็นยามเฝ้าประตู ข้างนอกก็งดเง้นเวรมณีแล้วมีศีลทั้งข้างนอก และข้างในแล้วก็มีศีลกลางอีก การฝึกอย่างนี้เป็นการฝึกได้ ทดลองดู ถ้าใครฝึกได้รายละเอียดก็ขอร้องว่าให้มีการบันทึกเอามาอ่านในวัน บอกบริสุทธิ์เป็นการกุศล สำหรับตัวเองก็จะได้เกิดสติปัญญา เมื่อทำได้เป็นตัวอย่างที่ดีแล้วก็จะให้ผู้อื่นทดลองทำบ้าง



การทำอย่างนี้มันจะต้องรู้ของตัวเองได้คือว่าจิตจะต้องอยู่กับสติปัญญาตลอด ทีเดียว ไม่ไปรุงไปคิดอะไรเพราะว่ามันสำรวมหมดแล้วที่จะงดเว้นอะไรตามที่สมทานไปนี้ ก็ตั้งจิตงดเว้นหมดครบถ้วนทั้งแปดองค์แล้ว ทีนี้ก็มาหัดสำรวมให้เรียบร้อยให้ได้ เพราะว่ามันน่าทำจริงๆ ถ้าว่าทำได้แล้วก็จะรู้ว่ามีอนิสงส์ใหญ่อย่างไรในการที่จะพ้นจากทุกข์โทษของ กิเลส



เราทำได้ไม่เหลือวิสัย แต่ว่าต้องเพียรเท่านั้น อย่าไปขี้เกียจก็แล้วกัน ขยันหมั่นเพียรเถอะ ทำได้ทุกคน คนเฒ่า คนสาว ก็ทำได้ แต่ว่าต้องทำให้ดี ทำให้ติดต่อ อย่าไปเอาแต่ความเร็วๆ ตามที่ตัณหาเร่ง ต้องเอาสติกับปัญญามาคุมเอาไว้คอยละตัณหาไว้ มันจะอยากให้ทำอะไรตามความต้องการก็ต้องหยุด จะต้องทำตามอย่างของพระอริยเจ้า การทำตามประสาคนนี้มันลุกลี้ลุกลน แล้วก็เที่ยววิ่งไป เอาอะไรต่ออะไรเพลิดเพลินไป ต้องหยุด แล้วฝึกไปทุกวันๆ ทุกเวลา หลับแล้วก็แล้วไปตื่นขึ้นมาก็รู้ทีเดียว เป็นกิจที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้เเพราะยังไม่จบกิจเป็นพระอรหันต์ กิจที่จะทำนี้เป็นกิจที่จะต้องละกิเลสรู้ทุกข์โทษของกิเลส แล้วก็ต้องปฏิบัติด้วยความไม่ประมาทถึงจะดับทุกข์ดับกิเลสของตัวเองให้ก้าว หน้าทุกวันทุกเวลาได้



ทีนี้การประพฤติปกิบัติอย่างนี้ที่ได้บอกให้ทุกคนทราบแล้วนะ ก็ขอให้พยายามทำจริง ทำให้เห็นและให้ได้ จะเป็นการฝึกให้มีสติสัมปชัญญะที่ละเอียดยิ่งขึ้นก็ได้ แล้วจิตนี่จะได้สงบไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะผัสสะที่กระทบข้างใน จะเป็นความจำความคิดอะไรแส่ส่ายไปไหนต้องหยุด เพราะว่าพอจับรู้จิตใจจิตพิจารณาจิตในจิตเท่านั้น ทั้งข้างนอกข้างในเรื่องผัสสะต้องหยุดหมด เว้นแต่ว่าจะมีการเผลอออกไปบ้างระยะสั้นๆ อย่าให้เผลอเพลินไปในระยะยาวก็แล้วกัน ให้เป็นแต่เพียงสั้นๆ แวบออกไปแล้วกลับมารู้จิตใหม่ แวบออกไปทางหูหรือทางอะไรก็กลับมารู้จิตใหม่ซ้ำๆ เอาไว้



แล้วก็ฝึกดูว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งเราจะพักผ่อนนอนหลับสักกี่ชั่วโมง แล้วการตื่นอยู่ด้วยการมีสติควบคุมจิตอยู่ทุกอิริยาบถที่ยืน เดิน นั่ง นอน มันจะได้เป็นการเปิดประตูทั้งข้างนอกข้างใน เพราะกิเลสมันเกิดที่ประตู ตา หูที่ไม่ได้มีสติเป็นเครื่องรู้อยู่ ทีนี้มันถูกปิดหมดเลย พอสำรวมใจแล้ว ตาก็ถูกปิดไม่ไปเที่ยวมองหาเรื่องเพ่งเล็งดีชั่วอะไร ทดลองทำให้ได้ผลประโยชน์แล้วจะรู้ว่าวันหนึ่งคืนหนึ่งสำหรับคนอยู่วัดก็จะทำ ได้ติดต่อ วันนี้ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ วันหนึ่ง สอง สามอะไรเรื่อยไปทีเดียว



ถ้าทำได้ในเรื่องนี้ คือเรื่องการเข้าพรรษาหรือเข้าอยู่สงบสามเดือน เดือนแรกก็เป็นเดือนทดลองนิดๆ หน่อยๆ ต่อมาเดือนที่สองนี้เอาให้เต็มที่ แล้วเดือนที่สามบางทีอาจจะบรรลุมรรค ผล ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้ เหมือนกับสมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ประกาศให้พระเถระอบรมภิกษุนวกะที่บวชใหม่ แล้วก็แยกกับไปหมู่ละสิบองค์บ้าง ยี่สิบองค์บ้าง สามสิบองค์บ้าง แล้วพระพุทธองค์ก็ให้สัญญาว่าออกพรรษาแล้วจะไปคอยอยู่ที่จังหวัดใดจังหวัด หนึ่ง ทีนี้พระภิกษุบวชใหม่เมื่อถูกพระเถระเจ้าทั้งหลายเอาใจใส่อบรมตลอดเวลาทั้ง กลางวันกลางคืนตลอดพรรษาแล้ว พอออกพรรษาพระภิกษุบวชใหม่ก็บรรลุธรรมในขั้นต้น เป็นพระสุปฏิปันโนพระโสดาบัน ขั้นสูงก็เป็นพระอรหันต์ ทีนี้พอออกพรรษาแล้วก็ไปประชุมตามที่พระพุทธเจ้านัดเอาไว้ให้ไปพบ เมื่อไปพบพร้อมกันพระภิกษุนวกะบรรลุมรรคผลหมดเลยก็ไปนั่งแวดล้อมพระพุทธองค์ ทีนี้พระพุทธองค์ก็ทอดพระเนตรพระภิกษุที่บวชใหม่ ถ้าจะเปรียบก็คล้ายๆ กับว่าดอกบัวได้บานสะพรั่งไปหมดไม่ว่าจำนวนเท่าไรๆ เป็นอันว่าจิตใจบานสะพรั่งพ้นจากอำนาจของกิเลสไปตามสมควรแล้ว แล้วพระพุทธองค์ก็ได้ทรงเปล่งพระวาจาว่าภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ไปเหลวไหลเลย



ทีนี้เราต้องพยายามตามรอยพระอริยเจ้าให้ได้ พยายามอบรมกันให้ดีในพรรษานี้ และใจเดือนที่สองนี้ต้องทำให้ประณีตยิ่งขึ้นทีเดียว แล้วข้อปฏิบัติจึงจะเจริญก้าวหน้าไป ถ้าว่าเราทำโลเลๆ อย่างนี้มันยังเป็นการไม่บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นต้องทำให้จริงให้รู้ให้เห็นจิตใจจริงๆ แล้วจะรู้สึกตัวเองว่าได้เปลี่ยนเอาความเหลวไหลโลเลอะไรตามกิเลสตัณหาออกไป อดทนต่อสู้ปิดประตูดูข้างใน



เหมือนกับพระภิกษุสามรูปจำพรรษาอยู่ พอออกพรรษาแล้วท่านก็มาถามกันว่า เธอทำอย่างไรตลอดสามเดือน องค์ที่หนึ่งก็บอกว่า กระผมควบคุมจิตไม่ให้ออกไปนอกเขตวัดเลยตลอดสามเดือน องค์ที่สองบอกว่า ผมก็ควบคุมจิตไม่ให้ออกนอกกุฏิเลยตลอดสามเดือน แล้วองค์ที่สามก็บอกว่า ผมก็ควบคุมจิตไม่ให้ออกนอกขันธ์ห้าเลย เสียงพระคุณเจ้าสององค์แรกสาธุองค์ที่สามที่ว่าไม่ให้จิตออกนอกขันธ์ห้าเลย ข้อนี้เราจะต้องทำกันให้ได้เพราะว่าการพิจารณาจิตในจิตอยู่เป็นประจำนี้ มันอยู่ข้างในแล้วไม่ออกนอกขันธ์ห้า แล้วพร้อมกันนั้นก็ได้พิจารณาขันธ์ห้าโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วย มีผัสสะอะไรก็พิจารณาให้เห็นเป็นความว่างจากตัวตน ว่างจากตัวตนไม่ไปยึดถือ ไปหมายดี ชั่วอะไรพยายามพิจารณาปล่อยวางไป ถ้าผัสสะมันว่าง ไม่เข้าไปหมายดีหมายชั่วแล้ว จิตก็ว่าง ไม่มีอะไรเข้ามายึดถือ



เราต้องให้ได้รับผลประโยชน์ในทางจิตทั้งนั้น เพราะว่ามันเป็นทางๆ เดียวที่จะออกไปจากทุกข์โทษสารพัดอย่างต้องควบคุมอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ แล้วจึงจะละได้ และจะรู้ได้ด้วยตนเองว่าการปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรมวินัยของพระศาสดาสัมมา สัมพุทธเจ้านี้มีคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ขณะนี้ยังทำได้ให้รีบทำ สิ่งที่ยังไม่ถึงก็จะได้ถึง สิ่งที่ยังไม่รู้แจ้งก็จะได้รู้แจ้งทำให้สม่ำเสมอให้ตลอดไป การเกิดมามันไม่ได้ประสงค์อะไรแล้ว จะประพฤติให้บริสุทธิ์ครบถ้วน แล้วมรรค ผล นิพพาน จะมีขึ้นเอง



ถ้าไม่ทำแล้วไม่พบนิพพาน เหมือนอย่างกับเรานอนเสียขี้เกียจก็ไม่รู้อะไร ทีนี้การตื่นจะต้องอดทนต่อสู้กับนิวรณ์ ความง่วง ฟุ้งซ่าน ความไม่พอใจ พอใจอะไรก็ยังดีกว่าการนอนมากเกินไป การนอนเป็นการพักผ่อน แต่ว่าการตื่นอยู่เช่นการถือเนสัชชิก คืองดการนอนตลอดคืนยังรุ่ง ไม่ได้ทำมานานแล้วเพราะว่าบางคนร่างกายไม่สู้สมประกอบ ก็เพียงแต่ทดลองอะไรในระยะที่พอจะทำได้มีการพักผ่อนบ้างตามสมควร แต่ถ้ามีกำลังแล้ว ก็ควรจะทำ เพราะเนสัชชิกนี้ เป็นการเฝ้าคนไข้ คือว่าอวิชชา กิเลส ตัณหา ที่มีอยู่ด้วยกันทุกคน แต่ถ้าไม่ได้ทดลอง ไม่ได้ฝึกหัดทำแล้ว ก็นอนเป็นนอนตายไป จะเอาสบายในการนอน นอนเท่าไรก็ไม่พอจะกินจะนอนมากๆ แล้วอย่างนี้ก็เห็นหมูไม่รู้อะไรหรอก



พระท่านไม่ได้เอาแต่การกินการนอนมาบำรุงบำเรอตัว เพราะว่ามันอยู่ในความไม่เที่ยง อยู่ในความเป็นทุกข์จะต้องพิจารณาให้เห็นว่ารูปนามขันธ์ห้านี้ ไม่ใช่เป็นตัวเรา ไม่ใช่ของของเราไม่มีแก่นสาร ต้องย้ำแล้วย้ำอีกให้มากๆ ว่าทุกข์โทษของกิเลสตัณหา อุปาทานทุกชนิด จะต้องค้นคว้าให้รอบรู้เราจะต้องทำให้เป็นพิเศษในพรรษานี้ ถ้าทำได้พร้อมเพรียงกันจะเป็นการดีที่สุด



ทีนี้สำหรับการจะปรารภทำความเพียรในวันธรรมดาก็เอาครึ่งคืนก็ได้ ผ่อนลงมา เพราะว่าจะได้มีการพักกายสำหรับคนที่ร่างกายไม่ปกติ แต่ถ้าจะทำรวมหมู่กันจะต้องพยายามให้เต็มความสามารถ เพราะก็ว่าอยู่แล้วว่า "ยะถาสติ ยะถาพลัง มนสิกโรมะ" บอกอยู่กับตัวเองทุกวันๆ แล้ว ก็ต้องทำให้เต็มสติกำลัง คำพูดของตัวเองจะได้เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่พูดว่าไปตามตัวหนังสือตามบทพยัญชนะ แต่ต้องเอามาประพฤติปฏิบัติในการกำหนดให้รูปอุปทานขันธ์ทั้งห้า นี่ก็บอกอยู่แล้วว่าเพื่อให้สาวกกำหนดรอบรู้อุปาทานขันธ์เหล่านี้เอง แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้ากำหนดกันหรือเปล่าว่าอุปาทาน ขันธ์ห้าเป็นอย่างไร ถ้ารู้แล้วก็ต้องรู้เรื่องควาเมป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตา



ทีนี้ก็ต้องกำหนดอยู่ในเรื่องความเป็นอนิจจัง ทุกขังอนัตตาอย่างนี้ก็เรียกว่าได้ทำการกำหนดพิจารณาโดยความไม่เที่ยงเป็น ทุกข์ เป็นอนัตตา นี้เป็นพหุลานุสาสนี คือ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากในเรื่องไตรลักษณ์ เพราะว่ามันเป็นการที่จะอ่านภายในตัวเองได้โดยไม่เกี่ยวกับข้อความอะไรมาก มายนี่มันง่าย



การฝึกให้ดูจิตพิจารณาจิตให้ปล่อยวางอะไร หรือเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนนี้ก็ทำอยู่แล้ว ทีนี้ทำให้มันละเอียดเข้า ให้มันรู้จริงๆ ขึ้นมา แล้วข้อปฏิบัติจะได้มีการเจริญก้าวหน้าไป พวกกิเลสตัณหา อุปาทานจะได้หมดกำลังไปทุกที ขอให้ผู้ปฏิบัติจงพยายามอบรมข้อปฏิบัติให้เกิดความรู้ของตัวเองจริงๆ ในการที่จะฝึกจิตภาวนา และในการที่จะต้องใช้ความรอบรู้อะไรเป็นพิเศษ ความรู้พิเศษที่เราอบรมมานี้จะต้องมีแน่นอน เพราะว่าในระยะเจ็ดวัน เอาตั้งแต่วันนี้ไป ฝึกๆ ไปอย่างนี้ พอครบเจ็ดวันก็มาสอบกันเสียทีหนึ่ง



ทีนี้จะต้องสอบให้ถี่หน่อย ข้อปฏิบัติที่จะรวบรัดเอามาประพฤติปฏิบัติประจำวันจะต้องให้เข้มงวดในศีล สมาธิ และปัญญา แล้วก็ต้องชักชวนกันทำ อย่าเถลไถลไป อย่าขี้เกียจ เพราะมันเป็นความพ้นทุกข์ของเราจริงๆ สิ่งไหนที่ยากต้องเพียรทำให้ได้ ถ้าเห็นว่ายากแล้วจะไม่ทำมันก็เลยแย่ โง่ดักดานอยู่อย่างนั้นต้องเพียร เพียร เพียร เพียร ถ้าพยายามกันจริงๆ พร้อมเพรียง ประพฤติปฏิบัติกันจริงๆ แล้ว ก็มีกำลังใจ คือ ว่ากำลังใจของการมีสามัคคีธรรมมันดีเยี่ยม เพราะว่าบางทีจะไปทำคนเดียวก็ง่วงๆ เหงาๆ มันไม่สนุก ก็ลองมาทำกันหลายๆ คนดูบ้าง ลองมารวมกันดูเพราะว่าการร่วมจิตร่วมใจร่วมกันกระทำความเพรียรนี้มันเป็น เครื่องส่งเสริมกันอยู่ในตัว เช่นการนั่งทำความสงบ ถ้าไปนั่งคนเดียว ประเดี๋ยวก็จะนอนเสียแล้วถ้านั่งอยู่ในหมู่แล้วไม่ได้ ต้องให้ครบชั่วโมง ถ้าไม่ครบชั่วโมงจะไปเลิกก่อนไม่ได้ การกระทำกรรมฐานหมู่มันบังคับดีอย่างนี้



แต่อีกขั้นหนึ่งนั้น พอเราจะนั่งไปอีกสักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมงหนึ่งมันต้องมาเลิกเสียแล้ว บางคนอาจจะชอบไปทำคนเดียวเพราะว่ามันอยู่ไปได้นานๆ การทำกรรมฐานหมู่ดีอยู่ขั้นหนึ่ง แต่ถ้าไปทำคนเดียวอีกขั้นหนึ่งมันได้ระยะของการฝึกจิตที่ละเอียดว่า เราก็เลือกทำให้เหมาะสม มันควรจะหมู่ก็หมู่ ถ้าควรจะเดี่ยวก็เดี่ยว ต้องพยายามอยู่ทุกอิริยาบถให้ได้ถึงจะรู้ว่าอิริยาบถทั้งหมดตามแบบของพระ อริยเจ้าเป็นที่สบายกาย สบายใจเสียหมด คือว่าใจนี่เองไม่ถูกกิเลสมารบกวน ถ้าไปเปิดช่องให้มันเข้ามาแล้วมันก็วุ่นวายเร่าร้อนไม่สงบ



เราต้องเพียรพยายามละกิเลสตัณหาอะไรที่มีอยู่ในสันดานด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าถ้าไม่รู้แล้วก็ไม่ได้ละมัน ที่จะละมันนี้ต้องทดลองตามคำของพระพุทธเจ้าที่ให้เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน ที่ตรงนี้ต้องอดทน เพราะตัณหามันอยากจะได้แต่ความสุขเพราะฉะนั้นจะต้องหยุดในขณะที่มันมีอยาก อยากอะไรก็ตามที่จะทำให้เสียประโยชน์ในด้านจิตใจ อย่าไปทำตามมันต้องหยุด! เมื่อจะทำแล้วก็พิจารณาดูใหม่ ว่าที่ควรทำก็ทำ ไม่ควรทำก็เลิกไปเลย เราต้องทรมานตัวเอง ในเรื่องทำตามกิเลสตัณหามาแต่ก่อนนั้น เดี๋ยวนี้ต้องงดแล้ว ต้องเชื่อพระพุทธเจ้าแล้ว เพราะว่าเชื่อกิเลสตัณหาที่มายุแหย่แส่ส่ายอะไรต่ออะไรสารพัดสารเพมันทุกข์ ทั้งนั้น ทีนี้ต้องเลิกเชื่อกิเลสตัณหาเสียทีเถอะ มาเชื่อพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าที่ตนจะต้องฝึกด้วยความเอมใจใส่ให้เป็นพิเศษให้ได้ทุกๆ ขณะทีเดียว





.................................................



คัดลอกมาจาก ::


ผู้จัดการออนไลน์


http://www.manager.co.th/dhamma/viewbrowse.aspx?BrowseNewsID=8100&Page=10


หมายเลขบันทึก: 540303เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2013 18:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กรกฎาคม 2013 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

น่าดีใจแทนจริงๆค่ะ อนุโมทนาบุญด้วยคน

...ขอชื่นชมบันทึกที่ดีมากๆค่ะ...ขอบคุณค่ะ

ขอร่วมอนุโมทนาค่ะ

ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับพี่คนไกลบ้าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท