มีโรงเรียนไปทำไม : 5. ปฏิรูปการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ


การปฏิรูปการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จริงต้องการการลงมือทำ ๓ เรื่องหลัก คือ (๑) เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้ (๒) เปลี่ยนการสอบหรือประเมินผล (๓) เปลี่ยนบทบาทของครู

มีโรงเรียนไปทำไม  : 5. ปฏิรูปการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ

บันทึกชุด มีโรงเรียนไปทำไม รวม ๗ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Why School? : How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhere เขียนโดย Will Richardson  บอกตรงๆ ว่า ระบบการศึกษาจะอยู่ในสภาพปัจจุบันไม่ได้  ต้องเปลี่ยนแปลงในทำนองเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

การปฏิรูปการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จริงต้องการการลงมือทำ ๓ เรื่องหลัก คือ (๑) เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้  (๒) เปลี่ยนการสอบหรือประเมินผล  (๓) เปลี่ยนบทบาทของครู  

เปลี่ยนเป้าหมายการเรียนรู้

เป้าหมายการเรียนรู้ไม่ใช่เพื่อเรียนสาระวิชาความรู้เท่านั้น  แต่ต้องเพื่อให้ได้ทักษะ คือทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และให้ได้ 21st Century Literacies ตามที่ได้เสนอไว้โดย NCTE ของสหรัฐอเมริกา  ที่ได้ลงรายละเอียดไว้ในตอนที่ ๑ ของบันทึกชุดนี้แล้ว

เปลี่ยนการสอบหรือประเมินผล

หนังสือบอกว่า ให้ออกข้อสอบที่ค้นคำตอบจาก กูเกิ้ล ไม่ได้  ซึ่งหมายความว่า ต้องไม่สอบข้อเท็จจริงนั่นเอง  ตีความอีกชั้นว่าข้อสอบต้องทดสอบความคิด  และตีความอีกสองชั้นว่า ต้องทดสอบความคิดที่ซับซ้อน  ข้อสอบแบบนี้อนุญาตให้ค้นข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ ตามสบาย 

การสอบต้องเปลี่ยนยุค จากยุคความรู้หายาก  มาเป็นการสอบในยุคความรู้อุดมและหาง่าย  คือต้องไม่สอบความจำ และไม่ถามเรื่องที่ใช้ความคิดแบบชั้นเดียว หรือมีคำตอบเดียว  การสอบต้องสอบความสามารถสำคัญตามทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  และตาม 21st Century Competencies ของ NCTE (ตอนที่ ๑)

การสอบแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน คือใช้ข้อสอบมาตรฐาน (standardized test)  เป็นตัวการบ่อนทำลายคุณภาพการศึกษาที่ร้ายที่สุดโดยเราไม่รู้ตัว  หนังสืออ้างคำของศาสตราจารย์ Yong Zhao แห่งมหาวิทยาลัยโอเรกอน  และผมถอดความมาว่า  โดยการเอาการสอบ/ข้อสอบที่ไร้ความหมาย ไปบังคับสอบแก่โรงเรียนและนักเรียน  วิญญาณการศึกษาของอเมริกันได้ถูกทำลาย  เป็นการวางยาพิษแก่บรรยากาศการศึกษา  และทำลายขวัญกำลังใจของนักการศึกษา  เป็นการบังคับให้ครูสอนเพื่อสอบ (teach to the test)  ทำให้กระบวนการเรียนรู้คับแคบ และปิดกั้นเด็กเป็นล้านๆ คน  โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวยากจน ออกจากการศึกษาที่แท้จริง  การสอบนี้ ได้ผลาญงบประมาณการศึกษาไปมากมาย  แทนที่จะนำมาใช้เพื่อการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณค่าแท้จริง  และได้สร้างความหวาดกลัว ความกังวล และความไม่มั่นใจ ให้แก่เด็กของเรา  มันดึงความสนใจของเรา ออกไปจากเรื่องสำคัญที่ควรเอาใจใส่ ได้แก่ความยากจน โลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี  มันปิดกั้นโอกาสและทรัพยากร สำหรับนำมาใช้สร้างนวัตกรรมเพื่อปรับปรุงการศึกษาอย่างแท้จริง  และที่ร้ายที่สุด มันได้กัดกร่อนความเข้มแข็งของการศึกษาอเมริกัน ที่เคยทำให้อเมริกาเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม ความสร้างสรรค์ ความเป็นผู้ประกอบการ และประชาธิปไตย

ผมขอแนะนำให้อ่านข้อความในย่อหน้าข้างบน ๓ ครั้ง  เพื่อตีความทำความเข้าใจว่ามันเป็นจริงต่อสยามประเทศแค่ไหน 

ข้อสอบที่ดี ต้องกระตุ้นให้เด็กเข้าไปค้นคว้าในแหล่งความรู้มหาศาล ทางออนไลน์ และในเครือข่ายของคนจำนวนมากมายที่เชื่อมต่อกันโดย อินเทอร์เน็ต   ซึ่งหมายความว่า การสอบในยุคปัจจุบัน ต้องเลยจาก open-book test และ open-phone test  และเลยจากคำถามที่อาจารย์กู๋ (Google) ตอบได้  ไปสู่ open-network test  คือไปถามใครก็ได้  แต่ต้องประมวลความรู้เอามาตอบเอง  โดยต้องรู้จักกลั่นกรองความรู้เอามาเฉพาะที่น่าเชื่อถือและตรงความต้องการ เอามาใช้งาน 

นั่นคือ การสอบต้องเปลี่ยนจาก knowledge-based assessment  ไปสู่ performance-based assessment  คือทดสอบการนำความรู้มาใช้งาน หรือนำความรู้สู่ปฏิบัติการ  การทดสอบแบบนี้ มีความเป็นนามธรรม (subjectivity) สูง  ใช้เวลามาก  และต้องการความซื่อสัตย์ของผู้จัดการสอบและผู้สอบ  เป็นความท้าทายของการสอบแบบใหม่นี้ 

เปลี่ยนบทบาทครู

นี่คือการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการสอน  ผู้เขียนอ้างถึงคำของนักจิตวิทยาชื่อ Herbert Gerjuoy  ที่ทำนายว่า “คนไร้การศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑  จะไม่ใช่คนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  แต่จะเป็นคนที่ไม่สามารถ learn, unlearn และ relearn” 

คนที่มีการศึกษายุคใหม่ คือคนที่มีทักษะในการเรียนรู้  มีทักษะในการเลิกเชื่อชุดความรู้ที่เก่าและผิด  และมีทักษะในการเรียนความรู้ชุดใหม่ที่ถูกต้อง

ครูมีหน้าที่เอื้อให้ศิษย์มีทักษะนี้

เพราะยุคนี้ความรู้งอกเร็วมาก และยิ่งเร็วขึ้นๆ  ความรู้เดิมหลายส่วนกลายเป็นสิ่งที่ผิด  คนเราจึงต้องมีทักษะในการเอาความรู้ผิดๆ ออกไปจากสมอง  หรือมีความสามารถตรวจสอบว่าในเรื่องนั้นๆ เวลานี้ความรู้ที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน  คือเราต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลาในเรื่องความเป็นพลวัตของความรู้ 

ผลการวิจัยบอกว่า ครึ่งหนึ่งของความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบัน จะกลายเป็นความรู้ที่ผิดภายใน ๕ ปี  ผมเข้าใจว่า ความรู้เกี่ยวกับการเรียนรู้ก็เป็นไปในแนวเดียวกัน  ครูจึงต้องมีหน้าที่ learn, unlearn และ relearn หลักการและวิธีการทำหน้าที่ครู  ไปพร้อมๆ กับจัดการเรียนให้ศิษย์มีทักษะของการ learn, unlearn และ relearn  ซึ่งเป็นสิ่งที่สอนไม่ได้ แต่จัดให้เรียนรู้ได้ โดยการจัดให้ศิษย์ลงมือปฏิบัติ ตามที่ระบุไว้ในตอนที่ ๔  

การฝึกทักษะ learn, delearn และ relearn ของครูเป็นเรื่องง่ายมาก หากรู้จักดึงเส้นผมที่บังภูเขาออก  นั่นคือ ครูต้องไม่สอน แต่ต้องเรียน  และครูเป็นคนโชคดีที่สุดในโลกในเรื่องการเรียน  เพราะมีคนจ้างให้เรียน  คือเรียนไปพร้อมกับศิษย์  การเรียนไปพร้อมกับศิษย์ (ตามแนวทางในตอนที่ ๔) คือการฝึกทักษะ learn, delearn และ relearn ของครู

ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สอน” เป็น “ผู้เรียน”  เรียนรู้ไปพร้อมกับศิษย์  ก็จะตระหนักเอง ว่าความรู้ที่เคยเรียนมานั้น ส่วนไหนที่เป็นความรู้ที่เก่าและผิดเสียแล้ว  ก็จะได้ฝึกทักษะ unlearn & relearn ของตนเอง

๖ สิ่ง ที่ครูต้องเปลี่ยนใจ (unlearn) และเรียนรู้ใหม่ (relearn)

1.  แลกเปลี่ยน (share) ทุกสิ่ง หรืออย่างน้อยบางสิ่ง

2.  ค้นพบ (discover) ไม่ใช่ถ่ายทอด (deliver)

3.  คุยกับคนแปลกหน้า

4.  เป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง (master learner)

5.  ทำงานจริง

6.  ถ่ายอำนาจ

แลกเปลี่ยน

ครูเป็นคนโชคดีในชีวิตการงาน ที่หากรู้จักสังเกตสิ่งดีๆ (best practice) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์  ก็สามารถนำสิ่งดีๆ เหล่านั้นออกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวงกว้าง ผ่านระบบ ออนไลน์  และในกลุ่มเพื่อนครูด้วยกัน  สิ่งดีๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นทุกวัน  อยู่ที่ครูสังเกตเห็นหรือไม่  เห็นแล้วมองเห็นคุณค่าหรือไม่

หลักการสำคัญคือ ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องไม่ใช่เป็นเพียงครูของศิษย์ ๓๐ - ๔๐ คนในห้องเรียนอีกต่อไป  ต้องทำตัวเป็นครูของเด็กทั่วโลก  แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเด็ก เพื่อนครู และ กับคนทั้งโลกกว่า ๖ พันล้านคน  โดยการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตการทำงาน และชีวิตของตน  ออกไปทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  การทำเช่นนั้น จะทำให้ครูเป็น “ผู้เรียนรู้” ไม่ล้าสมัย  หลักการนี้ท้าทายครูยุคใหม่เป็นอย่างยิ่ง

จะเห็นว่า ครูในศตวรรษที่ ๒๑ มีคุณค่ามากกว่าที่คิด

ข้อจำกัดที่ทำให้ครูปฏิบัติตามข้อเสนอนี้ไม่ได้ คือ ความกลัว เข้าไม่ถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการยึดติดวัฒนธรรมแข่งขัน ไม่มีวัฒนธรรมแลกเปลี่ยน  ครูต้อง unlearn วัฒนธรรมแข่งขัน  และ relearn วัฒนธรรมแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในศตวรรษที่ ๒๑

วิธีการแลกเปลี่ยนทำได้ง่ายๆ และทำได้หลายวิธี เช่นเขียน บล็อก (อย่างที่ผมกำลังทำนี่แหละ)  บันทึกวิดีทัศน์กิจกรรมในชั้นเรียนที่น่าสนใจ นำขึ้น YouTube  หรืออาจเป็นเพียง pdf file ของเอกสารแจกนักเรียน  เป็นต้น 

หนังสือยกตัวอย่างครูวิทยาศาสตร์ ชื่อ Torie Engelbrecht แห่ง Marengo Community High School ที่เมือง Marengo  รัฐ Illinois  เล่าเรื่องการสร้างสรรค์ในห้องเรียนของตน  ทำให้มีคนมาติดตามเธอมากมาย ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ (ใน Twitter) ๓ พันคน   และมีเพื่อนครูเข้าาแนะนำวิธีประเมิน proficiency ของนักเรียน  แทนที่จะใช้เกรดมาตรฐาน A, B, C, D, F แบบที่ใช้กันทั่วไป

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ครูจะสามารถส่งเสริมให้ศิษย์เข้าไป ลปรร. ออนไลน์ อย่างสร้างสรรค์ และมีจริยธรรม ได้ด้วย  วิธีตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ ด้านทักษะการ ลปรร. ในระดับโลก ทำได้โดยการ Google ชื่อและนามสกุลลูกศิษย์ ดูว่ามีบทบาทสร้างสรรค์อยู่ใน พื้นที่ ไซเบอร์ อย่างไรบ้าง  ในโลกยุคปัจจุบัน คนเราต้องสร้างตัวตนของตนเองให้เป็นที่รู้จักในพื้นที่ ไซเบอร์  ครูต้องช่วยศิษย์ให้สร้างตัว  และที่สำคัญ ตัวครูเองก็ต้องสร้างตัวเองด้วย   

ค้นพบ (discovery)

ในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนคือการค้นพบ (discovery) ด้วยตนเอง  ไม่ใช่การรับถ่ายทอด (delivery) จากผู้อื่น  หนังสือยกตัวอย่างโรงเรียน High Tech High ที่เมืองซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย ที่จัดการเรียนรู้แบบค้นหาความรู้ (inquiry-based learning)  นักเรียนตั้งคำถามที่ยากและซับซ้อน แล้วทำโครงการทั้งปี เพื่อหาคำตอบเอง  เช่นโครงการ สุขภาวะของอ่าว ซานดิเอโก”  ของนักเรียนชั้น ม.๕ วิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ที่ร่วมกันดำเนินการ  โดยตั้งคำถามว่ามนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมอย่างไร  และมีคำถามย่อยมากมาย เช่น ตำแหน่งของมนุษย์ในธรรมชาติเป็นอย่างไร   อารยธรรมจำเป็นต้องเป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อมเสมอไปหรือไม่  เราสามารถเยียวยาความสัมพันธ์ที่ขาดสะบั้นกับสภาพแวดล้อมได้ไหม  เราสามารถยอมรับบทบาทของเราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้หรือไม่  คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ไม่ได้มีคำตอบเดียว 

เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ นักเรียนทั้งค้นคว้าโดยการลงพื้นที่ และค้นจากแหล่งความรู้ที่มีอยู่แล้ว   ครูไม่สอน ไม่กำหนด lesson plan  แต่ทำหน้าที่กระตุ้นแรงบันดาลใจต่อการตั้งคำถาม และการค้นคว้าหาคำตอบ   คอยหาทางเชื่อมโยงกับวิชาที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้  ครูต้องเก่งในการตั้งคำถาม และไวต่อสถานการณ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกันของนักเรียนต่างกลุ่ม หรือต่างคน  ครูช่วยชี้ทางให้นักเรียนได้เรียนรู้อย่างทรงคุณค่า และเชื่อมโยงกับมาตรฐานที่กำหนด  ครูต้องเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และเป็นตัวอย่าง “ผู้เรียนรู้” ที่ดี  โปรดสังเกตว่า ครูต้องไม่ทำตัวเป็น “ผู้รู้” 

นักเรียนแต่ละคนทำบันทึกการเรียนรู้ส่วนบุคคล  บันทึกกระบวนการเรียนรู้ และข้อค้นพบ/ข้อเรียนรู้  ทีมนักเรียนทำโครงงานบนฐานของชีวิตจริง และนำเสนอต่อทั้งเพื่อนในชั้น และต่อผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชนรอบอ่าว ซานดิเอโก  รวมทั้งตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือชื่อ San Diego Bay : A Call for Conservation  ที่รวบรวมข้อเขียนของนักเรียน  ภาพถ่าย  กวีนิพนธ์  ผลงานวิจัย  และบทสัมภาษณ์  โปรดสังเกตว่าหนังสือเล่มนี้พิมพ์ขายจริงๆ  มีขายโดย Amazon และได้รับเรทติ้งถึง ๕ ดาว คือสูงสุด  เป็นผลงานวิจัยที่มีข้อค้นพบมากมายทางด้านชีววิทยา  รวมทั้งข้อค้นพบสิ่งมีชีวิตที่นักเรียนไม่คาดคิดว่าจะพบ คือคนไร้บ้านในชุมชนรอบอ่าว  นักเรียนได้เขียนถึงคนเหล่านี้ในหนังสือด้วย 

การเรียนแบบค้นพบ เปิดโอกาสให้ได้พบสิ่งที่ไม่คาดฝัน  ซึ่งการเรียนแบบรับถ่ายทอดจะพบแต่ สิ่งที่กำหนดให้เรียนเท่านั้น

นี่คือตัวอย่างของการเรียนแบบค้นพบ (discovery) ของทีเดียว ๓ วิชา คือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และมนุษยศาสตร์   

คุยกับคนแปลกหน้า

เมื่อห้องเรียนเชื่อมโยงกับ อินเทอร์เน็ต นักเรียนก็จะไม่ใช่เรียนจากครู หรือเรียนกับครู (และเพื่อนร่วมชั้น) เท่านั้น  แต่นักเรียนจะมีโอกาสเรียนจากคนที่รู้เรื่องนั้นดีที่สุด  เช่นเมื่อนักเรียนเรียนเรื่องผึ้ง ก็สามารถติดต่อผู้เขียนหนังสือเรื่องผึ้ง หรือทำวิจัยเรื่องผึ้ง เพื่อถามประเด็นที่นักเรียนสนใจ หรือที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ 

เท่ากับว่าในยุคสังคมเชื่อมต่อ เรามีครูอยู่ทั่วไป คนแปลกหน้ากลายเป็นครูหากเรารู้วิธีติดต่อเขา   คนเหล่านี้อาจเป็นนักการเมือง นักวิทยาศาสตร์  ผู้สื่อข่าว  นักกีฬา  นักดนตรี ฯลฯ

นักเรียนต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะคนแปลกหน้าที่เป็นคนดี ออกจากคนเลว  ครูจะต้อง โค้ช ให้นักเรียนได้เรียนทักษะนี้  เพราะจะเป็นทักษะสำคัญที่จะมีคุณค่ายิ่งต่อชีวิต

เป็นผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง

ในยุคที่ความรู้เพิ่มพูนและโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว  คนที่เป็นนักเรียนรู้ (learner) จะก้าวไปข้างหน้า  คนที่ทำตัวเป็นผู้คงแก่เรียน (learned) จะจมอยู่กับโลกแห่งอดีต 

ในโลกที่ความรู้อุดม  คนที่เป็นนักเรียนรู้จะครองโลก

คนที่จะมีชีวิตที่ดีอยู่ในโลกของการแข่งขัน ไม่ใช่คนที่มีความรู้มาก  แต่เป็นคนที่สามารถนำความรู้ไปทำประโยชน์ได้ 

บทบาทของครูในศตวรรษที่ ๒๑ จึงไม่ใช่แค่ช่วยให้นักเรียนเข้าถึงความรู้  แต่ต้องช่วยให้นักเรียนได้ฝึกกลั่นกรองเลือกเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ให้เกิดผลตามที่ต้องการได้  รวมทั้งครูต้องเป็นตัวอย่างของนักพัฒนาคุณสมบัติของการเป็นผู้เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง  ได้แก่ ความต่อเนื่องคงเส้นคงวา  ความเข้าใจคนอื่น  การแบ่งปัน  ความร่วมมือ  แรงปราถนาที่จะเรียนรู้  ความสร้างสรรค์  ความสงสัยใคร่รู้  ครูจะต้องหาทางให้ศิษย์ฝึกฝนซึมซับคุณสมบัติเหล่านี้ 

ในเมื่อครูต้องเป็นผู้เรียนรู้  ครูจึงต้องมีบทบาทใน PLC ของโรงเรียน

ทำงานจริง

ผลงานที่นักเรียนนำมาบ้านมักเป็นงานหลอกๆ ไม่ใช่หลักฐานของการเรียนรู้ที่แท้จริง  เพราะไม่ได้อยู่บนฐานของการปฏิบัติในชีวิตจริง   ไม่ได้เป็นการเรียนรู้จากการสร้างความรู้ขึ้นใช้งานจริง  แต่เป็นการตอบคำถามที่เน้นความจำหรือความเชื่อตามที่ครูสอน  ไม่ได้มาจากการใช้ความคิด 

ตีความให้เข้ากับ Active Learning  ครูต้องเปลี่ยนการเรียนรู้ของศิษย์จาก Passive Learning มาเป็น Active Learning  และการเรียนแบบ PBL เป็นรูปแบบหนึ่ง   โครงงานเรื่องสุขภาวะของอ่าวซานดิเอโก ที่กล่าวถึงในตอนต้น เป็นตัวอย่างที่ดีของ PBL

การทำงานจริง  โครงงานจริง มีผลรับใช้สังคม เป็นประโยชน์ต่อสังคมดังกรณีของอ่าวซานดิเอโก  และโครงงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอ่านได้ ที่นี่

ทำให้ผมนึกถึงโครงงานของนักเรียนชั้นมัธยมของโรงเรียนรุ่งอรุณ รับทำโครงการ HIA ให้กับ สช. รับชมได้ ที่นี่  เป็นการเรียนรู้แบบทำงานจริงที่ได้ผลงานคุณภาพสูง 

ถ่ายอำนาจ

ครูต้องถ่ายอำนาจในการควบคุมกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ให้แก่ตัวนักเรียน  โดยต้องมีวิธีการที่เป็นระบบระเบียบ  เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกกำกับการเรียนรู้ของตนเอง  ฝึกเสาะหาครู  ฝึกสร้างห้องเรียนของตน และฝึกหาเพื่อนมาร่วมกันเรียนรู้  ซึ่งต่อไปนักเรียนจะต้องนำไปใช้ในชีวิตจริง

วิธีถ่ายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรมคือ การจัดการเรียนรู้แบบ Project-Based Learning  ให้นักเรียนได้เรียนจากการทำงานจริงตามหัวข้อข้างบนนั่นเอง

ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน มาทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator)  หรือเป็นโค้ช  

โดยสรุป การเรียนรู้ของนักเรียน แทนที่จะเรียนวิชา...  ต้องเปลี่ยนไปเน้นเรียนวิธีเรียนรู้วิชา...  คือเปลี่ยนไปเน้น learning how to learn นั่นเอง  และการเรียนเพื่อให้ได้ทักษะการเรียนรู้ในท่ามกลางความรู้ที่มีมากมายล้นเหลือ  ต้องเรียนแบบลงมือทำ   

ในยุคปัจจุบัน หากเรามีทักษะที่เหมาะสม เราสามารถมี “ครู” และ “ห้องเรียน” ติดตัวเราไปในทุกที่  แต่เราต้องตีความ “ครู”  “ห้องเรียน” และ “มีการศึกษา”  เสียใหม่ ให้สอดคล้องกับยุคสมัย 

หากจะให้การปฏิรูปการเรียนรู้บรรลุผลสำเร็จได้จริง ๓ ปัจจัยหลัก ตามที่กล่าวข้างบนนั้น ยังไม่สำคัญเท่าปัจจัยที่ ๔ คือการยุบ หรือเปลี่ยนแปลงกระทรวงศึกษาธิการอย่างถอนรากถอนโคน  โดยกระทรวงศึกษาธิการควรเล็กลง ๑๐ เท่า  และโอนอำนาจในการปฏิรูปการเรียนรู้ไปให้โรงเรียนและจังหวัด หรือ อปท.

วิจารณ์ พานิช

๑๒ เม.ย. ๕๖




หมายเลขบันทึก: 533066เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2013 04:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 เมษายน 2013 04:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

The phrase "deschooling" is based on the belief that most people learn better by themselves, outside of an institutional environment, at a self-determined pace. It is popularized by Ivan Illich. (Wikipedia

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

เรียนอาจารย์วิจารณ์ ที่นับถือ

ขอบคุณครับอาจารย์วิจารณ์ ผมชอบตอนนี้มากครับ เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุดครับ โชคดีมากๆที่อาจารย์เขียนบทความนี้ขึ้นมา เป็นสิ่งเดี่ยวกับที่ผมทราบและเข้าใจมาตลอด (ไม่ทราบว่ามาจากไหน ขอยืนยันว่าผมไม่ใช่นักอ่านหนังสือ    น่าจะเรียนรู้จากตัวเองและประสบการณ์ที่ได้พบเห็นทั้งจากตัวเอง คนรอบข้าง และนำมาวิเคราะห์ เหมือกับ ผมรับข้อมูลจากทุกสิ่งรอบตัวผมจากสัมผัสทั้ง 5 และสมองทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ผมรับมา และสรุปผลออกมาเองโดยธรรมชาติ  มีหลายๆเรื่องที่ผมไม่เคยเรียนรู้และทราบมาก่อน แต่เมื่อฟังและจับประเด็นได้ ผมจะมีคำตอบของผม) สิ่งที่ผมอยากจะสื่อคือ ผมทราบและเข้าใจที่อาจารย์กล่าวมาทั้งหมด และผมพยายามอธิบายและบอกกับคนรอบข้างผม แต่ส่วนมากไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจ และคิดว่าผมเป็นนักทฤษฎี ทั้งๆที่ผมเป็นนักปฎิบัติเต็มตัว  บทความของอาจารย์เป็นวิทยาศาสตร์ มีเหตุมีผลและมีการอ้างอิง ทำให้ผมสามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างอิงเพื่อยืนยันสิ่งที่ผมคิดได้เป็นอย่างดี

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

17 เมษายน 2556

สวัสดีค่ะ 

               ชอบข้อความนี้ค่ะ

" ในโลกที่ความรู้อุดม  คนที่เป็นนักเรียนรู้จะครองโลก"

"คนที่จะมีชีวิตที่ดีอยู่ในโลกของการแข่งขันไม่ใช่คนที่มีความรู้มาก แต่เป็นคนที่สามารถนำความรู้ไปทำประโยชน์ได้ "

                                           ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท