วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๒๗. มหาวิทยาลัยรับใช้สังคมด้วยการเรียนการสอน


          เมื่อวันที่ ๒๔ พ.ค. ๕๔ ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปรายงานผลการดำเนินการโครงการ "จัดตั้งศูนย์อาสาสมัครในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ต่อคณะกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์   สรุปได้ว่า ได้ผลดีเกินกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้

          คือเดิมตัองการสร้างรูปแบบของการสร้างจิตอาสา หรือ civic mind ให้แก่นักศึกษา ผ่านการทำกิจกรรมของนักศึกษา  แต่ผลที่ได้มากกว่านั้น คือได้ค้นพบวิธีการจัดการเรียนการสอน ให้นักศึกษาทุกคนเกิดจิตสำนึกของความเป็นพลเมือง   หรือค้นพบวิธีการจัดการเรียนรู้ ให้นักศึกษาเปลี่ยนวิธีคิดต่อสภาพปัญหาต่างๆ ในสังคม จากคิดว่าเป็นเรื่องของคนอื่น เป็นมองว่าเป็นเรื่องของตนเอง เกี่ยวข้องกับตนเอง หรือตนเองมีส่วนเป็นสาเหตุด้วย   เป็นการเรียนที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น transformative learning   คือมีผลให้เปลี่ยนวิธีคิดหรือกระบวนทัศน์ ให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม มองที่ตนเอง  ลดการโทษคนอื่น

          การเรียนรู้แนว Civic Education นี้ หลักใหญ่คือเปลี่ยนจากการบรรยายโดยอาจารย์ มาเป็น action learning โดยนักศึกษาลงมือปฏิบัติ อาจารย์กลายเป็นวิทยากรกระบวนการ   นักศึกษาเรียนแบบ Problem-Based และ Project-Based  โดยเรียนเป็นกลุ่มย่อย หรือ team learning   ตามด้วย reflection

          หาก project นั้นเป็นการเข้าไปทำในชุมชน เพื่อรับใช้ชุมชน ก็กลายเป็น Service Learning    ทำให้ได้ทั้งการเรียนรู้ของนักศึกษา และการเข้าไปรับใช้ชุมชน แก้ปัญหาของชุมชน

          หากอาจารย์ก็ร่วมกับนักศึกษาออกไปในชุมชนด้วย อาจารย์ก็ได้เรียนรู้จากการสัมผัสกับชีวิตจริงของผู้คนในชุมชน ได้ร่วมรับใช้ชุมชน    และด้วยทักษะในการตั้งโจทย์วิจัย  ก็จะได้โจทย์วิจัยชุมชน สำหรับเอามาดำเนินการสร้างความรู้เพิ่มเติมให้แก่ชุมชนได้  

          จะเห็นว่าวิธีการเรียนรู้ตามรูปแบบที่ ดร. ปริญญาและทีมอาจารย์ ๕๐ คน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันคิดขึ้นนี้   สามารถออกแบบให้มีผลเป็นงานบริการสังคม และงานวิจัย ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ของนักศึกษา (และของอาจารย์ด้วย)   และผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วมีผลเชิง “ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม” อยู่ในกระบวนการนี้ด้วย 

          คณะกรรมการกิจการเพื่อสังคมของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งมีท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน อยู่ด้วย   ให้คำแนะนำว่า การขยายผลวิธีการเรียนรู้แบบนี้ ไม่ควรเน้นจัดประชุมเพื่อบอกเล่าแก่คนจำนวนมาก และเน้นความทั่วถึงทุกมหาวิทยาลัย   ซึ่งจะไม่เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม   ควรเน้นการจัด workshop ในลักษณะ Training for the Trainers ให้แก่ทีมของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการเรียนรู้อย่างแท้จริง   และได้จัดเตรียมทีม Change Agent ของตนไว้อย่างดี สำหรับเป็นทีมดำเนินการ  

          ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ให้ความเห็นว่า   ไม่ควรกำหนดรูปแบบวิธีดำเนินการจัดการเรียนการสอนแนวนี้อย่างเป็นสูตรสำเร็จตายตัว  อันจะนำไปสู่ uniformity และ conformity ในที่สุด อันจะนำไปสู่ความล้มเหลวในบั้นปลาย   เพราะการปฏิรูปรูปแบบการเรียนรู้นั้น ส่วนที่เหมือนคือ shared value (ผมตีความว่าคือ 21st Century Learning) เท่านั้น   ต้องปล่อยให้แต่ละมหาวิทยาลัยสร้าง methodology ของตนขึ้นใช้   ให้มี diversity ของวิธีการ   และมีการแข่งขันกันสร้างสรรค์วิธีจัดการเรียนรู้ที่ได้ผลจริงในแต่ละบริบทที่แตกต่างกัน  

          ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า นี่คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับ paradigm shift   จึงต้องการ leadership ที่จริงจังและมีความสามารถสูง ทุ่มเทจริงจัง   แต่ละมหาวิทยาลัยต้องหาคนกลุ่มนี้ให้พบ และส่งเสริมให้เขาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงตามความใฝ่ฝันของเขา   การจัดการแบบ bureaucracy จะไม่ได้ผล  ไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนต่อเนื่องได้

          ท่านอดีตนายกฯ อานันท์ มีความหวังว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ หากได้ผลจริง   จะมีผลในระดับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงาน หรือเปลี่ยน mindset   ทำให้คนไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง

          รูปแบบการเรียนการสอนแบบที่ ดร. ปริญญา และคณะ ค้นพบนี้ อาจเรียกว่า PBL, Academic Transformation, Constructivism, หรือ Deliberate practice   หรือจะนำเอาบางลักษณะของรูปแบบการเรียนรู้เหล่านี้มาผสมกันให้เหมาะต่อแต่ละบริบทของชั้นเรียนก็ได้   เปิดช่องให้มีการวิจัยด้านการเรียนรู้ในอุดมศึกษาไทยได้มากมาย ไม่รู้จบ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๔ พ.ค. ๕๔

           
          
                

หมายเลขบันทึก: 445615เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2011 10:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในวันพุธที่ ๒๙ มิถุนายนนี้ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ) และมูลนิธิสยามกัมมาจล จะร่วมกันจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง " การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม" ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมกลุ่มเป้าหมาย จากสถาบันการศึกษาที่เป็นตัวอย่างกรณีศึกษา ๖ แห่ง และสถาบันการศึกษาอื่นๆอีก ๑๖๖ แห่ง..ซึ่งจะได้มีการนำแนวคิดข้างต้นที่กล่าวถึงข้างต้น ไปเป็นประเด็นในการสัมมนาด้วยค่ะ..

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท