๑๔๕.การแสดงงานศิลปะ ๓ ศิลปินหญิง : Triangular Circle


 

การแสดงงานศิลปะ ๓ ศิลปินหญิง
Triangular Circle
รูปทรงและพื้นที่หัวใจเพื่อสุขภาวะสังคมและความรื่นรมย์ของชีวิตเมือง

                                    

                                                                         งานคอลลาจ โดย มรกต เกษเกล้า

                                    

                                                         Artists Talk เปิดการแสดงและนำชมงานโดย ๓ ศิลปิน 

เมื่อเย็นวาน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๖ ผมกับภรรยาไปร่วมงานเปิดนิทรรศการศิลปะ Triangular Circle ที่ร้าน Gallery Seescape ซอย ๑๗ ถนนนิมมานเหมินทร์ ๓ ศิลปินหญิงที่รวมกลุ่มทำงานแสดงด้วยกันในครั้งนี้ ประกอบด้วย มรกต เกษเกล้า สุดศิริ ปุยอ๊อก และจิรัชยา พริบไหว ต่างวัย ต่างวิถีความสนใจ แต่ก็มีความร่วมกันหลายมิติ สอดคล้องกับชื่องานและแก่นหลักของงานเชิง Conceptual Art ด้วยวิธีการผสมผสานครั้งนี้

มรกต เกษเกล้า เป็นอาจารย์ศิลปะ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สุดศิริเป็นเพื่อนกับมรกต และจิรัชยานั้นเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลูกศิษย์ของมรกต มีพื้นฐานของความร่วมกันอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วระดับหนึ่ง แต่แนวคิดและความบันดาลใจต่างๆที่นำมาสู่การทำงานร่วมกันนั้น มีทั้งแตกต่างและความไปกันได้ 

โดยมรกตในฐานะที่เป็นอาจารย์ศิลปะในมหาวิทยาลัยนั้น มีความสนใจที่จะนำเอาความแตกต่างและความไม่เข้ากันมาจัดวางองค์ประกอบของการอยู่บนพื้นที่เดียวกัน เพื่อนำเสนอการก่อเกิดมิติเชิงพื้นที่ความหมายอย่างใหม่ เทคนิคที่ใช้เป็นสื่อคือเทคนิคคอลลาจหรือการตัดปะ (Callage) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้คุณสมบัติความมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของวัสดุ ทั้งสี ลักษณะพื้นผิว และลักษณะการให้ความรู้สึกจากการเห็น มาจัดวางองค์ประกอบเสียใหม่ ด้วยการฉีก ขยำ พับ ขูดขีด ตัด ปะ แรงบันดาลใจและแนวคิดของการสร้างงาน มาจากสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตการอยู่อาศัยและทำการงานในสังคมเมือง 

รวมทั้งการส่งเสียงเรียกร้องความเมตตาและความมีมนุษยธรรมต่อสุนัขที่คนปล่อยทิ้งตามแหล่งต่างๆ มรกตกำลังทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนเรศวรและกำลังทำวิจัยดุษฎีนิพนธ์ในสาขาเทคโนโลยีการศึกษา ทางด้านรูปแบบและกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ปฏิบัติการศิลปะชุมชนโดยใช้วิธีทำงานความคิดเป็นกลุ่ม dialogue สำหรับสร้างความเป็นผู้นำทางสังคมของคนทำงานทางศิลปะในแนวใหม่ๆ ผมเป็นร่วมเป็น Adviser ด้วย

สุดศิริ ปุยอ๊อก มีวิธีที่จะชวนเชิญผู้ชมให้เดินเข้าไปสัมผัสอรรถรสและมิติความมีชีวิตของความงามเชิงความหมาย  ด้วยวิธีทำงานที่มีสีสัน ชวนสนุกสนาน ผสมผสานสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันอย่างมีอิสระและเป็นธรรมชาติ งานของสุดศิริเป็นการทำงานศิลปะแบบก้าวหน้า มีหลายมิติและหลายองค์ประกอบที่ดำเนินไปด้วยกัน ในมิติหนึ่ง เธอทำขนมคุ๊กกี้อบกรอบให้เป็นขนมและอาหารสำหรับยืนกินในงาน พร้อมกับขายสำหรับซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านได้ แต่ในการเล่นกับความหมายและการฝ่าธรรมชาติความเคยชินของมนุษย์เพื่อกระแทกเข้าไปถึงจิตดั้งเดิมอันบริสุทธิ์งดงามนั้น สุดศิรินำเอารูปแบบภายนอกของอาหารสำหรับสุนัขและสัตว์เลี้ยง มาเป็นรูปแบบการนำเสนอขนมและอาหารสำหรับคนกิน ซึ่งเป็นรูปแบบและสัญญะที่สื่อไปถึงความเป็นสุนัข เป็นต้นว่าคุ๊กกี้รูปท่อนกระดูก คุ๊กกี้รูปเม็ดอาหารสุนัข การใส่ในภาชนะสำหรับเลี้ยงสุนัข เหล่านี้เป็นต้น 

ขณะเดียวกัน สุดศิริ ตัวศิลปินผู้สร้างงานเอง ก็ใช้วิธีศิลปะแสดงสด หรือ Performance Art แสดงความเป็นองค์ประกอบหนึ่งในด้านความมีชีวิตของชิ้นงาน ที่สามารถสร้างความเลื่อนไหลทางความหมาย สร้างปฏิสัมพันธ์ และทำให้ผู้ชมเดินเข้าไปในพื้นที่การร่วมสร้างความหมายด้วยกันระหว่างชมงานโดยไม่รู้ตัวไปด้วย ซึ่งในมิตินี้ เป็นกระบวนการก่อเกิดศิลปะแบบฉับพลัน Happening Art ที่มีสีสันและมีพลวัตรไปตามการปฏิสังสรรค์กันของผู้คนบนพื้นที่ซึ่งสร้างขึ้นด้วยศิลปะได้อย่างน่าสนใจ 

สุดศิรินั้น เป็นลูกสาวของอาจารย์สงัด ปุยอ๊อก จิตรกรแนวอิมเพรสชั่นนิสต์วิถีชีวิตชนบท ความเป็นท้องถิ่น และความงามของธรรมชาติ แถวหน้าคนหนึ่งของประเทศ ระหว่างยืนอยู่กับโต๊ะวางชิ้นงานศิลปะที่ทำคุ๊กกี้เป็นรูปอาหารสุนัขนั้น นอกจากต้อนรับ แลกเปลี่ยนความคิด และสนทนากับผู้ชมแล้ว เธอก็ทำท่าทางและส่งเสียงร้องเป็นสุนัขไปด้วย บางช่วง ท่านอาจารย์สงัด ปุยอ๊อก ซึ่งมาร่วมให้กำลังและชมงานด้วย ระหว่างที่ยืนสนทนากับผมและผู้ชมที่มาร่วมงานเปิดนิทรรศการ เมื่อจู่ๆได้ยินสุดศิริทำเสียงสุนัขร้อง ท่านก็หยุดพูดคุยชั่วครู่และร่วมส่งเสียงร้องของสุนัขไปด้วย ผู้ชมงานทั้งชาวไทยแลฃะชาวต่างประเทศหลายคน ก็เลยร่วมเป็นผู้แสดงสด ส่งเสียงสุนัขร้องตอบโต้กันไปมา 

งานของสุดศิริ จัดใส่ภาชนะให้ผู้ชมเดินเข้าไปหยิบกินและขายให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อติดมือกลับบ้านด้วย รายได้ทั้งหมดจะระดมทุนไปซื้ออาหารและดูแลสุขภาพให้แก่สุนัขจรจัดหลายแหล่งในเชียงใหม่ งานศิลปะของเธอจึงมีความเป็นปฏิบัติการและความเคลื่อนไหวขยายกรอบคิดและแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ความหมายของ ‘ความมีสุขภาวะทางสังคม’ ให้กว้างขวางกว่าการเอาบรรลุจุดหมายฝ่ายเดียวของมนุษย์ แต่ครอบคลุมไปถึงสุนัขหรือชีวิตอื่น ในสังคมและสิ่งแวดล้อมของคนเราด้วย

จิรัชยา พริบไหว ต้องการแสดงงานครั้งนี้เพื่อให้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้แสดงงานร่วมกับมรกตซึ่งเป็นครูศิลปะของตนและสุดศิริซึ่งเป็นรุ่นพี่ของตน แนวคิดและแรงบันดาลใจที่นำมาเป็นพลังสร้างสรรค์งานศิลปะ เป็นห้วงประสบการณ์ต่อคนรักที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดและหลายมิติของชีวิต การมีความหวังในการสร้างอนาคตร่วมกัน รวมทั้งการรอคอยซึ่งดำเนินไปอย่างหลากอารมณ์ชีวิต ทั้งความฟุ้งฝัน ความสุข การให้พลังใจและพลังชีวิต กระทั่งการทุกข์ใจ โศรกเศร้า เสียใจ และในที่สุด เป็นการห่างหาย ลาจาก และหนทางชีวิตร้างลากันไป กระทั่งเห็นสัจธรรมและเห็นความเป็นจริงในความไม่แน่ไม่นอนของชีวิต จิรัชยาใช้สื่อและเทคนิคผสม นำเอาบทกวีและความคิดในห้วงอารมณ์หนึ่งมาทำงานปักบนผ้าเช็ดหน้าซึ่งเป็นสัญญะของน้ำตาและความเสียใจจากความรักชายหนุ่มหญิงสาว จากนั้น จึงนำเอาชิ้นงานไปติดตั้งเป็นงาน ๓ มิติบนแผ่นระนาบ

แนวการทำงานของ ๓ คน ๓ แนว ต่างจุดหมาย และบางมิติก็มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกัน อีกทั้ง ก่อเกิดบนพื้นฐานของการมีรากความร่วมกันเป็นทุนเดิมอยู่หลายประการ  ซึ่งทำให้ ๓ มุมของความแตกต่าง มีความผสมผสานและเป็นความสืบเนื่องของกันและกัน เป็นทั้งเหตุและเป็รทั้งผลให้กันและกัน เสมือนเป็นวงกลม จึงเป็นที่มาของชื่องาน Triangula Circle

Gallery Seescape เป็นห้องแสดงงานในร้านขายงานศิลปะ งานฝีมือ งานเชิงความคิด และงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ ตรงหัวมุมแยกกลางซอย ๑๗ ถนนนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ จอแจ เป็นแหล่งพักอาศัยของคนทำงาน และเป็นย่านการพบปะของคนชั้นกลางทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศทั่วโลกที่มีสีสันที่สุดแห่งหนึ่งของเชียงใหม่  การติดตั้งและนำเข้าสู่บรรยากาศของการแสดงงานเหมือนบรรยากาศของชุมชนที่มีรสนิยมชีวิตเดียวกัน กันเอง มีรูปแบบบนความไร้รูปแบบ ผู้คนหลากหลายวัย คึกคัก เกาะกลุ่มสนทนากันในหลายอริยาบท ยืน นั่ง เดิน ก่อนการเสวนาของศิลปิน นำรายการโดยเพลงและดนตรีกีตาร์ไฟล์คแสดงสด

การได้ชมงานครั้งนี้ จึงเหมือนได้เข้าไปอยู่ในบรรยากาศของงานเคลื่อนไหวเชิงความคิด สร้างประสบการณ์และบันทึกความทรงจำร่วมกันในชีวิตของ ๓ ศิลปินหญิง สร้างสีสันให้กับปฏิบัติการเพื่อสื่อสารและแสดงทรรศนะต่อสังคมสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งทำให้สามารถสัมผัสได้ถึงการก้าวข้ามขั้วความแตกต่างหลากหลายทางสังคม นำเอาสิ่งที่มีธรรมชาติแตกต่างกันชนิดที่เป็นคนละเรื่อง มาเป็นองค์ประกอบของการจัดวางบนพื้นที่เดียวกัน  ก่อให้เกิดอุบัติการณ์ทางความหมายที่สื่อสะท้อนมิติใหม่ๆของการสร้างสุขภาวะวิถีและรสนิยมชีวิตการอยู่อาศัยร่วมกันในสังคมเมือง บนบริบทของความผสมผสานและปะทะสังสรรค์กันของวิถีสังคมท้องถิ่นและโลกาภิวัตน์.  

 

หมายเลขบันทึก: 539477เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2013 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

งานศิลปะดีๆ ไม่ค่อยได้มีโอกาสจัดในต่างจังหวัด
หากเด็กๆ ได้ชม มุมมองศิลปะจะเปลี่ยนไป

ลึกซึ้ง....ในข้อเขียน แม้นอาจจะไม่เข้าใจทุกคำที่อาจารย์เขียน.... แต่ก็ได้อรรถรสร่วมไปด้วย

และขอชื่นชมคนคอศิลป์ทั้ง 3 ท่าน ด้วยครับ อาจารย์วิรัตน์ ครับ

สวัสดีครับคุณครู Noktalay ครับ
เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งครับ รวมทั้งวิธีคิดและมุมมองต่ออีกหลายอย่าง ก็เชื่อว่าจะมีโอกาสเกิดการบ่มเพาะกล่อมเกลาได้อีกมากด้วย แต่ก็หาได้ยาก การแสดงงานศิลปะเป็นงานที่ต้องกินทุนตัวเองของคนทำงานสูง ในขณะที่การทำงานในแนวนี้จะเป็นงานที่อาศัยเลี้ยงชีพให้อยู่กับความเป็นจริงของเศรษฐกิจสังคมได้ยาก ผู้ที่จะจัดอย่างนี้ก็จะทำได้ไม่บ่อย ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันทำด้วยสำนึกของการบำรุงส่วนรวมโดยถือประโยชน์ต่อตนเองมาทีหลัง รวมทั้งต้องอาศัยการอุปถัมภ์หรือให้การสนับสนุนโดยภาคเอกชน หน่วยงาน และองค์กรที่มีกำลัง ในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆจะได้เปรียบ แต่ในต่างจังหวัดทั่วๆไปนี่ ใครริเริ่มและทำได้ ก็ต้องชื่นชมและร่วมเป็นกำลังใจกันให้มากๆ

สวัสดีครับคุณแสงห่งความดีครับ
เหมือนเป็นมุมชวนผ่อนพัก หาความสงบ หาความคิดอยู่กับตัวเอง อย่างหนึ่ง
ที่นำมาแบ่งปันกันได้นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท