KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 175. คำถาม AAR ข้อที่ ๔


         ผมเกิดอารมณ์ที่จะตีความเบื้องลึกของกิจกรรมเล็กๆ (ที่ยิ่งใหญ่) นี้ขณะนั่งอยู่ที่หน้าบ้าน     ท่ามกลางเสียงร้องอันไพเราะของนกกินปลี ที่มากินน้ำหวานจากดอกไม้หน้าบ้าน     บรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ     และความสบายเนื้อสบายตัวหลังวิ่งออกกำลัง ๓๐ นาทีเต็ม     ทำให้ผมสามารถถ่ายทอดการตีความออกมาจากเบื้องลึกของหัวใจได้ขนาดนี้ โดยที่ตามปกติผมทำไม่ได้

         ดังนั้นบันทึกนี้จึงเป็นการบันทึก "ความรู้ฝังลึก" (tacit knowledge) ที่เยี่ยมชิ้นหนึ่งของผม     แต่คงต้องย้ำ ว่าไม่รับรองว่าจะเป็นการตีความที่ถูกต้อง

         คำถาม AAR ข้อที่ ๔  :  ตนเองจะกลับไปทำอะไรบ้าง  ทำร่วมกับใคร

        เป็นคำถามเพื่อชักจูงให้คิดถึงการปฏิบัติหรือการกระทำ  KM เป็นเรื่องที่เน้นการกระทำ     ไม่ใช่เน้นการพูดหรือการคิด     KM มีหัวใจหรือศูนย์กลางอยู่ที่การปฏิบัติหรือการทำงาน 

        มองอีกมุมหนึ่ง เป็นการประยุกต์ใช้เทคนิค AI - Appreciative Inquiry ในการทำ AAR     เพื่อสร้าง "ภาพฝัน" เล็กๆ ขึ้นมา    ว่าเมื่อมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ตนเองได้เกิดไอเดีย ปิ๊งแว้บ ขึ้นมาว่าจะกลับไปทำอะไร      การที่คนเราได้รับการกระตุ้นด้วยกิจกรรม หรือเหตุการณ์ดีๆ เหตุการณ์สร้างสรรค์ และบรรยากาศแห่งมิตรภาพ บรรยากาศเชิงบวก     เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะเกิดความคิดปิ๊งที่จะไปทำสิ่งสร้างสรรค์      ย้ำว่ามนุษย์ทุกคนมีคุณสมบัตินี้      แต่เป็นธรรมชาติ ที่ประกาย "ปิ๊งแว้บ" เล็กๆ นี้มันมักจะอยู่แว้บเดียวแล้วหายไป      พยายามนึกใหม่ก็นึกไม่ออก     แม้จะไม่เป็น อัลไซเมอร์ ก็นึกไม่ออก

         คำถามข้อที่สี่ของ AAR จึงเป็นกลไก ช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ทบทวนและตอกย้ำ "ปิ๊งแว้บ" ของตัวเอง  เป็นกลไกช่วยให้ไอเดียดีๆ ไม่ระเหยหายไป     หรือให้คงอยู่นานหน่อย

         แต่ "ปิ๊งแว้บ" ของแต่ละคน จะยิ่งทรงพลังยิ่งกว่านั้น      เพราะคำตอบข้อที่สี่ มาจากทุกคนที่ร่วมทำ AAR     คำตอบของเพื่อนบางคนจะยิ่งช่วยตอกย้ำความตั้งใจกลับไปทำของเราเอง     และยิ่งกว่านั้น อาจช่วยทำให้วิธีปฏิบัติที่เราคิดวางแผนไว้ในใจ ยิ่งชัดขึ้น หรือยิ่งมีลูกเล่นมากขึ้นกว่าเดิม     เท่ากับเราได้ "ไอเดียพร้อมใช้" ของเพื่อน  เอาไปใช้งานของเราได้ทันที

        กระบวนการ AAR เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ "แสงสว่างแห่งปัญญา" ได้เปล่งประกายเล็กๆ ออกมา      แล้วประกายเล็กๆ เหล่านั้น จะรวมตัวกันเอง เป็นประกายที่ใหญ่ขึ้น  ในบางโอกาส เมื่อสถานการณ์เหมาะเจาะ  ประกายนั้นจะรวมตัวกันเป็น "ประทีปแห่งปัญญา" ที่ยิ่งใหญ่     

        สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นเอง โดยแทบไม่ต้องใส่พลังงานจากภายนอกเข้าไป     จึงอาจเรียกได้ว่าเกิดปรากฏการณ์ "self-organization"     เกิดการจัดตัวขึ้นเอง  เกิดเป็น "ภพภูมิใหม่" (new order) แห่งความรู้เพื่อการกระทำ

        มองอีกมุมหนึ่ง เท่ากับเกิด "การหมุนเกลียวความรู้" เล็กๆ  ขึ้นในขณะทำ AAR     ในลักษณะที่ผู้เข้าร่วมไม่รู้ตัว  และแทบไม่ต้องใช้พลัง     แต่กลับได้พลังมาจากกระบวนการกลุ่ม  ที่เป็นกระบวนการเชิงบวกนั้น

        ในกิจกรรม AAR ข้อที่สี่     สภาพที่เกิดเป็นเสมือน "โลกใบเล็ก" (micro world) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะนั้น     เป็นโลกที่เกิดการสร้างสรรค์สูง โดยใช้พลังงานต่ำ   หรือมองอีกมุมหนึ่ง  ใช้พลังงานน้อยกว่าพลังที่ทุกคนซึมซับกลับไป      เป็นสภาวะที่เกิด "กระบวนการที่มีชีวิต" (organic phenomenon) เล็กๆ ขึ้นมากมาย     นำไปสู่การก่อเกิดของ "ภพภูมิใหม่" ของความรู้เล็กๆ เพื่อการปฏิบัติเล็กๆ (แต่ยิ่งใหญ่)   มีการหมุนเกลียวความรู้เล็กๆ จำนวนมากมายอยู่ในขณะทำ AAR

         นักกิจกรรม KM โปรดสังเกตสภาพที่เกิดขึ้นขณะทำ AAR ดูเองเถิด      จะเห็นความงดงามในเบื้องลึกของการทำกิจกรรม AAR  เพียงแค่ตอบคำถามข้อที่ ๔ ข้อเดียวยังงดงามและสร้างสรรค์ถึงเพียงนี้

วิจารณ์ พานิช
๒๓ กย. ๔๙

คำสำคัญ (Tags): #เครื่องมือkm
หมายเลขบันทึก: 53346เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2006 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 07:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์หมอวิจารณ์  ที่เคารพ
AAR เป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่เรารอคอยค่ะเพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ทำให้ผู้เข้าร่วมได้จุดประกายความคิด  พร้อมๆ กับได้แนวคิดที่หลายหลาย เป็นช่วงเวลาที่ทั้งผู้เข้าร่วมและผู้จัดได้ร่วมซึมซับความรู้สึกไปพร้อมๆ กันค่ะ  ที่ มน. เรามี AAR 5 ข้อเสมอค่ะ  เพราะเราต้องการให้ผู้เข้าร่วมนำ KM ไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรม / โครงการ  จึงเพิ่มเติมเพื่อจุดประกายอีก 1 คำถามค่ะ

1.      ท่านคาดหวังอะไรจากการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้2.    สิ่งที่ท่านได้เกินความคาดหวัง3.      สิ่งที่ท่านได้น้อยกว่าที่คาดหวัง4.    ท่านตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมสัมมนากลับไปทำอะไรที่หน่วยงานของท่าน

5.  ถ้าท่านจะจัดงานในลักษณะนี้ด้วยตัวท่านเอง ท่านจะปรับปรุงในเรื่องอะไรบ้าง (เมื่อเทียบกับการจัดในครั้งนี้)

ด้วยความเคารพค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท