ครุ่นคิดคำนึง งานอบรมการดูแลระดับปฐมภูมิ Part I


ครุ่นคิดคำนึง งานอบรมการดูแลระดับปฐมภูมิ

เมื่อวันที่ 28-31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปร่วมงานอบรมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนการพัฒนาคุณภาพงานบริการปฐมภูมิ จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข สพช และ สปสช ได้เจอพี่น้องชาวสา.สุข ปฐมภูมิ จากหลายแห่งทั่วประเทศไทย จากเหนือจรดใต้ จากตะวันออกจรดตะวันตก เป็นช่วงเวลาอีกช่วงหนึ่งที่สวยงาม เต็มไปด้วยความทรงจำ และโอกาสอันดีที่จะรับเรื่องราวต่างๆมาสะท้อนตนเอง ทั้งความฝัน ความคิด ได้คำถาม ได้คำตอบอะไรมากมาย

งานบริการปฐมภูมิมีความสำคัญมาก เป็นรากเป็นฐานของชุมชน สังคม นัยยะของชื่อ "ปฐม" นั้นไม่ได้หมายความถึงความเรียบง่าย แต่หมายถึง "ตั้งต้น" "แต่แรก" "อันดับแรก" ซึ่งบางทีอาจจะก่อความสับสนเมื่อพูดถึง "ทุติยภูมิ" หรือ "ตติยภูมิ" ซึ่งค่อนไปทางด้านซับซ้อน หรือการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าอะไรต่อมิอะไร อันอาจจะพลอยฉุดให้ไปคิดว่า ปฐมภูมิก็คือไม่ซับซ้อน ไม่ต้องใช้อะไรมาก

งานบริการปฐมภูมิ ใช้ "สุขภาวะกำเนิด (Salutogenesis)" เป็น background ในชุมชนนั้นๆ ประกอบไปด้วยใครบ้าง อยู่ที่ไหน ทำอะไรกันให้ชีวิตอยู่ได้ มีความสุข มีคุณค่า และผู้ที่ทำงานบริการปฐมภูมินี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ (ecosystem) หากแต่ทำให้งานด้าน "เฟืองจักร" นั้นเด่นชัดขึ้นสำหรับตัวตนของเขาเอง

คนที่มาร่วมงานนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็น veteran หรือผู้ลงพื้นที่จริง ทำงานจริง เจอปัญหาจริง แก้ปัญหาจริง และใฝ่ฝันอะไรบางอย่าง ที่แม้ว่าอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด แต่โดยรวมแล้วเหมือนกัน คือ สุขภาวะของชุมชน

คนกลุ่มนี้หลายคนได้มาร่วมงานกันตั้งแต่ปี 50 ได้ ก็หลายปีอยู่ บางคนก็เข้ามาทีหลัง ในช่วงที่เราระดมความคิดกันว่า งานแบบนี้ จะออกแบบการพัฒนา การหล่อหลอม การดูแล อย่างไรกันดี มีการนำเอา software หลายอย่างมาใช้ มาทดลอง และเฝ้าดู ออกแบบมาที ก็กลับกันเอาไปลอง ไปดัดแปลง ไปใช้ เจอปัญหา เจอความสำเร็จ ก็นำกลับเข้ามาเขย่ากันใหม่ (ตอนนี้กระแสโคลอาล่ามาร์ชกำลังฮิต ขอเกาะหน่อย) เขย่าให้ได้ที่ ออกมาเป็น model ที่ค่อยๆ "วิวัฒน๋" คล้ายๆ action research ซึ่งแต่ละที่ แต่ละ cup แต่ละโหนด ก็จะนำพาเอา identity ของตนเองลงไปกวนผสมเป็นสูตรที่หลากรสชาติ เผ็ดจี๊ดจ๊าดแบบยะหริ่ง ปัตตานี หวานๆมันๆแบบสุพรรณ สระบุรี แซ่บๆแบบหนองบัวลำภู หรือลำๆแบบเชียงใหม่ เชียงดาว แพร่ แน่นอนในความอร่อย ก็มีเค็มๆเปรี้ยวๆขมๆขื่นๆบ้าง ที่ตอนรับประทานอาจจะฝึดคอ แต่ตอนที่ได้หวนนึกย้อนหลังกลับไป ขมนั้นทอหวานปะแล่ม หวานลึกขึ้นมาบ้างก็ได้

ตัวผมเองไม่ได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงานบริการปฐมภูมิ ที่ใกล้เคียงสุดก็คงจะเป็นการออกไปเยี่ยมบ้านคนไข้ palliative care จากส่วนของงานที่ทำอยู่บ้างเท่านั้น การทำตัวให้เป็นประโยชน์ก็เลยไม่ใช่การคลุกวงใน แต่เป็นการสะท้อนจากมุมนอก เพราะบางทีคนที่คลุกวงใน ก็เหมือนสวมไฟฉายกรีดยางที่หน้าผากแล้วขุดหลุม พอเริ่มลงไปลึกๆ ขอบแสงไฟนั้นมันเริ่มแคบลง หากจะมีไฟฉาย หรือสปอร์ตไลท์มาเติมแสงจากข้างหลังบ้าง ก็อาจจะช่วยให้เห็นว่าก้นหลุมนั้นไม่ได้ตันซะทีเดียว แต่มีทางเลี้ยว มีทางออกอยู่ในมุมที่กว้างขึ้น

ชุดภาษา

เรื่องชุดภาษาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะวิธีที่มนุษย์ต่อยอดความรู้ได้อย่างก้าวกระโดด ก็ตรงที่เรา enhance ศักยภาพการสื่อสาร ทำให้ความรู้ของปัจเจก กลายเป็นหยดน้ำหนึ่งของมหาสมุทรความรู้รวมของสังคม เชื่อมโยงและเติมเต็มกันได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากหยดน้ำนี้ไม่ได้ส่งผ่านให้ดี ก็อาจจะกลายเป็นหยดน้ำมัน ไม่ได้มารวมกัน แต่แยกชั้น หรือแย่กว่านั้น ในยุคปัจจุบัน มีปรากฏการณ์ที่เกิด "วาทกรรม (Discourse)" เยอะ คือ คำบางคำ ใช้กันไป ใช้กันมา เกิดสร้างเป็น package หรือชุดความหมายพ่วงไป แล้วแต่ประสบการณ์ตรงของผู้ใช้ แล้วแต่ความทรงจำของผู้ใช้ พอคำๆเดียวกันนี้ถูกใช้โดยกลุ่มอื่นๆ ที่อาจจะมีประสบการณ์ตรงที่แตกต่าง มีความทรงจำที่แตกต่าง ก็อาจจะไม่สื่อ สื่อไม่คิด หรือสื่อแล้วทะเลาะกัน สื่อแล้วขม ไม่หวาน ไม่ลื่น

สติ หรือ awareness จึงเป็นเครื่องมือสำคัญมาก ว่าเรากำลังฟัง "เสียงของเรา" ในอดีต หรือเรากำลังฟังเสียงของคนที่อยู่ข้างหน้ากันแน่ การรู้เท่าทันตัวเองตรงนี้ช่วยได้เยอะมากในงานแบบนี้

แต่หากเราฝ่าด่าน downloading นั้นมาได้ เห็นความหมายที่หลากหลายของคำๆเดียว ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเห็นความหลากหลายของเรื่องๆเดียวกัน ที่ถูกมองจากต่างมุม อันเป็นกลไกเบื้องต้นที่สำคัญที่สุด ที่หยดน้ำทุกสาระทิศ จะมาเสริมเติมแต่งให้กันและกันได้

ในงานนี้เราจึงเริ่มด้วยการหันกลับมา slow down กันก่อนทุกๆคน เพราะแต่ละคนก็ "กรำงาน" มากันปีกว่าๆหลังจากเจอะเจอกันครั้งล่าสุด ภายใต้รอยยิ้มอันอบอุ่นของมิตรภาพ ก็มีร่องรอยความอิดโรย ความเหน็ดเหนื่อย สิ่งแรกที่ควรทำจึงไม่ใช่การลงดิ่งไปหางาน หาความเครียด แต่กลับมาดูแลร่างกาย ดูแลหัวใจ ดูแลอวัยวะต่างๆของเราให้ดีๆกันก่อน หลังจากนั้นค่อยว่ากันใหม่

ขอบเขตแห่งสิเหน่หา (Boundary of Passion)

เวลาแลกเปลี่ยนเรื่องราวของเราเองนั้น เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นการสะท้อนตัวตนของเราเอง ยิ่งถ้าได้คนฟังที่ดี การฟังที่ดี แล้วล่ะก็ จะเป็นอะไรที่ปิติมากๆ ในช่วงหลังๆมานี้ พวกเราจะเห็นว่าการทำ knowledge sharing หรือเรียกกันย่อๆว่า KM นั้นฮิตมาก การฝึกพูด ฝึกเล่า ใช้ narrative techniques มาเป็นเครื่องมือ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

แต่เราพึงมองให้ชัดว่า KM นั้น สร้างสุขให้เราตอนไหนกันแน่?

ตอนที่เรากำลังเล่า หรือว่าจากการที่เราถูกฟัง?

เพราะว่าสองประเด็นนี้ไม่เหมือนกัน และหาก focus ไปแต่ละที่ จะพบว่าใช้ทักษะคนละอย่าง ใช้ outcome คนละชนิดในการมองเรื่องๆที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน และผมพบว่าบางที เราเผลอไปเน้น "การเล่า" ซะเยอะ จนไม่ได้ไปดูแลคุณภาพของ "การฟัง" ให้ดี แทนที่จะได้ประโยชน์เต็มที่ ก็เลยถูก compromised ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะว่าเรื่องเล่าทุกเรื่องนั้น จะดีหรือไม่ดี สัมพันธ์กับคุณภาพของการฟังในขณะที่เล่าอย่างยิ่ง ทั้งทางบวก และทางลบ หากเราไปเน้นที่การเล่ามากเกินไป คนที่มันคนเดียวอาจจะเป็นคนเล่าจนเริ่มกินพื้นที่ เริ่มหลุด awareness ไป และข้อสำคัญคือ อาจจะเกิดตรงกันข้าม คือ ยิ่งเล่า ยิ่งรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ถูกละเลย ถูกตัดสิน ถูกประเมิน ถูกตัดบท ถูกสอบสวน ไต่สวน การฟังที่ดีมีคุณภาพ จะช่วย "หล่อเลี้ยง" ไม่ให้ไปทางใดทางหนึ่งจนเกินเลยไป และข้อสำคัญคือ เพาะสร้าง "ความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง" ระหว่างผู้เล่าและผู้ฟังไปด้วย การเล่า/ฟังครั้งใด ที่เกิดสร้างแต่ contents เนื้อหา แต่ไม่ได้สร้างความสัมพันธฺอันลึกซึ้งขึ้น แสดงว่าปฏิกิริยาเคมีตรงนี้หายไปเมื่อไหร่ไม่ทราบ

เมื่ออารมณ์ ความรู้สึกของเราได้รับการดูแล พลังแห่ง passion หรือสิเหน่หาก็จะเกิดขึ้นคู่ขนานกัน ในระดับนี้เสมือนเดินอยู่บนคมมีด เพราะเดินไปๆขาด awareness เมื่อไหร่ อารมณ์ก็จะท่วมท้นและ take over the stage หรือยึดเวทีไปได้ หลายต่อหลายครั้งที่การแลกเปลี่ยนอันทรงพลังล้มเหลว ไม่ใช่เพราะตอนที่ขาดพลัง แต่เป็นตอนที่พลังมันฟุ้ง เพราะไปแตะเอา weak spot หรือ soft spot, sensitive spot ของใครคนใดคนหนึ่งเข้า ก็จะหลุด focus จากการฟังระดับลึก I in You หรือ I in It ก็จะถอยมาเป็นการฟังในระดับ I in Me อย่างรวดเร็ว อย่างน่ากลัว

วิธีการฝึกปรือตรงนี้ คือ "กายภาวนา"

ให้ "ชัด" และ "มีสติ" ตลอดเวลา (หรือมากที่สุดเท่าที่จะมากได้) การทำกายภาวนาไม่ได้ปราถนให้เรากลายเป็นซุปเปอร์แมน หรือวอนเดอร์วูแมน (หรือสไปเดอร์แมน ธอร์ ฯลฯ แล้วแต่ชอบ) แต่ให้เรา "เห็น" ว่าเรามี เราเป็นอะไร เพื่อที่จะได้เชื่อและศรัทธาว่าเรา "สามารถ" จะทำอะไร (I am, I have, I can)

เวลาที่เราพบว่าร่างกายของเราเจ็บปวด เมื่อยล้า นั่นก็คือสัญญานว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น แล้วเราจะทำอะไรกับมัน? จะสั่งมันทำงานต่อ จะดุด่ามัน จะเคี่ยวเข็ญมัน หรือว่าจะรักมัน ดูแลมัน สั่งอวัยวะอื่นๆเข้าไปทำงานเสริม เข้าไปช่วย เพิ่ม space เพิ่มพื้นที่ในการพักผ่อน

เราทำอย่างไรกับร่างกายของเรา ก็จะสะท้อนตรงออกมากับการทำอย่างไรกับคนที่อยู่ข้างหน้าเราเหมือนกัน เมื่อเรา detect สัญญานว่าคนข้างหน้าเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนเรา หรือคนอื่นที่เรากำลังดูแลอยู่ก็ตาม กำลังจิตตก กำลังมีภาวะเครียด พลังงานถดถอย เราจะทำอย่างไร จะดันให้เขาฝืนใจลุยต่อ ดุด่า ประชดประชัน เคี่ยวเข็ญ หรือว่าเรายังคงรักเขา เข้าไปดูแล เข้าไปช่วยเหลือประคับประคอง ดึงเอางานส่วนของเขาออกมาช่วยทำ เพื่อให้เขาได้มีเวลาสร้างพื้นที่ สะสมพลังงานขึ้นมาใหม่ แบบใดที่เป็นหน้าที่ของกัลยาณมิตร?

เริ่มต้นจากร่างกายของเราเอง จึงเป็นจุดที่สำคัญมาก เพราะหากตัวเราเองเรายังไม่ยอมฟังเสียง ฟังแล้วก็ไม่ได้ยิน ได้ยินแล้วก็ไม่คิดอะไร คิดเสร็จก็ไม่ทำอะไร ตัวเราเองยังไม่ได้ดูแลเลย ยังจะไปดูแลคนอื่นได้อย่างไรกัน?

หมายเลขบันทึก: 537850เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2013 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2013 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท