CaseStudy 7: ตรวจดีเอ็นเอในลูกแฝด เรื่องมันซับซ้อน อ่านเองดีกว่า


     วันนี้ จินตนา ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ จากนายจ้างท่านหนึ่ง ที่ต้องการตรวจดีเอ็นเอให้กับลูกจ้าง เพื่อทำบัตรประชาชน โดยให้ประวัติไว้ ดังนี้ครับ

    ดูตามภาพประกอบ คนที่เป็นลูกจ้างของนายจ้างท่านนี้ คือ C ครับ  C มีพี่สาวหรือน้องสาวฝาแฝด อีก 1 คน โดยที่ แม่ของ C คือ B เป็นคนไทย และมีบัตรประชาชนไทย แต่พ่อ (A) ไม่ทราบประวัติ และไม่ทราบว่ามีบัตรหรือไม่  ตอนคลอดก็ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น  D มีการแจ้งเกิดเป็นคนไทย และมีบัตรประชาชนไทย แต่ C ไม่มีบัตร

     ปัจจุบัน C แต่งงานกับ E ซึ่งเป็นคนพม่า มีลูกสองคน ได้แก่ F และ G   ตอนที่คลอด F นั้น มีการแจ้งเกิดไว้ว่า มีพ่อคือ E และมีแม่คือ D จึงสามารถทำบัตรประชาชนได้ ส่วน G ไม่มีบัตรประชาชน

     นายจ้างท่านนี้ อยากให้ ทำบัตรประชาชนให้กับ C และ G ไปปรึกษาที่อำเภอ ทางอำเภอ ก็ให้ไปขอหลักฐานการเกิดที่โรงพยาบาล ไปติดต่อที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็ไล่ให้กลับไปหาอำเภอ เป็นอย่างนี้อยู่หลายรอบ ก็เลยโทรศัพท์มาติดต่อขอตรวจดีเอ็นเอ ที่ม.อ.นี่ซะเลย

     คำถามคือ

     1. สามารถตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือด เพื่อใช้ทำบัตรประชาชนให้กับ C และ G ได้หรือไม่

โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกคนที่เกี่ยวข้องในแผนภาพนี้ ยังมีชีวิตอยู่ครับ

     กรณีนี้ ถ้าพิจารณาเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีความจำเป็นต้องตรวจดีเอ็นเอนั้น จะมีอยู่ 3 คนครับ ได้แก่ B (ยาย), C (แม่) และ G (ลูก)  โดยที่ B มีบัตรประชาชน เพราะฉะนั้น ก็ตรวจดีเอ็นเอเปรียบเทียบระหว่าง B และ C  ถ้าผลตรวจดีเอ็นเอระหว่าง B และ C ไม่ขัดแย้ง แสดงว่า C เป็นลูกของ B ก็สามารถออกบัตรให้กับ C ได้ และตรวจเปรียบเทียบดีเอ็นเอระหว่าง C กับ G ถ้าผลดีเอ็นเอไม่ขัดแย้ง ก็แสดงว่า G เป็นลูกของ C ก็จะสามารถออกบัตรประชาชนให้กับ G ได้  กรณีแบบนี้ เป็นการตรวจระหว่าง แม่ กับ ลูก ซึ่งเป็นการตรวจที่อาจมีความคลาดเคลื่อนในการแปลผลในการตรวจบางรายได้  ถ้าหากอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ควรส่งตวรจแบบที่สองครับ

     แบบที่สองนี้ ให้ตรวจพร้อมกันทั้ง พ่อ-แม่-ลูก ซึ่งการตรวจแบบนี้ ช่วยยืนยันผลได้ดีกว่าการตรวจเพียงสองคน แม่-ลูกครับ และค่าทางสถิติที่ใช้ในการยืนยันผลการตรวจก็จะสูงกว่าแบบแรกแบบเทียบกันไม่ติดเลยครับ

     แบบที่สองนี้ ก็ให้นำ A และ B มาตรวจเทียบกับ C หากผลการตรวจดีเอ็นเอของทั้งสามคนไม่ขัดแย้งกัน แสดงว่า C เป็นลูกของทั้ง A และ B ครับ C ก็จะได้รับสิทธิ์เป็นคนไทย ตามแม่ครับ  จากนั้นก็ตรวจเปรียบเทียบระหว่าง E (พ่อ) C (แม่) และ G (ลูก) หากผลการตรวจของทั้งสามคนไม่ขัดแย้งกัน แสดงว่า G เป็นลูกของทั้ง E และ C  ดังนั้น G ก็จะเป็นคนไทย ตามแม่ C ครับ

     นั่นหมายความว่า เราตรวจเฉพาะคนที่ยังไม่มีบัตร และไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับคนที่มีบัตรแล้วเกินจำเป็นครับ

     2. F มีบัตรแล้ว แต่แจ้งเกิดไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริง คือแจ้งว่า E เป็นพ่อ และ D ซึ่งเป็นฝาแฝดกับแม่ เป็นแม่แทน จึงมีบัตรประชาชนไทย แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนชื่อแม่ให้ตรงกับความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่

     ตรงนี้แหละที่ยากแล้ว เพราะแม่เป็นฝาแฝดกัน ทีนี้เราไม่มีข้อมูลว่า C และ D เป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกันหรือไม่ มีเพียงข้อมูลว่า หน้าตาเหมือนกัน ซึ่งก็ยังไม่ใช่ข้อสรุปว่า ทั้งสองคนเป็นฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน  เรื่องนี้ ถ้า C และ D เป็นฝาแฝดไม่เหมือน (ไข่คนละใบ) ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากมากนักในการพิสูจน์ เพราะนำ E (พ่อ) C (แม่) D (น้องของแม่) และ F (ลูก) มาตรวจดีเอ็นเอ ก็จะทราบว่า F เป็น่ลูกของใคร

     แต่ถ้า C และ D เป็นฝาแฝดเหมือน (ไข่ใบเดียวกัน) ก็จะเป็นเรื่องที่เป็นข้อจำกัดของการทดสอบแล้วล่ะครับ เพราะในฝาแฝดไข่ใบเดียวกัน จะมีรูปแบบดีเอ็นเอเหมือนกัน ดังนั้น เราก็จะไม่สามารถพิสูจน์ว่า ตกลง F เป็นลูกของ C หรือ D กันแน่ 

     อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ ไม่ใช่หมดหนทางครับ แม้ว่ากรณีนี้จะใช้ ดีเอ็นเอพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถใช้พยานบุคคล พิสูจน์ยืนยันได้ เช่นหาหมอตำแย มายืนยัน หรือหลักฐานการคลอดจากโรงพยาบาล หรือบุคคลรู้เห็นว่า F ตอนเกิดมานั้น เป็นลูกใคร อยู่กับใคร อะไรทำนองนั้นครับ แล้วนำหลักฐานเหล่านี้ฟ้องร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงชื่อแม่ได้ครับ  แต่จะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่ ก็คงขึ้นกับดุลพินิจของศาลครับ ซึ่งเกี่ยวพันกับความน่าเชื่อถือของหลักฐานหรือพยานที่เรามีอยู่ครับ

   ใครว่าให้คำปรึกษาเป็นเรื่องง่ายนะ......

หมายเลขบันทึก: 536153เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2013 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตามมาอ่าน ไป ม.อ.มาครับ แต่อดพบพี่ๆ  เสียดายเวลาน้อยไปหน่อย

ไม่เป็นไรครับ คราวหน้ามา ก็ลาต่ออีกสักวันสองวันนะคุณลุงขจิต  จะได้พาไปเที่ยวแถวนี้ต่อ

อ่านบันทึกนี้แล้วชมคนเขียนค่ะว่าช่างทำให้เรื่องซับซ้อนเข้าใจง่ายในภาพเดียวจริงๆ

และอ่านแล้วคิดไปถึง อ.รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ไม่รู้ว่าท่านจะช่วยรับปรึกษาเรื่องนี้หรือเปล่านะคะ น่าจะมีเคสตัวอย่างแบบนี้ไม่น้อย ท่านเขียนเล่าอยู่หลายๆเรื่องหลายๆแบบ 

อาจารย์แหวว (รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร) ท่านให้คำปรึกษา และเขียนบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เช่นเดียวกันครับ แต่ท่านเน้นการให้คำปรึกษาและเล่าสู่กันฟังในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมาย และด้านสังคมครับ ผมเองก็เข้าไปติดตามเรื่องราวที่ท่านเล่าสู่กันฟังอยู่บ้างครับ  ส่วนผมคงเขียนในด้านที่เกี่ยวพันกับคนทำงานในห้องปฏิบัติการครับ ว่าเรื่องราวเป็นมาอย่างไร จะตรวจดีเอ็นเอได้ไหม ถ้าได้ต้องตรวจดีเอ็นเอชนิดไหน มีข้อจำกัดในการแปลผลการทดสอบอย่างไร หรือถ้าตรวจดีเอ็นเอไม่ได้ ยังพอมีทางออกอื่นๆ อีกบ้างไหม อะไรทำนองนั้นครับ ซึ่งคิดว่าบันทึกเหล่านี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้พบเห็นได้บ้างครับ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท